เปรียบเทียบ 3 ร่าง แก้รัฐธรรมนูญ

พรรคร่วมฝ่ายค้าน – ก้าวไกล ก้าวหน้า – ภาคประชาชน จุดร่วม ให้เลือกตั้ง ส.ส.ร. จุดต่าง ไม่แตะกลไกสืบทอดอำนาจ คสช.

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เปิดข้อมูลเปรียบเทียบข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญของพรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคก้าวไกล และประชาชน พบมีทั้งจุดร่วมและจุดต่าง โดยจุดร่วมสำคัญ คือ เสนอให้การแก้ไขมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยเพิ่มมาตราที่ว่าด้วยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง

ขณะที่จุดต่างสำคัญ คือ การจัดการกับกลไกในการสืบทอดอำนาจ เช่น สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากกระบวนการสรรหาและคัดเลือกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. และมีอำนาจในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี

พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดย ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้ง

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพรรคร่วมฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ได้วางหลักการใหญ่ในการแก้ไขไว้อย่างน้อย 2 ประเด็น คือ 1)ให้มีการแก้ไขมาตรา 256 ซึ่งเป็นมาตราที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการแก้รัฐธรรมนูญ และ 2) เพิ่มหมวดที่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาจากการเลือกตั้ง

ในประเด็นแรก การแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยกเลิกเงื่อนไขพิเศษตามรัฐธรรมนูญ เช่น การกำหนดว่าเสียงเห็นชอบของรัฐสภาต้องใช้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือการกำหนดให้ต้องมีการจัดทำประชามติในบางประเด็นที่มีการเสนอแก้รัฐธรรมนูญ และเสนอให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาศัยเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในสองสภา

ส่วนประเด็นที่สอง เรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอให้มี ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยใช้ระบบเลือกตั้งคล้ายกับการเลือกตั้ง ส.ว.ในปี 2543 กล่าวคือ ใช้ระบบเลือกตั้งแบบ “หนึ่งเขตหลายคน” กล่าวคือ ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งแล้วเอาจำนวนราษฎรมาคำนวณจำนวน ส.ส.ร. ในแต่ละจังหวัด โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะลงคะแนนเลือกผู้แทนได้คนเดียว แล้วเอาผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับจำนวน ส.ส.ร. ที่มีในเขตนั้น

“ก้าวหน้า-ก้าวไกล” เสนอ ปิดสวิตช์ ส.ว.-ล้างมรดกบาป คสช.

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกล นำโดย ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า มีข้อเสนอหลัก 3 ส่วน ได้แก่

  1. ยกเลิกวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาล 250 คน เช่น อำนาจในการเห็นชอบนายกฯ อำนาจในการแทรกแซงสภาผู้แทนฯ ในการตรากฎหมาย
  2. ยกเลิกการรับรองให้ประกาศ คำสั่ง คสช. และการกระทำที่เกี่ยวเนื่องชอบด้วยรัฐธรรมนูญตลอดกาล ซึ่งส่งผลต่อการตรวจสอบการใช้อำนาจคณะรัฐประหารได้รับการยกเว้น
  3. ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อเปลี่ยนวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับไปเป็นเสียงกึ่งหนึ่งของสองสภา และกำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพื่อมาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

ภาคประชาชนเสนอรื้อกลไกสืบทอดอำนาจ-สร้างช่องทางร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่นำเสนอโดย iLaw และเครือข่ายภาคประชาชนหลายองค์กร เสนอให้ต้องยกเลิกอย่างน้อย 5 ประเด็น และมีประเด็นที่ต้องแก้ไขอย่างน้อย 5 ประเด็น

ประเด็นที่เสนอให้ยกเลิก ได้แก่ การยกเลิกช่องทางในการได้มาซึ่ง “นายกฯ คนนอก” หรือ นายกฯ ที่ขาดความยึดโยงกับพรรคการเมืองและรัฐสภา, การยกเลิกบรรดากลไกของแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศที่ใช้ควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง, การยกเลิกที่มาของผู้บริหารท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง รวมไปถึงให้ยกเลิกการรับรองอำนาจและการละเว้นความรับผิดของ คสช.

ส่วนประเด็นที่มีการเสนอให้แก้ไข คือ การเปลี่ยนเรื่องที่มาของนายกฯ ว่าต้องเป็น ส.ส. เท่านั้น, เปลี่ยนที่มา ส.ว.จาก คสช. เป็น ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน, “รีเซ็ต” องค์กรอิสระเพื่อให้มีการสรรหาใหม่, เปลี่ยนวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้นโดยอาศัยเพียงเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสองสภาร่วมกัน

นอกจากนี้ ในส่วนของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เสนอให้มี ส.ส.ร. 200 คน มาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน กล่าวคือ ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะสมัครแบบคนเดียวหรือแบบกลุ่มก็ได้ แต่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกได้เพียงกลุ่มเดียวเบอร์เดียว จากนั้นเอาคะแนนที่ประชาชนเลือกมาคำนวณที่นั่ง ส.ส.ร. ซึ่งระบบดังกล่าวจะคล้ายกับการเลือกตั้งแบบระบบบัญชีรายชื่อ หรือ ปาร์ตี้ลิสต์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active