ฉุด! วงจรข้าวประเทศไทย ออกจากวังวนข้าวตกต่ำ ฉาย “ฉากทัศน์” ปรับนโยบายข้าวก่อนสาย

นักเศรษฐศาสตร์ ชี้ ยุคสมัยเปลี่ยน คนเริ่มให้ความสำคัญกับข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ข้าวคุณภาพ รสชาติอร่อย เน้นสะดวกมากขึ้น TDRI เปิด 4 ฉากทัศน์ข้าวไทย ย้ำ รัฐต้องมีผู้ร่วมสนับสนุนและนโยบายส่งเสริมอีกมาก เพื่อพ้นวังวนข้าวตกต่ำ

ในอดีต ประเทศไทยเคยเป็นแชมป์ส่งออกข้าวอันดับโลก แต่เวลานี้เปลี่ยนไปจากเดิม เพราะข้าวไทยเริ่มไร้อันดับ และที่ผ่านมา ประเทศไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในการส่งออกข้าว จากเดิม 10 ล้านตัน ลดลงเหลือเพียง 4-5 ล้านตันเท่านั้น ไม่เพียงเท่านี้ รายได้ของชาวนาเริ่มผันผวน จำนวนเกษตรกรลดลง แต่กลับมีหนี้สินเพิ่ม อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ยากจะควบคุม

รศ.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยหลังระดมสมอง เรื่อง
“ฉากทัศน์อุตสาหกรรมข้าวและชาวนาไทย: นโยบายและยุทธศาสตร์สู่อนาคตที่พึงประสงค์” ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา ว่านี่เป็นการรวมผู้เชี่ยวชาญและผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมข้าว ได้แก่ เกษตรกรผู้ปลูกข้าว โรงสี ผู้ค้าข้าวภายในประเทศ ผู้ส่งออก นักวิชาการ Startup นักวิทยาศาสตร์การเกษตรและเทคโนโลยี หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน ที่มีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับข้าวและชาวนา เพื่อนำเสนอภาพอนาคตอุตสาหกรรมข้าวและชาวนาไทย และร่วมกันออกแบบทางเลือกนโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อนำไปสู่ภาพอนาคตที่พึงประสงค์หรืออนาคตที่ต้องการ (preferable future)

ข้าว

รศ.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันการส่งออกข้าวจาก 10 ล้านตัน เหลือ 4-5 ล้านตัน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ รายได้ของชาวนาก็ผันผวนมาก เป็นปัญหาที่อยู่เฉยไม่ได้ อนาคตของชาวนาไทย รายเล็ก รายกลาง ควรเป็นเรื่องต้องคิดต่อ ซึ่งจากการทำวิจัยมาทุกปี ทำให้เห็นว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร และต้องหาทางสร้างนโยบายรองรับ ขณะเดียวกันเกษตรกรมีจำนวนลดลง คนหนุ่มสาวเปลี่ยนอาชีพ ส่งผลให้องค์ความรู้ลดลง ที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบมากกับปริมาณผลผลิตต่อไร่ของเกษตรกร ซึ่งมีผลกระทบรุนแรงมาก ไม่ว่าจะเป็นนอกเขตชลประทานหรือในเขตชลประทาน 4 ฉากทัศน์ จากบางส่วนของการวิจัยชี้ให้เห็นว่า ทิศทาง คือ ต้องมีผู้ร่วมสนับสนุน ส่วนภาครัฐจำเป็นต้องออกนโยบายมาหนุนเสริมอีกมาก

สำหรับฉากทัศน์แรก คือ ภาพอนาคตในอีก 5- 15 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นฉากทัศน์เหมือนปัจุบัน คือ เกษตรกรมือถือ คือ ทำงานบางเวลา ใช้มือถือจ้างคนทำนา อันนี้คือในปัจจุบัน ถ้ายังเป็นเช่นนี้ จะสูญเสียความสามารถไปหลายเรื่อง ซึ่งรุ่นหลังก็ไม่อยากทำต่อ

ส่วน ฉากทัศน์ที่สอง เกษตรกรที่ทำแบบดั้งเดิม บางครั้งจ้างคนทำ มีการรวมกลุ่มผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น เช่น กรณีภาคอีสาน ที่จังหวัดอุบลราชธานี มีกลุ่มเกษตรกรก้าวหน้า ปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ใช้วิธีผลิตแบบดั้งเดิม และขายได้ในราคาที่สูงมากกว่าท้องตลาด ร้อยละ 30%

“เราจะหากลุ่มแบบนี้ยากมากที่ประสบความสำเร็จ แต่กระบวนการคิด จะทำอย่างไรที่จะพัฒนาต่อ เพราะอนาคตฉากทัศน์ใหม่อาจมาจากเกษตรกรมืออาชีพเดิม หรือกลุ่มอาชีพใหม่มาเป็นเกษตรกร”

ฉากทัศน์ที่สาม สะท้อนถึงความหลากหลายต่อการทำเกษตรสมัยใหม่ ข้าวสุขภาพ ปลูกข้าวตลาด และ ฉากทัศน์สุดท้าย อาจหมายถึงตลาดเฉพาะกลุ่ม สินค้าส่งออก หรือภายในประเทศที่ต้องเจาะจง แต่ทั้งนี้ ยังอยู่ในกระบวนการค้นหาระดมสมองเพื่อหานโยบาย

“แต่เฉพาะ 4 ฉากทัศน์ที่เรามองเห็นจากผู้ให้คำตอบ คือไม่ได้อยู่ที่ฉากทัศน์ใด ฉากทัศน์หนึ่ง แต่มันคือสภาพพื้นที่และความสามารถของแต่ละคน แต่ละกลุ่ม เหมาะสมกับอะไร แล้วพัฒนาขีดความสามารถต่อไป แล้วจะทำอย่างไร ที่จะทำให้เกษตรกรอยู่ดีกินดี นโยบายของภาครัฐที่จะต้องเข้ามาเสริมตรงนี้ ควรทำอย่างไร”

สำหรับร่างฉากทัศน์ที่ได้จากการประชุมบางส่วน ที่คณะวิจัยจะปรับปรุงอีกครั้ง สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์TDRI หรือ หรือเว็บไซต์ KHONTHAI 4.0 แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0

เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และ ผอ.ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) หนึ่งในผู้ร่วมสัมมนา กล่าวว่า การใช้ฉากทัศน์ทำให้เห็นว่าถ้าไทยไม่ทำอะไร จะเข้าสู่สภาวะย่ำแย่ แต่การใช้ฉากทัศน์ ทำให้มีทางเลือกที่จะพัฒนา หรือทิศทางว่าจะขับเคลื่อนชาวนาไปสู่อะไรได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นฉากทัศน์ที่เน้นการแข่งขันมากขึ้น และประสิทธิภาพของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนต้องการเพิ่มมูลค่าจากตลาดระดับบน บางคนอยากปรับปรุงคุณภาพให้ผลผลิตมากขึ้นและต้นทุนถูกลงเพื่อแข่งขันในตลาดทั่วไป แต่บางคนก็อยากเน้นตลาดท้องถิ่น ที่อยากตอบโจทย์ในแง่ของคุณภาพความปลอดภัยและไม่ได้เน้นต่างประเทศ ดังนั้น เวลามอง 4 ฉากทัศน์ แล้วสะท้อนต่อเชิงนโยบาย ได้ว่า จุดนี้จะมีเกษตรกรค่อนข้างหลากหลายในบริบทของประเทศไทยที่ต้องพัฒนาให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่มีนโยบายเดียว แล้วใช้ทั้งประเทศ

สำหรับประเด็นหนี้สินเกษตรกร ที่ต้องปรับพร้อมฉากทัศน์ การปรับโครงสร้างหนี้ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่การปรับโครงสร้างหนี้ไม่ควรจะเป็นการลดหย่อนหนี้ แต่ต้องเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ให้เกษตรกรมีทางเลือกใหม่ในชีวิต ไม่ว่าจะเปลี่ยนเกษตรแบบเดิมไปเป็นอย่างอื่น หรือเปลื่ยนพื้นที่เกษตรกรให้เพิ่มมูลค่าทางการเงินมากขึ้น เช่น การใช้พื้นที่ปลูกต้นไม่มีมูลค่า หรือ เอาไปเป็นที่ตั้งของแผงโซลาเซลล์และขายไฟให้เข้ากับระบบไฟฟ้า เป็นต้น พร้อมย้ำว่า สิ่งเหล่านี้อาจเป็นทางเลือก เพียงแต่น่าจะมีทางเลือกอื่น เพื่อเปลี่ยนโครงสร้าง สร้างความสมดุลในภาคการเกษตร

“เรื่องทิศทางข้าวอนาคต ต้องมองถึงยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เพราะคนเริ่มให้ความสำคัญกับข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ข้าวคุณภาพ มีรสชาติอร่อย เน้นสะดวกมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นมุมมองต้องคิดต่อ เพราะการให้ทางเลือกหลากหลายและเน้นสร้างการปรับตัว รวมถึงการหนุนเสริมนโยบายของรัฐ คือจุดเปลี่ยนที่จะทำให้อนาคตข้าวดีขึ้น ไม่เช่นนั้น หากไม่เริ่มลงมือ อนาคตข้าวอาจสู้คู่แข่งไม่ได้”

ข้าว ชาวนา

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์