ทำไมต้องสมัคร สว.? เปิด 3 มุมมอง ว่าที่ผู้สมัคร #สว67

ว่าที่ผู้สมัคร สว. จาก 3 กลุ่มอาชีพ เผยความตั้งใจในการลงสมัคร ชวนประชาชนจับตาเลือกตั้ง สว. ชุดใหม่ ต่างที่มา ต่างมุมมอง หวังสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับนิติบัญญัติ พร้อมทำตามเจตนารมณ์ประชาชน ชี้ ฝั่ง สว. ควรมีคนรุ่นใหม่ ที่มีความเชี่ยวชาญ เข้ามาทำหน้าที่ในสภาฯ บ้าง

11 พฤษภาคม นี้ สว. ชุดปัจจุบัน 250 คน จะหมดวาระลง และจะมี สว. ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเริ่มมีการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร สว. หลายคนจากหลายกลุ่มอาชีพ ซึ่งเป็นที่น่าจับตาว่าเหล่าว่าที่ผู้สมัครเหล่านี้จะมีทีท่าหรือเริ่มเตรียมความพร้อมอย่างไรในการลงสมัคร สว.

The Active พูดคุยกับว่าที่ผู้สมัคร สว. 3 คน จาก 3 กลุ่มอาชีพ ถึงความตั้งใจในการลงสมัคร สว. และการเลือกกระโดดเข้ามาในแวดวงการเมืองของพวกเขา ซึ่งทั้ง 3 คน ได้ให้ความเห็นในมุมมองที่ต่างกันไป

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ว่าที่ผู้สมัครจาก กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ปัจจุบันเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์โซลูชั่น จำกัด และ TARAD.com เป็นนักลงทุนในธุรกิจ Startup ซึ่งลงทุนเกือบ 50 บริษัท นอกจากนี้ยังมีบทบาทเป็นคณะอนุกรรมาธิการฯ ในคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา ในชุดปัจจุบันอีกด้วย ซึ่งดูเกี่ยวกับเรื่องการค้า การทำธุรกิจต่าง ๆ 

เหตุผลที่สนใจและอยากจะสมัครชิงเก้าอี้ สว. ชุดใหม่ เนื่องจากทำธุรกิจด้านดิจิทัลมา 25 ปี เห็นว่าดิจิทัลมีโอกาสที่จะเปลี่ยนประเทศอย่างมาก ซึ่งตนก็พยายามผลักดันในหลาย ๆ เรื่อง ในฐานะที่เป็นประชาชนคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามารุกเข้ามาของต่างชาติผ่านดิจิทัล การขาดดุลดิจิทัลต่าง ๆ โดยที่ผ่านมามีโอกาสทำงานร่วมกับภาครัฐมาหลายปี และพบว่าเมื่อเราเป็นคนธรรมดาก็จะผลักดันข้อเสนอต่าง ๆ ได้ลำบาก 

เขามองว่าในฝั่งรัฐสภาก็ควรจะมีคนรุ่นใหม่ที่มีความเข้าใจด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน การทำธุรกิจ มันต้องมีคนเข้าใจเรื่องนี้จริง ๆ โดยเฉพาะทางด้านดิจิทัล เพราะวันนี้โลกเราเปลี่ยนเป็นดิจิทัลหมดแล้ว 

สำหรับความหวังในการลงสมัคร สว. ครั้งนี้ เขาหวังทั้งได้มีสิทธิเข้าโหวตและเข้าไปทำหน้าที่ สว. ส่วนตัวคิดว่าตัวเองทำงานเกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจยุคใหม่หลาย ๆ ด้าน ทั้งทำงานกับภาครัฐ ผลักดันอะไรหลาย ๆ อย่าง โดยเอาดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศ และก็พบว่าที่ผ่านมาการขับเคลื่อนนี้ยังช้าอยู่ จึงแอบหวังว่าจะได้เข้าไปทำหน้าที่นี้ แต่ถ้าไม่ได้จริง ๆ ก็พร้อมที่จะสนับสนุนให้คนที่มีความรู้ ความสามารถในด้านนี้จริง ๆ เข้าไปทำงานในตำแหน่งนี้จริง ๆ 

