‘แพทย์ชนบท’ ค้านต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คุมโควิด-19

ศบค.เห็นชอบต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปจนถึง 1 ก.ค. นี้ “นพ.สุภัทร” ชี้สถานการณ์โรคทุเลาแล้ว ตั้งข้อสังเกตเอื้อบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง อ้างโควิด-19 ผ่านประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก่อสร้างไม่เสร็จเกินสัญญา ไม่ต้องเสียค่าปรับหรือไม่  

วันนี้ (20 พ.ค. 65) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (ศบค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ครั้งที่ 18 เป็นระยะเวลา 2 เดือน หรือตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. – 31 ก.ค. 2565 เพื่อให้มีการคงไว้ซึ่งบรรดามาตรการป้องกันและควบคุมโรคต่อไปจนกว่าจะผ่านเกณฑ์การประเมินการเป็นโรคประจำถิ่นตามที่ฝ่ายสาธารณสุขกำหนด 

ด้าน นพ.สุภัทร ฮาวุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ระบุว่า การต่อ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ น่าจะเพื่อเอื้อผู้รับเหมาจนหยดสุดท้ายหรือไม่ การต่อ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ที่อ้างการควบคุมโรคโควิด ทั้ง ๆ ที่สถานการณ์ทุเลาลงมาก หน้าที่ปกติของภาคส่วนต่างๆก็ดูแลได้อยู่แล้ว  ความจำเป็นในต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีกจึงไม่มีเลย แต่ทำไมยังจะดันทุรังต่อ

ทั้งนี้ เหตุผลหนึ่งที่สังคมส่วนใหญ่ไม่รับรู้คือ งานก่อสร้างภาครัฐนั้น  สามารถอ้างโควิด-19 ผ่านประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก่อสร้างไม่เสร็จเกินสัญญาโดยมีค่าปรับเป็น 0 บาทได้ ทำให้งานก่อสร้างถนน สะพาน อาคาร หรืออื่นใด แม้จะล่าช้ากว่ากำหนดส่งมอบเป็นปี ก็ไม่ต้องจ่ายค่าปรับ  โครงการล่าช้าประชาชนเสียโอกาสแต่ผู้รับเหมาชอบมาก ยิ่งโครงการขนาดใหญ่ ผู้รับเหมาก็ยิ่งยิ้มย่อง ขอให้ต่อ พ.ร.ก.อีก 2 เดือนก็เอา  เพราะค่าปรับวันละเป็นแสนเป็นล้าน

การต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 1 หรือ 2 เดือน (มิถุนายน และหรือ กรกฎาคม) ไม่มีประโยชน์ในการควบคุมโรคแล้ว  แต่ต่อเพื่อประโยชน์ผู้รับเหมาทั่วไทยที่ก่อสร้างไม่เสร็จตามสัญญาหรือไม่  สิ่งนี้คือความจริงที่รัฐบาลไม่เคยบอกประชาชนหรือไม่

คำว่า “โรคประจำถิ่น” ยังไม่เคยปรากฎในกฎหมายฉบับใด 

ขณะที่ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2565 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ยังไม่มีการประกาศบังคับใช้พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 แม้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 ว่า ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะประกาศใช้เป็นพ.ร.ก.หรือนำไปจัดเป็น ร่างพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เพราะจากสถานการณ์ขณะนี้ทำให้เห็นว่ามีความจำเป็นน้อยลงจากที่คิดไว้ตอนแรกๆ และอาจต้องนำ พ.ร.ก.ดังกล่าวมาปรับแก้ไขบางส่วนอีกครั้ง เนื่องจาก ตอนที่จัดทำ ร่าง พ.ร.ก.นั้นยังไม่เกิดการระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน และคำว่า “โรคประจำถิ่น” ยังไม่มีอยู่ในกฎหมายฉบับใดเลย 

“ตอนนี้เรากำลังจะประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น จึงทำให้ยังไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร และสามารถใช้มาตรการใดได้บ้าง จึงอาจทำให้ต้องบรรจุมาตรการบางอย่างลงไปในพ.ร.ก.ดังกล่าวก่อนจะนำไปประกาศใช้” 

พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 18 ครั้ง 

  • ครั้งที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 – วันที่ 31 พฤษภาคม 2563 
  • ครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 – วันที่ 30 มิถุนายน 2563 
  • ครั้งที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 – วันที่ 31 กรกฎาคม 2563 
  • ครั้งที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 – วันที่ 31 สิงหาคม 2563
  • ครั้งที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 – วันที่ 30 กันยายน 2563 
  • ครั้งที่ 6 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 – วันที่ 31 ตุลาคม 2563 
  • ครั้งที่ 7 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 – วันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 
  • ครั้งที่ 8 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 – วันที่ 15 มกราคม 2564
  • ครั้งที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2564 – วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 
  • ครั้งที่ 10 ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 – วันที่ 31 มีนาคม 2564 
  • ครั้งที่ 11 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 – วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 
  • ครั้งที่ 12 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 – วันที่ 31 กรกฎาคม 2564
  • ครั้งที่ 13 ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2564 – วันที่ 30 กันยาย 2564 
  • ครั้งที่ 14 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 – วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 
  • ครั้งที่ 15 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 – วันที่ 31 มกราคม 2565
  • ครั้งที่ 16 ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 – วันที่ 31 มีนาคม 2565
  • ครั้งที่ 17 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 – วันที่ 31 พฤษภาคม 2565
  • ครั้งที่ 18 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 – วันที่ 31 กรกฎาคม 2565

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS