วันน้ำโลกกับกลไกจัดการน้ำท้องถิ่นแบบส่วนร่วม

แม้รัฐบาลพยายามลงทุนด้านน้ำมาหลายสมัย แต่ที่ผ่านมายังทำงานคนละทิศคนละทาง นักวิจัย เสนอลดช่องว่างการจัดการน้ำผ่านการมีส่วนร่วมกับท้องถิ่นถือเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ที่ไทยต้องปรับตามเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

วันนี้ถือเป็นอีกวันที่ องค์การสหประชาชาติประกาศให้วันที่ 22 มีนาคมของทุกปี เป็น “วันน้ำโลก” เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำ ในปี พ.ศ. 2567 องค์การสหประชาชาติกำหนดประเด็นวันน้ำโลก ภายใต้หัวข้อ “Leveraging Water for Peace” หรือ “น้ำเพื่อสันติภาพ” เพื่อเน้นย้ำให้เห็นว่าปัญหาการขาดแคลนน้ำ น้ำมีคุณภาพไม่เหมาะสมกับการอุปโภคบริโภค และความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำ จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการแย่งชิงน้ำและนำมาซึ่งความขัดแย้ง นักวิจัยเผยหากจะปลดล็อก เรื่องน้ำต้องที่เริ่มจากท้องถิ่นมีส่วนร่วมเพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้ไทยยังอยู่ในวังวนปัญหาน้ำเดิม ๆ

วันน้ำโลกกับแนวทางรัฐบาล

(22 มีนาคม 2567) วันนี้ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวเนื่องในวันน้ำโลก ประจำปี 2567 ว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของประเทศ บริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เสริมสร้างความร่วมมือด้านน้ำกับประชาคมโลก และเชิญชวนประชาชนทุกคน ร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการร่วมกันอนุรักษ์ แบ่งปัน ใช้น้ำอย่างมีคุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด

ที่ผ่านมา รัฐบาลให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำท่วม น้ำแล้งอย่างเป็นระบบ ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี โดยในช่วง 5 ปีแรก ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ทั้งการจัดสรรอุปโภคบริโภค ด้วยการสร้างระบบประปาหมู่บ้าน การจัดการเพิ่มกำลังการผลิตประปาเมือง ในพื้นที่เร่งด่วน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพฯ ปริมณฑล ภาคตะวันออก

รวมทั้งการสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต โดยดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทาน เพิ่มพื้นที่ชลประทานและการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน โดยในส่วนการดำเนินการพัฒนาพื้นที่ชลประทานและพื้นที่เกษตรน้ำฝน จะช่วยป้องกันปัญหาน้ำท่วมและทำให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการดำเนินกิจกรรมของทุกภาคส่วน ทั้งภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน ตลอดจนมีการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย ทั้งการปรับปรุงลำน้ำสายหลักและลำน้ำธรรมชาติเพื่อระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำและในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมทั้งการปรับปรุงเขื่อนเพื่อรองรับสภาพภูมิอากาศ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม

รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในการบริหารจัดการน้ำข้ามพรมแดน โดยยึดหลักข้อตกลงด้านการใช้น้ำที่เป็นสากล เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและพัฒนาความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ซึ่งจะนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน

กลไกจัดการน้ำไทยเข้าถึงท้องถิ่นมากน้อยแค่ไหน

ประเทศไทยมีหน่วยงานที่บริหารจัดการน้ำร่วมกัน มากกว่า 30 หน่วยงาน แต่ปัญหาน้ำก็ยังพายเรืออยู่ในอ่าง และมักได้ยินเสมอจากประชาชน น้ำประปาไม่ไหล อากาศร้อนภัยแล้ง แย่งน้ำ ท่วมหนักน้ำหลาก พอเกิดเหตุภาครัฐก็มักช่วยเหลือบรรเทาปัญหาในเชิงช่วยหลังเกิดเหตุ แต่เมื่อถึงฤดูแล้งก็ไม่เหลือน้ำพอกินพอใช้ พอท้องถิ่น จะของบประมาณมาขุดบ่อ ขุดสระ ก็มีงบฯไม่พอ จนเป็นภาพชินตา ที่มีความไม่ยั่งยืน รวมถึงการคิดแก้ปัญหาแบบแยกส่วนขาดการบูรณาการ คนทำไม่ได้คิด คนคิดไม่ได้ทำ จากที่หน่วยงานมีกฎหมาย มีงบประมาณของตัวเอง

ชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ หัวหน้าโครงการพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมระหว่างกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานและหน่วยงานองค์กรในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ กล่าวว่า จริง ๆ แล้วประเทศไทยมีกลไกเรื่องน้ำและจาก พ.ร.บ.น้ำ ปี 2561 เป็น พ.ร.บ.ที่ให้ความสำคัญที่พยายามให้เกิดการทำงานตั้งแต่ระดับล่าง ตั้งแต่องค์กรผู้ใช้น้ำ ขึ้นมาสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเชื่อมโยง คณะกรรมการน้ำจังหวัด และมีคณะกรรมการลุ่มน้ำ และมีคณะกรรมการอำนวยการน้ำแห่งชาติ มองไปทั้งระบบ แต่ด้วยความใหม่ของ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติที่เกิดขึ้นมาใหม่ มันยังขาดองค์ความความรู้เรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมจากข้างล่างขึ้นมา ตอนนี้โครงสร้างไม่ว่าจะเป็นกรรมการน้ำแห่งชาติ ที่มีทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ หน่วยงานต่างๆ มีความพร้อมเรื่องความรู้ แต่พอมาถึงลุ่มน้ำ และคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ลงมาถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ลงไปถึงกลุ่มผู้ใช้น้ำ มันยังมีช่องว่างในการกระจายความรู้ในบางจุด

“ผมขอเริ่มจากจุดล่างสุดเลยคือองค์กรผู้ใช้น้ำ คือองค์กรผู้ใช้น้ำเองคือผู้ที่อยู่ในสถานการณ์ในพื้นที่ ในหมู่บ้านชุมชน เขารู้ว่าหมู่บ้านของเขามีน้ำมากน้อยแค่ไหน เขาต้องใช้น้ำมากน้อยแค่ไหน แต่ว่าบทบาทของผู้ใช้น้ำยังขาด และจะทำอย่างไรให้เขามีส่วนร่วมได้เก็บข้อมูลเอง วิเคราะห์ข้อมูลเอง และนำเอาข้อมูลไปใช้เอง ในการวางแผนการจัดการน้ำระดับพื้นที่ อันนี้เป็นจุดที่เราต้องให้ความสำคัญเพื่อให้องค์กรผู้ใช้น้ำได้มีบทบาทในการแก้ปัญหาน้ำของเขาเอง”

เพราะหลังจากนั้นข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้จะใช้ในการวางแผน ในระดับพื้นที่เชื่อมโยงในพื้นที่ต่าง ๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่เรามีองค์กรผู้ใช้น้ำเป็นไลน์กลุ่มแต่ในพื้นที่ยังมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ยังเป็นกลไกบริหารทั้งงบประมาณ และการจัดการต่าง ๆ แต่ว่าการเชื่อมองค์กรผู้ใช้น้ำ กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังขาดการเชื่อมประสานที่ไร้รอยต่อ

ปิดช่องว่างให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วม

ผศ.น.สพ.วินัย แก้วละมุล หัวหน้าโครงการ การพัฒนาระบบการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการวางแผนและตัดสินใจการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำขององค์กรผู้ใช้น้ำและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดน่าน กล่าวว่า โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ซึ่งมองว่า การจะสร้างการมีส่วนร่วมต้องเริ่มจากให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมโดยแท้จริง จึงเริ่มทำงานวิจัยสร้างกลไกจัดการน้ำด้วยระบบการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการวางแผนและตัดสินใจการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำขององค์กรผู้ใช้น้ำและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดน่าน

ซึ่งจังหวัดน่านโดยภาพรวมแล้ว มีภูมิประเทศมากกว่าร้อยละ 85 เป็นภูเขาและพื้นที่สูง เป็นพื้นที่ป่าไม้และอุทยานแห่งชาติ เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำน่าน แต่จากบริบทของพื้นที่ที่เป็นที่สูง ประกอบกับการลดลงของป่าไม้ ในฤดูฝนเมื่อมีฝนตกหนักจะมีการไหล่ของน้ำลงสู่ที่ต่ำอย่างรวดเร็ว เข้าท่วมบ้านเรือนและแปลงเกษตรของเกษตรกร ในฤดูแล้งไม่มีขาดแคลนน้ำ ไม่มีแหล่งน้ำที่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค ยังไม่มีการจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ

พระราชบัญญัติ ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เป็นกฎหมายที่กำหนดแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ และได้กำหนดให้ผู้ใช้น้ำรวมตัวกันจดทะเบียนจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำขึ้น เพื่อร่วมบริหารจัดการน้ำ แต่องค์กรผู้ใช้น้ำ ยังไม่มีความเข้าใจในบทบาทและหน้าที่ขององค์กรผู้ใช้น้ำ นอกจากนี้องค์กรผู้ใช้น้ำไม่สามารถทำแผนงานโครงการหรือของบประมาณจากหน่วยงานภาครัฐได้โดยตรงจำเป็นต้องประสานกับหน่วยงานอื่น เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่พบว่ายังไม่มีรูปแบบหรือกลไกการทำงานร่วมกันที่ชัดเจนระหว่างองค์กรผู้ใช้น้ำและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

อย่างเช่น ขั้นตอนการเสนอขอรับงบประมาณด้านน้ำ Pain Points ระหว่างองค์กรผู้ใช้น้ำ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขาดกลไก ขาดข้อมูล ศักยภาพคน การเชื่อโยง อปท. พอขยับขึ้นมาอีก ด้านบน มาดูตรงหน่วยงาน เวลาเสนอแผน จะมีอเจนด้า ไปหาอธิบดี จากจังหวัดไปหาผู้ว่า ฟังชั่น อเจนด้า ไปอนุกรรมการน้ำจังหวัด ไปคณะกรรมการลุ่มน้ำ ยาวไปจนถึง เลขา กนช. ค่อยแจ้งแผนปฎิบัติการ ไปกระบวนการงบประมาณ จากภาพที่เห็น

ผศ.น.สพ.วินัย กล่าวอีกว่า การลดช่องว่างก็ต้องอาศัยกลไกหลายด้าน เช่นการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อไปหนุนเสริมองค์กรผู้ใช้น้ำและองค์กรปกครองส่วนทองถิ่นให้มีข้อมูลวางแผนในการตจัดสินใจบริหารจัดการน้ำ โดยสนับสนุนให้ผู้ใช้น้ำจัดการน้ำตัวเองให้เขารู้ว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร นำไปสู่การวางแผน

เราก็นำเทคโนโลยี ความรู้มาชวนคิดวางแผนเป็นระบบเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ชุมชน ก็สามารถวิเคราะห์ปัญหาจัดการปัญหาได้ ในระดับหนึ่ง ซึ่งมีหมู่บ้าน รวมตัวเป็นตำบล หมู่บ้าน ทำให้เห็นภาพทั้งท้องถิ่น การที่องค์กรผู้ที่ใช้น้ำจัดการข้อมูลร่วมกันกลไกท้องถิ่นมีวิเคราะห์ประชาคม พอประชาคมก็เข้าสู่กระบวนการทางงบประมาณได้ เข้าข้อบัญญัติท้องถิ่นก็จะต่อยอดไปได้ ในภาพรวมกลไก ใช้ความรู้ เทคโนโลยี ผ่านกลไกการน้ำแบบมีส่วนร่วมที่เข้าถึงชุมชนจริงๆ หลังมีการพัฒนาระบบการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เก็บข้อมูล เพื่อการวางแผนตัดสินใจการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำขององค์กรผู้ใช้น้ำ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดน่าน จนเป็นข้อต่อสำคัญในการวางแผนจัดการน้ำที่อยู่บนฐานข้อมูลจริง

โดยพื้นที่ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดน่าน มีพื้นที่ดำเนินการ 5 ตำบล ประกอบด้วย 6 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในเขตอำเภอเมืองมี 4 อปท. ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อสวก องค์การบริหารส่วนตำบลเรือง องค์การบริหารส่วนตำบลนาซาว และองค์การบริหารส่วนตำบลผาสิงห์ และอำเภอแม่จริมประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนตำบลหนองแดง และ เทศบาลตำบลหนองแดง

ความรู้และเทคโนโลยีพร้อมใช้ แอพลิเคชัน Epicollect5, Data looker studio, เครื่องมือวัดความชื้นในดิน, การจัดทำแผนงานโครงการ, ความรู้ด้านการจัดการน้ำ, การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ, ความรู้ด้านกระบวนการงบประมาณกระบวนการดำเนินการ เป็นวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม มีการหนุนเสริม (Empowerment) เกษตรกรหรือเจ้าหน้าที่ อปท. ผ่าน กระบวนการมีส่วนร่วม, การออกแบบการเรียนรู้ (Learning Loop) การพัฒนาฐานข้อมูลที่

กลไกสร้างส่วนร่วม

สิ่งที่เป็นผลลัพธ์ ทำให้มีฐานข้อมูลสำหรับการจัดการน้ำท้องถิ่น จะเป็นข้อมูลที่ได้จากการดินสำรวจจริงในพื้นที่โดยแกนนำองค์กรผู้ใช้น้ำ เจ้าหน้าที่ อปท. และเกษตรกร โดยการใช้แอพพลิเคชัน Epicollect5 ในการเก็บข้อมูล ข้อมูลที่ได้มารวบรวมเป็นฐานขอมูลอยู่แต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานข้อมูลจะประกอบด้วยข้อมูลบริบทของพื้นที่, ข้อมูลผังน้ำ, ข้อมูลแหล่งน้ำ, ข้อมูลความต้องการใช้น้ำ, ข้อมูลสมดุลน้ำ, โครงการจัดการด้านน้ำ ข้อมูลนี้เจ้าหน้าที่แต่ละ อปท. จะทำการตรวจสอบ วิเคราะห์ และนำไปใช้ประโยชน์ เช่น การจัดทำแผนงานโครงการ การส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ และจะประมวลผลนำเสนอในรูปของ Dash board ให้เห็นในภาพรวมของการจัดการน้ำของแต่ละ อปท. และมีการแปะลิงค์ หรือ แบนเนอร์สำหรับนำเสนอข้อมูลสู่สาธารณะ ในแต่ละหน้าเพจของทุก อปท. สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่ ทุกเวลา เจ้าหน้าที่ อปท. มีข้อมูลที่มาจากการสำรวจสำหรับใช้ในการวางแผนการดำเนินการ

มีนวัตกรท้องถิ่น รวม 56 คน ประกอบด้วยนวัตกรกลุ่มนายก/รองนายก อปท./ส.อบต. จำนวน 20 คน นวัตกรกลุ่มเจ้าหน้าที่ อปท. จำนวน 30 คน นวัตกรกลุ่มแกนนำองค์กรผู้ใช้น้ำ จำนวน 6 คน

กลไกการจัดการน้ำระดับ อปท. ข้อค้นพบและการวิเคราะห์พบว่า การขับเคลื่อนน้ำท้องถิ่น การมีโครงสร้างคณะทำงานที่ประกอบด้วยผู้มีบทบาทในด้านต่าง ๆ จะช่วยให้การขับเคลื่อนเป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพ ตัวแบบที่เสนอโครงสร้างกลไกการจัดการน้ำท้องถิ่น ให้นายก อปท. เป็นประธานคณะทำงาน รองประธาน ฝ่ายต่าง ๆ ประกอบด้วย รองนายก อปท., กำนัน, ประธานสภา อบต., และ ปลัด อปท. โดยแต่ละฝ่ายจะมีทีมคณะทำงานที่ประกอบด้วย ทีมบริหาร อปท., ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน, สมาชิก สภา อบต. และ เจ้าหน้าที่ สำนักปลัด อปท. ร่วมเป็นคณะทำงาน ทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งท้องถิ่น ท้องที่มีบทบาทร่วมในการจัดกาน้ำ และเชื่อมโยงไปสู่การทำงานของ อปท. โดยใช้ระบบข้อมูลร่วมกัน นอกจากนี้ ยังควรมีภาคีเครือข่ายเข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาคณะทำงาน ที่มาจากทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม และ พระสงฆ์

รูปธรรมการจัดการน้ำด้วยฝายดินซีเมนต์
ผู้ใช้น้ำได้ร่วมกันตัดสินใจร่วมกันก่อสร้างฝายดินซีเมนต์ เพื่อกัก ดักชลอน้ำ ไว้ทั้งบนดินและในดิน เป็นงานรูปธรรมในโครงการ มีการสร้างฝายดินซีเมนต์ จำนวน 15 ฝาย ส่งผลให้เกษตรกรมีน้ำใช้ในการเพาะปลูกนานขึ้นกว่าเดิมที่น้ำมักจะแห้งอย่างรวดเร็ว เกษตรกรนำน้ำไปใช้ในการปลูกผัก ปลูกพืชอาหารสัตว์ รวมถึงการใช้ในการเลี้ยงสัตว์

เกิดแผนงานโครงการที่เสนอในระบบ Thai Water Plan (TWP) และในระบบ SOLA
นักวิจัยได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการการจัดทำแผนงานโครงการ โดยการวิเคราะห์แผนปฏิบัติงานของ อปท. และข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ เพื่อทำแผนงานโครงการบรรจุในแผนของ อปท. และนำเสนอเข้าสู่ระบบ TWP เพื่อขอรับพิจารณางบประมาณ มีโครงการจาก อปท. ที่เข้าร่วมโครงการเสนอในระบบ TWP จำนวน 54โครงการ (เฉลี่ย 9 โครงการ/ อปท., อปท. อื่น นอกโครงการเฉลี่ย 3 โครงการ/อปท.) นอกจากนี้มีโครงการที่นำเข้าสู่ระบบสารสนเทศเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณเงินอุดหนุน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (SOLA) จำนวน 77 โครงการ (เฉลี่ย 13 โครงการ/ อปท. ที่ร่วมวิจัย, อปท. อื่น ๆ ในจังหวัดเฉลี่ย 7 โครงการ/อปท.) ผลการพิจารณาโครงการในระบบ TWP ยังไม่เสร็จสิ้น ผลการพิจารณางบประมาณในระบบ SOLA มีโครงการของ อปท. ที่ร่วมวิจัยได้รับงบประมาณ จำนวนรวม 64 โครงการ วงเงินงบประมาณ 53,723,400 บาท

บันทึกความร่วมมือของ อปท. ในการร่วมจัดการน้ำในลุ่มน้ำย่อย
การพัฒนาลุ่มน้ำย่อยและลุ่มน้ำสาขาเป็นอีกหนึ่งช่องว่างของการพัฒนา ซึ่งลำน้ำย่อยมีจำนวนมากและอาจจะผ่านพื้นที่หลาย อปท. มองภาพรวมในระดับลุ่มน้ำย่อยจะช่วยให้เห็นภาพและสามารถจัดการทั้งระบบ การดำเนินการได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการ อปท. ที่มีลุ่มน้ำร่วมกัน มีการจัดทำ MOU เพื่อบริหารจัดการน้ำร่วมกัน โดย อบต. บ่อสวก อบต. เรือง และ อบต. นาซาว มีลำน้ำซาวที่พาดผ่านร่วมกันก่อนไหลไปลงสู่แม่น้ำน่าน ทั้งสาม อบต. ได้ลงนาม MOU ร่วมกัน ผลกระทบจากการ ทำ MOU ทำให้ อบจ. สามารถทำโครงการเข้ามาสนับสนุนได้ อบจ. ได้สนับสนุนการสร้างฝายชลอน้ำ (ฝายดินซีเมนต์) จำนวน อปท. ละ 20 ฝาย วงเงินงประมาณรวม 600,000 บาท และการลงนาม MOU ร่วมกันเป็นต้นแบบให้อีกหลาย อปท. ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการ

ผลกระทบ (Impact)

การขยายผลไปสู่ อปท. อื่น การเชื่อมโยงกับ อบจ.ต้นแบบการจัดการน้ำขนาดเล็กในระดับท้องถิ่นด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยี ทำให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรการจัดการน้ำท้องถิ่น ขณะที่ความร่วมมือกับโครงการวิจัย วช.โครงการนี้มีเป้าหมายหลักในการทำงานร่วมกับ อปท. ผ่านกระบวนการต่าง ๆ ซึ่งนอกจากโครงการนี้ได้มีโครงการเข็มมุ่ง (Spearhead) แผนน้ำ ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งโครงการเข็มมุ่งมีเป้าหมายในการจัดทำแผนน้ำระดับจังหวัดและการขับเคลื่อนกลไกระดับจังหวัด เช่น การจัดทำแผนน้ำท่วม น้ำแล้ง การทำงานของอนุกรรมการทรัพยากรน้ำ โครงการ บพท. ซึ่งทำงานกับองค์กรผู้ใช้น้ำ และ อปท. จึงมีการเชื่อมต่อกันกับการขับเคลื่อนระดับนโยบายของจังหวัด เพื่อให้การทำงานเชิงพื้นที่มีเป้าหมายเดียวกันและมีทิศทางไปในทางเดียวกัน หนุนเสริมซึ่งกันและกันในการสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นนอกจากนี้ยังมีกลไกความร่วมมือภาคีเครือข่าย การพัฒนายกระดับจากน้ำไปสู่การนำน้ำไปสร้างอาชีพ

ว่าที่ ร.ต. อลงกต ประสมทรัพย์ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อสวก จ.น่าน กล่าวว่า จากที่ทีมตำบลบ่อสวกจากงานวิจัยได้นำเอา แอปพลิเคชัน Epicollect5 มาใช้ในการเก็บข้อมูล และข้อมูลนี้มันกลับข้อมูลมาสู่ชุมชน และยังสามรถต่อยอดให้เห็นภาพรวมน้ำ ขณะเดียวกันภาพรวมสายน้ำจริง ๆ แล้วมันไม่แบ่งเขตการปกครองมันจำเป็นที่ต้องมีความร่วมมือระหว่าง อบต. ปัจจุบันมีโครงการสร้างฝายที่เกินศักยภาพที่ร่วมกับ อบต.อื่น ๆ ซึ่งทำให้สามารถได้งบประมาณมาทำโครงการขนาดใหญ่ขึ้นในการบริหารจัดการน้ำ ขณะเดียวกันการใช้ชุดข้อมูลท้องถิ่นทำให้เรารู้สึกมีส่วนร่วม และอยากแก้ปัญหาไปพร้อมกัน

รศ.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานวิจัยเข็มมุ่ง (Spearhead)ด้านการบริหารจัดการน้ำ วช. กล่าวว่า การยกระดับให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมโดยใช้กลไกจัดการน้ำเช่นนี้ จะทำให้เห็นภาพการทำงานที่ไม่ทับซ้อนของหน่วยงานหลัก ขณะเดียวกัจังหวัดก็จะเป็นปัญหาที่เป็นชุดข้อมูลเดียวกันมันจะดีกับการวางแผนรวมกันทั้งระบบ อย่างเช่น นโยบายกระทรวงมหาดไทยคือแก้แล้งแก้จนได้เพราะฉะนั้นในหลักการวางแผนมี 2 ระดับ คือระดับที่เป็นส่วนกลางจะแก้น้ำท่วมน้ำแล้งอยู่ที่ไหนในทางปฎิบัติต้องใช้ข้อมูลท้องถิ่นในพื้นที่มาทาบกันด้วย

