: กับบทพิสูจน์ ตรวจเร็ว รักษาเร็ว มีโอกาสรอด
“รัฐบาลเหนื่อยแค่ไหนเราไม่รู้ แต่เรารู้ว่าเราเหนื่อยมาก เรารู้ว่าสิ่งที่เราทำ เป็นเพียงแค่การชะลอปัญหา เราไม่อยากให้คนไทยมีภูมิคุ้มกันด้วยการติดโรค เพราะต้องแลกกับความสูญเสีย มีคนตาย มีคนต้องเข้า ICU คนในครอบครัวต้องแยกกันอยู่ ชุมชนทั้งชุมชนแทบจะล่มสลาย…”
คำพูดขาดหายเป็นห้วง ๆ ด้วยเสียงหอบเหนื่อย ภายใต้หน้ากากและชุด PPE ที่สวมใส่มานานกว่า 6 ชั่วโมง ณ จุดตรวจแห่งหนึ่งในชุมชนชานเมืองกรุงเทพฯ
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ถ่ายทอดความรู้สึกด้วยน้ำเสียงที่เหนื่อยล้า ในดวงตามีน้ำใส ๆ คลอเบ้า หากไม่ได้ไหลออกมาปะปนกับเม็ดเหงื่อที่อาบใบหน้า
ความทุ่มเทสุดตัวของเขาและเพื่อนร่วมอุดมการณ์หลายร้อยชีวิตในนาม “ขบวนการหมอชนบท” ที่ประจักษ์ชัดตลอด 7 วันของปฏิบัติการกู้ภัยโควิด-19 กรุงเทพฯ ได้มอบความชอบธรรมให้เขาเรียกร้อง “ความร่วมมือ” และความเอาจริงเอาจังของหน่วยงานรัฐ ในการรักษาชีวิตของประชาชน ไม่ให้ต้องล้มตายเหมือนใบไม้ร่วง
ทำไมหมอจากชนบท ต้องมากู้ภัยโควิด-19 ในกรุงเทพฯ?
ภาพจำของผู้คนอาจคุ้นชินกับคำว่า “ชนบท” ในลักษณะที่ต้องให้ส่วนกลางหรือคนจากพื้นที่ที่พัฒนากว่าลงไปให้ความช่วยเหลือ แต่ภาพมุมกลับที่เกิดขึ้น กำลังสร้างความตื้นตันให้คนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบางที่เข้าถึงทุกช่องทางได้ยาก การยกทีมมาร่วมภารกิจสำคัญนานถึง 7 วัน เพื่อ “ตรวจเชื้อเร็ว รักษาทันที เร่งสร้างภูมิคุ้มกัน” จึงถูกคาดหวังว่าจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์วิฤตในกรุงเทพมหานครได้
จริงอยู่ที่ว่า แนวปฏิบัติเช่นเดียวกันนี้เกิดขึ้นอยู่แล้วในกรุงเทพฯ โดยทีมหลักอย่าง ศบค. กทม. ร่วมกับหน่วยงานรัฐและภาคประชาสังคมบางส่วน จัดทีม ปฏิบัติการเชิงรุก “CCR Team” เพื่อสกัดวงจรการระบาดโดยเฉพาะในชุมชนหรือคลัสเตอร์สำคัญให้ได้เร็วที่สุด
แต่คงจะดีกว่า หากหมอจากชนบทจะเข้ามาร่วมเพื่อทำให้ปฏิบัติการที่ว่านั้นทำงานได้อย่างรวดเร็ว พร้อมกับนำประสบการณ์ทำงานด้านสุขภาพร่วมกับชุมชนในต่างจังหวัด มาช่วยสะท้อนปัญหาเชิงระบบที่มองเห็น เพื่อลดคนป่วยหนัก คนตายให้ได้มากที่สุด
The Active รวบรวมข้อมูลสำคัญที่เกิดขึ้นตลอด 7 วันที่ผ่านมา เมื่อหมอจากชนบทเข้ามาผนึกกำลังกับคนในกรุงเทพฯ แลกกับความหวังที่จะได้เห็นคนกรุงเทพฯ ได้รับการตรวจ การรักษา และช่วยแบ่งเบาภาระหนักของเพื่อนหมอในพื้นที่สีแดงเข้ม กับบทพิสูจน์ว่าปฏิบัติการครั้งนี้ น่าจะช่วยทำให้คนตายน้อยลงด้วย
“หมอชนบท” เป็นใครมาจากไหน? ในปฏิบัติการกู้ภัยโควิด-19 กรุงเทพฯ ครั้งที่ 3
จาก โรงพยาบาลตากใบ จ.นราธิวาส เดินทางสู่กรุงเทพมหานคร ด้วยระยะทางไม่น้อยกว่า 1,133 กิโลเมตร หรือจากภาคเหนือ โรงพยาบาลปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน 861 กิโลเมตร
คือ โรงพยาบาลชุมชน 2 แห่งที่เดินทางไกล มุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานคร พร้อมกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์เกือบ 400 ชีวิต จากโรงพยาบาลและหน่วยงานด้านสาธารณสุข ทั่วทุกภาคของประเทศ รวม 33 จังหวัด
และนี่ไม่ใช่การเดินทางมาครั้งแรกของพวกเขา…บางคนเข้าร่วมปฏิบัติการกู้ภัยโควิด-19 กรุงเทพฯ เป็นครั้งที่ 3 แล้ว
ทำไม “แพทย์ชนบท” ต้องบุกกรุง?
สะเก็ดไฟที่ระบาดอย่างรวดเร็ว ทั้งด้วยปัจจัยไวรัสกลายพันธุ์และมาตรการคุมโรคที่ “ค่อนข้างได้ผลน้อย” บางมาตรการกระตุ้นให้สะเก็ดไฟ “กระจายไกล และเร็วขึ้น” ขณะที่โควิด-19 ในกรุงเทพฯ “ยังคุมไม่อยู่” คนป่วยจำนวนมากกว่า 9 หมื่นคน (ข้อมูล 1 ก.ค. – 4 ส.ค. 64) ยังถูกส่งไปยังภูมิลำเนาในต่างจังหวัด ใช้ทรัพยากรของชนบทดูแลรักษาชีวิตคนป่วยจากเมืองกรุง โดยกระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งเดินทางไปที่ภาคอีสาน
การเดินทางมาตรวจเชิงรุกในกรุงเทพฯ ครั้งแรก แพทย์ชนบท พบว่า ไม่ใช่แค่ข้อจำกัดในการควบคุมโรคระบาด แต่หมอจากชนบทเห็นว่า กรุงเทพมหานครมีปัญหา “สาธารณสุขทั้งระบบ” ทำให้การเดินทางมาปฏิบัติการเชิงรุกในเมืองกรุงในครั้งที่ 2 และ 3 เกิดขึ้น โดยมีเป้าหมายชัดเจนยิ่งขึ้น
“ตรวจเร็ว รักษาทันที เร่งสร้างภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน”
ขบวนการหมอชนบท ที่มากกว่า “แพทย์ชนบท”
ภาษาชาวบ้าน ใครก็ตามที่มีหน้าที่ช่วยชีวิตและส่งเสริมสุขภาพให้ไม่ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย จะถูกเรียกและนับถือให้เป็น “หมอ” ทั้งหมด ปฏิบัติการเชิงรุกจากชนบทครั้งนี้ จึงไม่ได้มีเพียงแพทย์ ที่เป็นสมาชิก “ชมรมแพทย์ชนบท” เท่านั้น แต่ยังมีทั้งนักเทคนิคการแพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล ทั้งจากโรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลจังหวัด และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดต่าง ๆ รวมทีมข้ามสังกัด เพื่อปฏิบัติการครั้งใหญ่ร่วมกัน
41 ทีม ที่ร่วมภารกิจตลอด 7 วัน มาจาก 33 จังหวัด คือ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ นนทบุรี นราธิวาส น่าน ปทุมธานี พิจิตร เพชรบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ยโสธร ยะลา ร้อยเอ็ด ระนอง ระยอง ลพบุรี ลำพูน สงขลา สุโขทัย สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี
พวกเขามุ่งหน้าสู่ใจกลางประเทศไทย แบ่งทีมกระจายปฏิบัติการวันละ 24 – 28 จุด ทำให้ตั้งแต่วันที่ 4 -10 สิงหาคม สามารถออกหน่วยได้ถึง 196 จุด ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 369 ชุมชน
การทำงานของหมอจากชนบท สำเร็จได้ด้วย “ทีมงานหลังบ้าน” ที่มีส่วนสำคัญในการสำรวจข้อมูลเตรียมพร้อมสำหรับการลงพื้นที่ตรวจเชิงรุก “คณะทำงานโควิดชุมชน” หรือ Com Covid เป็นการรวมตัวกันเพราะเหตุฉุกเฉินจากการเจ็บป่วย ล้มตายของคนในชุมชน ประกอบด้วย มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เครือข่ายสลัม 4 ภาค มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายบำนาญแห่งชาติ สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) รวมถึงการหนุนหลังอย่างดีโดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.
“อาสาสมัคร” ร่วมปฏิบัติการอีกราว 300 ชีวิต ทั้งอาสาสมัครอิสระ กลุ่มเส้นด้าย และเครือข่ายหลากหลายองค์กร เช่น Swing, iLaw, EnLAW, Greenpeace ฯลฯ ยังเป็นกำลังสำคัญที่ทำทั้งการประสานงานและเตรียมความพร้อม กระทั่งปฏิบัติการร่วมครั้งใหญ่ ดำเนินไป อย่างเป็นระบบ
การทำงานของทีมแพทย์ชนบทครั้งนี้ สามารถตรวจเชิงรุกได้มากถึง 44 เขต ในกรุงเทพมหานคร รวมถึงพื้นที่ที่พบการระบาดสูงในจังหวัดปริมณฑล คือ จ.นครปฐม จ.สมุทรปราการ จ.นนทบุรี และ จ.ปทุมธานี
ปฏิบัติการเชิงรุก “CCR Team”
ความทุกข์ของคนกรุงเทพฯ ที่ปรากฏให้เห็นมากขึ้น ทั้งสภาพผู้ป่วยล้นเตียง จำนวนคนตายคาบ้าน คนป่วยล้มและสิ้นลมกลางถนน คือ ยอดภูเขาน้ำแข็งที่ทำให้เกิดปฏิบัติการแพทย์ชนบทตรวจเชิงรุกครั้งที่ 3 มุ่ง “แก้ปัญหาทั้งระบบ” มากกว่า “ตรวจรู้ดูแลตัวเอง” ซึ่งพบว่า “ไม่ใช่” และ “ไม่พอ”
การกลับมาของหมอชนบทครั้งล่าสุด ได้สร้างความหมายและความหวังให้ผู้คนด้วย คือ ต้องตรวจเร็ว รักษาทันที และเร่งสร้างภูมิคุ้มในหนึ่งวันนั้น (Rapid Test, Trace, Treat & Target Vaccination sameday)
ไวรัสสายพันธุ์เดลตาระบาด “เร็ว” และ “แรง” แพทย์ชนบทเห็นว่า ต้องทำให้คนป่วยหนักลดลง ลดการใช้เตียง ICU ลดผู้เสียชีวิต ซึ่งจะช่วยลดภาระของเพื่อน ๆ ร่วมวิชาชีพที่กำลังทำงานอย่างหนักที่กรุงเทพฯ
ปฏิบัติการที่ ‘เป็นจริง’ มีสิ่งที่ร่วมกันผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายเรื่อง อยู่เบื้องหลัง อาทิ
การรักษา:
“ยืนยัน” ต้องมียาต้านเชื้อไวรัส ‘ฟาวิพิราเวียร์’ ให้ผู้ป่วยที่มีอาการทันที กระทั่งกระทรวงสาธารณสุข เร่งจัดหา ผลิต และทยอย ส่งยามาจนครบ 600,000 เม็ด
“เร่งรัด” พัฒนาฐานข้อมูล “CCRT-HI” จับคู่สถานพยาบาลกับผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) สปสช. ต้องมีรูปธรรมรองรับ ไม่ปล่อยให้เขาโดดเดี่ยว หากผู้ป่วยอาการหนักต้องสามารถส่งต่อโรงพยาบาลได้
“ตอกย้ำ” การเร่งสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจัดสรรวัคซีนแอสตราเซเนกามาให้ในปฏิบัติการวันที่ 3 จำนวน 1,000 โดส ทำให้กลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุ มีโรคเรื้อรัง คนอ้วน และผู้หญิงครรภ์ ได้เข้าถึงวัคซีนทันที ทั้งที่จุดบริการตรวจเชิงรุก และผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง
ขั้นตอนปฏิบัติการกู้วิกฤตกรุงเทพฯ และสร้างความหวังให้ผู้คน
การออกแบบหน้างาน “จุดตรวจแต่ละแห่ง” ให้ลื่นไหลและตอบโจทย์หลักการข้างต้น คือ
- ลงทะเบียน: (ก) อาสาชุมชนต้องไปสำรวจทำงานล่วงหน้ากับกลุ่มเป้าหมายคนเปราะบางที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการสุขภาพเพื่อลงทะเบียนจอง แต่ละจุดต้องตรวจประชาชนวันละ 500 คน ถึง 5,000 คน (ข) วันจริง ชาวบ้านมาพร้อมกับหลักฐานยืนยันตัวตน เช่น สำเนาบัตรประชาชน พาสสปอร์ต และเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้ ข้อมูลของทุกคนที่เข้ามารับบริการจะถูกบันทึกไว้ใน (ค) ฐานข้อมูลที่ทีมไอทีของ สปสช. ออกแบบไว้ใช้ครั้งแรกในปฏิบัติการครั้งนี้ โดยมี การระดมอาสาสมัคร มาช่วยลงทะเบียนหน้างานราว 200 คน
- จุดคัดกรอง: เป็นการตรวจ swab antigen test kit (ATK) ทุกจุดตรวจเตรียมทีมงานใส่ชุด PPE อย่างน้อย 2 – 6 คน สับเปลี่ยนกันทุกชั่วโมง เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อโควิด-19 ส่วนชุด ATK นั้นเป็น Standard Q COVID-19 Ag Home test จากเกาหลีใต้ หนึ่งใน 3 ยี่ห้อที่องค์การอนามัยโลกรับรอง
- จุดแจ้งผลการตรวจ: (1) หากผลตรวจเป็นบวก (ก) ทีมงานขอให้ผู้ติดเชื้อรีบแจ้งให้ครอบครัวและผู้สัมผัสใกล้ชิดมาตรวจคัดกรองในวันนั้นทันที และ ผู้ป่วย (ข) ถูกตรวจซ้ำด้วยการ swab RT-PCR ส่งตรวจที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เพื่อยืนยันผล หากผลเป็นบวกอีก นักเทคนิคการแพทย์จะออกใบรับรองส่งให้ตามที่อยู่แจ้งไว้ในฐานข้อมูล เพื่อใช้เป็นหลักฐาน เมื่อมีอาการและจำเป็นต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ชาวบ้านไม่ต้องตระเวนไปตรวจซ้ำที่อื่น (2) หากผลตรวจเป็นลบ (ก) สามารถกลับบ้านได้ (ข) บางหน่วยมีวัคซีนฉีดให้สำหรับกลุ่มเสี่ยงสูง ที่เป็นผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียง ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง คนพิการ ผู้หญิงตั้งครรภ์ พระ และสัปเหร่อ บางคนที่เดินทางออกมาไม่ได้ หมอไปฉีดวัคซีนให้ถึงบ้าน ทั้งหมดจะถูกบันทึกในฐานข้อมูลประเทศคือ “หมอพร้อม” และจะมีการแจ้งเตือนให้ฉีดเข็มที่ 2 เดือนตุลาคม โดยสำนักอนามัย กทม. จะรับผิดชอบติดตามให้รับวัคซีนจนครบ
- จุดประเมินอาการ: เป็นจุดสำคัญในการซักประวัติการเจ็บป่วย โรคประจำตัว และอาการของผู้ติดเชื้อจากจุดคัดกรอง เพื่อแยก กลุ่มสีแดง อาการหนักมีคนประสานให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทันที เช่น จุดตรวจตลาดบางแวก เขตภาษีเจริญ ทีมโรงพยาบาลสมเด็จฯ นาทวี พบผู้สูงอายุติดเชื้อวัย 79 ปี มีอาการเหนื่อยหอบเห็นได้ชัด ซึ่งครอบครัวพาตระเวนไปตรวจหลายแห่งแล้วถูกปฏิเสธ จึงพามาที่นี่ และถูกส่งต่อไปโรงพยาบาลราชวิถีทันที เป็นต้น
