ร้อง รมว.ทส. เร่งแก้ข้อพิพาทชุมชนบางกลอย แก่งกระจาน

“พีมูฟ” ขอให้แก้ปัญหาพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษฯ ให้กะเหรี่ยงบางกลอย ตั้งถิ่นฐานและดำรงวิถีชีวิตดั้งเดิม ที่ “ใจแผ่นดิน” พร้อมหารือ รองปลัด ทส. ให้ชะลอดำเนินการใด ๆ และตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง

เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2564 ตัวแทน ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ เข้ายื่นหนังสือถึง วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและชาวเล และประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้แก้ไขปัญหาข้อพิพาทในพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย จ.เพชรบุรี

สาระสำคัญในหนังสือ ระบุ ตามที่ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยล่าง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ประมาณ 40-50 คน ได้เดินเท้าเข้าไปในป่าใหญ่ เพื่อกลับขึ้นไปยังพื้นที่ที่ทำกินเดิม หมู่บ้านบางกลอยบน ในผืนป่า “ใจแผ่นดิน” เมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา เนื่องจากชาวบ้านชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย ทั้งหมู่บ้านที่ถูกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและหน่วยงานความมั่นคงอพยพลงมาตั้งแต่ปี 2539 ปรากฏว่ามีที่ดินไม่เพียงพอต่อการทำกิน และไม่สามารถดำรงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมตามวิถีของกลุ่มชาติพันธุ์ได้ ชุมชนบางส่วนจึงกลับไปอยู่ที่เดิม กระทั่งปี 2554 อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เข้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง เผาบ้าน และยุ้งข้าวของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยร่วม 100 หลัง และกดดันให้ชาวบ้านต้องย้ายมาอยู่หมู่บ้านบางกลอยล่าง-โป่งลึก

แต่ที่ดินที่จัดสรรไว้รองรับ ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ทำให้ชาวบ้านที่มาขายแรงงานในเมืองต้องตกงานและกลับเข้ามาในชุมชน แต่ไม่มีความมั่นคงในอาชีพ รายได้ประจำวัน ท้ายที่สุดชุมชนจึงตัดสินใจเดินเท้าคืนสู่บ้านบางกลอยบน ใจแผ่นดิน และมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและทหารทัพพระยาเสือจะเข้าจับกุมและดำเนินคดี นั้น

สำหรับเนื้อหาที่กลุ่มพีมูฟร้องขอความเป็นธรรมต่อ ทส. ระบุ ให้นำปัญหากรณีบ้านบางกลอยเข้าสู่การพิจารณาแก้ปัญหาของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและชาวเล และคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทส. โดยในระหว่างนี้ให้ยุติการดำเนินการใด ๆ เอาไว้ก่อน, รัฐต้องยินยอมให้ชาวบ้านที่ยืนยันจะกลับคืนสู่บางกลอยบน ใจแผ่นดิน สามารถตั้งถิ่นฐานและดำรงวิถีชีวิตดั้งเดิมได้ รวมทั้งต้องยอมรับระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 ส.ค. 2553

และในสถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งสภาวการณ์ขาดแคลนอาหารของชุมชน รัฐต้องเร่งให้ความช่วยเหลือในการฟื้นฟูความเข้มแข็งของชุมชนโดยเร็ว

ภายหลังการยื่นหนังสือ ตัวแทนพีมูฟ ได้หารือกับ พงศ์บุณย์ ปองทอง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ 1. ให้อุทยานฯ และหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องชะลอการดำเนินการใด ๆ เช่น การอพยพ หรือการผลักดันออกจากพื้นที่ หรือแจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้าน อันก่อให้เกิดการเผชิญหน้าและทำให้เกิดความรุนแรง โดยระหว่างนี้ให้ชาวบ้านชะลอการแผ้วถางเอาไว้ก่อน เพื่อสร้างบรรยากาศในการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้ง แต่ให้มีปัจจัย 4 สามารถดำรงชีพได้

2. ให้คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง ชุดหัวหน้าผู้ตรวจกระทรวง ทส. และคณะทำงานยุทธศาสตร์ของกระทรวง ทส. ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และเสนอทางออกในการแก้ไขปัญหาทั้งปัญหาเฉพาะหน้า ระยะสั้นและระยะยาว โดยเบื้องต้นทีมพีมูฟ โดย ประยงค์ ดอกลำใย และคณะ จะลงพื้นที่ภายในสัปดาห์หน้า โดยมีส่วนราชการกรมอุทยานฯ ลงไปด้วย

และ 3. นำผลการตรวจสอบของคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเสนอต่อคณะอนุกรรมการฯ ของกระทรวง ทส. ที่มี รมว.ทส. เป็นประธาน เพื่อพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