เมื่อเรือเล็ก…ออกจากฝั่ง ช่องโหว่กฎหมายข้อไหน เสี่ยงสูญเสีย หากเกิดอุบัติเหตุทางน้ำ

“เจ็ตสกี” จดทะเบียนเพิ่ม ส่วนคะแนนความปลอดภัยท่าเรือ “ต่ำที่สุด”

ใบอนุญาตใช้เรือสิ้นอายุและคนขับเรือไม่มีใบอนุญาต เป็นช่องโหว่อย่างน้อย 2 เรื่อง ที่ กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ออกมายอมรับหลังเกิดกรณีของ “แตงโม” นิดา พัชรวีระพงษ์ โดยเฉพาะช่องโหว่เรื่องการกำกับเรือขนาดเล็ก ที่มีผู้โดยสารไม่เกิน 5-6 คน เพราะไม่มีข้อบังคับรายงานการเข้าออกของเรือ ขณะที่เรือลักษณะนี้ มีปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ

เรือ กฎหมาย

จากข้อมูล จำนวนเรือโดยสารและสำราญที่ให้บริการให้แม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างปี 2563 – 2565 ของ กรมเจ้าท่า จะเห็นได้ว่า กลุ่มเรือบรรทุกคนโดยสาร เช่น เรือเร็ว เรือบริการอาหาร และเรือภัตตาคาร ส่วนใหญ่มีจำนวนเรือคงที่หรือลดลงในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา แต่กลุ่มเรือสันทนาการและสำราญกีฬา ทั้ง 3 ประเภท คือ เรือยอร์ช เรือเจ็ตสกี และเรือเร็ว (สปีดโบ๊ท) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเรือเจ็ตสกี ที่มีการจดทะเบียนมากขึ้น และเป็นเรือที่ยังไม่มีข้อบังคับให้รายงานการเข้าออกของเรือ ซึ่งเป็นสิ่งที่กรมเจ้าท่าเตรียมยกระดับ

พิทักษ์ วัฒนพงษ์พิศาล ผอ.สำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ กรมเจ้าท่า เปิดเผยกับ The Active ว่า กรมเจ้าท่า เตรียมวางแนวทางเพิ่มมาตรฐานให้มีการออกใบกำกับเรือลักษณะนี้ แต่อาจต้องใช้เวลา เพื่อหารือกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วย

“หากจัดให้มีระบบการรายงาน จะช่วยให้เรือโดยเฉพาะการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีการสัญจรค่อนข้างเยอะ ก็จะมีการให้รายงานว่า ตอนนี้ออกไปไหน อย่างไร ซึ่งที่ผ่านมามีเฉพาะกลุ่มเรือสินค้า และเรือภัตตาคาร หรือเรือท่องเที่ยว ที่มีขนาดใหญ่”

กรณีที่เกิดขึ้นกับ “แตงโม นิดา” ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีหลายข้อไม่เป็นไปตามกฎหมาย เช่น ไม่มีการสวมใส่เสื้อชูชีพบนเรือ กรณีนี้กฎหมายไม่ได้บังคับไว้ แต่กรมเจ้าท่าในฐานะผู้ออกใบอนุญาตการขับเรือและทะเบียนเรือ กำหนดไว้ว่า เรือต้องมี “ชูชีพ” เท่ากับจำนวนที่นั่งเรือ และเป็นหน้าที่ “นายเรือ” หรือผู้ควบคุมเรือที่ไม่ได้หมายถึงเฉพาะผู้ขับเรือ ต้องกำชับผู้โดยสารให้สวมใส่

ส่วนเรื่อง ความเร็วเรือ เบื้องต้นพบว่า อยู่ที่ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งถือว่าไม่ผิดกฎหมายเช่นกัน เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่าการใช้ความเร็วเรือตั้งแต่ท่าเรือวัดราษฎร์สิงขร เขตบางคอแหลม – ท่าเรือสะพานพระปิ่นเกล้า ต้องไม่เกิน 26 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และตั้งแต่ท่าเรือสะพานพระปิ่นเกล้า – ท่าเรือปากเกร็ด จ.นนทบุรี ความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ขณะที่ กรณีใบอนุญาตใช้เรือหมดอายุ รวมถึง การดื่มแอลกอฮอล์บนเรือ ที่ทุกคนบนเรือยอมรับว่ามีการดื่มจริง ซึ่งกฎหมายห้ามดื่มเฉพาะคนขับเรือ

เมื่อมีการตั้งคำถามว่าภาครัฐควรเพิ่มข้อบังคับเรื่องการสวมใส่เสื้อชูชีพและเอาผิดผู้โดยสาร เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงอันตรายหรือไม่ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า การยกระดับข้อกฎหมาย ได้ให้กรมเจ้าท่านำไปพิจารณา ซึ่งการสวมใส่เสื้อชูชีพขณะอยู่บนเรือนั้น ที่ผ่านมาได้มีความพยายามสร้างความรับรู้กับผู้โดยสารในเรื่องความปลอดภัย เป็นเรื่องของความร่วมมือด้วยกัน เพราะจะให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการ คนขับเรือ อย่างเดียว ก็อาจยังไม่ครอบคลุม เรื่องที่เกิดขึ้นถือเป็นบทเรียนและกรณีศึกษาที่สำคัญ

สำหรับมาตรการเพื่อกำกับมาตรฐานความปลอดภัยในปัจจุบัน อยู่ภายใต้กฎหมาย 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2556, พ.ร.บ.ป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ.เรือไทย ซึ่งครอบคลุมไปถึงน่านน้ำสากล

ผู้ใช้บริการท่าเรือโดยสาร ให้คะแนนความปลอดภัยต่ำสุด

นอกจากช่องโหว่ทางกฎหมายที่อาจเป็นจุดอ่อนในการกำกับมาตรฐานความปลอดภัย โดยเฉพาะกับเรือขนาดเล็กที่มีแนวโน้มจดทะเบียนเพิ่มขึ้นแล้ว มาตรฐานของท่าเรือโดยสาร ถือเป็นส่วนสำคัญในการให้บริการผู้โดยสารทางน้ำเช่นกัน

รายงานสถิติข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารทางน้ำ ปีงบประมาณ 2563 ของกรมเจ้าท่า พบว่า จำนวนท่าเทียบเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่จังหวัดสมุทรปราการ จนถึงนนทบุรี ที่กรมเจ้าท่ารวบรวมไว้ มีทั้งหมด 133 ท่า คือ สมุทรปราการ 20 ท่า, กรุงเทพมหานคร 78 ท่า, นนทบุรี 29 ท่า และปทุมธานี 6 ท่า ซึ่งมีทั้งท่าที่รองรับเรือด่วนเจ้าพระยา ท่าเรือยนต์ข้ามฟาก ท่าเรือยนต์เพลาใบจักรยาว และท่าเรือทั่วไป

สำหรับการสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้บริการท่าเรือโดยสาร ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านกระบวนการขั้นตอนการให้บริการเรือ, ด้านเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ, ด้านสิ่งอำนวยความสะดวก และด้านคุณภาพการให้บริการ แม้คะแนนโดยภาพรวมจะอยู่ที่ราวร้อยละ 70 ซึ่งเป็นระดับความพึงพอใจที่มาก แต่หากดูในรายละเอียดจะพบว่า ตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยอยู่ในระดับปานกลาง และมีคะแนนต่ำที่สุด คือ ความพร้อมของอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยท่าเรือ เช่น เสื้อชูชีพ ห่วงยาง ฯลฯ ที่มีความพึงพอใจอยู่ที่ร้อยละ 69.16 และ สภาพยางกันกระแทกระหว่างเรือกับโป๊ะ ร้อยละ 69.66

เรือ กฎหมาย
การสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้บริการท่าเรือโดยสารริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล ปี 2563

ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นความรู้สึกของประชาชน ว่าระหว่างใช้บริการโดยสารทางเรือ อาจยังมีความเสี่ยง แม้ปัจจุบันจะมีการกำชับนายเรือและการสุ่มตรวจในภารกิจทุกวัน โดยเน้นไปที่การตรวจใบอนุญาตและใบขับขี่เรือ แต่การยกระดับความปลอดภัยของชีวิตคน อาจต้องเพิ่มนโยบายด้านนี้ให้ดีกว่าเดิม เพราะสิ่งสำคัญที่สุด คือ ทุกชีวิตบนเรือที่ต้องปลอดภัยไว้ก่อน ให้เป็นเป้าหมายหลักสู่ความปลอดภัย

แต่ก็ต้องยอมรับว่าการก้าวไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน คือ จุดร่วมและทิศทางที่ดี เพราะชนวนเริ่มต้นจากอุบัติเหตุทางเรือของ “แตงโม นิดา” ถือเป็นการสร้างจุดเปลี่ยนที่ต้องหันกลับมาคิดต่อเรื่องความปลอดภัยของเรือขนาดเล็กด้วย โดยเฉพาะเรือสปีดโบ๊ท ที่เวลานี้ มีการจดทะเบียนทั้งประเทศมากกว่า 8,000 ลำ และดูจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ขณะเดียวกัน ก็เป็นโจทย์ที่กรมเจ้าท่าต้องคิดต่อหลังจากนี้ ถึงการกลับมาทบทวนมาตรฐานกำกับความปลอดภัยใหม่ของเรือขนาดเล็กด้วย เช่น การบรรจุอุปกรณ์เสริมการติดตามเรือ หรือมีข้อมูลบันทึก ก่อนนำเรือออก และการนำเรือเข้าจอด และอื่น ๆ คล้ายกับเรือขนาดใหญ่หรือเรือโดยสาร ที่จะมีการบันทึก ซึ่งอาจต้องสร้างกระบวนการพูดคุยร่วมมือกับทุกฝ่ายที่ต้องใช้เวลา ก่อนจะออกเป็นกฎระเบียบในการกำกับดูแล

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์