จับตา “ราษฎร” นัดชุมนุม 2 วันติด เริ่มพรุ่งนี้หน้ารัฐสภา ด้าน กสม.มีมติตรวจสอบเหตุอาสาทางการแพทย์ถูกทำร้าย

จับตาความเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎร หลังประกาศชุมนุม 2 วันติด 19-20 ก.พ.นี้ ขณะกองบัญชาการตำรวจนครบาลเตรียมกำลังชุดควบคุมฝูงชน 69 กองร้อย รับมือการนัดชุมนุมใหญ่ของกลุ่มราษฏรในวันที่ 18-22 ก.พ.นี้

วันนี้ (18 ก.พ.2564) เฟซบุ๊กเพจ Mob Fest หนึ่งในกลุ่มเคลื่อนไหวหลักของกลุ่มราษฎร ประกาศจัดชุมนุม MOB FEST #2 พรุ่งนี้ (19 ก.พ.) เวลา 17.00 น. ที่หน้ารัฐสภา เกียกกาย พร้อมระบุข้อความว่า ชวนคนร่วมดูไลฟ์อภิปรายไม่ไว้วางใจจากจอขนาดใหญ่ สลับกับการอภิปราย 10 ประเด็นเร่งด่วนโดยประชาชน

ส่วนการชุมนุมวันที่ 20 ก.พ. ยังไม่มีการประกาศรายละเอียดเพิ่มเติมถึงสถานที่และเวลาจากแกนนำกลุ่มราษฎร หลังจาก รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ประกาศจัดชุมนุมเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดย มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวานนี้ (17 ก.พ.) ระหว่างรายงานตัวต่ออัยการในคดีการชุมนุมที่หน้าสถานฑูตเยอรมันเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 ระบุยืนยันว่า วันที่ 20 ก.พ.นี้ จะมีการชุมนุมและเห็นพลังของการชุมนุมอย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าจะมีผู้ออกมาชุมนุมมากน้อยแค่ไหน ส่วนสถานที่และเวลาของการชุมนุมให้ติดตามจากทีมผู้จัดอีกครั้ง

ขณะที่ เมื่อวานนี้ (17 ก.พ.) กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้สรุปประเมินสถานการณ์แนวโน้มการนัดชุมนุมใหญ่ของกลุ่มราษฏร ในวันที่ 20 ก.พ.นี้ และเสนอแผนไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอกำลังตำรวจชุดควบคุมฝูงชน จำนวน 69 กองร้อยสนับสนุนภารกิจของตำรวจนครบาล ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการจัดเตรียมแผนปฏิบัติและกำหนดจุดการวางกำลัง เบื้องต้นอาจจะใช้กำลัง 20 กองร้อยต่อ 1 ผลัด แบ่งเป็น 3 ผลัดต่อวัน ช่วงระหว่างวันที่ 18-22 ก.พ.นี้ โดยกำหนดดูแลสถานที่ราชการสำคัญ เช่น รัฐสภา

สำหรับสาเหตุที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ต้องขอกำลังสนับสนุนมากถึง 69 กองร้อย เนื่องจากเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา มีการยั่วยุและใช้ความรุนแรงทำให้มีตำรวจควบคุมฝูงชนได้รับบาดเจ็บจำนวน 20 นาย ประกอบกับการสืบสวนหาข่าวของตำรวจนครบาล จึงจำเป็นต้องขอกำลังสนับสนุนจากผู้บังคับบัญชา ระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุลักษณะดังกล่าวขึ้นซ้ำ อีกทั้ง จากกรณีที่อัยการฯ ยังไม่มีคำสั่งฟ้องกลุ่มแกนนำฯ ผู้ชุมนุมคนสำคัญ จึงทำให้ตำรวจต้องประเมินสถานการณ์ให้รอบคอบ

กสม. มีมติตรวจสอบกรณีอาสาสมัครทางการแพทย์ถูกทำร้าย จากเหตุชุมนุม 13 ก.พ.

ส่วนความคืบหน้าการตรวจสอบเหตุรุนแรงในวันที่ 13 ก.พ. ที่ผ่านมา วันนี้ (18 ก.พ.) ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)  เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวานนี้ (17 ก.พ.) มีมติหยิบยกกรณีอาสาสมัครทางการแพทย์อ้าวว่าถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนทำร้ายจากเหตุการเมื่อวันที่ 13 ก.พ. ขึ้นมาตรวจสอบ

ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 34  แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ที่ระบุว่า เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการไม่ว่าโดยทางใด ไม่ว่าจะมีผู้แจ้งหรือผู้ร้องเรียนหรือไม่ก็ตามว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้น ให้คณะกรรมการตรวจสอบเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและทำความจริงให้ปรากฏโดยไม่ล่าช้า และต้องศึกษาและวิเคราะห์ให้ทราบถึงสาเหตุของการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมุ่งเน้นที่จะแก้ไขปัญหาและป้องกันมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเรื่องนั้นหรือลักษณะเดียวกันนั้นขึ้นอีก

โดยหลังจากนี้ คณะกรรมการฯ ก็จะเรียกให้ทั้งฝ่ายคืออาสาสมัครทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ มาชี้แจงข้อเท็จจริง ก่อนสรุปความเห็นและจัดทำรายงานเสนอหน่วยงานเกี่ยวข้องต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว