วิปรัฐบาล ยื่นตีความ พ.ร.ก. เลื่อนใช้กฎหมายซ้อมทรมาน – อุ้มหาย

ที่ประชุมสภาฯ ชะลอการพิจารณากฎหมายอุ้มหาย จนกว่าศาลรัฐธรรมนูจะมีคำวินิจฉัย ขณะที่บรรยากาศการประชุม ‘สมศักดิ์’ ย้ำ ตำรวจไม่พร้อมงบประมาณ อุปกรณ์ เกรงผลร้ายที่จะตามมาหลังบังคับใช้ ‘ฝ่ายค้าน’ ยัน ไม่เห็นด้วย เหตุขัด รธน. ม.172

วันนี้ (28 ก.พ. 66) เวลาประมาณ 10.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 5 ครั้งที่ 31 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) ซึ่งเป็นการประชุมในกรณีพิเศษ และถือเป็นวันประชุมครั้งสุดท้ายของสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน ก่อนหมดวาระ และเตรียมเข้าสู่การเลือกตั้งในอนาคต โดยในวันนี้มีการประชุมพิจารณา เรื่องด่วน พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.๒๕๖๕ พ.ศ. ๒๕๖๖ หลังสมาชิกครบองค์ประชุม ได้มีการเริ่มเสนอกฎหมายโดย สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แจ้งถึงข้อจำกัดในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ใน 4 มาตราหลัก คือ มาตรา 22 – 25 ประกอบเหตุผลสามประการ ได้แก่

  • ความไม่พร้อมเรื่องงบประมาณในการจัดซื้อกล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวให้กำลังพลเพื่อใช้ปฏิบัติงาน
  • การเตรียมความพร้อมของบุคลากรซึ่งยังขาดความรู้และทักษะในการปฏิบัติงานให้สอดคล้องตาม พ.ร.บ.
  • ความไม่ชัดเจน หรือคลุมเครือในบทบัญญัติของกฎหมาย และยังไม่มีระเบียบหรือแนวทางการปฏิบัติอันเป็น มาตรฐานกลาง

“มีความจำเป็นต้องเลื่อนการบังคับใช้ 4 มาตราดังกล่าวออกไปประมาณ 7 เดือน ให้หน่วยงานต่างๆ ได้เตรียมความพร้อม สำหรับฐานความผิด และบทลงโทษฐานการกระทำทรมาน การบังคับบุคลลสูญหาย และการย่ำยศึกดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ยังคงอยู่
และยังมีผลใช้บังคับใช้อย่างเต็มที่…”

สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า การบังคับใช้กฎหมายในมาตราดังกล่าวออกไปนั้น เกรงจะเกิดผลร้ายตามมาหากปล่อยให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการด้วยความไม่พร้อม จะส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง กระทบต่อความปลอดภัยต่อสาธารณะ ส่วนในกรณีที่มีเจ้าหน้าที่กระทำผิดตาม พ.ร.บ. นี้ ก็จะถูกดำเนินคดี และลงโทษตามกฎหมายมิได้เป็นการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่กระทำความผิด และงดเว้นการลงโทษผู้กระทำความผิดแต่อย่างใด และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกำลังเตรียมความพร้อมปฏิบัติงาน ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนสูงสุด จึงได้มีการเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจาณา พ.ร.ก. ฉบับนี้

‘ชลน่าน’ มองยื่นกฎหมายปลายสมัยสภาฯ มีเจตนาแอบแฝง ย้ำฝ่ายค้านจุดยืนคว่ำ พ.ร.ก.

ชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายถึงเหตุผลที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่อ้างถึงความไม่พร้อมของเครื่องมือ และอุปกรณ์ โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมตัว ยังมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ และอุปกรณ์ที่ในปฏิบัติตามกฎหมายนี้ โดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่าที่เขียนกฎหมายออกมาบังคับใช้นั้น เขียนลึกลงไปถึงขั้นให้ใช้ในทุกคดีต้องมีหลักฐานการบันทึกภาพ และเสียงอย่างต่อเนื่องประมาณ 1.7 แสนตัว กล้องติดตามรถ 3 พันกว่าตัว รวมเม็ดเงินประมาณ 3 พันกว่าล้านบาท และไม่มีการตั้งงบประมาณรองรับเอาไว้ในปี แต่เมื่อดูเวลาการพิจาณากฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่วันที่ ครม. อนุมัติ เมื่อ มิ.ย. 65 สังคมจึงตั้งคำถามว่าไม่มีการเตรียมความพร้อมเลยหรือ

“ท่านบอกว่าถ้ามาบังคับขณะที่ไม่พร้อม การรวบรวมพยานหลักฐานจะไม่สมบูรณ์ จะส่งผลเสียหายต่อผู้ถูกจับกุมคุมขัง และท่านห่วงภาระหน้าที่ของตำรวจ เพราะ เสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีทั้งทางแพ่ง อาญา และทางวินัย กรณีมีการร้องว่าเจ้าหน้าที่กระทำมิชอบ นี่คือเหตุผลที่ท่านมาอ้างกับสภา แล้วบอกว่าเป็นความปลอดภัยสาธารณะ สร้างความเสียหายต่อสังคมอย่างใหญ่หลวง แบบนี้มันเพื่อประโยชน์ของใคร…”

ชลน่าน กล่าวถึงการเสนอ พ.ร.ก. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 โดยอ้างถึงความปลอดภัยของสาธารณะ ตนมองว่ากรณีนี้ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ในการป้องกันความมั่นคง ความปลอดภัยสาธารณะ กรณีการตรา พรก ต้องเห็นว่ามีความจำเป็น เร่งด่วน ฉุกเฉิน แต่คำถาม คือ หากบังคับใช้ในวันนี้ฉุกเฉินอย่างไร จะสร้างความเสียหายทันทีเลยหรือ แม้แต่การยื่น พรก ของรัฐบาลยังเสนอเวลา 16.04 น. ของวันที่ 23 ก.พ. จนต้องเข้ามาประชุมกันอีกในวันนี้ นี่คือสถานการณ์ที่จำเป็น “ทันที” ของท่านหรือ แม้แต่เจตนาในการยื่น พ.ร.ก. เข้ามา ยังอดคิดไม่ได้ว่าท่านมีเจตนาแอบแฝงอะไรหรือไม่ วิธีคิดแบบนี้ทำให้อดสงสัยไม่ได้

“เหตุผลที่ท่านอ้างความปลอดภัยสาธารณะ ผลกระทบต่อประชาชนโดยรวม คิดมุมกลับว่าถ้าเราไม่มีเครื่องมือเหล่านี้ จะเป็นผลกระทบต่อสังคมมากน้อยต่างกันอย่างไร ลองชั่งน้ำหนักดู ประชาชนหลายสิบล้านคน กับเจ้าหน้าที่ตำรวจหนึ่งล้าน อะไรสำคัญกว่ากัน ถ้ายิ่งขยายออกไปการคุ้มครองสิทธิของประชาชนก็ยิ่งถูกเลื่อนออกไปด้วย…”

ชลน่าน อภิปรายทิ้งท้ายว่า พรรคร่วมฝ่ายค้าน ยืนยันชัดเจนว่า ไม่สนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ และแนวโน้มจะไม่อนุมัติแน่นอน แต่ถ้ามีการพลิกเกมว่าจะอนุมัติ พ.ร.ก. นี้ ตนและพรรคร่วมฝ่ายค้านต้องยับยั้งกฎหมายฉบับนี้ด้วยช่องทางตุลาการ ยอมแลกด้วยการยับยั้งผ่านศาลรัฐธรรมนูญ อย่างน้อยมีเวลา 2 เดือน เพราะเมื่อยื่นให้ศาลพิจารณาแล้ว จะมีเวลาวินิจฉัย 60 วัน โดยขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรค 1

ผบ.ตร. แจงเหตุไม่พร้อม เผยคุยกับหน่วยปฏิบัติ ไม่มีใครพร้อม

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เดินทางมายังรัฐสภา เพื่อชี้แจงการเสนอ พ.ร.ก. ฉบับนี้ โดยชี้แจงว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้มีการสำรวจอุปกรณ์ในการทำงานแล้ว ทำให้ทราบว่า แม้จะได้มีการซื้อกล้องบันทึกภาพและเสียงตั้งแต่ปี 2562 จำนวนประมาณแสนกว่าตัว แต่ยังไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ และพบปัญหา ขั้นตอนในการปฏิบัติหลายประการ สตช. จึงได้มีการส่งหนังสือให้กับ ผอ.สำนักงบประมาณ เพื่อขอสนับสนุนงบกลางฯ ในเดือน ก.พ. 2566 และ ครม. ได้มีการอนุมัติงบประมาณมาแล้ว ประมาณ 400 ล้านบาท เพื่อนำมาจัดหาอุปกรณ์ นอกจากนั้นยังแจ้งต่อกระทรวงยุติธรรม ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และจะเสียหายร้ายแรงต่อความปลอดภัยสาธารณะ

“ในกรณีที่มีสมาชิกหลายท่านอภิปรายว่า ได้มีตัวแทนของ สตช. มาชี้แจง และยืนยันว่ามีความพร้อมนั้น เป็นเรื่องจริง แต่เมื่อเราได้ตรวจสอบภายหลัง ก่อนทำหนังสือแล้วพบปัญหาเพิ่มเติมในช่วงเวลาดังกล่าวหลังชี้แจง อีกทั้งยังทราบจากการประชุม หารือ จากหน่วยงานต่างๆ พบว่ายังไม่พร้อมดำเนินการตามกฎหมายฉบับนี้…”

ผบ.ตร. กล่าวต่อว่า จากการคุยกันภายในของหน่วยงานขับเคลื่อนตามกฎหมายฉบับนี้ “เกือบทุกหน่วยงาน” ในภาคปฏิบัติ “ยังมีปัญหา” โดยเฉพาะอุปกรณ์บันทึกภาพและเสียง การจัดเก็บข้อมูล การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน หรือการจับกุมกรณีต้องขยายผล อย่าง คดียาเสพติด การเดินทางข้ามจังหวัดระยะทางไกล หรือการจับกุมผ่านเครื่องบินพาณิชย์ ตลอดจนการสนธิกำลังจับกุม เป็นต้น ยังคงมีคำถามว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ หน่วยงานจะต้องดำเนินการอย่างไร และจะถูกต้องตามกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ กรณีเหตุสุดวิสัยที่กำหนดในกฎหมาย มีขอบเขตอย่างไร

“หรือแม้กระทั่งปัจจุบัน กรณีระเบียบกลางที่จะต้องออกมาเป็นแนวทางยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากมีการโต้แย้งกันหลายมาตรฐาน ของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งอาจส่งผลต่อความศรัทธา และเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมเพิ่มขึ้นอีก ปัญหาที่ยกตัวอย่างมานั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น และหลายหน่วยงานยังไม่เคยมีการซักซ้อม จับกุม รับแจ้ง ระหว่างกันเลย แม้บางหน่วยงานจะมีหนังสือยืนยันว่าพร้อม แต่เราคุยกับผู้ปฏิบัติด้วยกันเอง ยืนยันว่าไม่พร้อม…”

สิ่งที่เป็นข้อจำกัดอีกประการ คือ ระบบการจัดเก็บข้อมูลบันทึกภาพและเสียง จะถูกจัดเก็บอย่างไร ผบ.ตร. กล่าวว่า ตำรวจนั้นทำงานทุกวัน 24 ชั่วโมง ต้องบันทึกภาพครั้งละหลายชั่วโมง การจัดเก็บต้องเตรียมความพร้อมว่าจะจัดเก็บไว้ที่ใด ซึ่ง สตช. ได้มีการแก้ไข และของบประมาณ รวมถึงอุปกรณ์ไว้แล้ว โดยจะเก็บไว้ใน “External Harddisk” งบประมาณ 60 ล้านบาท โดย สตช. เป็นหน่วยงานหลักในการจับกุม และควบคุม จะมีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการไม่น้อยกว่า 1.6 แสนนาย ทั้งฝ่ายป้องกันและปราบปราม การสืบสวน สอบสวน การจราจร รวมถึงกองกำลังควบคุมฝูงชน

“ตำรวจหนึ่งนาย คือหนึ่งหน่วยของความปลอดภัยสาธารณะ มีอำนาจจับกุมซึ่งหน้าเมื่อเกิดเหตุร้ายได้ คำถามว่าทำไมตำรวจไม่ใช้มือถือไปพลางก่อน ตามยุทธวิธีตำรวจ ต้องทันท่วงที่ ใช้สองมือในการจับกุมคนร้าย ถ้าท่านนึกภาพ จะเป็นยุทธวิธีที่ดีหรือไม่ หากมีสายโทรศัพท์เข้ามา หน่วยความจำในการจัดเก็บของแต่ละนาย จะเป็นภาระในการแก้ปัญหาในอนาคต…”

ก่อน ผบ.ตร. จะยืนยันว่า ที่มาของการขยายเวลานั้นประเด็นที่สำคัญ คือ ไม่ได้เลื่อนทั้งฉบับ เพียงแต่มีเหตุผลเร่งด่วน ฉุกเฉิน และจะกระทบต่อการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ความปลอดภัยต่อส่วนรวม และได้มีการชี้แจงข้อซักถาม กรณี คำสั่ง สตช. ที่ 178/2564 ที่ได้มีการสั่งการคดีที่มีหมายจับ หรือคำสั่งศาลแล้ว ต้องบันทึกภาพและเสียงในชั้นตรวจค้น จับกุม ทุกกรณี ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สตช. เห็นความสำคัญเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง แต่ที่สมาชิกหลายท่านอาจจะเข้าใจผิด คือ ไม่ได้ใช้ทุกคดี เฉพาะคดีที่เตรียมการล่วงหน้า และมีอัตราโทษสูงในการสอบสวนเท่านั้น

ด้าน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า ไม่น่าเชื่อว่าแม้แต่ พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหายฯ ยังโดนอุ้มหายจากสภาฯ ทั้งที่เรื่องนี้น่าจะเป็นฉันทามติเดียวระหว่างพรรคฝ่ายค้านกับพรรคฝ่ายรัฐบาล และระหว่าง ส.ส. กับ ส.ว. แต่กลับมาตกม้าตายเพราะเรื่องวัสดุอุปกรณ์อย่างกล้อง

ทั้งที่กฎหมายนี้ผ่านสภาฯ เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาในเดือนตุลาคม 2565 กำหนดให้เวลา 120 วันในการเตรียมตัว แต่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้เวลาถึง 81 วันในการยื่นขอรับสนับสนุนงบประมาณ กว่าเรื่องจะไปถึง ครม. คือวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 เหลือเวลาก่อนกฎหมายบังคับใช้เพียง 12 วัน

“คนที่ไม่ได้อยู่ในครอบครัวที่ถูกซ้อมทรมานและอุ้มหาย คงไม่เข้าใจว่าช้าไปเพียงหนึ่งนาทีหรือหนึ่งวันเป็นอย่างไร รัฐบาลมีเวลาในการเตรียมตัวแต่กลับไม่เตรียม ผมไม่รู้ว่าสาเหตุคือความประมาทเลินเล่อ ความไม่ใส่ใจ หรือความเลือดเย็นทางการเมือง นี่คือสาเหตุที่ผมและพรรคก้าวไกลไม่สามารถผ่าน พ.ร.ก. ฉบับนี้ได้” พิธากล่าว

จนกระทั่ง เวลา 13:21 ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่ประธานการประชุม แจ้งต่อที่ประชุมว่ามี นิโรธ สุนทรเลขา ส.ส. นครสวรรค์และประธานวิปรัฐบาลและคณะ เข้าชื่อยื่นคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญว่า การตรา พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ปี 2565 ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 วรรคหนึ่ง ให้ประธานส่งความเห็นไปศาลรัฐธรรมนูญภายใน 3 วัน และให้รอการพิจารณา ไว้ก่อน ตามมาตรา 173 ที่กำหนดว่าเมื่อสส. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั่งหมด ได้เข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธาน ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยกฏหมายของ พระราชกำหนด ประธานต้องส่งไปยังศาลภายใน 3 วัน

โดยได้ตรวจสอบคำร้องแล้วมีส.ส. 100 คน เข้าชื่อ ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของ สมาชิกทั้งหมด ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนด จึงให้รอการพิจารณาพระราชกำหนดนี้ไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับแจ้งผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และขอจบการพิจารณาในวาระนี้ และปิดประชุมพร้อมรับพระราชโองการปิดสมัยประชุมในเวลา 13:41 น.


ทั้งนี้ ทำให้การอภิปราย พ.ร.ก. นั้นต้องยุติและรอการพิจารณาในขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง จนกว่าจะมีการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ภายในกรอบ 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่อง โดยทำให้ในระหว่างนี้ ทุกอย่างจะเป็นไปตามเนื้อหา ใน พ.ร.ก. ไปพลางก่อน

ขณะที่ นิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล รัฐบาลส่ง พ.ร.ก. เข้ามาในสภาฯ เพื่อให้หน่วยงานทำหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ได้รับการขยายระยะเวลาดำเนินการ และสามารถเดินหน้าได้ ดังนั้น เพื่อประโยชน์ของหน่วยงานรัฐที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ. และเพื่อประชาชนจึงออก พ.ร.ก. ฉบับนี้มา อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัวเห็นว่า ไม่น่าจะชอบ หรือน่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญที่กำหนดเงื่อนไขความเร่งด่วนจำเป็น รัฐบาลไม่ได้มีเจตนาจะหน่วงให้ล่าช้า แต่เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่ต้องดูแลความเรียบร้อยของหน่วยงานกับประชาชนไม่ให้เกิดความผิดพลาด จึงขอขยายระยะเวลาในส่วนนี้

“คำร้องของวิปรัฐบาลไม่ถือเป็นการยื้อการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉบับนี้ออกไป แต่ถือเป็นการให้หน่วยงานตาม พ.ร.บ. เดินหน้าได้ ถ้ามองในแง่ร้ายก็บอกว่าเรายื้อ แต่ถ้ามองเป็นกลางและตรงไปตรงมา เราก็เห็นว่า พ.ร.ก. น่าจะไม่ออกโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ”


Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active