TIME ยก ทนายอานนท์ 1 ในผู้ทรงอิทธิพลโลก

นำคนรุ่นใหม่ไทย สู้อำนาจการเมือง ศาลยังไม่ให้ประกันตัว หลังทนายยื่นเป็นครั้งที่ 2

เว็บไซต์นิตยสาร TIME (17 ก.พ. 2564) เปิดรายชื่อ อานนท์ นำภา หรือ ทนายอานนท์ เป็น 1 ในผู้ทรงอิทธิพลโลกด้านผู้นำคนรุ่นใหม่ ในการจัดอันดับ TIME 100 NEXT ประจำปี 2564 โดย ชาร์ลี แคมป์เบลล์ นักเขียนของไทม์ ระบุเหตุผลว่า แม้อานนท์จะมีท่าทางที่อ่อนน้อมถ่อมตน และเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนอย่างมากจากการแต่งตัวเป็นตัวละครเอกในนวนิยายชุดชื่อดัง ‘แฮร์รี พอตเตอร์’ ในกิจกรรม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย’ เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2563 แต่อีกมุมหนึ่ง อานนท์คือทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่สร้างแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองให้กับประเทศไทย

“อานนท์ สร้างพลังให้คนรุ่นใหม่ด้วยการปลดเปลื้องพันธะและอำนาจทางการเมืองจากสถาบันกษัตริย์ซึ่งอยู่คู่กับสังคมและการเมืองไทยเป็นเวลานาน รวมถึงชำแหละรัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐบาลทหาร ซึ่งเป็นเหตุให้เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมถึง 3 ครั้งเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาในข้อหายุยงปลุกปั่น”

ชาร์ลี ระบุด้วยว่า แม้ว่าประเทศไทยจะเผชิญกับโรคระบาดโควิด-19 เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ แต่คนรุ่นใหม่ในไทยยังเดินหน้าต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยอย่างไม่หยุดยั้ง จนเกิดการประท้วงครั้งใหญ่หลายครั้ง นับตั้งแต่มีการรัฐประหารใน พ.ศ.2557 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายคนระบุว่าการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่สร้างความกดดันให้รัฐบาลทหาร

ขณะที่ เว็บไซต์ของ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) ได้เผยแพร่ (17 ก.พ.2564) จดหมายเปิดผนึกที่ส่งถึง ว่าที่ร้อยตรี ดร.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความ กรณีการตั้งเรื่องสอบมารยาททนายความของนายอานนท์ นำภา เหตุจากการปราศรัยเสนอข้อเรียกร้องเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยเรียกร้องให้สภาทนายความทำการยกเลิกข้อกล่าวหาต่ออานนท์

โดยจดหมายฉบับดังกล่าวลงวันที่ 1 ก.พ.2564 ลงนามโดย Sophie de Graaf ผู้อำนวยการบริหารของ Lawyers for Lawyers ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานส่งเสริมด้านนิติธรรมและสนับสนุนให้วิชาชีพนักกฎหมายมีเสรีภาพและเป็นอิสระ และ Ian Seiderman ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและนโยบายของคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ซึ่งองค์กรระหว่างประเทศที่เป็นการรวมตัวของนักกฎหมายเพื่อส่งเสริมหลักนิติธรรมและการใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั่วโลก

ทั้งสององค์กรเห็นว่า การดำเนินคดีมรรยาททนายความดังกล่าว จะส่งผลเป็นการแทรกแซงการทำงานของ อานนท์ นำภา ในฐานะทนายความอย่างไม่เหมาะสม และตามกฎหมายรวมถึงมาตรฐานระหว่างประเทศ ทนายความก็เหมือนกับบุคคลทั่วไปที่ทรงสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในความเชื่อ เสรีภาพในการรวมตัว และเสรีภาพในการชุมนุม

ทนายความควรที่จะสามารถกล่าวกับสาธารณชนเกี่ยวกับกิจการสาธารณะต่างๆ ได้ไม่ว่าจะในฐานะทนายความหรือในฐานะส่วนตัว การระงับหรือการเพิกถอนใบอนุญาตทนายความอันเนื่องมาจากการใช้สิทธิและเสรีภาพโดยชอบนั้น ไม่เพียงแต่จะกระทบต่อการใช้สิทธิของทนายความผู้นั้นเท่านั้น หากแต่ยังกระทบถึงสิทธิของลูกความในการมีทนายความที่ตนเลือกมาว่าความในคดีให้

ส่วนความคืบหน้าการขอประกันตัว 4 แกนนำราษฎร ล่าสุด (17 ก.พ. 2564) ศาลอาญายังมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเป็นครั้งที่ 2 หลังจากทนายความพร้อมกับนายประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์ ได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว การยื่นครั้งนี้ได้เพิ่มหลักทรัพย์เป็นคนละ 300,000 บาท พร้อมกับใช้ตำแหน่งอาจารย์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นนายประกันในคดีชุมนุม Mob Fest ของพริษฐ์ ชิวารักษ์

โดยศาลชี้ว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวจำเลยทั้ง 4 มาก่อนแล้ว คดียังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงให้ยกคำร้อง ส่งผลให้ทั้ง พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม และสมยศ พฤกษาเกษมสุข  ยังคงถูกจองจำที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ถึงวันนี้ (18 ก.พ.) เป็นวันที่ 10 แล้ว และการคุมขังในครั้งนี้เป็นการขังระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาล ซึ่งไม่มีกำหนดระยะเวลา หากศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างพิจารณา ทั้ง 4 คน จะถูกคุมขังจนกว่าจะมีคำพิพากษา

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว