นักวิชาการ-ภาค ปชช. พร้อมลงสู้ศึกเลือก สว.-หวั่นนักการเมืองเข้ามาเอี่ยว

ว่าที่ผู้สมัคร สว. ตั้งเป้าทำหน้าที่เพื่อประชาชน แม้รับสภาพกระบวนการเลือกซับซ้อน ไม่สมเหตุสมผล ขณะที่ ‘เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ’ ชี้อนาคตประเทศ ผ่าด่าน 5 คูหา

วันนี้ (17 มี.ค.67) ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) จัดกิจกรรม ชวนประชาชนทำความเข้าใจเส้นทางการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ “ผ่าน 5 คูหา ที่จะชี้ชะตาอนาคตประชาธิปไตยไทย”

ณัชปกร นามเมือง เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ

ณัชปกร นามเมือง เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ เปิดกิจกรรมโดยการอธิบาย ทำความเข้าใจเส้นทางการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปัญหาที่ผ่านมาของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 โดยมองว่า ยังเป็นความหวังที่เลือนลางในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แม้อยู่ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ก็ตาม จึงอยากให้ประชาชนทำความเข้าใจ 5 คูหา ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่ ได้แก่

  • คูหาที่ 1 ประชามติครั้งที่ศูนย์

  • คูหาที่ 2 การเลือกตั้ง สว.ชุดใหม่

  • คูหาที่ 3 ประชามติครั้งที่หนึ่ง

  • คูหาที่ 4 การเลือกตั้ง สสร.

  • คูหาที่ 5 ประชามติครั้งที่สอง

“จากการทำงานเรื่องรัฐธรรมนูญมา เข้าใจว่าการที่จะผ่านทั้ง 5 คูหาไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ยังมีความหวัง เพราะปฏิหาริย์ขึ้นอยู่กับประชาชน จึงอยากฝากให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่”

ณัชปกร นามเมือง
ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ อธิบายในหัวข้อ “ประชามติครั้งที่ศูนย์ เดิมพันสูงการเมืองไทย” โดยชวนย้อนกลับไปดูจุดยืนของพรรคเพื่อไทย เนื่องจากเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้น จุดยืนของพรรคก็จะสะท้อนถึงการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งพรรคเพื่อไทยเคยบอกไว้ว่าจะต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยมี สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่แล้วก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลจาก 8 พรรคการเมืองที่เซ็น MOU ร่วมกันได้

แล้วพรรคเพื่อไทยไปจับมือกลับขั้วรัฐบาลเดิม ซึ่งไม่มีทางที่จะแตะการแก้หมวด 1 หมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ภาคประชาชนจึงทำแคมเปญเดินหน้าล่ารายชื่อ โดย ‘Con for All’ รวบรวมรายชื่อประชาชนและเสนอคำถามเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งก็ยังไม่มีการตอบรับ

ตอนนี้ ครม. มีชุดคำถาม 2 ชุด แล้ว คือชุดภาคประชาชน และคณะกรรมการฯ ซึ่งก็รอให้ทางนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ดำเนินการ

“พ.ร.บ.ประชามติ ที่ใช้อยู่นั้นซับซ้อนมากเกินไป และจะมีการยื่นแก้ไข หากการแก้รัฐธรรมนูญนี้ยื่นแก้ในสภา เราก็ไม่ต้องมีการเลือกตั้งประชามติครั้งที่ศูนย์ และเป็นช่วงเฝ้าระวัง ว่ารัฐบาลจะทำอย่างไร จะทำตามเสียงประชาชนหรือไม่ แต่หากการเลือกตั้งประชามติเกิดขึ้น ต้องดูว่าคำถามจะเป็นแบบใด หากเป็นคำถามที่ล็อกหมวด 1 หมวด 2 เช่น ท่านเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญที่มีหมวด 1 หมวด 2 หรือไม่ ก็ทำให้เกิดความซับซ้อนว่าจะเลือกอย่างไร หากประชาชนที่ไม่เห็นด้วยในหมวดนี้ สร้างความสับสน และอาจสร้างความขัดแย้งให้กับประชาชน ดังนั้น คำถามของประชามติต้องไม่ซับซ้อน เช่น ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่จะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ”

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล

ภัสราวลี บอกด้วยว่า ประชาชนต้องคอยส่งเสียงอยู่ตลอดเวลา และต้องจับตาดูว่าทางรัฐบาลจะอยากแก้การทำประชามติและร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ เพราะเป็นหนึ่งในนโยบายที่ใช้หาเสียง ประชาชนต้องช่วยกันส่งเสียงยืนยันในเรื่องนี้

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก iLaw

ส่วนในหัวข้อ “#SenateforAll สว. ใหม่อนาคตใหม่ เพื่อไทยทุกคน” โดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก iLaw อธิบายถึงระบบใหม่ สว. ที่มาจากขั้นตอนการสมัครเข้ามาแบบแบ่งกลุ่มอาชีพ ซึ่งเป็น ระบบการเลือกกันเองระหว่างผู้สมัคร จากระดับอำเภอ และจังหวัด เอื้อสำหรับคนที่มีเครือข่าย และมีอิทธิพลอยู่ในพื้นที่ มีระบบการคัดเลือกหลายรอบและค่าธรรมเนียม 2,500 บาท เป็นข้อจำกัดสำหรับคนที่ทำงานหาเช้ากินค่ำและไม่มีเงินทอง

โดยมีวิธีการเลือก 3 ระดับ คือ จากระดับอำเภอ กลุ่มอาชีพเดียวกันเลือกกันเองในกลุ่มผู้สมัคร ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเบื้องต้น จะมาสู่การเลือกแบบไขว้ โดยผู้ที่ได้รับเลือกของกลุ่มอาชีพนั้น ๆ จะต้องเลือกผู้ที่ได้รับเลือกจากกลุ่มอื่น ๆ และผู้ที่จะได้รับเลือกจากการเลือกไขว้นี้จะได้ไปต่อในการเลือกระดับจังหวัด หากได้รับเลือกอีก ก็จะได้ไปต่อในระดับประเทศ

โดยไทม์ไลน์ การเลือกตั้ง สว. จะเริ่มในวันที่ 11 พ.ค. ถึง 14 ก.ค. ดังนี้

  • 11 พ.ค. 67 สว. ชุดเดิมที่มาจากการแต่งตั้งจะสิ้นสุดหน้าที่

  • 12 พ.ค.67  ออกพระราชกฤษฎีกาให้เลือก สว. ชุดใหม่ 

  • 27 พ.ค. – 2 มิ.ย. 67 เปิดรับสมัครผู้ที่มีความประสงค์จะเป็น สว.

  • 22 มิ.ย.67 เลือกตัวแทนผู้สมัครในระดับอำเภอ

  • 7 วันหลังจากนั้น เลือกตัวแทนผู้สมัครในระดับจังหวัด

  • 10 วันหลังจากนั้น เลือกตัวแทนผู้สมัครระดับประเทศ

  • 14 ก.ค. 67 ประกาศผลผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็น สว. ชุดใหม่

ยิ่งชีพ บอกอีกว่า อยากให้คนที่มีใจเป็นธรรมที่เดินไปสมัคร สว. เพื่อทำหน้าที่แทนประชาชนที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี และเลือกคนที่คิดว่าเป็นตัวแทนที่ดีของประชาชน จากที่มาของคนที่หลากหลาย

“กระบวนการ สว. 67 ไม่ใช่การเลือกตั้งแต่เราทำให้ คล้าย มากที่สุดได้ ถ้าประชาชน สมัครเพื่อโหวต กันมาก ๆ”

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

ในช่วงสุดท้ายเป็นการเสวนาหัวข้อ “Senate for Change สว. เพื่อการเปลี่ยนแปลง” โดยผู้ที่มีความตั้งใจจะลงสมัคร สว. ร่วมกันหาลือหนทางนำไปสู่การให้ได้มาซึ่ง สว. ที่จะเป็นความหวังของประชาชน

พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มองว่า กติกาการเลือก สว. ในครั้งนี้ไม่ค่อยสมเหตุสมผล และมีความซับซ้อนมากเกินไป เพราะในต่างประเทศไม่มีวิธีการแบบนี้ การเลือกไขว้ทำให้การแนะนำตัวของผู้สมัครนั้นไม่ทั่วถึง และแม้ในรัฐธรรมนูญจะห้ามไม่ให้พรรคการเมืองเข้ามายุ่ง แต่ส่วนตัวคิดว่ายังคงเป็นข้อกังวลว่าจะวนในลูปของพรรคการเมือง

พนัส บอกอีกว่า อยากจะทำหน้าที่ สว. เพื่อจะรื้อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ในฐานะนักกฎหมายก็อยากมีโอกาสทำสิ่งนี้ให้กับบ้านเมือง เพื่อแก้รัฐธรรมนูญให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน

สุพีชา เบาทิพย์ จากกลุ่มทำทาง มองว่า สว. ชุดที่ผ่านมาไม่ได้มาจากประชาชน จึงคิดว่าจริง ๆ ไม่ควรมี สว. แล้ว แต่หากต้องมี สว. ก็อยากจะเข้ามาทำงานตรงนี้ด้วยตัวเอง และการเลือก สว.ครั้งนี้ยังมีข้อดีตรงที่เปิดทางให้ประชาชนเข้ามาทำหน้าที่ได้

“อยากจะบอกว่า มนุษย์ทุกคน มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มคนที่เคยทำแท้ง กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือกลุ่มผู้ติดเชื้อ HIV อยากให้มองทุกคนเท่ากัน อยากให้เกิดขึ้นในการเลือก สว. ครั้งนี้ และพร้อมที่จะสู้เพื่อทำงานเป็น สว. ไม่ว่าจะต้องผ่าน 5 หรือ 10 คูหาก็จะสู้”

สุพีชา เบาทิพย์

ขณะที่ อรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์ ผู้จัดการศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการพุทธมณฑล บอกว่า โอกาสการเลือก สว. ในเดือนพฤษภาคนี้ เป็นหมุดหมายในฝันได้ หลังจากมี สว.ที่มาจากการแต่งตั้ง จึงทำให้เป็นการจุดประกายที่ทำให้ตนอยากทำงานในจุดนี้ 

“ข้อกังวลคือมีเวลาน้อยมากในการสมัครคัดเลือก สว. จึงทำให้มีการศึกษาข้อมูลของผู้สมัครได้น้อย นอกจากนั้นยังกังวลเกี่ยวกับการที่มัดรวมกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ และกลุ่มชาติพันธุ์อยู่ในกลุ่มเดียวกัน เกรงว่าการทำงานของ กกต.แต่ละเขตจะครอบคลุมมากแค่ไหน”

อรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์

อรรถพล บอกด้วยว่า ถ้ามี สว.ที่ยึดโยงกับประชาชนได้ และได้เข้าไปเป็น สว. จริง ๆ ก็จะเป็นอีกหนึ่งคนที่ยกมือให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมี สสร.ที่มาจากการเลือกตั้ง พร้อมทั้งอยากเป็นตัวแทนในการตรวจสอบการทำงานของสภาฯ ส่วนเรื่องสิทธิของผู้พิการในทุกวันนี้ที่ลดลงเรื่อย ๆ จึงอยากจะผลักดันเรื่องนี้ และอยากพาตัวเองลงไปทำงานในส่วนนี้

เช่นเดียวกับ ปุรวิชญ์ วัฒนสุข คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้ที่ศึกษาระบบของ สว. พูดถึง ปัญหาของระบบการเลือก สว. ของไทย ว่า ฐานคิดของคนร่างรัฐธรรมนูญ คือ การได้ความคิดจากคนที่หลากหลาย แต่ปัญหาคือยุ่งยากและซับซ้อน และปัญหาสำคัญของระบบนี้คือ คนที่สมัครเลือกตั้ง ต้องเป็นผู้ร่วมโหวตด้วย คำถามคือ ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นความหลากหลายทางความคิดจริง ๆ หรือไม่ แล้วจะกล่าวอ้างได้อย่างไร ว่าเป็นตัวแทนจากกลุ่มอาชีพใด

“ในเมื่อผู้สมัครและผู้เลือกเป็นคนเดียวกัน แล้วสรุปผู้สมัครจะเป็นตัวแทนของใคร ? ดังนั้น การเลือกตั้งที่ดี คือ การเลือกตั้งที่เข้าใจง่าย”

ปุรวิชญ์ วัฒนสุข

พนัส ได้กล่าวสรุปในวงเสวนาว่า สิ่งสำคัญคือการรับรู้ของประชาชน ต้องช่วยกันรณรงค์เยอะ ๆ ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ที่ไม่ชอบมาพากล ในการเลือก สว. ครั้งนี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active