“เดินทะลุฟ้า” ภาคต่อ “We Walk” บนหนทางสันติวิธี

ภาพสะท้อน #ม็อบ7มีนา – #เดินทะลุฟ้า ภาคต่อ We walk หลอมรวมคนรุ่นใหม่ – ชาวบ้าน ผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐ บนแนวทางสันติวิธี

7 มี.ค. 2564 – กลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า เครือข่าย People Go Network, UNME of Anarchy และกลุ่มราษฎร นำโดย ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก รวมถึง สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ และ พริ้ม บุญภัทรรักษา แม่ของเพนกวินและไผ่ ที่ร่วมเดินในกิจกรรม เดินทะลุฟ้า คืนอำนาจประชาชน 

9.00 น. ออกเดินทางจากจุดเริ่มต้นบริเวณแยกเกษตร โดยมีจุดพักที่โลตัสลาดพร้าว บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สะพานควาย และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 

13.30 น. เริ่มออกเดินจากอนุสาวรีย์ชัยฯ ไปยัง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และแวะพักอีกครั้งที่ สะพานลอยหน้าสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยจุดนี้ ยังมีเครือข่าย #saveบางกลอย ออกมาชูป้ายร่วมเดินขบวนในช่วงโค้งสุดท้าย โดยตัวแทนเครือข่ายฯ ยืนยันว่า พวกเขาต้องการจะสื่อสารประเด็นกะเหรี่ยงบางกลอย ให้เป็นประเด็นร่วมของสาธารณะ เพื่อให้ภาครัฐหันมาแก้ปัญหาให้กับ กลุ่มชาติพันธุ์ทุกคน ในสังคมไทย

15.28 น. เส้นทาง 247.5 กิโลเมตร ของกิจกรรมเดินทะลุฟ้าฯ จากโคราช-กทม. รวม 17 วันสิ้นสุดลงที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ปักธง #LGBTQ #saveบางกลอย #ปล่อยเพื่อนเรา #ศิลปะปลดแอก ธงปัญหาเศรษฐกิจ เหมืองดงมะไฟ ประชาชนเบียร์ ฯลฯ ล้อมรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อส่งเสียงให้รัฐบาล และนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชน, ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณา โดยวันนี้ (7 มี.ค.) มีระยะทางรวม 15 กิโลเมตร

16.00 น. ผู้ร่วมกิจกรรมได้จัดเตรียมเวทีชุมนุม ขณะที่ พ.ต.อ. ทศพล อำไพพิพัฒน์กุล ผกก.สน.สำราญราษฎร์ พร้อมด้วย พ.ต.อ. สนอง แสงมณี ผกก.สน.ชนะสงคราม ได้อ่านประกาศระบุว่า การทำกิจกรรม “เดินทะลุฟ้าฯ” เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยอ้างประกาศตามมาตรา 9 แห่ง พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัด ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและอาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 หากผู้ใดฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามประกาศนี้ ต้องรับโทษตามมาตรา 18 แห่ง พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมขอให้ยุติการชุมนุม แต่กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงยืนยัน ปักหลักชุมนุมต่อเนื่องถึงเวลา 21.00 น.

ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ระบุว่า การเดินทางครั้งนี้ตั้งใจใช้การเดินเพื่อสื่อสารซึ่งข้อเรียกร้องหลัก คือ ให้รัฐบาล ปล่อยตัวแกนนำ 4 คน ที่ถูกควบคุมตัวจากคดีมาตรา 112 ได้แก่ พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม รวมถึงเพื่อน ๆ ที่ถูกคุมขังจากการชุมนุม อีกทั้งเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก เพื่อคืนอำนาจให้แก่ประชาชน อีกทั้งเปิดทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อทำให้สังคมเกิดความเท่าเทียมเป็นธรรม

“เราต้องการเดินเพื่อสื่อสารอย่างสันติ ตลอดเส้นทางมีทั้งเสียงเห็นด้วย เห็นต่าง มีคนสาดน้ำใส่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม แต่ยืนยันอดทนโดยไม่ใช้ความรุนแรง”

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ เครือข่าย People Go network ระบุว่า ม็อบทะลุฟ้า เป็นภาคต่อของ we walk โดยครั้งนั้นเป็นการเดินทางจาก กทม. ออกต่างจังหวัด เพราะไม่ได้หวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากส่วนกลาง แต่ครั้งนี้เดินเข้าสู่ส่วนกลาง เพื่อสื่อสารว่าชาวบ้าน และภาคประชาชนบางส่วนไม่ได้ต้องการรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มีส่วนมาจากภาคประชาชน รวมถึงกฎหมาย เช่น มาตรา 112 ที่เข้ามาลิดรอน ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ จิตวิญญานความเป็นมนุษย์

“ที่ผ่านมามีชาวบ้านที่ออกมาเรียกร้อง ส่งเสียงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ นโยบาย กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่การเรียกร้องทางการเมืองโดยตรง และหลายครั้งเสียงไม่ได้ดังมากพอจึงต้องการใช้ #เดินทะลุฟ้า ครั้งนี้ เป็นเหมือนภาคต่อ We walk ที่จะช่วยหลอมรวมการชุมนุมของชาวบ้าน กับการชุมนุมทางการเมืองเข้าด้วยกันเพื่อสื่อสารปัญหาที่ถูกกดทับเรื่องเดียวกัน”

ไผ่ นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม หรือ We Fair มองภาพรวมการต่อสู้ทางการเมืองครั้งล่าสุด กลุ่มผู้ชุมนุม ได้ถอดบทเรียนจากการชุมนุม 28 ก.พ. 2564 ของ REDEM จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ถนนวิภาวดีรังสิต ที่เกิดเหตุเผชิญหน้า โดยพยายามปรับให้เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้นในการเคลื่อนไหววันที่ 6 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยเห็นภาพการเคลื่อนไหวของคนต่างจังหวัด อย่างกลุ่มเสื้อแดง 4 ภาค กับคนเมือง อย่างกลุ่ม REDEM มากขึ้น พร้อมย้ำควรเน้นการสื่อสารภายในการชุมนุมมากขึ้น แม้จะไร้แกนนำ เพื่อป้องกันไม่ให้นำไปสู่ความรุนแรง 

“ความรุนแรงส่งผลด้านลบต่อผู้ชุมนุม ขณะที่ฝ่ายรัฐ จะใช้ความชอบธรรมนี้เป็นประเด็นปราบปรามประชาชน”

นิติรัตน์ ตั้งข้อสังเกตการที่ประชาชน เข้าร่วมกับ คนรุ่นใหม่ ทำให้เห็นพัฒนาการสำคัญของภาคประชาชน ที่ร่วมสื่อสารประเด็นความเดือดร้อน ควบคู่กับ ประเด็นทางการเมือง ซึ่งจะค่อย ๆ เชื่อมโยงและลดช่องว่างระหว่างภาคประชาชนกับคนรุ่นใหม่ และช่วยกันจับตากลเกมทางการเมือง ควบคู่กับการส่งเสียงสะท้อนสิ่งที่เป็นปัญหาร่วมกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์