ชู​ 6 ประเด็น​ ที่ควรอยู่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ภาคประชาชน เปิดเวทีระดมความเห็น​ แก้ไข รธน. ดันสิทธิชุมชน ออกกฎหมายลูกรองรับ​ เล็งใช้สถาบันการศึกษา​เป็นพื้นที่กลางถกเถียง​อย่างปลอดภัย

วันนี้ (12​ ธ.ค.​ 2563)​ ที่คณะสังคมศาสตร์​ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่​ “เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม” จัดเวทีระดมความคิดเห็น​ สะท้อนปัญหา​ รวบรวมข้อเสนอ​ที่ควรอยู่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ ครั้งที่ 1 ซึ่งจะจัดเวทีไปทุกภูมิภาค

ครั้งนี้จัดที่ภาคเหนือ ในหัวข้อ​ “คนเหนือกับการเดินหน้ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”​ โดยก่อนหน้านี้เครือข่ายฯ ได้แถลงจุดยืนไปแล้วว่า ส.ส.ร. ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% และต้องมีอำนาจร่างใหม่ทั้งฉบับ

รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล​ อาจารย์​คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ในช่วงรอบปีที่ผ่านมา เสียงเรียกร้องของประชาชนที่ออกมาชุมนุม มีประเด็นเชิงเนื้อหา อยู่ 6 ประเด็นใหญ่ ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะระบุลงไปในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ แต่อยากจะเรียกว่าเป็น​ ราษฎร์​ธรรมนูญ​ คือข้อเรียกร้องที่ถูกปลูกฝังในสังคมไปแล้ว​ ได้แก่

  1. สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องพ้นจากการเมือง ในทางนิติรัฐศาสตร์นี่คือข้อเรียกร้องที่ธรรมดาสำหรับเสรีประชาธิปไตย
  2. รัฐสวัสดิการ เป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่อง เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ทำให้สามารถพัฒนาศักยภาพตัวเองได้โดยที่รัฐต้องเกื้อหนุน เช่น ระบบการศึกษา กรณีการรวมตัวของกลุ่มนักเรียนเลว แง่หนึ่งคือระบบการศึกษาคุณภาพย่ำแย่และรุนแรง มีอำนาจนิยมอยู่มาก ชนชั้นนำไม่ตระหนัก​ เพราะส่งลูกเรียนเมืองนอก ระบบการศึกษาเป็นภาพสะท้อนระบบรัฐสวัสดิการที่ย่ำแย่ และกระทบไปที่ระบบอื่น ๆ
  3. สังคมพหุวัฒนธรรม เช่น กลุ่มเพศหลากหลาย มีข้อเรียกร้องเรื่องสิทธิเสรีภาพทางกฎหมาย มีการพูดถึงความรุนแรงต่อสตรี ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเด็นชนเผ่าพื้นเมืองในภาคเหนือ ซึ่งเป็นภาพสะท้อนว่าสังคมไทยหลากหลาย และแต่ละกลุ่มต้องการอำนาจในการจัดการตัวเอง
  4. ระบบนิติรัฐ ที่ต้องการองค์กรตุลาการที่เป็นอิสระ ปัญหาเหล่านี้ในระบบการเมืองแบบนี้ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่านี่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่ปัญหาที่พุ่งตรงไปที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
  5. ระบอบประชาธิปไตยที่เสมอภาคและเป็นธรรม โดย รศ.สมชาย ระบุว่า ต่อให้มีรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสร้างระบอบประชาธิปไตย ประเทศไทยเป็นตัวอย่างหนึ่งที่มีรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีระบอบรัฐธรรมนูญนิยม
  6. อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร ประชาชนต้องมีอำนาจสูงสุดทางการเมือง

รศ.สมชาย​ กล่าวอีกว่า​ การปฏิรูปในรัฐสภาที่ทำกันอยู่ จะจบลงที่การปาหี่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภาถูกขีดเส้นชี้นำ จะเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ไม่เป็นประโยชน์อะไรมากนัก ส่วนการปฏิรูปนอกสภา​ ตนคิดว่าตอนนี้ยังไม่เห็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่เห็นกระแสข้อเรียกร้องการปฏิรูปเกิดขึ้นแน่นอน

“ข้อกังวลคือถ้ามันเดินหน้า ไม่ได้มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นข้อเสนอที่ถอนรากถอนโคนมากขึ้น แล้วถ้าเกิดมาพลิกไปแบบนั้นผมคิดว่ายากจะคาดเดาว่าจะเกิดอะไรขึ้น”

รศ.สมชาย​ กล่าว​ต่อไปว่า​​ การประสานเครือข่ายมีความจำเป็น เพราะการเคลื่อนไหวไม่จบลงโดยเร็วแน่นอน ต้องสร้างเครือข่ายไปเรื่อย ๆ ถือเป็นจังหวะที่ดี เพราะปัญหาป่าไม้​ ที่ดิน​ ฯลฯ​ ล้วนเกิดขึ้นเพราะอยู่ภายใต้รัฐรวมศูนย์ ก็ประสานเครือข่ายที่มีเป้าหมายทางอุดมการณ์ร่วม กัน ช่วยเหลือ ปกป้องกันด้วยทักษะของแต่ละกลุ่ม ยืนเป็นหลังพิงให้แต่ละกลุ่ม “ยังไม่เห็นปลายทางว่าจะจบอย่างไร แต่เราพอจะมองเห็นแสงสว่างรำไรอยู่บ้าง ถ้าเราช่วยกันประคับประคองกันต่อไป” รศ.สมชาย กล่าว

เสนอตั้ง ส.ส.ร. ภาคประชาชน​ ดัน​ สิทธิชุมชน

ชยันต์ วรรธนะภูติ​ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่​ กล่าวว่า ​ตอนร่างรัฐธรรมนูญ​ปี 2540​ ภาคประชาชนก็มีส่วนร่วมในการระดมความคิด กระบวนการที่น่าสนใจคือ ส.ส.ร. ภาคประชาชนทำหน้าที่ในการให้การศึกษากับกลุ่มประชาชน โดยเฉพาะสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) มีบทบาทสำคัญมากในการระดมปัญหาของพี่น้องในภาคเหนือขึ้นมา

อาจารย์ชยันต์ กล่าวอีกว่า ประเด็นแรก ๆ ตอนนั้นคือสิทธิและหน้าที่ของประชาชน เป็นเรื่องสำคัญ ข้อถกเถียงอยู่ที่ว่าถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างขึ้นมาตามความต้องการของประชาชน ต้องมองว่าประชาชนมีสิทธิหรือหน้าที่อะไร มากกว่ามองว่ารัฐมีหน้าที่อะไร คือเป็นการเขียนจากมุมมองของชาวบ้าน ให้ความสำคัญกับสิทธิของปัจเจกในความสัมพันธ์เชิงอำนาจ

สองคือ เรื่องสิทธิชุมชน เป็นการพัฒนามาจากการทำงานกับภาคประชาสังคมกับนักวิชาการ เป็นวิธีการจัดการทรัพยากรโดยเฉพาะป่าไม้ที่คำนึงถึงเรื่องสิทธิส่วนรวม เป็นการทำงานวิจัยป่าชุมชน เป็นเรื่องที่นักกฎหมายส่วนกลางไม่เข้าใจ เราก็ผลักดันเข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญได้แม้ส่วนกลางจะไม่เข้าใจ แต่เรามีเครือข่ายที่เข้าใจปัญหาในการจัดการทรัพยากรป่าไม้

สามคือ ให้ความสำคัญในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การจัดการทรัพยากร จัดการตนเอง การปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นประเด็นที่เราให้ความสำคัญมาก นอกจากนั้นยังมีเรื่องการศึกษา และระบบเศรษฐกิจเสรีที่ป้องกันการผูกขาด เป็นเรื่องที่ถ้าย้อนกลับไปดูช่วงปี 2540 ก่อนเกิดวิกฤต​ต้มยำกุ้ง แนวคิดเสรีนิยมเป็นเรื่องสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และต้องป้องกันการผูกขาด ต้องมั่นใจได้ว่าประชาชนจะสามารถประกอบธุรกิจอย่างเสรีแต่ต้องมีการตรวจสอบ

“ผมคิดว่าในการร่างรัฐธรรมนูญ เราอยากให้นำบทเรียนการมีส่วนร่วมของ ส.ส.ร. เข้ามาลองพิจารณาดู ขณะเดียวกัน คนรุ่นใหม่ ควรจะเปิดโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างไร มีพื้นที่กลางให้เขาแลกเปลี่ยนโดยที่เขาสามารถพูด อภิปราย ถกเถียงในเรื่องต้องห้าม ทำงานวิจัยเปรียบเทียบด้วยว่าอำนาจวัฒนธรรมในสังคมไทย เปรียบเทียบกับสังคมอื่น ๆ เป็นอย่างไร เขาทำกันอย่างไร ทำไมสถาบันพระมหากษัตริย์สามารถอยู่ภายใต้ระบบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญได้ ที่ผ่านมานี้เราไม่ค่อยได้มีโอกาสในการพูดในที่สาธารณะเพราะกลัว 112 หรือ 116 โดยใช้สถาบันการศึกษา ทำหน้าที่เปิดพื้นที่ส่วนนี้ “

ชี้​ “สิทธิชุมชน”​ มีปัญหา เพราะกฎหมายลูกใหญ่กว่า​ รธน.

สุมิตรชัย หัตถสาร​ ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชน ท้องถิ่น กล่าวว่า สิทธิชุมชนไม่เคยเป็นจริงในทางปฏิบัติ ไม่เคยถูกนำมาบัญญัติเป็นกฎหมาย ศาลไม่เคยนำไปใช้ตัดสินคดี อย่างคดีปู่คออี้ ศาลปกครองยอมรับว่าชุมชนกะเหรี่ยงใจแผ่นดินเป็นชุมชนพื้นถิ่นดั้งเดิม แต่ศาลตัดสินว่า ไม่สามารถตัดสินให้ปู่คออี้กลับไปอยู่ที่เดิม​ ไม่ยอมรับว่าสิทธินั้นเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรอง เหตุผลของศาลบอกว่าเนื่องจากประกาศเป็นอุทยานฯ แล้ว นั่นหมายความว่าศาลตัดสินว่า พ.ร.บ.อุทยานฯ ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ นี่คือภาพสะท้อนโครงสร้างที่สำคัญ

“คำถามคือเราต้องการรัฐธรรมนูญแบบไหน คำตอบคือเราต้องทำลายอำนาจอภิสิทธิ์ตรงนี้ให้ได้ ไม่งั้นรัฐธรรมนูญจะเป็นเพียงเสื้อคลุมเผด็จการ ถ้าไปเทียบรัฐธรรมนูญในโลกเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ของไทยไม่แพ้ใคร คือครบมาก เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีฉบับหนึ่งของโลก แต่ไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ”

เขากล่าวอีกว่า​ ตัวโครงสร้างในรัฐธรรมนูญที่เป็นอุปสรรคคือกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่การตั้งข้อหา เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากที่ยากจะแก้ไข กระบวนการยุติธรรมไทยไม่เคยยึดโยงกับประชาชน ยังเหมือนอยู่ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เราต้องมีกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชนจริง ๆ ที่ผ่านมาเราทำรัฐธรรมนูญเยอะ แต่เราทำเรื่องนี้น้อยมาก แม้แต่เรื่องจังหวัดจัดการตนเอง ก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องอำนาจตุลาการ

การมีส่วนร่วม​ หายไปจากรัฐธรรมนูญปี 60

รศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง​ กรรมการบริหาร​ สถาบันวิจัยสังคม​ จุ​ฬ​าลงกรณ์​มหา​วิทยาลัย​ ​กล่าวว่า​ รัฐธรรมนูญปี 2540 มาจากบทเรียนของภาคประชาชน โดยเฉพาะ เรื่องสิทธิชุมชน เรื่องโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เรื่องฐานทรัพยากร ยกตัวอย่างเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ที่กลายไปเป็นหน้าที่ เรื่องสิทธิชุมชนทีแรกไม่มีเลย พวกเราก็พยายามผลักเข้าไป เขาก็ไปใส่ในส่วนหน้าที่ ปัญหา คือ พอไปอยู่หน้าที่ก็ไม่มีกลไกเชิงสถาบันมารองรับ เช่น องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ด้านผู้บริโภค ก็กลายเป็นหน้าที่ของรัฐ ไม่มีกลไกเชิงสถาบันมารองรับสิทธิที่ว่านี้ ประเด็นนี้เราคงได้แลกเปลี่ยนกันเยอะว่าจะเอากลับคืนมาอย่างไร

“กฎหมายรองก็ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้​ ยกเว้นเรื่องสิทธิชุมชนหมดเลย เป็นปัญหา​ ยกเลิกหลักการของรัฐธรรมนูญ ละเมิดสิทธิ”

ส่วนประเด็นความหลากหลายทางเพศสภาพ รวมถึงเรื่องชนชาติ เชื้อชาติ ที่พยายามผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับความหลากหลาย​ ก็เป็นประเด็นที่สำคัญ เราคงจินตนาการเห็นร่วมกัน ก่อนปี 2540 เรามีส่วนร่วมผ่านบัตรเลือกตั้ง แต่ไม่พอ มันต้องขยายพื้นที่การมีส่วนร่วมไปมากกว่าการเลือกตั้ง เรื่องการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นหมวดที่สำคัญอีกหมวดหนึ่งที่ต้องมาคุยกันในรายละเอียด และเรื่องนโยบายแห่งรัฐก็เป็นอีกหมวดที่สำคัญ

“ไปลองดูปี 2540 มีอยู่ 2 เรื่อง หนึ่งคือเนื้อหาเกี่ยวกับสวัสดิการของรัฐ รวมถึงเรื่องกระบวนการที่ให้ได้ซึ่งนโยบายแห่งรัฐ กระบวนการนโยบายสาธารณะว่าประชาชนจะมีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน เป็นปัญหามาโดยตลอด ปี 2560 มันหายไปมาก ไปดูดี ๆ เรื่องการมีส่วนร่วม เดิมปี 2540 เขาบอกว่าการจัดทำนโยบายสาธารณะต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง กำหนดว่าต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับการมีส่วนร่วม แต่มันไม่ออกมา ไม่ทำกฎหมายลูก แต่ในปี 2560 เรื่องนี้หายไปเลย”

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS