“ประสาร” ชี้ 5 มิติ ปรับระบบรัฐ – ราชการ

เสนอปฏิรูป 4 เรื่อง กฎหมาย การศึกษา รัฐวิสาหกิจ และงบประมาณ ย้ำ กระจายอำนาจท้องถิ่นช่วยแก้เหลื่อมล้ำ สร้างเศรษฐกิจเป็นธรรม

เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2563 ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานสภาสถาบันและประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนาสาธารณะทีดีอาร์ไอ ประจำปี 2563 ในหัวข้อ “รัฐและระบบราชการไทยกับความท้าทายข้างหน้าของประเทศ” โดยเสนอว่า การปรับปรุงบทบาทรัฐและระบบราชการควรคำนึงถึงกรอบวัตถุประสงค์ใน 5 มิติที่สำคัญ คือ ประสิทธิภาพและความยั่งยืน, ความโปร่งใส, ความทั่วถึงและเป็นธรรม, การร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และการสร้างแรงจูงใจให้ข้าราชการอย่างเหมาะสม

ดร.ประสาร ยังระบุอีกว่า เรื่องประสิทธิภาพและความยั่งยืน จำเป็นต้องปฏิรูปในเรื่องสำคัญ 4 เรื่อง คือ 1. การปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบ ภาครัฐควรปรับบทบาทจาก “ผู้ควบคุม” มาเป็น “ผู้สนับสนุน” โดยปรับกฎ กติกา ระเบียบต่าง ๆ ให้ “เอื้อ” ต่อการทำงานของระบบเศรษฐกิจ 2. ปฏิรูปการศึกษา โดยมุ่งเน้นที่การ “ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก”

“ข้อมูลจาก สพฐ. ระบุว่า ปีการศึกษา 2562 ไทยมีโรงเรียนขนาดเล็กมากกว่า 15,000 แห่งทั่วประเทศ มีนักเรียนราว 1 ล้านคน และมีครูสอนในโรงเรียนเหล่านั้นมากกว่า 1 แสนคน คิดเป็นสัดส่วนครูต่อนักเรียน 1 ต่อ 10 คน ขณะที่เกณฑ์ทั่วไปอยู่ที่ 1 ต่อ 20 คน หากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง การใช้งบประมาณอาจยิ่งบานปลายเพราะในอนาคตอัตราการเกิดของประชากรมีแนวโน้มลดลง”

3. การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยแยกบทบาทหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาความทับซ้อนของบทบาท นำหลักบรรษัทภิบาลที่ดีตามมาตรฐานสากลมาใช้ และจัดตั้ง “บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ” ในฐานะ “หน่วยงานเจ้าของรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในภาคธุรกิจอยู่แล้วแทนประชาชน” โดยมีหน้าที่หวงแหนปกปักรักษาบริหารสินทรัพย์เหล่านี้ให้เพิ่มประสิทธิภาพและมูลค่า

และ 4. การปฏิรูปกระบวนการจัดสรรงบประมาณ โดยนำตัวชี้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลมาใช้ในกระบวนการจัดสรรงบประมาณและประเมินผลโครงการอย่างจริงจัง ด้วยการเพิ่มการใช้ข้อมูลด้านประสิทธิภาพ หรือ Performance information ที่ทำโดยหน่วยงานอิสระมาใช้ในกระบวนการจัดสรรงบประมาณ และจูงใจให้ข้าราชการและนักการเมืองเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้ข้อมูลนี้เป็นฐานในการตัดสินใจ รวมถึงการผลักดันให้กลไก Check and Balance เกิดขึ้นจริงระหว่างหน่วยงานวางแผนอย่างสภาพัฒน์ หน่วยงานอนุมัติเงินอย่างสำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลาง

สำหรับมิติเรื่องการให้ความสำคัญกับความทั่วถึงและเป็นธรรม ทางออกสำคัญ คือ กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นสามารถออกแบบนโยบายที่ประชาชนในท้องถิ่นต้องการ และจะช่วยให้การแก้ปัญหามีเจ้าภาพชัดเจน บทเรียนการปฏิรูปการศึกษาในหลายประเทศชี้ว่า การกระจายอำนาจแก่ท้องถิ่น ทั้งงบประมาณการบริหารบุคคลและการตัดสินใจอย่างเป็นระบบ ช่วยเพิ่มคุณภาพของการศึกษาให้ดีขึ้น

ดร.ประสาร กล่าวตอนท้ายว่า จำเป็นต้องมองบทบาทของรัฐในฐานะกระบวนการที่ต้องมีพลวัต มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (on going process) เพราะการขาดการพัฒนาไม่ต่างอะไรจากการ “หยุดนิ่งอยู่กับที่” ในขณะที่บริบททางสังคมและเศรษฐกิจรอบตัวเรากำลังเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ขณะที่การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมากขึ้นเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำให้เกิดขึ้น

การกระจายอำนาจจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและเอื้อเศรษฐกิจเปิดกว้างและเป็นธรรมขึ้น ในบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่มีความซับซ้อนแตกต่างกัน แทบเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลส่วนกลางจะสามารถตอบโจทย์ท้องถิ่นที่แตกต่างหลากหลายได้ตรงจุด คิดว่าต้องกระจายอำนาจถึงจุดที่ท้องถิ่นสามารถตัดสินใจว่าจะสามารถดำเนินการอย่างไรกับโรงเรียนขนาดเล็กที่มีอย่างมากมายด้วยตัวเขาเอง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active