กรรมาธิการแก้จน-ลดเหลื่อมล้ำ ใช้นวัตกรรมหาน้ำให้เกษตกรช่วยหลุดพ้นความจน

ลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น ร่วมเครือข่ายเกษตรอินทรีย์และ ธกส.ดูแก้จนแบบไทยด้วยการหาแหล่งน้ำสร้างอาชีพเพื่อเกษตรกร ใช้การเจาะ บ่อบาดาลน้ำตื้นและโซล่าเซลล์ และการจัดทำฝายแกนซอยซิเมนต์มีประสิทธิภาพ เตรียมเดินหน้าต่อทั่วประเทศ

สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เปิดเผยว่า ช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานสมาพันธ์เครือข่ายเกษตรอินทรีย์และคณะ รวมถึง ธกส. ได้เดินทางไปที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อศึกษาดูงานที่ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยที่กรมชลประทาน ในการใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อเก็บกักรักษาแหล่งน้ำขนาดเล็ก คือฝายแกนดินซีเมนต์ เพื่อให้เข้าใจถึงแนวความคิดและหลักการทำงานของของฝาย แกนดิน ซีเมนต์ ว่า มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่แตกต่างจากฝายกั้นน้ำด้วยไม้ไผ่ เพราะคงทนแข็งแรงและใช้ได้นานหลายปี ก่อนเดินทางไปยังทุ่งชมพูโมเดล ที่เกษตรกรใช้การเจาะบ่อบาดาลน้ำตื้นและโซล่าเซลล์ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ ช่วยสร้างงาน และช่วยแก้ปัญหาความยากจนไปพร้อมกัน

โดยตัวแทนของ ธกส. ยืนยัน ว่าจะร่วมมือกับคณะกรรมาธิการแก้จนลดเหลื่อมล้ำเพราะเห็นว่าเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์แก่เกษตรกรจริง และยินดีให้มีการปรับโครงสร้างหนี้แก่ เกษตรกรที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือหนี้ที่คาดว่าจะเสียแล้ว (NPL) ของธกส. ที่จะหันมาทำการเกษตรแบบทุ่งชมพูโมเดล

ประธานกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ระบุว่า การแก้ปัญหาต้องเริ่มที่กลุ่มอาชีพที่ ใหญ่ที่สุดและยากจนที่สุด คือกลุ่มเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มเกษตรกรในภาคอีสาน ภาคเหนือและที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และให้น้ำหนักไปที่กลุ่มเกษตรกรที่อยู่นอกพื้นที่เขตชลประทานเป็นหลัก เพราะเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ทำเกษตรจากน้ำฝน ตามธรรมชาติเท่านั้น ซึ่งมีโอกาสทำงานได้เพียงปีละ 4 เดือน ส่วนเวลาที่เหลือต้องออกไปรับจ้างในเมือง ขณะเดียวกันต้องค้นหานวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่จะหาน้ำ และสร้างแหล่งเก็บน้ำขนาดเล็กให้แก่เกษตรกร ให้ได้ก่อน เป้าหมาย คือ การทำให้เกษตรกรมีน้ำใช้ได้ตลอดทั้งปี เพื่อให้พวกเขามีงานทำและมีรายได้ทุกวันหรือเกือบทุกวันตลอดปี

นอกจากนี้คณะกรรมาธิการ ยังพบว่าเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ชลประทาน และมีน้ำใช้ทำการเกษตร ตลอดปี ก็ยังมีหนี้สิน ซึ่งความยากจนนี้มาจากราคาปัจจัยการผลิตที่แพงขึ้นทุกปี และเห็นว่านอกจากจะต้องหาน้ำให้แก่เกษตรกรแล้ว ยังมีความจำเป็นต้องให้ความรู้แก่เกษตรกรในการเปลี่ยนแปลงแผนการผลิตอีกด้วย นั่นคือต้องส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตรผสมผสานที่เป็นอินทรีย์ ที่เก็บเอาไว้กินและขาย ตามความต้องการของตลาดได้เป็นเงินสดทุกๆวัน และ การนำปรัชญา และทฤษฎี การพัฒนาอย่างยังยืนที่ มาแก้ปัญหาความยากจน จำเป็นต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยในปัจจุบันด้วย

ด้วยเหตุผลดังกล่าว คณะกรรมาธิการ ได้ข้อยุติว่าควรน้อมนำเอาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการแก้จนของเกษตรกร เพราะปรัชญานี้แตกต่างจาก ปรัชญา ทั่วๆไปที่เพียงแต่อธิบายปรากฎการณ์ของเศรษฐกิจและสังคมเท่านั้น แต่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงยังเสนอทางออกด้วย

สำหรับรูปแบบของการ ทำฝายแกนซอยซีเมนต์ ซึ่งเป็นการบริหารจัดการแหล่งน้ำของชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล คือเป็นการใช้ดินใน ท้องถิ่นระหว่าง 10-20 ส่วนผสมกับปูน 1 ส่วน ในการสร้างฝายกักเก็บน้ำได้ทั้งในระดับลุ่มน้ำ แม่น้ำ ลำคลอง ห้วยหนอง คลองบึง เป็นการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับท้องถิ่น มีความประหยัด แข็งแรง ทนทาน ต้นทุนต่ำ ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1-15 วัน งบประมาณอยู่ระดับหมื่นบาทถึงแสนบาท ต่อฝายหนึ่งตัว มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงเพราะมีน้ำเต็มฝายให้เกษตรกรได้ใช้น้ำตลอดทั้งปี

รูปแบบที่สอง คือการเจาะบ่อบาดาลน้ำตื้นและใช้โซล่าเซลล์ ซึ่งเหมาะสมที่จะใช้มากที่สุดในพื้นที่ๆเกษตรกรไม่มีน้ำเพื่อทำการเกษตร หรือในที่ๆแห้งแล้งซ้ำซาก หรือเป็นที่ดอน หรือพื้นที่สูง

เทคโนโลยีแบบนี้ มีความเหมาะสมกับพื้นที่ในภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก หรือแม้กระทั่งในภาคใต้ที่ฝนตกชุก มันเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ง่าย ราคาประหยัดและเกษตรกรสามารถจัดการหรือซ่อมแซมอุปกรณ์ชิ้นส่วนต่างๆได้ด้วยตัวเอง

รูปแบบนี้ได้มีการ เริ่มต้นทำเป็น แปลงเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสานที่ทุ่งชมพู จังหวัดขอนแก่น มีเกษตรกรที่ได้เริ่มต้นทำการเกษตรแบบนี้แล้วเป็นจำนวนหลายร้อยครัวเรือน เกษตรกรสามารถขายผลผลิตของตนได้เป็นรายวัน ทุกครัวเรือนมีรายได้ที่ดีและสามารถพึ่งพิงตนเองได้ ชุมชนมีความสุขและมีความรักสามัคคีกันเป็นอย่างดี

“ผมคิดว่าการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองของแต่ละประเทศนั้น ล้วนแล้วแต่มีคุณลักษณะพิเศษเฉพาะ ของตัวเองทั้งสิ้น เราจึงไม่สามารถลอกเลียนแบบ บรรดาประเทศต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ แล้วมาใช้กับประเทศไทยแบบเถรตรงได้เช่นเดียวกับรูปแบบการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ของประเทศจีน เราก็ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้เช่นเดียวกัน แต่เราสามารถศึกษาและเรียนรู้ประสบการณ์ของประเทศจีนได้”

ถ้าอยากแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ให้ได้ผลจริง ต้องเริ่มต้นจากความเป็นจริงของสังคมไทย นั่นคือค้นหาความจริงเฉพาะหรือความจริงในพื้นที่หนึ่งๆจากความจริงทั่วไป

เพราะ สภาพความเป็นจริงของเมืองไทยในแต่ละภาคก็มีความแตกต่างกัน แม้แต่ในภาคเดียวกันสภาพความเป็นจริงระหว่างอีสานตอนบนกับอีสานตอนล่างก็มีความแตกต่างกัน ในจังหวัดเดียวกันแต่ต่างอำเภอและตำบลก็มีสภาพความเป็นจริงที่แตกต่างกันเช่นเดียวกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์