อช.แก่งกระจาน ปฏิเสธข่าว “ทัพพระยาเสือ”

ยืนยัน ดำเนินคดีผู้บุกรุก เป็นหน้าที่อุทยานฯ ทหารแค่ร่วมลาดตระเวน ข้อมูลยืนยัน ชาวบ้านกลับเข้าป่า 32 คน ผู้ใหญ่ 19 คน ที่เหลือเป็นเด็ก

เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2564 มานะ เพิ่มพูล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เปิดเผยกับ The Active ถึงความคืบหน้า กรณีส่งเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ติดตามกลุ่มชาวบ้านบางกลอยที่เดินกลับเข้าป่าใหญ่ ไปยังจุดบ้านบางกลอยบน หรือที่เรียกว่า “ใจแผ่นดิน”  ล่าสุด มีข้อมูลยืนยันว่า ชาวบ้านที่กลับเข้าป่า มีทั้งสิ้น 32 คน เป็นผู้ใหญ่ 19 คน ที่เหลืออีก 13 คน เป็นเด็ก

มานะ เพิ่มพูล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

เจ้าหน้าที่ยังรายงานด้วยว่า ระหว่างทางเข้าป่า พบร่องรอยคนเดิน มีจุดพักค้าง กลุ่มละ 5-6 คน เมื่อไปถึงในจุดของใจแผ่นดิน กลางป่าลึก พบกระท่อมใหม่ 1 หลัง พบปืนแก๊ป 1 กระบอก แต่ไม่พบตัวบุคคล เชื่อว่าน่าจะเป็นลักษณะของการลักลอบเข้ามาเตรียมการแผ้วถางเพื่อเพาะปลูก ตั้งแต่ช่วงก่อนหน้าฝนที่ผ่านมา โดยปลูกสร้างกระท่อมไว้ใต้เรือนไม้ ทำให้ไม่สามารถสังเกตได้จากการลาดตระเวนทางอากาศ โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เพื่อเอาผิดกับผู้บุกรุกเขตอุทยานฯ

ส่วนกระแสข่าวว่าอุทยานฯ เตรียมประสานกำลังทหารทัพพระยาเสือ เพื่อจับกุมและนำตัวชาวบ้านออกจากป่านั้น หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง เพราะการดำเนินการกับผู้บุกรุก เป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ตามกฎหมาย ส่วนการมีกำลังทหารร่วมปฏิบัติงานนั้น ถือเป็นเรื่องปกติของความร่วมมือตรวจพื้นที่และลาดตระเวน เนื่องจากเป็นพื้นที่ความมั่นคงตามแนวชายแดน ซึ่งกำลังจะมีแผนร่วมกับทหารบินลาดตระเวนตรวจสภาพป่าในวันที่ 23-24 ม.ค. นี้

“ไม่ใช่ภารกิจที่ทหารจะสั่งการ เขาต้องรอการประสานจากอุทยานฯ ซึ่งอุทยานก็มีภารกิจปกติ สัปดาห์นี้ก็จะมีการบินตรวจสภาพป่าบริเวณชายแดนร่วมกันอยู่แล้ววันที่ 23-24 ม.ค. อยู่ในแผนปฏิบัติงานปกติที่อุทยานประสานร่วมกันทั้งอำเภอ และ กอ.รมน. ซึ่งถ้าเจอการกระทำผิดก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย”

สำหรับกระแสข่าวดังกล่าว ถูกรายงานผ่าน สำนักข่าวชายขอบ เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยระบุว่า เป็นการให้ข้อมูลโดยผู้ใหญ่บ้านบางกลอย ว่า มีทหารจากหน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ประสานมายังตน เพื่อขอให้ช่วยประสานติดตามชาวบ้านที่เดินกลับเข้าป่าใหญ่ ให้กลับลงมา

ภาคประชาชน กังวลการดำเนินการของเจ้าหน้าที่

ด้าน เครือข่ายภาคประชาชนหลายองค์กร ได้ออกมาแสดงท่าที และความกังวลต่อการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ เช่น กลุ่มพีมูฟ หรือ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ออกแถลงการณ์ “กลับใจแผ่นดินคือสิทธิอันชอบธรรม ร่วมปกป้อง คุ้มครองสิทธิและวัฒนธรรมกะเหรี่ยงบางกลอย” เรียกร้องให้รัฐเร่งคุ้มครองสิทธิให้กับชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ต้องไม่ดำเนินคดีกับชาวบ้าน และต้องยุติความรุนแรงทุกรูปแบบ เพื่อสร้างความไว้ใจซึ่งกันและกัน และหันหน้าเข้ามาสู่การแก้ปัญหาอย่างจริงจัง รวมถึงรัฐต้องยินยอมให้ชาวบ้านกลับคืนสู่บางกลอยบน หรือ ใจแผ่นดิน เพื่อตั้งถิ่นฐาน และดำรงวิถีชีวิตดั้งเดิมได้ อีกทั้ง ต้องยอมรับในวิถีชีวิตกะเหรี่ยง ตามมติ ครม. 3 ส.ค. 2553 รวมทั้งสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ และปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง

เช่นเดียวกับ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ออกแถลงการณ์ “รัฐและสังคมต้องร่วมปกป้องสิทธิดำรงชีพและวัฒนธรรมชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอยโดยด่วน” โดยเฉพาะเรียกร้องให้รัฐเร่งช่วยเหลือชาวบ้าน ที่กำลังเดือดร้อนด้านการดำรงชีพและผลกระทบจากวิกฤตโดยด่วน

สอดคล้องกับ เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ที่เห็นว่า ปรากฏการณ์ของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย สะท้อนถึงกระบวนการแก้ไขปัญหาของภาครัฐที่ล้มเหลว ขาดการมีส่วนร่วมจัดการที่ดิน และทรัพยากรอย่างเป็นธรรม จึงเรียกร้องให้ภาครัฐเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกลุ่มชาติพันธุ์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active