จี้ คุมคุณภาพ รพ.สต.หลังถ่ายโอนสู่ท้องถิ่น

งานวิจัย ชี้ชัดการให้บริการ รพ.สต. ทุกพื้นที่ ‘ลดลง’ หลังถ่ายโอน ขณะที่ นายกฯ อบจ.สกลนคร สะท้อนบทเรียน ถ่ายโอนสะดุด เพราะปัญหาคน-เงิน-เครื่องมือ เร่งคุมคุณภาพมาตรฐานนำร่อง 6 รพ.สต.สกลนคร ด้าน สธ. ย้ำ ระบบสุขภาพยังเชื่อมโยงกัน แยกจากกันไม่ได้ 

จากกรณี ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และรักษาการแทนผู้อำนวยการ สวรส. ยืนยันว่า ผลงานการให้บริการของ รพ.สต. หลังถ่ายโอนในทุกพื้นที่นั้น ‘ลดลง’ แม้ว่า อบจ. บางแห่งจะมีการจัดการที่ดี มีความมุ่งมั่นตั้งใจและจริงจังก็ตาม แต่ถือว่าเป็นเรื่อง ’ปกติ’ 

การเปลี่ยนผ่านทุกครั้งจะต้องมีอุปสรรคปัญหาเกิดขึ้นอยู่แล้ว มันจึงต้องมีการแก้ไข ปรับเปลี่ยน ปรับปรุงเพื่อให้ระบบกลับไปมีมาตรฐานหรือคุณภาพให้เป็นพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ก่อนจะต่อยอดพัฒนาบริการสุขภาพปฐมภูมิหลังการถ่ายโอนให้ดียิ่งขึ้น

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) ชูพงศ์ คำจวง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร  และ นพ.สุรพงษ์ ผดุงเวียง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสกลนคร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ เพื่อยกระดับด้านการสาธารณสุขมูลฐาน และ บริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ นำร่องใน 6 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หลังมีการถ่ายโอนจากสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ไปสู่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น

ชูพงศ์ คำจวง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร บอกว่า การถ่ายโอนรพ.สต. มาสู่ท้องถิ่น ต้องยอมรับว่าอาจมีปัญหา มีอุปสรรคอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณ บุคลากร แต่อย่างไรก็ตามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะดำเนินการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุข เพื่อให้การดูแลและการให้บริการสุขภาพกับประชาชนในพื้นที่มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันดูแลทั้งหมด 18 อำเภอ โดยมี รพ.สต. ถ่ายโอนมาแล้วทั้งหมด 144 แห่ง ในปีงบประมาณ 2566 จากทั้งหมด 168 แห่ง และเตรียมโอนมาอีก 5 แห่งในปีงบประมาณ 2567

ชูพงศ์ คำจวง นายก อบจ.สกลนคร

“การให้บริการปฐมภูมิถือว่าเป็นบริการที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด เป็นความจำเป็นที่ อบจ. เราต้องพัฒนาอาคารสถานที่ เครื่องมือ ความก้าวหน้าของบุคลากร รวมถึงอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และการติดต่อสื่อสารกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ก็จำเป็นที่ต้องทำให้เกิดความใกล้ชิดและเข้าถึงการรักษาขั้นปฐมภูมิได้ง่าย”

ชูพงศ์ คำจวง นายก อบจ.สกลนคร

พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) กล่าวว่า สำหรับการร่วมลงนามความร่วมมือในครั้งนี้เป็นนโยบายและบทบาทความร่วมมือการพัฒนาคุณภาพ มาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ เพื่อยกระดับด้านการสาธารณสุขมูลฐานและบริการ สุขภาพระดับปฐมภูมิ จังหวัดสกลนคร เพื่อทำให้เกิดบริการที่ดี ตอบสนองความต้องการของประชาชนที่สำคัญ 4 ประการ คือ 

1. เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาความรู้ด้านระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิจังหวัดสกลนคร โดยใช้กลไกการทำงานเพื่อยกระดับมาตรฐานสาธารสุขระดับปฐมภูมิในจังหวัดสกลนครให้เป็นสถานพยาบาลต้นแบบ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาจังหวัดสกลนครโดยเฉพาะด้านการสาธารณสุข 

2. เพื่อเป็นการยกระดับและการพัฒนาศักยภาพขอองค์การบริหารส่วนจังหวัดในการบริหารภารกิจด้านสาธารณสุขพื้นฐาน การบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิด้านประโยชน์ และคุณภาพชีวิตของประชาชน 

3. เพื่อสร้างเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ การสร้างแรงบันดาลใจให้กับบุคลากรสาธารณสุขได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพ และระบบบริการสุขภาพในการพัฒนาด้านปฐมภูมิ  

4. เพื่อรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อเสนอแนะในทางนโยบายในทางปฏิบัติที่เหมาะสมตามบริบทของพื้นที่สถานพยาบาลปฐมภูมิ   

 พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.)

พญ.ปิยวรรณ บอกอีกว่า ที่ผ่านมาโรงพยาบาลในพื้นที่ใช้กลไกมาตรฐานระบบสุขภาพระดับอำเภอ (District Health System Accreditation : DHSA) เป็นเครื่องมือพัฒนาคุณภาพหน่วยบริการปฐมภูมิ โดยมีฐานที่โรงพยาบาลชุมชนเป็นพี่เลี้ยงดูแลเรื่องส่งมอบคุณภาพที่ได้มาตรฐานให้กับ รพ.สต. ในเครือข่ายทำให้พื้นที่มีความเข้าใจเรื่องระบบบริการสุขภาพที่มีความเชื่อมต่อกัน ขณะเดียวกัน อบจ. สกลนคร ยังให้ความสำคัญ และเปิดกว้างในการจะใช้กลไกมาตรฐานพัฒนาระบบสุขภาพสถานพยาบาลที่ถ่ายโอน โดยบรรจุแนวคิและทิศทางดังกล่าวในยุทธศาสตร์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดอีกด้วย

ขณะที่ นพ.สุรพงษ์ ผดุงเวียง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า สสจ. มีหน้าที่ยกระดับบริการสุขภาพเพื่อประชาชน โดยอาศัยภาคีเครือข่ายบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิที่ทำงานร่วมกันมาโดยตลอด เพราะมีเป้าหมายเดียวกันคือประชาชนมีความกินดี อยู่ดี ชีวิตดี มีสุขภาวะที่ดี ไม่ว่า รพ.สต. จะถ่ายโอนไปอยู่สังกัดไหน แต่ระบบสุขภาพยังเชื่อมโยงกันแยกจากกันไม่ได้ ซึ่งการที่จะทำให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพที่ดีนั้น ต้องมีการจัดการระบบสุขภาพ ตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน คือ ให้ประชาชนดูแลตัวเองได้  ไปสู่ระดับปฐมภูมิระดับทุติยภูมิ และ ระดับตติยภูมิ

หน้าที่ สสจ. ยังมีเหมือนเดิม แบ่งเป็น 3 ประการ หลัก ๆ คือ 1. การช่วยเหลือสนับสนุน การให้คำปรึกษาแนะนำทางเทคนิค วิชาการและการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพให้แก่ อปท. 2. มีการกำหนดมาตราฐาน ตัวชี้วัดของหน่วยบริการ ส่งเสริมจัดทำหลักสูตรในการปฏิบัติงานของหน่วยงานสาธารณสุข ซึ่งจะสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของสรพ. และ 3. การตรวจสอบ ประเมินคุณภาพและมาตรฐานการบริการ ซึ่งเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของ สสจ.

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active