“แม้การเลือก สว. ครั้งนี้ดูเหมือนเรื่องไกลตัวมาก ๆ แต่จริง ๆ แล้ว การเลือก สว. ครั้งนี้เปิดโอกาสให้วิชาชีพต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานอะไรก็แล้วแต่ คุณเองก็สามารถสมัคร สว.ได้”

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

ด้าน ศิริทาทา นิลพฤกษ์ ว่าที่ผู้สมัครจาก กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ซึ่งเธอเป็นนักกิจกรรมที่ขับเคลื่อนด้านสิทธิมนุษยชน บอกว่า อยากจะให้มีคนรุ่นใหม่เข้ามาทำหน้าที่ สว. และอยากเป็นส่วนหนึ่งในการเข้าไปเปลี่ยนใจกลางสำคัญในระดับนิติบัญญัติของการสร้างกฎหมาย เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง และแก้ไข ในสิ่งที่ตนเองและหลาย ๆ คนพยายามเรียกร้องกันมา

พอได้ทำกิจกรรมลงท้องถนน ก็ทราบแล้วว่าเวลาจะผลักดัน ยกเลิก แก้ไข กฎหมายใด ๆ ต้องส่งถึงสภานิติบัญญัติ และผ่านสมาชิกผู้แทนราษฎร หลังจากนั้นก็ต้องไปผ่านชั้นสมาชิกวุฒิสภา ฉะนั้น กระบวนการเปลี่ยนแปลง แก้ไข ไม่สามารถทำโดยภาคประชาชนฝ่ายเดียวได้

เธอกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หลัง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่ผ่านถึงชั้นพิจารณาของ สว. แล้ว ยังมีกฎหมายอีกหลายอย่าง เช่น กฎหมายการรับรองคำนำหน้านาม ที่จะมีการยื่นรายชื่ออีกในการประชุมสมัยหน้า อีกทั้งมีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีที่ต้องการยกเลิก พอผ่านชั้น สส. เมื่อถึงชั้น สว. ก็ต้องมีหน้าที่พิจารณากฎหมาย แก้ไข หรือปรับเปลี่ยนกฎหมายเหล่านี้ ฉะนั้น ถ้าเกิดไม่มีใครทำงานด้านนี้เลย หรือส่งเสียงด้านนี้ สิ่งต่าง ๆ ที่ผลักดันกันมาก็ค่อนข้างจะริบหรี่ เหล่านี้ คือเป้าประสงค์ว่าทำไมถึงอยากจะเป็นสมาชิกวุฒิสภา

ส่วนช่องโหว่ที่จะทำให้เกิดการแทรกแซงทางอำนาจนั้นค่อนข้างที่จะคาดเดาได้ยาก แต่เนื่องจากกฎเกณฑ์การสมัครอาจทำให้เกิดช่องว่างให้ใครก็ตามสามารถที่จะฉกฉวยโอกาสในแทรกแซงกระบวนการสรรหา สว. ชุดใหม่

“สำหรับเรามีทิศทางและแนวทางชัดเจนว่า จะไม่ให้เงื่อนไขของภาคพรรคการเมืองมาใช้ผลประโยชน์ได้”

ศิริทาทา นิลพฤกษ์

นอกจากนี้ ยังตั้งคำถามต่อการสร้างกลไก เงื่อนไข ความซับซ้อน ในการมีสิทธิเลือก สว. ว่าผู้สมัครจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่าเป็นตัวแทนของใคร เพื่อที่จะเข้าไปปรับเปลี่ยนกฎหมาย หรือเข้ามาสนับสนุนสภานิติบัญญัติอย่างแท้จริง และมองว่าการทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชน ใน 20 กลุ่มอาชีพ นั้นก็ครอบคลุม แต่ถ้าต้องเลือกจริง ๆ เราคงต้องเลือกกลุ่มที่สอดคล้องกับการเรียกร้องที่ผลักดันมากที่สุด

เทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไท ว่าที่ผู้สมัครจาก กลุ่มสื่อสารมวลชน นักเขียน อีกหนึ่งคนที่หวังว่าจะลงสมัครเพื่อมีสิทธิในการเลือก สว. เข้าไปในกระบวนการเพื่อเลือกคนที่คิดว่าจะสามารถผลักดันในสิ่งที่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ และเพื่อเข้าไปตรวจสอบด้วย เนื่องจากกระบวนการนั้นค่อนข้างซับซ้อน แต่ก็ยังหวังว่าตนจะสามารถผ่านเข้าไปให้ลึกที่สุด

