เครือข่ายแรงงาน เรียกร้องมาตรการเยียวยา

ต้องชัดเจน เพียงพอ และครอบคลุมทุกคนในประเทศ ชี้ มาตรการของรัฐยังมีระเบียบขั้นตอนยุ่งยาก ค่าใช้จ่ายสูง ไม่ครอบคลุมถ้วนหน้า

เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน และองค์กรภาคี ออกแถลงการณ์ เสนอมาตรการเยียวยาแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ย้ำ ต้องชัดเจน เพียงพอ และครอบคลุมทุกคนในประเทศ

แถลงการณ์ ระบุว่า แม้ว่าที่ผ่านมา รัฐมีความพยายามจะออกมาตรการเยียวยาประชาชนออกมาบ้าง เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน โครงการคนละครึ่ง หรือการชดเชยกรณีว่างงานจากกองทุนประกันสังคม รวมถึงมาตรการช่วยเหลือแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2563 แต่ก็มีระเบียบขั้นตอนยุ่งยาก มีค่าใช้จ่ายสูง และให้สิทธิไม่ครบถ้วนทุกคน กลายเป็นการใช้ภาษีจากประชาชนทุกคนเพื่อมาเยียวยาประชาชนแค่บางส่วนเท่านั้นซึ่งไม่คุ้มค่า

ในฐานะที่ “แรงงาน” เป็นคนกลุ่มใหญ่ จึงเห็นว่ารัฐจะต้องดำเนินมาตรการเยียวแรงงานจากผลการระบาดของโคนาไวรัส 2019 ครั้งใหม่ที่ชัดเจน เพียงพอ และครอบคลุมทุกกลุ่มที่อยู่อาศัยภายในประเทศ โดยขยายมาตรการการชดเชยรายได้พื้นฐานให้แก่ประชาชนทุกคน ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป รวมถึงแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่อาศัยในประเทศไทย ยกเว้นภาคราชการ โดยจ่ายเดือนละ 5,000 บาทต่อคน เป็นระยะเวลา 3 เดือน จนถึงช่วงรับวัคซีน

นอกจากนี้ ยังเสนอให้ปรับปรุงขั้นตอนการเข้าถึงสิทธิการได้รับเงินชดเชยดังข้างต้น โดยใช้ฐานข้อมูลบุคคลสัญชาติไทยและคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ตามทะเบียนราษฎร ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ฐานข้อมูลแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนใช้จ่ายเงินชดเชยดังกล่าวเพื่อการกระจายรายได้ให้แก่ผู้ค้าปลีกรายย่อยมากกว่าร้านค้าสะดวกซื้อรายใหญ่

ออกมาตรการพักหนี้ครัวเรือนเป็นการทั่วไปอย่างน้อย 1 ปี ได้แก่ หนี้สินส่วนบุคคล บ้าน รถ และลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคและอินเทอร์เน็ต เป็นเวลา 3 เดือน รวมทั้งยกเลิกหนี้กองทุนเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยให้ดำเนินการจัดสรรเงินทุนให้เปล่าแก่นักเรียนนักศึกษาทุกคนขึ้นมาแทน เพราะการศึกษาควรเป็นสวัสดิการที่รัฐต้องจัดให้ประชาชนฟรี

ประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นประชาชนไทยหรือแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่ทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศไทย ต้องเข้าถึงการตรวจโรคฟรี รวมถึงได้รับวัคซีนฟรีเมื่อแสดงเจตจำนงที่โรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ผู้ที่แสดงเจตจำนงไม่ฉีดวัคซีนจะต้องไม่มีความผิดตามกฎหมาย เช่นเดียวกับการมีสิทธิเลือกที่จะดาวน์โหลดแอปพลิเคชันตระกูล ‘-ชนะ’ ของรัฐหรือไม่ก็ได้

ให้แรงงานทุกกลุ่มอาชีพ เข้าถึงมาตรการเยียวยาของรัฐโดยไม่แบ่งแยก และจะต้องไม่นำเงินประกันสังคมของลูกจ้างไปใช้เยียวยาอีก ต้องดูแลแรงงานภาคส่วนศิลปวัฒนธรรมซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำสั่งของราชการ รวมทั้งมีมาตรการช่วยเหลือแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ปรับลดค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ และกำหนดมาตรการที่ทำให้แรงงานข้ามชาติที่ถูกกักตัวตามมาตรการของรัฐ ขาดรายได้เนื่องจากปิดกิจการชั่วคราว รวมถึงกรณีเลิกจ้างให้สามารถเข้าถึงการชดเชยการขาดรายได้ โดยมีขั้นตอนที่เอื้อต่อการเข้าถึง

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว