ตั้งเป้า ผู้นำอาเซียน ขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 1.3 ล้านไร่ ผอ.กรีนเนท เห็นต่าง โครงการข้าวอินทรีย์ล้มเหลว ทำเกษตรอินทรีย์ไทยถดถอย
รัฐ ชูความสำเร็จ “โครงการข้าวอินทรีย์”
วันนี้ (11 ก.ย. 2563) รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวานนี้ (10 ก.ย.) ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการทำเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มที่ เพราะจะเป็นประโยชน์กับตัวเกษตรกรและผู้บริโภคในประเทศ รวมถึงเป็นสินค้าเกษตรที่มีโอกาสเติบโตในตลาดโลกอย่างมาก ซึ่งมีมูลค่าสูงถึงแสนกว่าล้านเหรียญสหรัฐ อัตราเติบโตปีละ 20 เปอร์เซ็นต์ ตลาดที่สำคัญของโลกคือยุโรปและอเมริกาเหนือ และที่มีแนวโน้มสูงขึ้นมากคือ จีน ออสเตรเลีย และอาเซียน สำหรับในประเทศไทย มีมูลค่าตลาด 3,000 ล้านบาท และส่งออก 2,000 ล้านบาท
โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ แผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2560 – 2565 ด้วยการบูรณาการทำงานร่วมกัน 7 กระทรวง ประกอบไปด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม
มุ่งเป้าภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์ คือ 1) ส่งเสริมการวิจัย การสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ และนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ 2) พัฒนาการผลิตและบริการเกษตรอินทรีย์ และ 3) พัฒนาการตลาดสินค้าและบริการ และการรองรับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในระดับชุมชน ประเทศ และภูมิภาคอาเซียน ซึ่งขณะนี้กลุ่มประเทศอาเซียน ได้ตกลงที่จะจัดทำมาตรฐานกลางของอาเซียน หรือชื่อทางการว่า Mutual Recognition Arrangement for Organic Agriculture โดยในปีงบประมาณ 2564 จะมีโครงการรวมทั้งสิ้น 209 โครงการ งบประมาณรวม 1.9 พันล้านบาท
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ส่งเสริมการบริโภคเกษตรอินทรีย์ในกลุ่มโรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม และร้านอาหาร และสนับสนุนการปลูกในที่ดินเกษตรกร ที่ดินภายใต้การจัดสรรที่ดินแห่งชาติ และ ส.ป.ก. ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากคือโครงการข้าวอินทรีย์ ที่ขยายพื้นที่ได้ปีละประมาณ 3 แสนไร่ ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจจะได้รับการสนับสนุนในเรื่องการผลิต องค์ความรู้ และการตลาด โดยสามารถหาข้อมูลได้ที่เกษตรอำเภอใกล้บ้าน
โดยรัฐบาลเชิญชวนให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ เพราะนอกจากจะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพแล้ว ยังจะเป็นช่องทางการเพิ่มรายได้อย่างมาก โดยภาครัฐมีแผนให้การสนับสนุนสินค้าเกษตรอินทรีย์ ตั้งแต่ระดับต้นทาง เช่น การพัฒนาสารชีวภัณฑ์ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การเพิ่มห้องปฏิบัติการตรวจรับรองผลผลิตให้ได้ตามมาตรฐาน
ระดับกลางทาง เช่น การแปรรูปผลผลิต ปรับระบบโลจิสติกส์สินค้า และระดับปลายทาง เชื่อมโยงตลาดตามนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ส่งเสริมผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้มีการบริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เน้นการขายทางออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์มสากล และแพลตฟอร์มกลางให้ผู้ซื้อมั่นใจในมาตรฐาน การขายออฟไลน์ผ่านการจัดงานแสดงสินค้าระดับจังหวัด และเอ็กซ์โประดับภูมิภาคและระดับโลก รวมถึงการจับคู่ผู้ผลิตและผู้ซื้อ
ผอ.กรีนเนท เห็นต่าง โครงการข้าวอินทรีย์ล้มเหลว ทำเกษตรอินทรีย์ไทยถดถอย
ด้าน วิฑูรย์ ปัญญากุล ผู้อำนวยการสหกรณ์กรีนเนท ซึ่งติดตามแผนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์มาตั้งแต่ต้น เห็นว่า การดำเนินการตามแผนที่ผ่านมายังไม่ประสบความสำเร็จ ปัจจัยสำคัญมาจากปัญหาจากกลไกการทำงานของระบบราชการที่แยกส่วน ทำให้การขับเคลื่อนไม่เกิดผล แม้ในครั้งนี้ก็บอกว่าจะมีการบูรณาการหน่วยงาน 7 กระทรวง ซึ่งการทำงานแบบบูรณาการก็เป็นเรื่องที่พูดมานานแล้ว แต่ในแง่การทำงานจริงยังมีปัญหา และภาครัฐเองก็ไม่ยอมรับว่าเป็นปัญหา ทำให้ยังแก้ปัญหาไม่ได้
“การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ในช่วงที่ผ่านมา ที่ประสบความสำเร็จได้ก็มาจากภาคประชาชนและเอกชนช่วยกัน แต่ในแผนเกษตรอินทรีย์กลับให้ความสำคัญในส่วนนี้น้อยมาก พูดง่าย ๆ คือ ภาครัฐทำเอง เลยทำให้ไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ และคิดว่าในแผนนี้ก็ยังอยู่ภายใต้กรอบวิธีคิดแบบเดิม คือ รัฐเป็นคนทำ ซึ่งจริง ๆ ภาครัฐไม่ได้มีความพร้อมในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ที่เกี่ยวข้องกับหลายห่วงโซ่ ทั้งข้ามกระทรวงและยังเป็นการขับเคลื่อนในระยะยาว”
ซึ่งปัญหาที่เห็นได้ชัดเจน คือ โครงการข้าวล้านไร่หรือโครงการข้าวอินทรีย์ที่ประสบความล้มเหลวอย่างมาก แต่กลับไม่มีการพูดถึงอย่างจริงจังและไม่มีการวิเคราะห์บทเรียน และภาครัฐก็กลับยังชูความสำเร็จโครงการข้าวล้านไร่ แต่ในส่วนของภาคประชาชนมองว่าโครงการข้าวล้านไร่กลับทำให้เกษตรอินทรีย์ไทยถดถอยไปไม่น้อยกว่า 3 ปี โดยปัญหาหลักของโครงการนี้คือทำให้เกิดการแย่งชิงเกษตรกรที่เคยทำเกษตรอินทรีย์ร่วมกันกับภาคเอกชน แต่ตอนหลังก็ลาออกเพื่อไปขอรับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ และก็เกิดปัญหาขึ้น
“ข้าวที่ออกมาจากโครงการนี้มีปัญหาเรื่องการตลาด เพราะไปบังคับว่าต้องใช้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรฯ ทำให้ส่งออกไม่ได้ และส่งผลกระทบต่อปริมาณข้าวส่งออกโดยรวมไม่พอ ขณะที่ในประเทศมีข้าวอินทรีย์ตามมาตรฐานออร์แกนิคไทยแลนด์ของภาคเอกชน กลับมีมากล้นเกินตลาด ส่วนข้าวจากโครงการข้าวล้านไร่กลับขายไม่ได้ ในแง่การขยายพื้นที่อาจจะบอกได้ว่าสำเร็จ แต่ถ้าดูเกษตรอินทรีย์โดยรวมของประเทศกลับกลายเป็นถดถอยไปไม่น้อยกว่า 3 ปี”
นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจากโครงการข้าวอินทรีย์ กรมการข้าวเองก็ยอมรับว่ามีปัญหา แต่กระทรวงหรือคณะกรรมการเกษตรอินทรีย์แห่งชาติกลับไม่รู้ข้อมูล ก็ไม่รู้จะคุยกันยังไง สะท้อนปัญหาของการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของที่ไม่เอาความจริงมาคุยกัน ไม่พูดกันบนข้อมูล ฟังความแต่เฉพาะข้าราชการบางส่วนเท่านั้น
“ที่สำคัญกรมการข้าวต้องออกมาขอโทษ และสรุปบทเรียนว่าโครงการข้าวอินทรีย์มันล้มเหลวอย่างไร เพราะตอนที่ทำแผนยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ซึ่งได้รับอนุมัติประมาณเดือน มี.ค. 2560 แต่หลังจากแผนอนุมัติได้ 1 เดือน กรมการข้าว ซึ่งจริง ๆ ก็อยู่ในแผนด้วย ก็ประกาศทำโครงการข้าวล้านไร่ ขณะที่แผนยุทธศาสตร์ให้ทำเพิ่ม 4 – 5 แสนไร่ แต่กรมการข้าวจะทำเพิ่มเป็นล้านไร่โดยกรมเดียวโดยไม่ปรึกษาหารือ เท่ากับไม่เคารพคณะกรรมการเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ทำแผนตามใจตัวเอง และยังใช้งบประมาณมากกว่างบของแผนอีก”
ส่วนทิศทางการพัฒนาเกษตรอินทรีย์หลังจากนี้ควรเป็นอย่างไรนั้น นายวิฑูรย์เห็นว่า ยังมีอีกหลายกระบวนการที่ต้องปรับปรุงก่อน ที่สำคัญคือแนวคิดหลักที่ต้องเปลี่ยน คือต้องให้เอกชนเป็นฝ่ายทำ และรัฐเป็นฝ่ายสนับสนุน โดยเอกชนในที่นี้คือทั้งกลุ่มชาวบ้าน และภาคธุรกิจที่ทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ ต้องให้เขาเป็นคนกำหนดและขับเคลื่อนไม่ใช่ภาครัฐ