ในส่วนของความมุ่งหมายของการลงสมัคร สว. ครั้งนี้ คืออยากจะได้ตัวแทนที่เป็นคนที่ไม่ไปขัดขวางกระบวนการที่ชอบธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญ ผลการเลือกตั้ง เจตนาของประชาชนที่ล่ารายชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมองว่าหน้าที่ของ สว. ชุดใหม่ ถ้าเป็น 1 ใน 3 ของ 200 คน หรือ 67 คน ก็ควรผายมือให้ผ่านโดยไม่ขัดขวางกระบวนการที่มีความชอบธรรม และเจตนารมณ์ของประชาชน และสภาผู้แทนราษฎรที่มีความชอบธรรมมากกว่า สว.

ตำแหน่ง สว. แม้ว่าอำนาจต่อรองจะดูเยอะ แต่ก็มีจำกัด โดยมีอำนาจ คือ 1. เสียง สว. ต้องถึง 1 ใน 3 จึงจะแก้รัฐธรรมนูญได้ 2. ให้ความเห็นชอบกฎหมายที่ผ่านสภาล่างมา 3. อภิปรายแต่ไม่ลงมติ และ 4. แต่งตั้งองค์กรอิสระ หรือมีคณะกรรมาธิการต่าง ๆ

เทวฤทธิ์ ให้ความเห็นว่า นิยามได้ยากว่า สว. เป็นตัวแทนของประชาชน เนื่องจากการเลือกแบบกลุ่มอาชีพ ต้องมีการเลือกไขว้กับกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด สู่ระดับประเทศ นอกจากนี้การหาเสียงก็ไม่สามารถทำได้ ก็เลยขึ้นอยู่กับว่าที่ผ่านมาการทำงานในกลุ่มอาชีพของตนเป็นที่ประจักษ์ต่อคนในแวดวงเดียวกันหรือไม่ และกลุ่มอาชีพอื่น ๆ จะรู้จักเราไหม ฉะนั้น ไม่สามารถการันตีได้ว่าเป็นตัวแทนของใคร

“สว. ชุดใหม่นี้ เป็นชุดเฉพาะกิจ ไม่มีความชอบธรรมใด ๆ ที่จะไปขัดขวางอำนาจอื่น เจตนาดีต่าง ๆ ไม่ได้การันตีถึงผลที่จะเกิดขึ้นในตัวระบบการเลือก เราไม่ควรนำเจตนาดีไปให้ความชอบธรรมกับการใช้อำนาจ แต่เราควรหดมือให้มากที่สุด ประกาศตัวตั้งแต่วันนี้เลยว่าเราไม่มีอำนาจจะไปจัดการอะไร เราเป็นเพียงแค่เป็นผู้ส่งเจตนารมณ์ของประชาชนให้ไปถึงฝั่งฝัน”

เทวฤทธิ์ มณีฉาย

เขาทิ้งท้ายว่า เมื่อสมัคร สว. แล้ว อย่างน้อยก็ได้เข้าไปเลือกคนที่คาดหวังสะท้อนเจตนารมณ์ของตนเอง แต่ปัญหาคือ ระบบให้เพียงผู้สมัครแนะนำตัวสั้น ๆ ซึ่งก็เป็นเงื่อนไขกติกาของผู้ลงสมัคร

อาจกล่าวได้ว่าสนามการเลือกตั้ง สว. ชุดใหม่นี้ เป็นที่จับตาของสังคมอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นว่าที่ผู้สมัคร หรือเส้นทางการเข้าไปสู่ตำแหน่ง สว. 200 คน ซึ่งไม่ใช่เพียงการเดิมพันทางการเมืองแค่ของผู้ลงสมัคร แต่เป็นหนทางนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของตัวบทกฎหมายที่ประชาชนเรียกร้องไว้ ซึ่งเสียงสะท้อนจากว่าที่ผู้สมัครข้างต้นก็เป็นส่วนหนึ่งของมุมมองผู้ที่จะเข้ามาเป็น สว. ชุดใหม่ในอนาคต เพราะยังมีว่าที่ผู้สมัครจำนวนไม่น้อยจาก 20 กลุ่มอาชีพที่ต้องลงสนามนี้เช่นกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active