จี้รัฐ แก้ปัญหากะเหรี่ยงบางกลอย หวั่น ถูกจับกุม ดำเนินคดี

หลังชาวบ้านบางกลอยล่าง อ.แก่งกระจาน กลุ่มหนึ่ง พากันเดินเท้ากลับขึ้นไปกลางป่าใหญ่ “ใจแผ่นดิน” เครือข่ายฯ ขอสังคมร่วมจับตาใกล้ชิด

เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2564 เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี และเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ กรณีกะเหรี่ยงบางกลอยกว่า 50 คน เดินเท้ากลับใจแผ่นดิน ณ ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านห้วยกระซู่ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี สะท้อนภาพการแก้ปัญหาที่ดินและทรัพยากรที่ล้มเหลว ขอรัฐแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี ไม่ใช้วิธีการจับกุมดำเนินคดีหรือความรุนแรงรูปแบบอื่น พร้อมเรียกร้องให้สังคมร่วมจับตาสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในผืนป่าแก่งกระจาน

แถลงการณ์ดังกล่าว ระบุหลักการและแนวทางสำหรับหน่วยงาน ได้แก่ การกลับคืนสู่พื้นที่ใจแผ่นดินอันเป็นพื้นที่ดั้งเดิม ต้องสามารถกระทำได้ ต้องไม่เกิดการฟ้องร้องดำเนินคดีจากหน่วยงานรัฐ โดยย้ำว่าเครือข่ายฯ ได้พยายามสื่อสารประเด็นปัญหาและความเดือดร้อนของชุมชนให้หน่วยงานรับทราบมาโดยตลอด แต่รัฐละเลยข้อเสนอแนะเหล่านั้น รวมทั้งยังยืนยันหลักการตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง

เกรียงไกร ชีช่วง ผู้ประสานงานเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี กล่าวว่า ยังไม่มั่นใจในแนวทางการจัดของกรมอุทยานฯ หลังจากนี้ เพราะยังไม่มีการสื่อสารออกมาจากหน่วยงานอย่างเป็นทางการ หวั่นเกิดปฏิบัติการแอบแฝงที่จะยิ่งทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น เพราะที่ผ่านมา เกิดการจับกุมดำเนินคดี “ปู่คออี้” โคอิ มีมิ หรือกรณี “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ นอกจากนั้น ยังมีกรณีการเร่งรัดให้ผืนป่าแก่งกระจานขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ด้วยวิธีการที่ไม่จริงใจต่อชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ สร้างความอึดอัดใจให้ชาวบ้านอย่างมาก

“ที่ผ่านมาพี่น้องก็พยายามสื่อสารว่ารัฐ โดยการจัดการปัญหาของกรมอุทยานฯ นั้น ไม่ได้แก้ปัญหาให้เรียบร้อย แล้วรัฐก็อ้างว่าได้แก้ปัญหาแล้วผ่านสื่อที่รัฐสามารถจ่ายได้ ซื้อเวลาได้ จริง ๆ ชาวบ้านก็ยืนยันว่ามันไม่ได้แก้ปัญหา มันยังมีการตกหล่น มันมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่ชาวบ้านก็ไม่ได้รับความเป็นธรรมตามที่อุทยานฯ หรือรัฐเคยรับปาก เช่น ที่ดินทำกิน อันนี้ก็เป็นความอึดอัด เขาเรียกว่าเก็บสะสมความรู้สึกไว้จนวันนี้พี่น้องเลยตัดสินใจกลับขึ้นไป”

ผู้ประสานงานเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมฯ ยังย้ำว่า ต้องการให้สังคมช่วยกันติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และช่วยกันส่งสัญญาณไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก้ไขปัญหานี้ด้วยความจริงใจ

“ที่เราจำเป็นจะต้องติดตามเรื่องนี้ต่อ เพราะผมคิดว่าที่น่าห่วงกังวลอีกเรื่องหนึ่งก็คือ กลัวว่ารัฐหรืออุทยานฯ เองอาจพยายามที่จะใช้สื่อกระแสหลัก แล้วก็กล่าวโทษชาวบ้านว่าผิดกฎหมายแล้วดำเนินคดี เพราะเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เลยอยากให้สังคมร่วมกันจับตา รวมทั้งองค์กรสากลด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเครือข่ายภาคีภาคประชาสังคมต่าง ๆ ช่วยกันส่งสัญญาณให้เกิดการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องได้รับความเป็นธรรมด้วยครับ เราเชื่อมั่นว่าที่ผ่านมาพี่น้องพยายามพิสูจน์สิทธิ์ว่าตนเองเป็นชาวพื้นถิ่นดั้งเดิมมาตลอด”

เขายังกล่าวอีกว่า การแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นจะช่วยกันระดมข้าวปลาอาหารบริจาคให้ชาวบ้านที่เดินเท้ากลับไปที่ใจแผ่นดิน ซึ่งทราบมาว่ามีทั้งเด็กเล็ก ผู้หญิง และผู้สูงอายุ รวมทั้งจะเข้ายื่นหนังสือเรียกร้องต่อคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 20 ม.ค. นี้ เนื่องจากขณะนี้ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานห้ามเข้าพื้นที่ และจะมีการผลักดันให้มติคณะรัฐมนตรีฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงเป็นกฎหมายต่อไปเพื่อรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างแท้จริง

ด้านความคืบหน้าจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ขณะนี้ ยังไม่มีการชี้แจงข้อมูลอย่างเป็นทางการ หลังมีการส่งเจ้าหน้าที่เดินเท้าติดตามขึ้นไปทันทีหลังทราบข่าว เนื่องจากเจ้าหน้าที่ที่ติดตามไป ยังไม่กลับลงมา โดยระบุว่า หากมีความคืบหน้า จะแจ้งรายละเอียดอีกครั้ง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active