จับตาไฟเขียวเลือกตั้ง อบจ. แฝงนัยยะทางการเมือง

โอฬาร ถิ่นบางเตียว” ชี้ เลือกตั้งท้องถิ่นระดับบน รักษาเครือข่ายทางการเมือง แนะ เร่งจัดเลือกตั้งจริงใจ ไม่เพียงหวังลดแรงเสียดทานการเมืองระดับชาติ

หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้ (6 ต.ค.) มีมติเห็นชอบให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. และกระทรวงมหาดไทย เดินหน้าจัดการเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. 76 จังหวัด ภายใน 60 วัน ซึ่งคาดว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2563 นั้น

The Active พูดคุยกับ ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา หนึ่งในนักวิชาการ 75 คน เครือข่ายรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยท้องถิ่น ที่ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นทุกแห่งทั่วประเทศลาออก เพื่อให้มีการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นทุกแห่งทุกรูปแบบใหม่ภายในปีนี้

ผศ.ดร.โอฬาร มองว่า การที่ ครม. มีมติเช่นนี้ มีนัยยะทางการเมือง เพื่อจะดึงแนวร่วมและรักษาพันธมิตรทางการเมือง สร้างเครือข่ายทางการเมือง

“รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ อยากชนะการเลือกตั้ง 2 สมัย ต้องลดแรงเสียดทานทางการเมืองทั้งหมด รับลูกแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือเปิดโอกาสให้มีเลือกตั้งท้องถิ่น ระยะเวลาที่ดองไว้มีเวลามากพอที่จะทำให้พรรคพลังประชารัฐสามารถคัดสรรนักการเมืองท้องถิ่นที่ให้การสนับสนุนเขา ให้นักการเมืองท้องถิ่น หรือ ตระกูลที่ใกล้ชิดรัฐบาลลงแข่ง หากพรรคพลังประชารัฐได้รับเลือกเป็น นายก อบจ. และ สมาชิก อบจ. นั่นจะกลายเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานเรื่องคะแนนเสียง ถ้ามีการเลือกตั้งในสมัยหน้าของรัฐบาล”

เขายังระบุอีกว่า แทนที่ประชาชน จะพุ่งเป้าสนใจไปรัฐบาลกลาง ก็มาสนใจรัฐบาลท้องถิ่นมากขึ้น แต่สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำ มีราคาที่ต้องจ่าย ในรอบเกือบสิบปีที่ผ่านมา เพราะมีผลกระทบ โดยมองว่า ภาพรวมการเลือกตั้งท้องถิ่น หรือจุดแตกหักจากการถูกแช่แข็งมาตั้งแต่ปี 2557 นำมาสู่ปัญหา 4 ประการ

  1. เกิดภาวะท้องถิ่นถดถอย ชะงักงัน กระบวนการกระจายอำนาจและการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ถูกแช่แข็ง ส่งผลให้การบริหารจัดการท้องถิ่นทำได้ไม่เต็มศักยภาพ
  2. ถูกแทรกแซงจากข้าราชการท้องถิ่น ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลส่วนกลาง ที่อ้างถึงงบประมาณจากส่วนกลาง
  3. เกิดทุจริตคอร์รัปชันระดับท้องถิ่น เพราะขาดการตรวจสอบ และมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน
  4. ทำลายประชาธิปไตยฐานราก ซึ่งถือเป็นการทำลายหลักการปกครองท้องถิ่น และเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประชาธิปไตยระดับชาติ

ผศ.ดร.โอฬาร ย้ำด้วยว่า การดำเนินการดังกล่าว ทำให้ท้องถิ่นไม่มีพัฒนาการ ซึ่งทุกคนรู้ดีว่านี่คือการทำลายกระบวนการเรียนรู้ประชาธิปไตย

ส่วนการจัดการเลือกตั้งที่ไล่ระดับตั้งแต่ อบจ. อบต. ไปจนถึง การเลือกตั้ง ผู้ว่า กทม. เป็นลำดับสุดท้าย ผศ.ดร.โอฬาร มองว่า กฎหมายเปิดช่องให้จัดการเลือกตั้งแบบไหนก็ได้ แต่ข้อสังเกตที่น่าสนใจ ก็คือ การจัดรูปแบบจากระดับบน ก็คือ อบจ. ลงมาก่อน จะเอื้อต่อการสร้างเครือข่ายอำนาจทางการเมือง ที่เชื่อมโยงกันระหว่างการเมืองส่วนกลาง กับท้องถิ่นได้ง่ายขึ้น

กล่าวง่าย ๆ คือ “ถ้าการเมืองเลือกวางยุทธศาสตร์ที่หัวก่อน ก็จะมีหัว (อบจ.)ไว้ทำงานแทน…”

เขายังกล่าวทิ้งท้ายว่า แต่รัฐบาลก็อาจจะไม่ได้เปรียบเสมอไป เพราะการเติบโตของชนชั้นกลาง และคนรุ่นใหม่ที่สนใจนโยบายการพัฒนาท้องถิ่นมากกว่าตัวบุคคล จะช่วยพลิกโฉมการเมืองท้องถิ่นไม่ให้อยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์อย่างที่ผ่านมา

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน