ครป.แถลง ขอรัฐบาลจริงใจแก้รัฐธรรมนูญตามกลไกรัฐสภา

ชี้ รองนายกฯ วิษณุ ชี้นำ กรณีระบุ “ต้องผูกพัน” หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตั้ง ส.ส.ร. ไม่ได้ ด้าน iLaw ชวนจับตาแก้รัฐธรรมนูญวาระ 3 “สองประเด็น-สองเงื่อนไข-หนึ่งประชามติ”

วันนี้ (9 มี.ค.2564) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ออกแถลงการณ์ ทางออกจากวิกฤตประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ตามที่สมาชิกรัฐสภา 73 คน ได้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตีความอำนาจของรัฐสภาในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่ามีอำนาจหรือไม่ โดยคาดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยในวันที่ 11 มี.ค. นั้น

ครป. เห็นว่าอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาอยู่แล้ว ความขัดแย้งในการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย สมาชิกควรหาทางออกร่วมกันในกลไกรัฐสภา เพราะหากการตีความของศาลรัฐธรรมนูญเป็นการชี้นำไปในทางที่ผิด ก็จะกลายเป็นความขัดแย้งในระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากมติของศาลรัฐธรรมนูญอาจส่งผลถึงรูปแบบการเมืองการปกครองและวิกฤตประชาธิปไตยที่จะเกิดขึ้น

แถลงการณ์ระบุด้วยว่า การที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาให้ความเห็นว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาว่าตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ได้ ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราได้เท่านั้น ก็ต้องผูกพันตามนั้น ถือเป็นการชักจูงทางการเมือง และสอดคล้องกับความเห็นของ 4 นักกฎหมายที่เห็นว่าการยกร่างใหม่ทั้งฉบับทำไม่ได้ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญขอความเห็น ซึ่งอาจนำไปสู่แนวทางการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 11 มี.ค. นี้ และทำให้กระบวนการทั้งหมดต้องเริ่มต้นใหม่

“ขอให้รัฐบาลแสดงความจริงใจในการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เดินหน้าตามกลไกรัฐสภา และนำไปสู่การแก้ไขวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองต่อไป”

iLaw ชวนจับตาแก้รัฐธรรมนูญวาระสาม “สองประเด็น-สองเงื่อนไข-หนึ่งประชามติ”

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เผยแพร่บทความชวนจับตาแก้รัฐธรรมนูญวาระสาม ระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาในวาระสองมีสาระสำคัญอย่างน้อยสองเรื่อง คือ หนึ่ง การแก้ไขมาตรา 256 เรื่องวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้การให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในวาระที่หนึ่งและวาระที่สามจำเป็นจะต้องใช้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่า “สามในห้า” ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา

ซึ่งต่างจากเดิมที่กำหนดให้ใช้เสียงเห็นชอบ ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ซึ่งในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของ จํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

และ สอง การแก้ไขเพิ่มหมวด 15/1 เรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่กำหนดให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จำนวน 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต หรือระบบ “หนึ่งเขตหนึ่งคน” โดยมีเงื่อนไขพิเศษว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นต้องห้ามมิให้แก้ไขหมวดที่ 1 บททั่วไป และ หมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์

นอกจากนี้ ยังมี สองเงื่อนไข ที่อาจทำให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านวาระสาม ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 โดยเงื่อนไขแรกคือ กำหนดว่า การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ต้องมีเสียง ส.ว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม และเงื่อนไขที่สองคือ ต้องมีเสียงของ ส.ส. จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน

“หรือหมายความว่า การที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะผ่านรัฐสภาได้ ไม่ใช่แค่อาศัยเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาเท่านั้น ยังมีอีกสองเงื่อนไขสำคัญ”

ซึ่งจากข้อมูลเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2564 พบว่า มีจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดอยู่ 737 คน ดังนั้น ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านการเห็นชอบของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้ นอกจากจะต้องมีเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่า 369 เสียงแล้ว ต้องมีเงื่อนไขเสียงเห็นชอบ จาก ส.ว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม หรือ ประมาณ 84 คน จาก 250 เสียง ซึ่งอย่างที่ทราบกันดีว่า คสช. เป็นคนเลือก ส.ว. มากับมือ การจะผ่านเงื่อนไขเรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย

ส่วนเสียงเห็นชอบของ ส.ส.อีกร้อยละยี่สิบนั้น iLaw ระบุว่า หากร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านการเห็นชอบในวาระที่สามได้ ต้องมี ส.ส.จากพรรคการเมืองที่ไม่มี ส.ส.ในสังกัดเป็นรัฐมนตรีและ ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร อย่างน้อย 47 คน ด้วยเช่นกัน

และสุดท้าย คือ หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จะต้องมีการทำประชามติก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ตาม ม.256 (7) เนื่องจากเป็นการแก้ไขในเรื่องวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยคาดหมายว่าการออกเสียงประชามติอาจมีขึ้นอย่างเร็วในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2564 และถ้าเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนไม่เห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ก็จะตกไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว