ปชช. เสนอ สันติภาพชายแดนใต้ไม่ใช่แค่ หยุดยิง แต่ต้องเป็น “สันติภาพกินได้”

20 ปี ความไม่สงบชายแดนใต้ บาดเจ็บพุ่งกว่า 20,000 คน PEACE SURVEY สำรวจเสียงประชาชน เรียกร้องทุกฝ่ายยุติความรุนแรง แก้ปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชน จี้ รัฐเร่งเดินหน้ากระบวนการคุยสันติภาพ เสนอ 7 ประเด็นเชิงนโยบาย – สร้างสันติภาพชายแดนใต้

วันนี้ (22 ก.ย.) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงผลสำรวจควาามคิดเห็นประชาชน ต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 7 เครือข่ายวิชาการ PEACE SURVEY เสนอ 7 ประเด็นเชิงนโยบาย เพื่อสร้างสันติภาพชายแดนใต้ ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพจากการสัมภาษณ์ความเห็นคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ 

ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี นักวิจัยอาวุโส สถานบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานนครินทร์ ในฐานะตัวแทนเครือข่าย PEACE SURVEY สรุปข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรง ช่วงปี 2547-ปัจจุบัน เกิดความไม่สงบจำนวน 22,166 ครั้ง แม้ฝ่ายขบวนการ BRN จะประกาศยุติปฏิบัติการทางทหารชั่วคราว แต่การปฏิบัติการทางทหารของรัฐยังคงเดินหน้าตามปกติ พบข้อสังเกตในช่วงเดิน เมษายน-พฤษภาคม 2566 มีความไม่แน่นอนในพื้นที่ การพูดคุยสันติภาพหยุดชะงัก และเกิดเหตุการณ์ปิดล้อมตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ตามกฎหมายพิเศษ เพิ่มสูงขึ้น เกิดวิสามัญฆาตกรรมจำนวนหลายครั้ง ภาพรวมสถิติการเกิดเหตุช่วงปี 2564-2565 เริ่มขยับสูงขึ้น หลังการระบาดโควิด-19  

จากการสุ่มตัวอย่างสำรวจประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้จำนวน 1,312 คน  ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรายได้น้อย ข้อเสนอให้สันติภาพชายแดนใต้ยกระดับคุณภาพชีวิตของในพื้นที่ภาคใต้ด้วยจึงเป็นเรื่องสำคัญที่อยู่ในข้อเสนอด้วย จากการสำรวจครั้งนี้ พบว่า ร้อยละ 62.7 มองว่าสถานการณ์ชายแดนใต้ เหมือนเดิม และแย่ลง คะแนนเฉลี่ยความสำเร็จของรัฐบาลแก้ไขสถานการณ์ในพื้นที่ ให้คะแนน 4.27 จาก 10 คะแนนเต็ม 

โดยในครั้งนี้ยังมีทีมวิจัยที่ร่วมแถลงเสนอ 7 ประเด็นสำคัญจากเสียงประชาชน ประกอบด้วย ผศ.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล, แวรอมลี แวบูละ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้, สมใจ ชูชาติ ตัวแทนเครือข่ายชาวพุทธ, และ วิลาสินี โสภาพล สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ร่วมแถลงด้วย

7 ข้อเสนอจากการฟังเสียงสะท้อนภาคประชาชน

ข้อเสนอ 1 ดำเนินการมาตรการลดความรุนแรง โดยประชาชนส่วนใหญ่ประชาชนมองว่าการใช้อำนาจของรัฐที่ไม่เป็นธรรม ไม่โปร่งใส เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดสถานการณ์ความไม่สงบ และรู้สึกไม่ปลอดภัย

ข้อเสนอ 2 แก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่อย่างจริงจัง ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ท้าทายการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน 19 ปีที่ผ่านมา พบว่าการละเมิดสิทธิมุนษยชนในพื้นที่ไปแล้วกว่า 20,000 คน การละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุดอันดับ 1 คือ การถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ, รองลงมาคือเรื่องของหญิงมุสลิมกับการสวมฮีญาบ เป็นต้น ขณะที่ปัญหาของการละเมิดสิทธิมนุษยชน กลับมีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น แต่รูปแบบดังกล่าวกลับไม่ถูกพูดถึงบนโต๊ะเจรจาสันติภาพ

จึงมีข้อเสนอจากประชาชน เช่น การให้เจ้าหน้าที่หลีกเลี่ยงการวิสามัญฆาตกรรมคนเห็นต่างจากรัฐ, ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ควาามรุนแรง, มีกลไกตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ และปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยเคารพต่อผู้ที่ถูกกล่าวหาด้วย 

ข้อเสนอ 3 มีกลไกทางการเมืองและกฎหมายรองรับที่ครอบคลุมทุกฝ่าย โดยพบว่าประชาชนไว้วางใจพรรคการเมือง นักการเมืองระดับชาติมากที่สุด, รองลงมากคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ข้อเสนอสำคัญคือ ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วม  และควรมีกลไกการเมืองรองรับการพูดคุยสันติภาพ 

ข้อเสนอ 4 พัฒนาและปรับปรุงกลไกลการสื่อสาร เพื่อสร้างการรับรู้ข่าวสาร นำไปสู่การทำให้กระบวนการสันติภาพชายแดนใต้เป็นวาระสาธารณะ เพราะผลการสำรวจพบว่าประชาชนร้อยละ 33.6 ไม่เคยได้ยินข่าวการพูดคุยสันติภาพเลย  ฝ่ายที่ประชาชนอยากฟังข้อมูลมากที่สุดคือ รัฐบาล ขณะที่อยากฟังขบวนการ BRN น้อยที่สุด โดยเน้นย้ำให้กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับการสื่อสารในแต่ละพื้นที่ 

ข้อเสนอ 5 เพิ่มบทบาทประชาชน สร้างการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมทุกฝ่าย โดยให้ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพในการเข้าร่วมการปรึกษาหารือสาธารณะ โดยไม่ถูกภัยคุกคาม นอกจากนี้ยังเนอให้ตั้งคณะกรรมการประกอบด้วยบุคคลหลายฝ่ายเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ความรุนแรง รวมถึงตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่าง ฝ่ายรัฐบาล กับ ฝ่าย BRN เสนอให้รัฐพัฒนารูปแบบการรับฟังความคิดเห็นที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม

ข้อเสนอ 6 กระจายอำนาจมากขึ้น ให้สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของพื้นที่ พบว่าผู้ตอบส่วนใหญ่อยากเห็นการปกครองด้วยโครงสร้างที่เหมือนกับส่วนอื่นของประเทศ เช่น การเพิ่มอำนาจให้ อบต. อบต.มากขึ้น  และกระจายอำนาจด้วยโครงสร้างการปกครองเฉพาะภายใต้กฎหมายไทย เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด หรือเขตปกครองพิเศษ 

ข้อเสนอ 7 เน้นพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานทุนทางสังคม และวัฒนธรรมของพื้นที่ เพื่อนำไปสู่โอกาสการสร้างสันติภาพเชิงบวกและยั่งยืน 

ทั้งนี้ สันติภาพไม่ใช่แค่การหยุดยิง แต่จากการสำรวจพบว่าต้องเป็นสันติภาพที่กินได้ เน้นเศรษฐกิจปากท้องสำคัญไม่แพ้กัน คนในพื้นที่ส่วนใหญ่รายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 5,000 บาท และ อาชีพหลักคือการรับจ้างทั่วไปเกือบ ร้อยละ 30 และเป็นพื้นที่ยากจนที่สุดของประเทศไทย กระบวนสันติภาพควรครอบคลุมกว้างไปยังการพัฒนาเศรษฐกิจและอัตลักษณ์ท้องถิ่นให้คนในพื้นที่ได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active