“หมอธีระวัฒน์” ย้ำ ไม่ต่อต้านวัคซีน แต่ไม่อยากให้ฉีดมากไป

5 องค์กรวิชาชีพแพทย์ ประสานเสียงค้านแนวคิดฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นทำภูมิเข้าข้างไวรัส ชี้ ยังไร้หลักฐาน สธ. ห่วงผู้สูงอายุฉีดเข็ม 3 แค่ 37.2% ผวา หลังสงกรานต์ติดเชื้อพุ่ง คาดเดือน พ.ค. ​ยอดตาย 250 คน/วัน 

วันนี้ (6 เม.ย. 2565) ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มากกว่า 80 คน ต่อเนื่องเป็นวันที่ 8 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัว ไม่ได้รับวัคซีนหรือไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ส่วนเป้าหมายลดจำนวนผู้เสียชีวิต ด้วยการรณรงค์ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับผู้สูงอายุตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา ดูจะได้ผลไม่ดีนัก เพราะถ้าเปรียบเทียบการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในผู้สูงอายุ ณ วันที่ 20 มีนาคม อยู่ที่ 33.1% ของประชากร 

ขณะที่เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา ผู้สูงอายุฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่มเป็น 37.2% ของประชากร เพิ่มขึ้นมาเพียง 4% หรือผ่านไปสองสัปดาห์ของการเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น มีผู้สูงอายุนัดฉีดวัคซีนเพียง 521,964 คน ซึ่งยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 70% ก่อนเทศกาลสงกรานต์

เปิดฉากทัศน์โควิด หลังสงกรานต์ ร้ายแรงสุดเดือน พ.ค. นี้ โคม่า 1,600 คน

ขณะที่ผู้ติดเชื้อยืนยันรายใหม่วันนี้ 24,252 คน และมีผู้ติดเชื้อเข้าข่าย หรือมีผลบวกจาก ATK อีก 26,941 คน นับรวมกัน 51,193 คน แต่ทั้งนี้ยังมีผู้ตรวจ ATK ด้วยตนเองอีกจำนวนหนึ่งเฉลี่ยติดเชื้อประมาณวันละ 5-6 หมื่นคนต่อวัน ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข ขณะที่อัตราการครองเตียง 27.8% เป็น 1 ใน 3 ของทั้งหมด ซึ่ง พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ยืนยันว่าระบบสาธารณสุขยังรองรับได้ แต่จำนวนผู้ป่วยอาการหนัก ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตสูงขึ้น 

ขณะนี้กราฟฉากทัศน์ผู้ป่วยปอดอักเสบใส่ท่อช่วยหายใจ สถานการณ์จริงกราฟเส้นสีดำพุ่งเกินฉากทัศน์ประมาณการการติดเชื้อระดับปานกลาง เส้นสีเหลืองแล้ว โดยกราฟเส้นสีแดงเป็นประมาณการการระบาดหนัก ประชาชนย่อหย่อนมาตรการป้องกัน จะมีผู้ป่วยอาการหนักสูงถึงจุดพีคในช่วงต้นเดือน พ.ค. 2565 (วันที่ 5-6 พ.ค. 2565) ผู้ป่วยโคม่า ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ จะมากกว่า1,600 คน/วัน 

โดยจำนวนผู้ติดเชื้อช่วงพีคอาจเป็นต้นเดือน พ.ค. 2565 ซึ่งอาจมีผู้เสียชีวิตสูงสุดถึง 250 คน/วัน จึงขอรณรงค์เชิญชวนให้กลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีนให้มากขึ้น โดยเฉพาะวัคซีนเข็มกระตุ้น

5 องค์กรวิชาชีพแพทย์ ประกาศหนุนวัคซีนเข็มกระตุ้น

เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2565 องค์กรวิชาชีพแพทย์ 5 องค์กร ประกอบด้วย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย สมาคมเวชบําบัดวิกฤตแห่งประเทศไทย และสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ออกประกาศสนับสนุนการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น

โดยระบุว่า ตามที่มีบทความเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ว่า วัคซีนโควิด-19 ที่เราฉีดกันแล้ว 3 หรือ 4 เข็ม ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ขณะที่การป้องกันอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตก็เริ่มเป็นที่สงสัย เนื่องจากการฉีดวัคซีนที่มากเกินไปภูมิคุ้มกันที่ได้อาจเป็นภูมิคุ้มกันที่ไม่ดีต่อร่างกาย อาจกลายเป็นภูมิคุ้มกันที่เข้าข้างกับไวรัส คือ ผู้ติดเชื้ออาจจะมีอาการหนักเกิดขึ้นได้เมื่อติดเชื้อและเพิ่มการอักเสบมากขึ้น 