บางที่เราอาจไม่มีข้อมูลในระบกลาง หรือบางที่ข้อมูลในระบบกลางข้อมูลไม่ตรงกันในการชี้เป้าดังนั้นต้องเอาข้อมูลมาเทียบกันได้ ในเมื่อเรารู้ เราก็มาดูว่าทางแก้คืออะไร คือก็พบว่าต้องใส่ข้อมูลความรู้เข้าไปไม่ว่าจะเป็นแก้แล้ง ก็ขุดสระ หรือ บ่อ บางที่ก็ไม่เหมือนกันการเอาชุดวิทยากรไปช่วยตอบในพื้นที่ได้ก็จะเป็นอีกทางที่วิจัยเข้าไปช่วย ขระเดียวกัน เส้นทางของข้อมูลต้องเดินทางจากข้อมูลไปถึงระดับประเทศเราก็ต้องมีระบบสนับสนุน วิธีการกรอกคืออะไร มีข้อมูลอะไร ท้ายสุดอะไร ก็ต้องมีรูปแบบ หรือ จีไอเอส ที่ส่งข้อมูลจากตำบล อำเภอ จังหวัด หรือลุ่มน้ำระบบเดียวกันและไม่ต้องใช้ให้เกิดความซ้ำซ้อนได้ และเมื่อเอาชุดข้อมูลมาดูก็จะเห็นภาพว่ามีบางโครงการซ้ำซ้อนกันไหมหลังซ้อนทับแล้วก็จะเห็นร่วมกันตรวจเช็คได้ง่าย จะเป็นการตรวจสอบ ตรวจเช็ตได้ง่ายขึ้น

ถ้ามหาดไทยเห็นด้วยในส่วนนี้ ก็จะทำให้ขยายไปสู่จังหวัดอื่น อบต.อื่นได้ ซึ่งวิธีการจังหวัดที่เราทำสำเร็จแล้วมาเป็นพี่เลี้ยงเพื่อช่วย อบต.อื่น จังหวัดอื่น ประหยัดเวลา จากที่เคยใช้เวลาเป็นปี แต่อันนี้ก็จะประหยัดเวลา ที่สั้นลงไปได้ ปัจจุบัน ที่คุยกับกระทรวงมหาดไทย ในปี 2568 จะเริ่มใน 10 จังหวัด ภายใน 3 ปีก็จะครอบคลุม 45 จังหวัด ยังมีปัญหาน้ำอยู่ก็น่าจะใช้เวลา 3 ปีตามที่วางแผนไว้ครับ

ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สิ่งที่ทีมวิจัยทำสามารถไปประยุคใช้ในหลายพื้นที่โดยเฉพาะชุมชนเข้มแข็งที่เขามีความพร้อมที่จะเข้าไปช่วยระบบสารสนเทศหรือเทคโนโลยีที่จะเข้าไปต่อเติมเห็นภาพอนาคต หลังคุยกับทีมวิจัย เรามองว่า เราจะขับเคลื่อนที่จังหวัดไหนก่อน อย่างเช่นที่จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัยที่เรามีความพร้อมของบุคคล แม่แจ่มเขามีฝ่ายกว่า 1 แสน 6 พันฝาย ถ้า นจำนวนนี้มันอยู่ในระบบของอาจารย์มันจะทำให้เขาเห็นภาพอนาคตว่าน้ำมีอยู่เท่าไหร่ไปจัดการอะไรได้ แล้วก็จะเอาความรู้นี้ไปขยายผลต่อ และระบบข้อมูลเหล่านี้จะเป็นข้อมูลสำคัญที่ทำให้ไทยมีชุดข้อมูลจริงที่นำไปสู่การวางแผน การบริหารจัดการ และการพัฒนาด้านน้ำต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์