กรีนพีซฯ เก็บขยะ 13,001 ชิ้น พบจากเครือบริษัทยักษ์ใหญ่มากสุด

หลังตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อม สะท้อนวัฒนธรรมใช้แล้วทิ้ง กรีนพีซ ประเทศไทย ชวนภาคการผลิตจัดเก็บขยะกลับคืน

วันนี้ (3 ธ.ค. 2563) กรีนพีซ ประเทศไทย เปิดเผยรายงานการตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติก (Brand Audit) ที่เก็บได้จากบริเวณดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ และหาดวอนนภา จ.ชลบุรี เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยจัดลำดับแบรนด์สินค้าที่พบจากขยะพลาสติก 5 อันดับแรก ได้แก่ บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มบริษัทดัชมิลล์ โอสถสภา กลุ่มธุรกิจ TCP และ แลคตาซอย ตามลำดับ

พิชามญช์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ที่กรีนพีซดำเนินการตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติกในประเทศไทย และเราก็ยังคงพบแบรนด์สินค้าและขยะประเภทเดิม ๆ ที่หลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อม ดังนั้น พลาสติกที่ปนเปื้อนในระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารจึงไม่ใช่เพียงปัญหาการทิ้งขยะ หากเป็นมลพิษพลาสติก (plastic pollution) ซึ่งจำเป็นต้องจัดการตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์พลาสติก ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงเมื่อพลาสติกหมดอายุการใช้งาน นอกจากนี้ บริษัทเจ้าของแบรนด์ต่าง ๆ จะต้องรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการจัดการขยะพลาสติกจากผลิตภัณฑ์ เช่น ค่าเก็บขยะ ค่าดูแลและจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากมลพิษพลาสติกที่ตนเองก่อ

“ขยะที่เก็บได้ สะท้อนวัฒนธรรมใช้แล้วทิ้ง แต่สิ่งที่น่าสนใจคือการสำรวจปีที่แล้ว ก็พบว่าแบรนด์สินค้าที่พบมากในขยะพลาสติก 3 อันดับแรกยังคงเป็นแบรนด์เดิม คือ บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ เช่น แบรนด์เซเว่น กลุ่มบริษัทดัชมิลล์ คือ ขวดนม กล่องนมต่าง ๆ และโอสถสภา อย่างคาพิสแลคโตะ เหตุผลที่แบรนด์เครือเจริญโภคภัณฑ์อยู่ในอันดับ 1 อาจเป็นเพราะผู้บริโภคใช้เยอะ มีสินค้าที่หลากหลาย แต่นั่นก็ยิ่งทำให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมได้เหมือนกัน ยิ่งทำให้เห็นว่าทางบริษัทเองก็ต้องใส่ใจเรื่องนี้”

เธอระบุอีกว่า นี่จึงเป็นเรื่องที่ต้องการส่งเสียงให้บริษัทแม่ต่าง ๆ เหล่านี้ มีนโยบายจัดการและสร้างการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงได้ ซึ่งไม่เพียงเฉพาะการผลิต แต่ยังรวมถึงการลงทุนกับระบบการใช้ซ้ำ เพราะการผลิตสินค้าแต่ละสิ่ง ปล่อยคาร์บอนสูงจึงควรจะถูกนำมาใช้อย่างคุ้มค่าจึงอยากให้บริษัทมองไปไกลกว่าชั้นวางสินค้า หรือได้กำไรแล้วจบ เพราะส่วนที่เหลือจากการบริโภค ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกผลิตออกมาจากบริษัท ใครจะรับผิดชอบ

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการจัดการและป้องกันมลพิษพลาสติกคือการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต แม้ที่ผ่านมารัฐบาลมีโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 ตลอดจนนโยบาย แผนแม่บท และมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการดำเนินงานภายใต้กรอบการปฏิบัติงานอาเซียนว่าด้วยขยะทะเล ในขณะที่ภาคเอกชนริเริ่มแผนการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) แต่มาตรการเหล่านี้อยู่บนฐานความสมัครใจ (voluntary) ที่อาศัยความร่วมมือร่วมใจและจิตสำนึกของคน แต่ไม่มีกฎหมายบังคับใช้ควบคู่ไปด้วย ก็ยากที่จะแก้ปัญหาได้

ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ระบุว่า ประเทศไทยนิยมเรื่องระบบสมัครใจ สิ่งที่รัฐบาลไม่กล้าแตะต้อง คือ การบังคับให้คนคัดแยกขยะ หรือแม้แต่การทุ่มเท การสร้างแรงจูงใจให้ภาคประชาชนและภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมกันแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ไทยยังจัดการปัญหาขยะไม่ได้ ซึ่งสารเคลือบพลาสติกที่หุ้มอาหาร ใส่ความร้อนต่าง ๆ ที่ใช้ มีส่วนผสมของสารเคมีอันตรายที่สามารถปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อม หรือสะสมในร่างกาย

“ไม่แปลกใจว่าทำไม มีเด็กป่วยเยอะ พัฒนาการช้า ผู้ใหญ่ก็เป็นมะเร็ง หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงของเพศสภาพ ก็เป็นผลจากการรบกวนของสารเหล่านี้ จึงต้องกลับมาช่วยกันคิดว่า จะทำอย่างไรให้ผู้ผลิตที่รู้ดีว่าผลิตของตัวเองใช้วัสดุอะไรบ้าง ออกมาร่วมรักษาความปลอดภัยต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้คน เพราะผู้ผลิตคือผู้ก่อมลพิษ”

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย ระบุว่า สำหรับการจัดการขยะในประเทศไทย อาจคำนึงนึกถึงกลไกสร้างแรงจูงใจในเศรษฐกิจ เช่น การคิดค่าการเก็บขยะพลาสติกจากอัตราก้าวหน้า ยิ่งทิ้งมากยิ่งจ่ายมาก แต่อาจจะเริ่มจากเฉพาะพื้นที่ที่มีปัญหาขยะสูง เพื่อให้เทศบาลสร้างระบบจัดการได้ดีขึ้น แต่ก็เท่ากับว่าใช้งบประมาณของประชาชนเข้ามาจัดการ แต่หากผู้ประกอบการลดการใช้พลาสติกตั้งแต่แรก และสร้างระบบจัดเก็บกลับคืน จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้

“ที่ต่างประเทศ กรีนพีซในภูมิภาคต่าง ๆ ก็ได้ส่งข้อมูลสำรวจแบรนด์จากขยะพลาสติก ให้กับบริษัทต่าง ๆ หรือรณรงค์ทำเป็นแคมเปญที่สร้างการรับรู้ในวงกว้างทำให้หลายบริษัทตกลงที่จะร่วมมือ ในการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ของตัวเอง อย่างนี้ประเทศไทยเอง เครือเจริญโภคภัณฑ์และโอสถสภาก็เคยได้รับเรื่องและพูดคุยกับกรีนพีซประเทศไทย และทางบริษัทได้เริ่มมีแนวทางในการลดการผลิตพลาสติกบางประเภทแล้ว เช่น ปรับรูปแบบการขนส่งสินค้าที่ลดการใช้พลาสติก ออกจากผลิตภัณฑ์ของตนเอง ถือว่ามีความตื่นตัวอยู่ประมาณหนึ่ง แต่ก็ยังต้อง เดินหน้าหาแนวทางความร่วมมือต่อไป”

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้