กรมชลฯ ลุยหาเอกชนร่วมทุน สร้างโครงการผันน้ำยวมลงเขื่อนภูมิพล หลังผ่าน EIA

เผยมูลค่าก่อสร้างราว 88,000 ล้านบาท ด้านเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน ชี้โครงการกระทบหลายหมู่บ้านใน อ.อมก๋อย พร้อมระบุถูกแอบอ้างชื่อในรายงาน EIA 

วันที่ 25 มี.ค. 2565 เฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ระบุระหว่าง เป็นประธานการสัมมนาทดสอบความสนใจของนักลงทุนภาคเอกชน โครงการศึกษาวิเคราะห์ โครงการการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลว่า ผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล พ.ศ. 2561 ได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พ.ศ. 2564 และเสนอให้มีการพัฒนาโครงการฯ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักสำคัญของประเทศ เนื่องจากน้ำในลุ่มน้ำยวมในฤดูฝนมีปริมาณน้ำมากการพัฒนาโครงการผันน้ำยวม จึงเป็นการเพิ่มความมั่นคงทางด้านน้ำให้กับเขื่อนภูมิพลที่ยังสามารถเก็บกักน้ำได้อีกเป็นปริมาณมาก ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่รอบโครงการ ก่อให้เกิดเสถียรภาพและความมั่นคงในการใช้น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งพื้นที่ตั้งองค์ประกอบสำคัญครอบคลุม 3 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และตาก 

เฉลิมเกียรติ กล่าวว่า เนื่องจากมูลค่าการลงทุนของโครงการจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างสูงมาก กรมชลประทานจึงได้มีการจ้างดำเนินโครงการศึกษาวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม – อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล” ตามข้อกำหนดในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 มีรายละเอียดของการศึกษาที่สำคัญ เช่นการวิเคราะห์รูปแบบและวิธีการที่เหมาะสมของการร่วมลงทุน การศึกษาความเป็นไปได้ด้านการเงินกรณีร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อนำเสนอผลการศึกษาต่อ คณะรัฐมนตรีในการพิจารณาตัดสินใจทางเลือกของการลุงทุนค่าก่อสร้างโครงการที่เหมาะสมระหว่างทางเลือกการดำเนินการโดยรัฐ และการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ทำให้มีข้อมูลที่ครอบคลุมรอบด้านก่อนพิจารณาอนุมัติเปิดโครงการต่อไป

การศึกษาครั้งนี้ จึงให้ความสำคัญในเรื่องการวิเคราะห์ราคาค่าก่อสร้างโครงการเป็นอย่างมากเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเนื่องจากที่ผ่านมามักมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน โดยมักนำค่าดำเนินการและค่าบำรุงรักษา หรือค่าอื่นๆ มารวมเป็นค่าก่อสร้างโครงการ ทั้งที่ผลการวิเคราะห์ตามรายงาน EIA ปีพ.ศ. 2559 ประมาณ 71,000 ล้านบาท ให้เป็นราคาปีปัจจุบัน (พ.ศ. 2565) ซึ่งจะมีมูลค่าก่อสร้างโดยประมาณ 88,000 ล้านบาท ทั้งนี้ทางเลือกการลงทุนในรูปแบบของการ่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน จะมีมูลค่าการลงทุนประมาณ170,000 ล้านบาท แยกเป็นค่าลงทุนโครงการประมาณ 88,000 ล้านบาท และเป็นค่าดำเนินงานผันน้ำและบำรุงรักษาตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน 25 ปีของเอกชน เป็นเงินประมาณ 82,000 ล้านบาท ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคมว่ามีค่าก่อสร้างที่สูง แต่โดยแท้จริงแล้วการคำนวณทางเศรษฐศาสตร์ได้รวม ค่าก่อสร้าง ค่าดำเนินงานและค่าบำรุงรักษา เป็นต้นทุนทั้งหมด ในขณะเดียวกันการคำนวณยังได้พิจารณาถึงส่วนของผลประโยชน์จากโครงการด้านต่างๆ ที่ได้จากปริมาณน้ำที่ผันในแต่ละปีแล้วด้วย 

ทั้งนี้ หากโครงการแล้วเสร็จ จะสามารถสร้างประโยชน์ครอบคลุมทุกด้าน เช่นด้านการเกษตร เกษตรกรได้รับประโยชน์กว่า 70,000 ครัวเรือน ด้านอุปโภคบริโภคจะมีการจัดสรรน้ำเฉลี่ยปีละ 300 ล้าน ลบ.ม.ได้รับประโยชน์ กว่า1,300,000 ครัวเรือน ด้านการผลิตไฟฟ้า โรงไฟฟ้าพลังน้ำของเขื่อนภูมิพลผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 426 ล้านหน่วย ผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับประโยชน์ 100,000 ครัวเรือนด้านประมงในเขื่อนน้ำยวม ด้านการท่องเที่ยว ด้านธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมถึงการรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ ด้วย

ค้าน EIA โครงการผันน้ำยวม 

ขณะที่ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน ระบุรู้สึกกังวลใจ เนื่องจากยังไม่ได้รับข้อมูลอย่างแท้จริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการชี้แจงรายละเอียด และชาวบ้านต่างก็หวั่นเกรงเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากทั้งสองโครงการขนาดใหญ่นี้ จะทำลายผืนป่าผืนใหญ่และทับที่ทำกินของชาวบ้าน ขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงซึ่งไม่เข้าใจภาษาไทย แต่กลับถูกบางหน่วยงานแอบอ้างชื่อในรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ดังนั้นทั้งหมดจึงไม่ต้องการโครงการดังกล่าว

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS