iLaw เปิด 5 เหตุผล ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ควรคว่ำการแก้รัฐธรรมนูญ

ชี้ มติรัฐสภา สะท้อนเจตนารมณ์ประชาชน ให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จับตา ศาลรัฐธรรมนูญนัดประชุม วันนี้

วันนี้ (4 มี.ค. 2564) โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เปิด 5 เหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรคว่ำการแก้รัฐธรรมนูญ ระบุว่า แม้ ส.ว. 250 คน ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่รัฐธรรมนูญก็เขียนให้เป็นผู้แทนปวงชน และ ส.ส. อีก 500 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน สามารถใช้ “อำนาจนิติบัญญัติ” อันเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตยที่เป็นของประชาชน ดังนั้น การใช้อำนาจของรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตยจึงต้องสะท้อนถึงเจตนารมณ์ของประชาชน เมื่อผู้แทนประชาชนต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยตั้ง ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญ รัฐสภาจึงเป็นด่านขั้นต้นที่สามารถตัดสินใจใช้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้

นอกจากนี้ ภายหลังจากร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญผ่านการพิจารณาของรัฐสภา วาระที่ 3 ก็ต้องจัดให้มีการทำ “ประชามติ” ซึ่งไม่ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อตั้ง ส.ส.ร. มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะเกิดขึ้นหรือไม่ ท้ายที่สุดแล้วผู้ที่ตัดสินใจคือ “ประชาชน” ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่ควรปิดโอกาสการตัดสินใจของประชาชน

iLaw ระบุด้วยว่า ที่มาของศาลรัฐธรรมนูญยังมีความเชื่อมโยงกับประชาชนน้อย บางส่วนมาจากการคัดเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา บางส่วนมาจากการคัดเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด อีกทั้งกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชน ดังนั้นหากศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจชี้ขาด จนส่งผลให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องทำประชามตินั้นตกไป จะกลายเป็นว่าเสียงของตุลาการเพียงเก้าคน กลับมีน้ำหนักจนสามารถ “ปัด” ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ ส.ส. เสนอให้ตกไปได้ และยังเป็นการปิดทางไม่ให้เจ้าของประเทศชี้ขาดการแก้รัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติ

นอกจากนี้ ตามประวัติศาสตร์ประเทศไทย เคยมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น เพื่อตั้ง ส.ส.ร. ให้มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถึงสองครั้ง โดยครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2491 และครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ.2539 โดยครั้งนี้ ได้เพิ่ม “หมวด 12 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ขึ้นมา ตั้ง ส.ส.ร. มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540

“การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง ส.ส.ร. ครั้งนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ และเป็นการดำเนินวิถีปฏิบัติด้านการร่างรัฐธรรมนูญของรัฐสภาในอดีต แต่การที่รัฐสภาชิงส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญที่มีความยึดโยงกับประชาชนน้อยกว่าเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาเอง ทั้งๆ ที่ปัญหานั้นรัฐสภาก็สามารถแก้ไขได้ กลับเป็นเรื่องที่แปลกในระบอบประชาธิปไตย”

ขณะเดียวกันที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดประชุมคดีนี้ หลังสั่งให้ มีชัย ฤชุพันธุ์, ศ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, ศ.สมคิด เลิศไพฑูรย์ และ ศ.อุดม รัฐอมฤต ทำความเห็นยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 3 มี.ค. 2564 เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาคดี ขณะที่รัฐสภาวางกำหนดการประชุมร่วมกันเป็นวันที่ 17-18 มี.ค. นี้ ซึ่งคาดหมายว่า ภายในกำหนดสองวันดังกล่าวน่าจะมีการลงมติวาระที่ 3

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว