โต้นอกห้องประชุมสภา “สธ.” ตอบ 5 คำถาม อภิปรายไม่ไว้วางใจปมวัคซีนโควิด-19

“อนุทิน” เคลียร์ไม่ชัด “กระทรวงสาธารณสุข” ช่วยตอบ 5 คำถามจากนอกห้องประชุมสภา ปม อภิปรายไม่ไว้วางใจ วัคซีนโควิด-19 “วิโรจน์” ก้าวไกล โต้กลับ ยังไม่มั่นใจแผนกระจายวัคซีน

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ปมวัคซีนโควิด-19 ในรัฐสภาวันนี้ (17 ก.พ. 2564) เป็นปรากฏการณ์ที่ยากจะได้เห็นและบางคำถามกลายเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน

ไม่บ่อยครั้งที่ผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุขจะตบเท้า เข้ารัฐสภาแท็กทีม Backup ข้อมูลให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่ว่าจะด้วยบารมีของ อนุทิน​ ชาญวีรกูล เอง​ หรืออาจจะมีบารมี​ “หมอใหญ่” ในกระทรวงฯ ที่อยู่เบื้องหลัง แต่ก็นับว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการชี้แจงเรื่องนี้ให้กับประชาชน

ต่อไปนี้เป็น 5 คำถามที่ถูกถามขึ้นในสภา โดยเฉพาะจาก วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เพราะการแถลงของกระทรวงสาธารณสุข เกิดขึ้นทันทีหลัง ส.ส.วิโรจน์อภิปรายจบ และเป็นคำตอบจากทีมกระทรวงสาธารณสุข ที่เข้าไปตั้งโต๊ะแถลงข่าวคู่ขนานไปกับการอภิปรายของพรรคฝ่ายค้าน

1.
Q: ทำไมการจัดสรรวัคซีนจึงล่าช้ากว่าประเทศอื่น ๆในภูมิภาคอาเซียน ยิ่งวัคซีนมาช้าเศรษฐกิจก็ยิ่งฟื้นตัวช้า​ การบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาลบกพร่องหรือไม่

A: เดิมรัฐบาลวางแผนจัดสรรวัคซีนล็อตแรกจากแอสตราเซเนกา ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในเดือนมิถุนายน​ แต่มี 2 ปัจจัยที่ทำให้ต้องมีการเร่งรัดการฉีดวัคซีน คือ 1. การระบาดระลอกแรกที่จังหวัดสมุทรสาคร​ และ 2. การทยอยฉีดวัคซีนในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นแรงกดดันทางการเมือง ให้ต้องเร่งจัดหาวัคซีนเร็วขึ้น​ แต่การจัดหาวัคซีนต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ​ คำนึงถึงข้อจำกัดในการขนส่ง​ อุณหภูมิในการจัดเก็บวัคซีน ซึ่งในที่สุดได้วัคซีน​ ซิโนแวค​ จากประเทศจีนที่จะเริ่มฉีดในเดือนกุมภาพันธ์​ นี้อย่างแน่นอน

2.
Q: ทำไมวัคซีนล็อตแรกจึงเลือก วัคซีน ซิโนแวค ทั้ง ๆ ที่วัคซีนบริษัทซีโนฟาร์มได้รับการรับรองจาก อย. จีน ตั้งแต่เดือนธันวาคม​ 2563

A: เพราะวัคซีน​ ซิโนฟาร์มไม่สามารถส่ง ออเดอร์ วัคซีนให้ไทย​ ทันไตรมาสแรกของปี 2564 รัฐบาลจึงไม่เลือกจองซื้อวัคซีนล็อตแรกกับบริษัทซีโนฟาร์ม​ แต่เลือกซิโนแวค​ เพราะสามารถจัดส่งให้ได้ทัน​ แต่ต้องมารอลุ้นการขึ้นทะเบียนของ อย. จีน ซึ่งก็ขึ้นทะเบียนไปแล้วเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

3.
Q: ทำไมจึงไม่เข้าร่วมโครงการ​ COVAX​ พบข้อสังเกตว่า 80% วัคซีนในโครงการใช้ของ แอสตราเซเนกา เช่นเดียวกัน​ ทั้งยังมีราคาเพียง 3 ดอลลาร์สหรัฐ/โดส​ ซึ่งถูกกว่าการผลิตโดย สยามไบโอไซเอนซ์ 5 ดอลลาร์สหรัฐ/โดส​ ซึ่งแพงกว่า

A: การจองซื้อวัคซีนกับ​โครงการ​ COVAX​ ยังไม่แน่นอนว่าจะได้รับวัคซีน เร็วตามความต้องการของประชาชนในเดือนกุมภาพันธ์นี้หรือไม่ เพราะอาจจะได้วัคซีน ในช่วงเดือนมิถุนายนเช่นเดียวกับที่จะผลิตโดย​ สยามไบโอไซเอนซ์ ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต่างกัน เพราะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปด้วย​ ซึ่งจะสร้างความมั่นคงทางวัคซีนในระยะยาว ที่จะต้องฉีดประชากรไปจนกว่าโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น

4.
Q: ประเทศอินเดียเคยเข้ามาเสนอขายวัคซีนให้กับประเทศไทยแต่รัฐบาลไทยนิ่งเฉย

A: ประเทศอินเดียไม่เคยเข้ามาเสนอขายวัคซีนให้กับประเทศไทย​ ยืนยันเป็นข่าวปลอม แต่ประเทศที่อินเดียเพียงแค่เข้ามาเสนอตัวร่วมงานวิจัยด้วยเท่านั้น

5.
Q: ทำไมต้องเป็นบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ รับถ่ายทอดเทคโนโลยี และเรียกร้องให้มีการเปิดเผยสัญญาที่ทำร่วมกัน อย่างโปร่งใส​ พบว่าข้อ ตกลง บางส่วนในสัญญามีเงื่อนไขสนับสนุนบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์

A: สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นบริษัทชีววัตถุที่ก่อตั้งตามพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 และมีความพร้อมมากที่สุดในการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัท แอสตราเซเนกา

‘วิโรจน์’ แถลงโต้กลับ สธ. อีกรอบ ยังคาใจบริหาร ‘แผนวัคซีน’

วิโรจน์ เเถลงข่าวต่อสื่อมวลชน หลังปลัดกระทรวงสาธารณสุขตั้งโต๊ะเเถลงเเละชี้เเจงในประเด็นแผนบริหารวัคซีนของรัฐบาลที่ถูกนำไปอภิปรายในสภา โดยนายวิโรจน์ ได้เข้ารับฟังการเเถลงข่าวของกระทรวงสาธารณสุขครั้งนี้ด้วยตนเอง

เขาระบุว่า ขอบคุณคุณหมอที่มาชี้เเจงเพื่อให้ข้อมูลในประเด็นการจัดซื้อวัคซีนของรัฐบาล แต่รู้สึกผิดหวังที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีเเละรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้บริหารในการจัดหาวัคซีนไม่ได้มาชี้เเจงด้วยตนเอง จากการเเถลงของกระทรวงสาธารณสุข สะท้อนให้เห็นว่านี่คือคุณูปการในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่นำมาซึ่งการเเถลงของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อชี้เเจงข้อเท็จจริงเเละสร้างความมั่นใจของพี่น้องประชาชน

แต่สิ่งที่ตนตั้งข้อสังเกต จากการเเถลงของกระทรวงสาธารณสุข คือการที่ระบุว่า ขีดความสามารถของแต่ละโรงพยาบาล สามารถฉีดได้ 500 โดสต่อวัน รวมแล้วจะสามารถฉีดได้ 10 ล้านโดสต่อเดือน หากมีวัคซีนเพียงพอ ซึ่งเรื่องนี้เราต้องมาติดตามดูกันอีกทีว่าวัคซีนจะมาตามแผนหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ต้องขอถามอีกครั้งไปยัง นายอนุทินว่า มีความมั่นใจได้อย่างไร ในการผลิตวัคซีน แอสตราเซเนกา ในประเทศไทย เพราะแม้แต่โรงงานที่ประเทศเบลเยี่ยมที่มีประสบการณ์มา 20 ปี ก็ยังพบปัญหาระหว่างการผลิต ดังนั้น เมื่อฝากความหวังไว้กับวัคซีนเดียว รัฐบาลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ โดยตนยังไม่รับคำตอบกรณีนี้ เเละขอถามอีกว่าจะทำอย่างไรหากพบผลข้างเคียงรุนเเรงจากวัคซีนแอสตราเซเนกาเกิดขึ้น จะมีเเผนรับรองเพื่อแก้ไขปัญหาในการกระจายความเสี่ยงนี้หรือไม่

ส่วนเหตุผลที่ประเทศไทยถึงไม่เข้าร่วมโครงการโคเเวกซ์ ขององค์การอนามัยโลก วิโรจน์ ระบุว่า การเเถลงข่าวของ สธ. พบว่า ยังไม่มีท่าทีที่จะเข้าร่วมในโครงการ ซึ่งตนตั้งข้อสังเกตเพื่อถามอีกครั้งว่า เหตุใดจึงไม่กระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีน เพราะความสำคัญ หากมีการกระจายความเสี่ยง ก็จะเป็นข้อยืนยันว่าเราจะได้รับวัคซีนเเน่นอน

“ผมยังเชื่อมั่นในตัวบุคลากรทางการเเพทย์ทุกท่าน ที่ปฏิบัติงานอย่างหนัก เเละภูมิใจหากไทยผลิตวัคซีนได้เอง เเต่ต้องมีแผนเพื่อกระจายความเสี่ยง ดังนั้น กรณีที่เกิดขึ้น หากมีผลกับประชาชนผู้ที่จะต้องรับผิดชอบ คือ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) เเละ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เเละรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นคนบริหารเเละดำเนินการจัดหาวัคซีน ผมมองว่านี่เป็นปัญหาที่เกิดจากการเเทงหวยใบเดียวของรัฐบาล โดยไม่กระจายความเสี่ยงของการจัดหาวัคซีน ที่เป็นสิ่งสำคัญต่อคุณภาพชีวิตประชาชน”

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS