ประกาศพื้นที่ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตชุมชนกะเหรี่ยงลุ่มน้ำลำตะเพิน จ.สุพรรณบุรี

หวังใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมในการพัฒนาคุณภาพชีวิต นักวิชาการ เสนอ ปลดล็อกข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง ดันความหลากหลายชาติพันธุ์ สู่ ซอฟต์พาวเวอร์

วันนี้ (8 ธ.ค. 2566) ที่วัดป่าผาก ต.วังยาว อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี  ภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ร่วมกันจัดงาน ประกาศพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมชุมชนกะเหรี่ยงลุ่มน้ำลำตะเพิน

โดย สิทธิชัย เสรีส่งแสง ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้รับมอบหมายจาก นพดล พลเสน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเปิดงานพร้อมมอบนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรม และลงพื้นที่ดูรูปธรรมการจัดการทรัพยากรตามวิถีกลุ่มชาติพันธุ์ พร้อมทั้งเป็นสักขีพยานพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือการจัดการพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมลุ่มน้ำลำตะเพิน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 25653 เนื่องใน “วันประกาศพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมชุมชนกะเหรี่ยงลุ่มน้ำลำตะเพิน”

สิทธิชัย กล่าวว่า ตนทราบดีว่าพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยง เป็นแนวทางสนับสนุนและส่งเสริมให้ชุมชนชาติพันธุ์ในฐานะ“ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม” มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อประโยชน์ในการ “พึ่งพาตนเองอย่างสมดุลและสอดคล้องกับธรรมชาติ” เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่จิตวิญญาณของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถดำรงวิถีการทำมาหากินบนฐานภูมิปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรม ได้รับการปกป้องคุ้มครองและยอมรับสิทธิทางกฎหมาย เพื่อการดำรงอยู่ที่ยั่งยืน

โดยชุมชนกะเหรี่ยงลุ่มน้ำลำตะเพิน อันประกอบด้วย บ้านป่าผาก, บ้านกล้วย, บ้านห้วยหินดำ หมู่ที่ 2 ตำบลวังยาว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นชุมชนดั้งเดิมที่ปักหลักตั้งถิ่นฐานมายาวนาน กว่า 250 ปี ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายบนฐานองค์ความรู้ ภูมิปัญญา และวัฒนธรรม ผูกพันอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันอย่างสอดคล้องและสมดุล มี “เจ้าวัด” เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณดูแลความทุกข์สุขของคนในพื้นที่

ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม กรณีปัญหาที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ภาคกลาง (ภาคตะวันตก) จำนวน 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 ณ โดยที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการแต่งตั้ง คณะทำงานแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(ขปส.) ระดับพื้นที่กรณีบ้านกล้วย บ้านห้วยหินดำ และบ้านป่าผากตำบลวังยาว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมอบให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 (ราชบุรี) ประสานแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(ขปส.) เพื่อกำหนดขั้นตอนการดำเนินการสำรวจข้อมูลพื้นฐานของชุมชน รวมถึงพื้นที่ที่ราษฎรเรียกร้องเพื่อขอใช้ประโยชน์ ส่วนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่หมดอายุการอนุญาตให้เอกชนใช้ประโยชน์นั้น

ที่ประชุมมอบให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสุพรรณบุรี จัดทำข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่นพื้นที่ที่สิ้นสุดอายุการอนุญาตมีการต่อใบอนุญาตหรือไม่ หรืออนุญาตให้บุคคลอื่นแล้ว หรือไม่ จำนวนเท่าใดพื้นที่ที่เหลืออยู่จะดำเนินการอย่างไร เพื่อเป็นข้อมูลให้กับราษฎรและขปส. นำมาประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหาต่อไปนั้น ประกอบกับแนวทางการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน โดยอาศัยองค์ความรู้ภูมิปัญญา ความเชื่อ ผสมผสานกับกฎระเบียบชุมชน ที่มีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับบริบทของชุมชนในปัจจุบัน มีการบริหารจัดการป่าเป็นสัดส่วน เช่น ป่าชุมชน ป่าพื้นที่จิตวิญญาณ ป่าใช้สอย โดยมีกติกาในการดูแลป่า มีการจัดทำแนวกันไฟ การจัดอาสาสมัครลาดตระเวนและดับไฟป่า การทำพิธีสืบชะตาป่า อนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ อนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ เป็นต้น อันเป็นการแสดงออกถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ทำให้คนกับป่าอยู่ด้วยกันอย่างยั่งยืน ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

ในโอกาสนี้ขอให้แนวทางการจัดการในพื้นที่คุ้มครองฯ 2 ประการ     ประการแรก คือ การสนับสนุนและส่งเสริมให้ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์จัดทำข้อมูลวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ โดยให้ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุน เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ให้บรรลุเป้าหมายในการคุ้มครองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ การบริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของกลุ่มชาติพันธุ์บนฐานเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรม ภายใต้แนวคิด “คนอยู่กับป่า” และ “การพัฒนาที่ยั่งยืน”

ประการที่สอง คือ การสำรวจสถานการณ์ปัญหาที่ดินและเร่งรัดการแก้ไขปัญหาที่ดิน โดยเฉพาะการทำแนวเขตที่จะให้ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ได้อยู่อาศัยตามวิถีภูมิปัญญา และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พื้นที่ ซึ่งเป็นแนวทางสร้างความมั่นคงในที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นสาเหตุของความเหลื่อมล้ำ ทำให้ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ต้องประสบปัญหาไม่สามารถพึ่งตนเองได้

“ผมหวังว่าการจัดกิจกรรมประกาศพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมชุมชนกะเหรี่ยงลุ่มน้ำลำตะเพิน ในวันนี้ จะนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกับภาคประชาชนหรือชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำลุ่มตะเพิน อันจะไปสู่การทำงานร่วมกันในการพัฒนาแผนปฏิบัติงานที่เป็นรูปธรรมและขับเคลื่อนไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน“


ขณะที่ภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เตรียมทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันว่าด้วยความร่วมมือส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมชุมชนกะเหรี่ยงลุ่มน้ำลำตะเพิน จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อหวัง  ส่งเสริมสิทธิการมีส่วนร่วมสร้างเครือข่ายและสนับสนุนในการจัดการ บำรุงรักษา อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน ตามหลักจารีตประเพณี และวัฒนธรรมของชุมชน โดยยืดหลักปฏิบัติตามแนวนโยบายพื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ชาวกะเหรี่ยงตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 

 ส่งเสริมกลุ่มชาติพันธุ์ให้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน เร่งรัดการแก้ไขปัญหาในพื้นที่และส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์ใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมในการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยรักษาสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการสืบทอดวิถีภูมิปัญญาวัฒนธรรม

สนับสนุนการสืบทอดวิถีวัฒนธรรมของชุมชน รวมทั้งสร้างกลไกขับเคลื่อนการทำงานในเขตพื้นที่วัฒนธรรมร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดความมั่งคงและยั่งยืน ในวิถีวัฒนธรรม ที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน และพื้นที่จิตวิญญาณของชุมชน 

ด้าน ผศ.ดร.วรวิทย์ นพแก้ว หัวหน้าสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ในฐานะผู้ศึกษาเกี่ยวกับวิถีชีวิตคนอยู่กับป่า มองว่า พื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม ที่มีความหลากหลายและความชัดเจนของทุนวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะโดดเด่น  ถือเป็นอีกหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์สำคัญ ที่จะต้องยกระดับขึ้นมาให้เห็นตามนโยบายที่รัฐวางเป้าหมายไว้ เปิดโอกาสให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมจัดการตนเอง บนวิถีวัฒนธรรมและการจัดการทรัพยากร ที่สามารถเข้าถึงสิทธิด้านต่างๆ รวมถึงแก้ไขข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง เช่นการจำกัดที่ดินทำกินการผลิตการเพาะปลูกตามวิถีดั้งเดิม 

“วันนี้ พื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมหลายๆพื้นที่ มีซอฟต์พาวเวอร์ในตัวอยู่แล้ว ทั้ง อาหาร เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเครื่องแต่งกาย ถ้าเราจะเปรียบเทียบกับต่างประเทศ เช่นที่เกาหลีพยายามโชว์อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม เรื่องเสื้อผ้าเรื่องเครื่องแต่งกาย ประเทศไทยเราร่ำรวยมากในเรื่องเครื่องแต่งกาย ร่ำรวยมากในเรื่องอาหารการกินที่สัมพันธุ์กับพื้นที่ และมีความร่ำรวยทางความหลากหลายแตกต่างกันออกไป ถ้าวันนี้เราโฟกัสไปแต่ละที่ เราจะเห็นความหลากหลายของซอฟต์พาวเวอร์ผุดขึ้นแต่ละหมุด เกิดขึ้นมากมายมหาศาล ในป่าในเขา ในพื้นที่ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์  ผมคิดว่าถ้าเราจะส่งเสริมจริงๆ สิ่งนี้ คือ ซอฟพาวเวอร์ “ 

โดยการประกาศพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมชุมชนลุ่มน้ำลำตะเพินครั้งนี้ ถือเป็นแห่งที่ 20 หลังมีมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active