วันแรกเปิด “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” เดินรถไฟทางไกล

คาดมีผู้โดยสารพิ่มขึ้นอีก 10,000 คนต่อวัน ลดปัญหาจราจรติดขัดพื้นที่ชั้นใน กทม. พร้อมเร่งพัฒนาพื้นที่รอบสถานี (TOD) “ศักดิ์สยาม” ชี้ พลิกโฉมระบบการคมนาคมขนส่งทางรางของประเทศระยะยาว

วันนี้ (19 ม.ค. 2566) สถานีรถไฟกรุงเทพ หรือ สถานีรถไฟหัวลำโพง ที่อยู่คู่กับคนไทยมายาวนานกว่า 107 ปี ก่อนที่รถไฟ 52 ขบวน จะย้ายไปให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์  ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มุ่งเน้นการสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพในด้านโครงข่ายคมนาคม เพื่อการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ โดยกระทรวงคมนาคม ได้แปรนโยบายดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบราง เพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการให้มีมาตรฐานทัดเทียมในระดับนานาชาติ 

กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการก่อสร้างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ศูนย์กลางการขนส่งระบบรางที่ใหญ่ที่สุดของประเทศเพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อการเดินทางทางรางทุกเส้นทาง โดยระยะแรกได้เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์รถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ – ตลิ่งชัน และ บางซื่อ – รังสิต) อย่างเต็มรูปแบบเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งมีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

วัตถุประสงค์ของการก่อสร้างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เป็นศูนย์กลางการขนส่งระบบรางที่สามารถเชื่อมโยงทุกจุดหมายทั่วประเทศ และเพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางแก่ประชาชน ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ขบวนรถไฟทางไกลจะเปิดให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อลดภาระความแออัดการให้บริการของสถานีกรุงเทพหรือหัวลำโพง และลดปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครบริเวณจุดตัดทางรถไฟ รวมทั้งลดปัญหามลภาวะทางสิ่งแวดล้อม PM 2.5 และเพิ่มประสิทธิภาพการเดินรถไฟให้มีความตรงต่อเวลามากยิ่งขึ้น 

ในลำดับแรกจะดำเนินการเปิดให้บริการขบวนรถไฟทางไกลที่บริเวณประตู 4 ชั้น 2 จำนวน 8 ชานชาลา รวม 52 ขบวน แบ่งเป็น รถไฟสายเหนือ 14 ขบวนรถไฟสายใต้ 20 ขบวน และรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ 18 ขบวน โดยในวันนี้ (19 มกราคม 2566) มีขบวนรถไฟเข้า-ออก สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์จำนวน 27 ขบวน แบ่งเป็น สายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ขาออก จำนวน10 ขบวน ขาเข้า จำนวน 7 ขบวน และรถไฟสายใต้ ขาเข้า จำนวน 1 ขบวน ขาออก จำนวน 9 ขบวน 

การรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมกับ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดรถโดยสารปรับอากาศให้บริการเส้นทางระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และสถานีหัวลำโพง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่า ภายหลังการเปิดให้บริการขบวนรถไฟทางไกล จะส่งผลให้มีผู้ใช้บริการสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เพิ่มขึ้นอีก10,000 คนต่อวัน ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีมาตรการรองรับและมีความพร้อมในการให้บริการแก่ผู้โดยสารรถไฟทางไกล ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ทั้งป้ายบอกทาง จุดพักคอยผู้โดยสาร รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวก โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมกับ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดรถโดยสารปรับอากาศให้บริการเส้นทางระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และสถานีหัวลำโพง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งมีความถี่ทุก ๆ 30 นาที หรือตามจำนวนเที่ยวที่ขบวนรถไฟมาถึงสถานี และการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่น ๆ ได้แก่รถไฟชานเมืองสายสีแดง รถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ซึ่งในอนาคตจะมีการเชื่อมต่อการเดินทางทางอากาศผ่านระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน 

“การดำเนินงานในครั้งนี้ จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พี่น้องประชาชนได้รับความสะดวก สบาย ปลอดภัย ตรงต่อเวลา ในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม รวมทั้งเป็นการพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งทางรางของประเทศในระยะยาว” 

 

ตั้งแต่ วันที่ 19 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ขบวนรถไฟสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ ทุกขบวน ได้ปรับมาใช้การเดินรถบนโครงสร้างทางยกระดับเช่นเดียวกับรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ – รังสิต) ตั้งแต่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์จนถึงสถานีดอนเมือง โดยยกเลิกการให้บริการรับ – ส่ง ผู้โดยสารป้ายหยุดรถไฟ กม.11 สถานีบางเขน ที่หยุดรถไฟทุ่งสองห้อง สถานีหลักสี่ และที่หยุดรถการเคหะ กม.19 ซึ่งผู้ใช้บริการขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว รถธรรมดาและตั๋วเดือน สามารถใช้ตั๋วโดยสารเข้าใช้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ภายในระยะเวลา 1 ปี ตามเงื่อนไขที่ระบุบนตั๋วโดยสารสำหรับขบวนรถธรรมดา รถชานเมือง และขบวนรถนำเที่ยว จำนวน 62 ขบวนยังคงให้บริการที่สถานีต้นทางและสถานีปลายทางที่สถานีหัวลำโพงตามเดิม 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เปิดให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ – ตลิ่งชัน) และรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ – รังสิต) เพื่อยกระดับคุณภาพในการให้บริการของรถไฟชานเมือง ในการบริการขนส่งผู้โดยสารที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชานเมืองให้สามารถเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพมหานครได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งเชื่อมโยงการเดินทางไปยังทุกภูมิภาคทั่วประเทศด้วยการเปิดให้บริการขบวนรถไฟทางไกล และในอนาคตเตรียมเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง 

นอกจากนี้ มีแผนพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ตามหลักการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) โดยพัฒนาเมืองควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมและการขนส่งทางรางของประเทศ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการอย่างบูรณาการ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active