รวมทั้งความเห็นในทางที่ชี้ว่าวัคซีนอาจจะไม่ได้ประโยชน์ใด ๆ เลยและอาจจะต้องหันไปหาทางอื่น เช่น การใช้ยารักษานั้น องค์กรวิชาชีพแพทย์ฯ  มีความห่วงใยในความเห็นดังกล่าว ที่อาจสร้างความเข้าใจผิดเรื่องวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนโดยทั่วไป จึงขอออกประกาศร่วม 5 องค์กร ในเรื่องดังกล่าวต่อไปนี้

1) วัคซีนโควิด-19 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ผลิตขึ้นโดยส่วนของเชื้อที่เป็นสาเหตุของโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิม เมื่อมีการ ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนจึงทําให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19 ลดลงอย่างมากในผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มเกินกว่า 3 เดือน จึงควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน ถึงแม้การให้วัคซีนเข็มกระตุ้นจะไม่สามารถป้องกันโควิด- 19 สายพันธ์ุโอมิครอนได้ 100%

  • ข้อมูลท้ังจากการทดลองและการศึกษาวิจัยพบว่าการให้วัคซีนเข็นกระตุ้นสามารถกระตุ้น ภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์โอมิครอนได้เพิ่มขึ้น และป้องกันการเกิดโควิด-19 ได้ดีกว่าการได้รับเพียง 2 เข็ม และที่สําคัญสามารถลด การนอนโรงพยาบาล การเกิดปอดอักเสบ การนอนในหออภิบาลผู้ป่วยหนัก การใช้เครื่องช่วยหายใจ และการเสียชีวิต ได้ดีกว่า การรับเพียง 2 เข็มมาก 
  • การศึกษาประสิทธิผลของการใช้วัคซีนในโลกแห่งความจริง (real world study) ที่ยืนยันถึงผลดี ของการให้วัคซีนเข็มกระตุ้นในประเทศต่าง ๆ เช่นอิสราเอล อังกฤษ การ์ตา และสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ จากการติดตามสถานการณ์ภายในประเทศและต่างประเทศ พบว่า ผู้ที่ติดเชื้อและมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตน้ัน ส่วนใหญ่คือ ผู้ที่ยังไม่ได้ รับวัคซีนเลยหรือยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น แม้เป็นผู้สูงอายุหรือมีโรคประจําตัว ถ้าได้รับวัคซีนครบถ้วนก็มักจะมีอาการเพียง เล็กน้อย และไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน หายจากโรคได้ในเวลาอันรวดเร็ว

2) ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิก รวมทั้งงานวิจัยขนาดใหญ่และการศึกษาในโลกแห่งความจริงที่แสดงหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า การได้รับวัคซีนที่มากเกินไปจะทําให้เกิดภูมิคุ้มกันที่ไม่ดีต่อร่างกายและกลายเป็นภูมิคุ้มกันที่เข้าข้างกับไวรัสและยังไม่มีข้อมูลที่แสดงว่า ผู้ได้รับวัคซีนเมื่อป่วยเป็นโควิด-19 มีการอักเสบของอวัยวะต่าง ๆ มากกว่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน แต่กลับพบว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ช่วยลดการอักเสบของอวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งลดการเกิดอาการภายหลังโควิด-19 (long COVID) ด้วย

3) ถึงแม้ในปัจจุบันมีความพยายามผลิตวัคซีนโควิด-19 รุ่นใหม่ ที่มีประสิทธิภาพดีต่อเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน แต่ยังคงอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยเพื่อใช้ในการผลิต จึงยังไม่แน่นอนว่าวัคซีนโควิด-19 ชนิดใหม่จะสามารถผลิตใช้โดยทั่วไปได้เมื่อใดในอนาคต จึงยังคงมีความจําเป็นที่ต้องรับการกระตุ้นด้วยวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตสําหรับสายพันธุ์ดั้งเดิมไปก่อนในปัจจุบัน

ดังนั้น องค์กรวิชาชีพทั้ง 5 องค์กรจึงขอสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างพร้อมเพรียงกัน เพื่อเตรียมพร้อมก่อนเทศกาลสงกรานต์

“หมอธีระวัฒน์” ย้ำ ไม่ต่อต้านวัคซีนแต่ไม่อยากให้ฉีดมากไป

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์ สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha หลัง 5 องค์กรวิชาชีพแพทย์ ประกาศสนับสนุนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยระบุว่า 

“ประกาศให้ทราบทั่วกันนะครับไม่เคยต่อต้านวัคซีน แต่ต้องการให้ฉีดไม่มากเกินไป คือ 3  หรือ 4 ถ้าเริ่มต้นด้วยเชื้อตายสองเข็มก็ต่อด้วย ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง 2 เข็ม ไฟเซอร์ หรือ โมเดอร์นา ถ้าเริ่มต้นด้วย แอสตราเซเนกา 2 เข็ม ก็ต่อด้วยฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา เข็มเดียวพอ” 

พร้อมกับระบุว่า ตนเองนั้นฉีดวัคซีนทั้ง ซิโนแวค 2 เข็ม แอสตราเซเนกา และโมเดอร์นา

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS