1,000 วัน ฟื้นฟูพิษตะกั่ว “ห้วยคลิตี้” ยังไม่ตรงตามเป้า

กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการฟื้นฟูการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ ยังพบปัญหาขั้นตอนฟื้นฟู โดยเฉพาะข้อจำกัดการดูดตะกอนตะกั่วในลำห้วย ชาวบ้าน ขอให้ทบทวนรูปแบบฟื้นฟูไม่ให้กระทบต่อความเสี่ยงการปนเปื้อนซ้ำรอยเดิม    

จากกรณีตัวแทนในกรรมการไตรภาคี โครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว จ.กาญจนบุรี รวมถึงตัวแทนชาวบ้านคลิตี้ล่าง มีข้อร้องเรียนไปยังคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร สะท้อนถึงปัญหาการขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน ต่อโครงการฟื้นฟูฯ ที่เกิดขึ้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 29-30 พ.ย. 2563 ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการฯ พร้อมด้วย ญาณธิชา บัวเผื่อน และ วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.จากพรรคก้าวไกล  เชิญตัวแทนจากหลายหน่วยงาน อาทิ กรมควบคุมมลพิษ, กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช, สำนักงานสาธารณสุข จ.กาญจนบุรี, ตัวแทนบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน (มหาชน) จำกัด ในฐานะผู้รับจ้างดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ และอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันลงพื้นที่ติดตามโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้

จากการลงพื้นที่พบว่าจนถึงขณะนี้โครงการระยะแรกที่ใช้งบประมาณกว่า 454 ล้านบาท สิ้นสุดลงไปแล้วตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา แต่กลับมีข้อสังเกตว่ากระบวนการฟื้นฟูอาจไม่เป็นไปตาม TOR การจ้าง รวมถึงยังพบขั้นตอนการปฏิบัติอีกหลายประเด็นที่ชาวบ้าน และนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม แสดงความกังวลว่าอาจส่งผลให้ตะกอนดินที่ปนเปื้อนสารตะกั่วกลับมาฟุ้งกระจายในลำห้วยคลิตี้อีกครั้ง ที่สำคัญชาวบ้านมองว่า กระบวนการฟื้นฟูไม่ได้ผ่านการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

สำหรับกระบวนการฟื้นฟูระยะแรก สมชาย ทรงประกอบ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นำเสนอต่อประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ ว่า จากปริมาณตะกอนดินในลำห้วยที่ปนเปื้อนสารตะกั่ว ที่ตั้งเป้าดูดขึ้นจากลำห้วยในปริมาณ 40,000 ตัน แต่ตลอดช่วง 7-8 เดือนที่ผ่านมา การดำเนินการขั้นตอนฟื้นฟูด้วยวิธีดูดตะกอน สามารถทำได้รวม 8,000 – 9,000 ตัน ปัจจัยที่ทำให้การดูดตะกอนทำได้ไม่ตามเป้าหมายในตอนนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาติดกับข้อจำกัดสภาพพื้นที่ ทำให้การเข้าดำเนินการยากลำบาก และแม้ว่าโครงการในระยะแรกสิ้นสุดลงไปแล้ว แต่ในเมื่อยังเหลือตะกอนดินที่ยังต้องดูดเพิ่ม กรมควบคุมมลพิษจึงพิจารณาต้องต่อสัญญาจ้างออกไปอีก พร้อมทั้งได้คิดค่าปรับรายวันวันละเกือบ 200,000 บาท จนกว่าจะดำเนินการฟื้นฟูได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ และทำให้ค่าสารตะกั่วที่ปนเปื้อนในลำห้วยใกล้เคียงกับค่ามาตรฐานที่ไม่กระทบต่อสุขภาพให้มากที่สุด

ขณะเดียวกันแม้ว่ากรมควบคุมมลพิษ พิจารณาอนุมัติงบประมาณสำหรับดำเนินโครงการฟื้นฟูระยะที่ 2 อีก 205 ล้านบาท แต่รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ยืนยันว่า เป็นคนละส่วนกับขั้นตอนดูดตะกอน เพราะโครงการฯ ระยะที่ 2 จะถูกให้ความสำคัญกับการจัดการแหล่งจัดเก็บกากแร่ที่มีอยู่เดิมในพื้นที่เพื่อนำไปกำจัด และไม่ให้เป็นความเสี่ยงการปนเปื้อนในพื้นที่เพิ่มเติม

ด้าน ผศ.ธนพล เพ็ญรัตน์ นักวิชาการจากสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งได้นำทีมนักวิจัยลงเก็บตัวอย่างน้ำ ตะกอนดิน ในจุดที่ผ่านขั้นตอนการดูดตะกอนเพื่อบ่งชี้ว่าการฟื้นฟูเป็นไปตามข้อกำหนดการจ้างหรือไม่ ซึ่งตัวอย่างตะกอนดินในลำห้วยหลายจุดจากการตรวจสอบเบื้องต้น ด้วยเครื่องตรวจวัด X-Ray Fluorescence ยังพบค่าการปนเปื้อนสารตะกั่วระหว่าง 1,500 – 3,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งยังถือว่ามีตะกั่วปนเปื้อนในปริมาณสูง แม้เป็นที่ชัดเจนว่าพื้นที่คลิตี้ซึ่งมีศักยภาพแร่ตะกั่วในปริมาณมากกว่า 563 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ยากที่จะทำให้การปนเปื้อนเป็นศูนย์ได้ แต่อย่างน้อยเมื่อผ่านมาเกือบ 1 ปี กับขั้นตอนการฟื้นฟูด้วยการดูดตะกอน ควรต้องทำให้ค่าการปนเปื้อนใกล้เคียงกับธรรมชาติให้มากที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพของชาวบ้านที่ต้องใช้น้ำในลำห้วยเพื่ออุปโภคบริโภค

สำหรับข้อสรุปจากการลงพื้นที่ครั้งนี้ ประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ บอกว่า ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องทบทวนกระบวนการฟื้นฟูให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมให้มากที่สุด เบื้องต้นมีข้อสรุปร่วมกัน ว่า ให้ผู้รับจ้างดำเนินการดูดตะกอนต่อให้เสร็จ เนื่องจากเป็นวิธีดำเนินการที่เป็นไปตามผลการศึกษา ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องปรับแนวทางการฟื้นฟูเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อประชาชน ขณะที่กลไกคณะกรรมการไตรภาคี จะต้องทำให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และแม้ว่างบประมาณปี 2564 ได้ผ่านการอนุมัติไปแล้ว แต่ยังคงต้องติดตามแนวทางการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ต่อไป เพราะข้อสังเกตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจะได้รับการปรับแก้หรือไม่ ทุกอย่างจะนำไปสู่ข้อสังเกตไปยังกรรมาธิการงบประมาณฯ เพื่อพิจารณาในครั้งต่อไป

กรณีการปนเปื้อนสารตะกั่วจากโรงแต่งแร่ไหลลงสู่ลำห้วยคลิตี้ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เกินค่ามาตรฐานในปริมาณที่สูง ส่งผลให้ชาวบ้านหมู่บ้านคลิตี้ได้รับสารพิษตะกั่วเข้าสู่ร่างกายจากการใช้ประโยชน์จากลำห้วยจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ นำมาสู่การฟ้องร้องเป็นคดี ทั้งทางคดีแพ่ง ที่ฟ้องต่อ บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด กับพวก และคดีปกครอง ฟ้องต่อกรมควบคุมมลพิษ

จนในปี 2556 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษ ดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ และในปี 2560 ศาลฎีกา (แผนกคดีสิ่งแวดล้อม) มีคำพิพากษาให้บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ฯ กับพวก ดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ จนกว่าลำห้วยคลิตี้จะกลับมามีสภาพที่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน และปัจจุบันกรมควบคุมมลพิษ กำลังดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด โดยมี บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด เป็นผู้รับจ้าง ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการ 1,000 วัน นับตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค. 2560 โดยได้ใช้งบประมาณไปทั้งสิ้น 454 ล้านบาท และได้สิ้นสุดระยะเวลาโครงการในวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ เพิ่งได้รับอนุมัติงบประมาณสำหรับการดำเนินโครงการฟื้นฟูระยะที่ 2 อีก 205 ล้านบาท

Author

Alternative Text
AUTHOR

พงศ์เมธ ล่องเซ่ง

นักข่าวไม่จำกัดสาย จัดให้ได้ทุกประเด็น