เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2564 เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ นักวิชาการอิสระ เปิดเผยว่า ได้รับทราบถึงการที่ผู้บริหารระดับสูงใน กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ห้ามนำข้าวและอาหารที่หลายฝ่ายช่วยกันระดมช่วยเหลือชาวบ้านบางกลอย ผ่านด่านอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องเศร้าที่สุดในชีวิตทำงาน ตั้งแต่สอนเรื่องสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี
ที่ผ่านมา ชาวบ้านบางกลอย ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ถูกอพยพลงกว่า 20 ปี ถูกจำกัดเสรีภาพ การเข้าออกหมู่บ้านถูกจำกัด หลายครั้งครูพานักเรียนออกมาเล่นกีฬาในอำเภอแก่งกระจาน แต่พอหลัง 6 โมง กลับเข้าหมู่บ้านบางกลอยไม่ได้ เพราะด่านปิด ทำให้ต้องหาที่นอนกันอยู่ด้านล่าง
เพิ่มศักดิ์ กล่าวอีกว่า หน่วยงานราชการที่ดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ควรมีพฤติกรรมเช่นนี้ แม้ในสงครามสู้รบ ยังอนุญาตให้คนกลางสามารถเข้าไปช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยขาดแคลน และได้รับความทุกข์ยากจากการต่อสู้ แต่นี่ไม่ใช่สงคราม โดยกรมอุทยานฯ มีหน้าที่ดูแลทรัพยากรของชาติและต้องทำงานกับคน แต่เมื่อบุคลากรภายในกรมอุทยานฯ มีทัศนคติเป็นลบต่อคนที่ต้องเจรจาด้วย และดำเนินการในลักษณะละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะการกีดขวางไม่ให้นำข้าวของไปถึงมือชาวบ้าน ควรต้องถูกประณาม และผู้บังคับบัญชาควรลงโทษและไม่ควรปล่อยให้มีการใช้อำนาจตามอำเภอใจ
“จริง ๆ แล้วอุทยานฯ และเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจหรือมีสิทธิห้ามกิจกรรมที่เข้าไปช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยาก ชาวบ้านเขาขาดแคลนข้าวเพื่อการยังชีพ ผมขอกล่าวหาว่า การห้ามเช่นนี้เป็นการลุแก่อำนาจ โดยไม่คำนึงถึงคนที่กำลังทุกข์มา 20 ปี แถมเมื่อมีคนเข้าไปช่วยเหลือยังขัดขวางอีก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่อยู่บนฐานของมนุษยธรรม”
นักวิชาการอิสระ กล่าวด้วยว่า การที่ผู้บริหารอุทยานฯบางคนอ้างเรื่องโควิด-19 นั้น จริง ๆ แล้ว การเข้าไปบริจาคข้าวของให้ชาวบ้านบางกลอยครั้งนี้ เป็นคนละพื้นที่กับนักท่องเที่ยว ที่สำคัญการนำข้าวและอาหารเข้าไปไม่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 เป็นการนำข้าวและอาหารไปช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก จึงไม่มีเหตุผลต้องขัดขวาง และข้าวส่วนใหญ่ก็ยังเอาไปทำบุญเรียกขวัญข้าวซึ่งเป็นกิจกรรมที่ชาวบ้านบางกลอยทำสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ที่สำคัญคือเป็นการเยียวยาจิตใจอันบอบช้ำของชาวบ้านด้วย
ด้าน ณัฐวุฒิ อุปปะ รองเลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) เปิดเผยถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพจากกล้องดักถ่าย พบภาพชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ป่านั้น เขากล่าวว่า เราได้รับภาพว่ามีพี่น้องชาวบางกลอยเดินเท้ากลับไปอยู่บ้านเดิม เราได้คุยกันและตรวจสอบข้อมูลว่าเป็นอย่างไร และมีช่องทางสื่อสารกับพี่น้องด้านบน ซึ่งทราบว่าหลังจากพวกเขาถูกอพยพมาด้านล่าง ความเป็นอยู่ไม่ได้ดีเหมือนดังที่หน่วยงานราชการสะท้อนกลับมา ที่ดินก็ไม่ได้ครบ พื้นที่บางส่วนยังเป็นพื้นหินไม่สอดคล้องกับวิถีไร่หมุนเวียน รายได้ไม่พอเลี้ยงชีพ ชาวบ้านจึงต้องการกลับไปอยู่พื้นที่เดิม
ณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า กลัวประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเดิม คือใช้เงื่อนไขในกฎหมายอุทยานฯ ฉบับใหม่ ทำให้ชาวบ้านกลายเป็นผู้บุกรุก ทั้งที่กรณีบางกลอยยังไม่มีความชัดเจน และยังไม่มีการชำระประวัติศาสตร์ ชาวบ้านควรได้รับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนคนทั่วไป แต่เมื่อหน่วยงานลงพื้นที่ กลับข่มขู่ที่จะดำเนินคดีกลับชาวบ้าน
“ตอนนี้ประเด็นบางกลอยไม่ใช่แค่เรื่องของบางกลอยแล้ว แต่เป็นเรื่องที่อุทยานฯ ประกาศทับพื้นที่เดิมของชาวบ้านทั่วประเทศ เพียงแต่กรณีบางกลอยเป็นตัวอย่างสำคัญ กฎหมายอนุรักษ์ที่ทับคน มองไม่เห็นคน กลายเป็นปัญหาครั้งใหม่ที่ไม่ควรเกิดขึ้นอีกแล้ว”
ทั้งนี้ ยังมองว่าการห้ามไม่ให้นำข้าวของที่ประชาชนร่วมกันบริจาคผ่านด่าน เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ควรรีบออกมาแก้ไข เพราะความความขัดแย้งหลายประเด็นจะได้ลดลง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ต้องลงมาเร่งดำเนินการแก้ไขเรื่องดังกล่าว ซึ่งจะนำเรื่องนี้หารือกับรัฐมนตรีฯ ในการชุมนุมที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ด้วย