เปิดแผนพัฒนาพื้นที่นิคม กม.11 ชาวบ้าน ท้วง ชุมชนเดิมอยู่ตรงไหน หลังไม่พบในแผนผังใหม่

ศูนย์วิจัยขีดความสามารถฯ นิด้า เปิดผลออกแบบโครงการพัฒนานิคม กม.11 แบ่งเป็น 6 ส่วน รองรับที่อยู่อาศัยพนักงานการรถไฟฯ อาคารทำการ และพื้นที่สาธารณะประโยชน์ ยังไร้พื้นที่รองรับชุมชนคนจนเมือง

วันนี้ (4 มี.ค. 2564) ศูนย์วิจัยขีดความสามารถในการแข่งขัน สำนักวิจัยสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า เปิดเผยผลงานการออกแบบเบื้องต้น โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณ นิคม กม.11 ณ ที่ประชุมกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมี ไพบูลย์ สุจิรังกุล วิศวกรใหญ่ฝ่ายช่างโยธา ประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่อยู่ในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นประธาน

แผนการใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าว ระบุถึง การจัดสรรพื้นที่ออกเป็น 6 ส่วน คือ 1. ที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุด (แฟลต) 2. ที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว 3. ที่อยู่อาศัยประเภทเรือนแถว 4. กลุ่มอาคารที่ทำการและส่วนบริการต่าง ๆ 5. เป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ติดสวนรถไฟ และ 6. พื้นที่ฝ่ายบริหารงานบุคคล ด้านฝึกอบรม

ซึ่งในแผนการปรับปรุงพื้นที่ มีกำหนดให้ย้ายที่พักพนักงานการรถไฟฯ ไปยังบริเวณพื้นที่ตึกแดง บางซื่อ สำหรับรองรับพนักงาน 2,000 ครอบครัว แต่สำหรับชุมชนคนจนเมืองในพื้นที่ยังไม่มีแผนกำหนดว่าจะมีการจัดสรรที่อยู่ให้อย่างไร ทำให้ พรลภัส บัวคลี่ ชาวชุมชนพัฒนา กม.11 ซึ่งเป็นตัวแทนชาวบ้านที่เข้าร่วมประชุมแสดงความกังวล

เสียความรู้สึก เมื่อเห็นว่าแผนการพัฒนาพื้นที่ไม่มีคนในชุมชนอาศัยอยู่ตรงนั้นเลย เขาเอาคนจนเมืองเอาไปไว้ตรงไหนหมด อยากจะขอเสนอให้มีการแบ่งสรรปันส่วนที่ดิน ประมาณ 13 ไร่ ให้เป็นที่อยู่ของชาวบ้าน โดยจะย้ายชุมชนบุกรุกในที่ดินริมทางรถไฟทั้ง 3 ชุมชน คือ ชุมชนนิคม กม.11 ชุมชนพัฒนา กม.11 และชุมชนบางซื่อ โดยขอทำสัญญาเช่า 30 ปี

สอดคล้องกับ อัภยุทย์ จันทรพา ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค ที่เข้าร่วมประชุมด้วย ระบุว่า อยากให้ศูนย์วิจัยฯ นิด้า และการรถไฟฯ ได้พิจารณาถึงการมีอยู่ของชุมชนคนจนเมือง เพื่อให้การเดินหน้าโครงการ เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่เอาที่ดินทั้งหมดให้นายทุน แต่ประชาชนไม่มีที่อยู่

พื้นที่ทั้งหมด 325 ไร่ แบ่งให้ชุมชนสัก 13 ไร่ ตรงไหนก็ได้ที่เป็นมุมแย่ที่สุด อัปลักษณ์ที่สุดในย่าน เพราะหากไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ไป พวกเขาไม่มีศักยภาพที่จะไปเช่าที่ดินราคาแพงกลางเมือง และกลายเป็นปัญหาเชิงสังคมเพิ่มขึ้นอีก เราไม่ได้ขัดพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ แต่อยากให้คำนึงถึงคนกลุ่มนี้ด้วย

เขาระบุอีกว่า ที่ผ่านมา การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มีการประชุมหารือกับชาวบ้านในวาระการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่อยู่ในที่ดินของการรถไฟฯ ทุกเดือน แต่ตัวแทนชาวบ้านมองว่า แม้จะมีเวทีรับฟังความคิดเห็น ความต้องการ และข้อเสนออย่างต่อเนื่อง แต่ท้ายที่สุดแล้ว อำนาจตัดสินใจอยู่ในระดับผู้ว่าการรถไฟฯ เป็นต้นไป จึงต้องการให้ ผู้ว่าการรถไฟฯ เข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็น และตัดสินใจในวาระเร่งด่วนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวบ้านด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้