กอร.ฉ. ยืนยัน “ไม่ควบคุม” หลัง #saveสื่อเสรี ติดเทรนด์ทวิตเตอร์

หลังมีการเผยแพร่คำสั่งแบน 5 สื่อ กอร.ฉ. แจง เพื่อบริหารจัดการให้ได้ข้อเท็จจริง ยังถ่ายทอดสดได้ ใต้ความสงบเรียบร้อย

ช่วงเช้าวันนี้ (19 ต.ค. 2563) แฮชแท็ก #saveสื่อเสรี ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทย หลังมีการเผยแพร่เอกสารคำสั่งแบน 5 สื่อ ได้แก่ วอยซ์ทีวี (ทั้งโทรทัศน์และออนไลน์) ประชาไท The Reporters และ The Standard รวมไปถึงเพจกลุ่มเยาวชนปลดแอก

โดยเอกสารคำสั่งดังกล่าวเป็นของ ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ 4/2563 ที่สั่งให้ กสทช. และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตรวจสอบเนื้อหาและสั่งระงับรายการ ระงับการเผยแพร่ ไปจนถึงลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ บางส่วนของรายการที่เผยแพร่ในสื่อ 4 องค์กร ได้แก่ วอยซ์ทีวี (ทั้งโทรทัศน์และออนไลน์) ประชาไท The Reporters และ The Standard รวมไปถึงเพจกลุ่มเยาวชนปลดแอก

คำสั่งระบุเหตุผลว่า มีการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนทางโทรทัศน์ด้วยการนำเสนอเนื้อหารายการบางส่วน จึงสั่งให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการเพื่อการตรวจสอบ และให้ระงับการออกอากาศรายการหรือระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ เอกสารคำสั่งลงวันที่ 16 ต.ค. 2563

ด้าน พลตำรวจโท จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร. แถลงวันนี้ว่า เหตุผลที่ต้องออกประกาศฉบับนี้ เนื่องจากได้รับการแจ้งว่ามีการนำเสนอข้อมูลที่อาจจะก่อให้เกิดความสับสนและความไม่สงบได้ โดยเป็นประกาศที่กำหนดให้สำนักงาน กสทช. และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ไปพิจารณาข้อมูลข่าวสารที่ได้รับหรือมีอยู่ว่าผิดกฎหมายหรือไม่

หากทำผิด ให้หน่วยงานนั้นไปดำเนินการพิจารณาตามกฎหมายตามปกติ ก็คือ หากต้องถอนข้อความหรือระงับการออกอากาศก็ต้องขออำนาจศาลดำเนินการ และที่ยังไม่ประกาศบังคับใช้เนื่องจากการจำเป็นต้องมีการกำหนดขั้นตอนหลักเกณฑ์วิธีการปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

“กอร.ฉ. ไม่มีนโยบายหรือมีคำสั่งที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อหรือสั่งปิด เพียงแต่จัดการข้อมูลข่าวสารที่มีปัญหาเป็นชิ้น ๆ หรือช่วง ๆ ไป ซึ่งเป็นข้อมูลข่าวสารที่อาจจะก่อให้เกิดความสับสน เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ จึงจำเป็นต้องออกมาในลักษณะนี้ก่อน”

ส่วนเรื่องที่มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการสื่อและข้อมูลข่าวสารในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยมีหน้าที่บริหารจัดการเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏทางสื่อมวลชน เอกสาร หรือข้อมูลข่าวสารอื่นใด ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือได้รับจากประชาชนหรือหน่วยงานอื่นที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม อันส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งให้สืบสวนความเคลื่อนไหวของข้อมูลข่าวสารที่ได้มีการเผยแพร่ ส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่เพื่อระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม และกำหนดมาตรการเชิงรุกในการบังคับใช้กฎหมาย นั้น

คณะกรรมการชุดนี้ ได้เริ่มประชุมเมื่อช่วงเช้า (19 ต.ค.) ตั้งแต่เวลา 10.00 น. มีปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นประธาน โดยหากพบว่าเป็นข้อมูลข่าวสารที่กระทบความมั่นคง ผิดกฎหมาย ถ้าเป็นบุคคลก็จะเรียกมาตักเตือน และหากเป็นข่าวปลอมที่ใช้มาตรการทางปกครองได้ ก็ใช้มาตรการตามนั้น โดยใช้อำนาจหากเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ไม่สามารถรอได้หรือให้หน่วยงานปกติทำได้ ก็จะประกาศใช้อำนาจในการระงับ เพราะหากรออาจไม่ทันต่อเหตุการณ์หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหาย จึงจำเป็นต้องใช้อำนาจตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ จะทราบในวันนี้ โดยจะมีแถลงรายละเอียดให้ทราบอีกทีในวันพรุ่งนี้

“ไม่ใช้คำว่าควบคุม แต่เป็นการบริหารจัดการให้ได้ข้อเท็จจริง สื่อยังถายทอดสดได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้ความสงบเรียบร้อย”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active