ชาวบ้านสองฝั่งสาละวิน คัดค้านสร้างเขื่อน หวั่นกระทบระบบนิเวศ และวิถีชีวิต

ชาวบ้านกว่า 20 หมู่บ้านติดชายแดนไทย-เมียนมา จัดกิจกรรมคัดค้านการสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวิน วันหยุดเขื่อนโลก หวั่นกระทบวิถีชีวิต และระบบนิเวศริมแม่น้ำสาละวิน

เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2564 กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง 20 หมู่บ้าน ที่อยู่สองฝั่งแม่น้ำสาละวิน ทั้งจากรัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา และฝั่งไทย จ.แม่ฮ่องสอน รวมตัวกันที่หาดทรายริมแม่น้ำสาละวิน บ้านอิตูท่า รัฐกะเหรี่ยง ตรงข้ามบ้านท่าตาฝั่ง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อต่อต้าน​การสร้างเขื่อน ในวันหยุดเขื่อนโลก (International Day of Action against Dams) และมีแถลงการณ์ จากกลุ่มปกป้องแม่น้ำกะเหรี่ยง (KAREN RIVERS WATCH) โดยรุบะว่า เขื่อนขนาดใหญ่กำลังกระตุ้นความขัดแย้งและลดความสามารถในการสร้างสันติภาพของประชาชน เพื่อให้เส้นเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตของชาวกะเหรี่ยงไหลเวียนได้อย่างเสรี จึงเรียกร้องให้ยกเลิกข้อเสนอทั้งหมดสำหรับการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในแม่น้ำสาละวิน

ภาพ: wildbird

นอกจากนี้ภายในงานมีการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ เพื่อแสดงออกถึงการปกป้องแม่น้ำสาละวินร่วมกัน ได้แก่ มีการเลี้ยงผีขุนน้ำตามความเชื่อแบบดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง เพื่อแสดงความเคารพต่อแม่น้ำ และขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยปกป้องคุ้มครองแม่น้ำสาละวิน ซึ่งได้ร่วมกันขอพรต่อพระเจ้าให้ช่วยปกปักรักษาแม่น้ำสาละวินเช่นกัน

ภาพ: wildbird

Hsa Moo ชาวบ้านริมแม่น้ำสาละวิน กล่าวถึงเหตผลของการออกมาเรียกร้องครั้งนี้ว่า ชาวบ้านใช้ชีวิตอยู่ริมแม่น้ำ ถ้ามีการสร้างเขื่อน หมู่บ้านของพวกเขาจะจมน้ำหายไป ที่ทำกิน เช่น ไร่หมุนเวียน​ แปลงผัก และวิถีชีวิต​ต่าง ๆ ที่ทำอยู่ที่ริมแม่น้ำจะหายไป อีกทั้งพวกเขาใช้แม่น้ำสาละวินในการเดินทางค้าขาย ซื้อของ ถ้ามีการสร้าง​เขื่อน พวกเขาไม่สามารถ​เดินทาง​ได้

“ไม่อยากได้เขื่อน เพราะว่าแม่น้ำสาละวินเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ถ้ามีการสร้างเขื่อนจะทำให้เกิดน้ำท่วม จะท่วม​ที่อยู่ ที่ทำกิน และไม่สามารถ​เดินทาง​ได้”

สำหรับสาระสำคัญของข้อเรียกร้อง คือ 1) ต้องหยุดเขื่อนใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อ​ธรรมชาติ 2) ต้องใช้ไฟฟ้าที่​สามารถ​หมุนเวียน​ได้ 3) ต้องสนับสนุน​ไฟฟ้าที่ชาวบ้านมีส่วนร่วม​ในการตัดสินใจ​ และ 4) องค์กร​ต่างประเทศ​ กลุ่มชาติพันธุ์​ติดอาวุธ​ในเมียนมา กลุ่มพันธมิตร​ ต้องร่วมมือกับรัฐบาลใหม่ที่มาจากประชาชน เพื่อจะเขียนนโยบาย​ใหม่ที่เกี่ยวไฟฟ้าที่มาจากธรรมชาติ

ภาพ: wildbird

มีการเปิดเผยจาก เครือข่ายสาละวินวอชต์ (Salween Watch Coalition) ว่าหลายทศวรรษที่ผ่านมา มีความพยายามสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าบนแม่น้ำสาละวินตลอดลุ่มน้ำหลายครั้ง แต่ในเมียนมานั้นมีการคัดค้านมาโดยตลอด เพราะนอกจากกระทบกับชาวบ้านในพื้นที่แล้ว อาจยังส่งผลกระทบต่อการสร้างสันติภาพในเมียนมา เนื่องจากพื้นที่สร้างเขื่อนมีการสู้รบกันระหว่างกองทัพเมียนมาและกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม 

สอดคล้องกับข้อมูล สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ระบุว่า ปัญหาสำคัญของการสร้างเขื่อนสาละวิน คือ ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา ต่อกลุ่มชนชาติส่วนน้อย ซึ่งตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ประเทศเมียนมาเป็นประเทศที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐบาลเผด็จการทหารมากที่สุดในโลก และผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากปัญหานี้มาตลอด คือ ประเทศไทย เห็นได้จากจำนวนค่ายผู้ลี้ภัยและผู้ลี้ภัยหลายแสนคนตลอดชายแดนไทย – เมียนมา รวมถึงแรงงานอพยพจากประเทศนับล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เข้ามาทำงานในเมืองไทยด้วยผลสืบเนื่องมาจากปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง

และเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา หลังจากทหารเมียนมาทำรัฐประหาร ทหารเมียนมาก็ออกมาประกาศว่าจะดำเนินต่อการพัฒนา​การสร้างเขื่อนตามแผนที่วางไว้ โดยกลุ่มที่เรียกว่าสภาบริหารแห่งรัฐซึ่งก่อตั้งขึ้นโดย พลเอกอาวุโส มินอองหล่าย ที่แข็งข้อโดยไม่ได้รับความยินยอมจากประชาชน แถลงการณ์ของ KAREN RIVERS WATCH ยังระบุอีกว่าอาจจะส่งผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญต่อสันติภาพ ความมั่นคงสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความยั่งยืน ดังนั้น จึงเรียกร้องให้ระงับแผนการและการก่อสร้างโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งหมดในแม่น้ำสาละวินและทั่วประเทศเมียนมา อีกทั้งประกาศว่าหากยังมีการพยายามจะสร้างเขื่อน จะมีการยกระดับการเรียกร้อง


ดูเพิ่ม

รายงานสถานการณ์สาละวิน ในวันหยุดเขื่อนโลก

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