กลุ่มสีเหลืองและเขียว ด้วยสภาพกรุงเทพฯ เตียงเต็ม (ก) จึงเข้าระบบรักษาตัวเองที่บ้าน (Home Isolation) โดยไม่ต้องโทร 1330 อีก เพราะอยู่ในฐานข้อมูลของ “CCRT-HI” ของ สปสช. แล้ว ภายใน 2 วัน จะมีการโทรศัพท์ติดตามอาการเพื่อเฝ้าระวังไม่ให้ผู้ป่วยเปลี่ยนสถานะอาการ ส่วนใครไม่สามารถทำ HI ได้ จะนำเข้าระบบและประสานให้ไปอยู่ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ หรือ Community Isolation (ข) หากผู้ป่วยมีอาการจะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์พร้อมกล่องอุปการณ์ดูแลตนเอง ก่อนกลับบ้าน ประกอบด้วยเครื่องวัดระดับออกซิเจน ปรอทวัดไข้ ยาแก้ไข หน้ากากอนามัย ฯลฯ บางคนที่มีปัญหาจะได้รับถุงยังชีพไปด้วย ส่วนคนไม่มีอาการจะได้รับยาฟ้าทะลายโจรเพื่อช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส
ในปฏิบัติการครั้งนี้ มีแรงงานข้ามชาติ คนไม่มีบัตรประชาชน มาเข้ารับบริการด้วยจำนวนมาก แม้จะไม่มีสิทธิ์ในฐานะพลเมืองไทย แต่พวกเขาก็ได้รับการรักษา ได้ยาฟาวิพิราเวียร์ และฉีดวัคซีนรักษาชีวิต นับเป็นปฏิบัติการที่สถาปนาฐานคิดสำคัญ “ทุกคนในประเทศไทยต้องได้รับการรักษาอย่างทั่วถึงเท่าเทียมกัน” ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ฉายภาพปฏิบัติการแห่งความหวัง ก้าวข้ามพรมแดนความเป็นอื่น ปลดแอกกฏระเบียบราชการต่าง ๆ เพื่อรักษาทุกชีวิตที่มีความหมายเท่าเทียมกัน
นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช ผู้ยืนกรานนำทีมปฏิบัติการเพื่อมนุษยธรรม ฝ่าฟันกำแพงอุปสรรคต่าง ๆ ด้วยความมั่นคงตั้งแต่ครั้งแรก กล่าวตอกย้ำสั้น ๆ ในวันที่ภารกิจครั้งที่ 3 ลุล่วงลงว่า “โมเดลการตรวจเชิงรุก CCRT” นี้ ต้อง “ทำทันที – ทำทุกที่ – ทั่วทุกคน”
“ปฏิบัติการเชิงรุก” ของ กทม.
ก่อนและระหว่างที่ปฏิบัติการแพทย์ชนบทบุกกรุงครั้งที่ 3 “กทม.” ในฐานะเจ้าของพื้นที่ ก็ได้ปฏิบัติการเชิงรุกเช่นกัน
ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 สำนักอนามัย สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง บูรณาการความร่วมมือกับศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) จิตอาสาพระราชทาน 904 และภาคประชาชน จัดทีมปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 เชิงรุก Bangkok Comprehensive Covid-19 Response Team (Bangkok CCRT) ลงพื้นที่ชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต
เพจ กรุงเทพมหานคร ให้ข้อมูล ณ วันที่ 11 สิงหาคม ระบุผลการดำเนินงาน Bangkok CCRT วันที่ 15 กรกฎาคม – 10 สิงหาคม 2564 ดังนี้
- ชุมชนที่ได้รับการตรวจคัดกรอง 2,623 แห่ง
- ประชาชนที่เข้ารับบริการ 140,391 คน
- ประชาชนกลุ่ม 60+ ที่ได้รับวัคซีน (อายุ 60+ / 7 กลุ่มโรค / หญิงตั้งครรภ์) จำนวน 97,697 คน
- ประชาชนที่ได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วย ATK 31,400 คน
- ทั้งหมดที่พบเชื้อ 3,627 คน นำส่งโรงพยาบาล 115 คน นำส่งศูนย์พักคอยฯ (CI) 70 คน แยกกักตัวที่บ้าน (HI) 3,4 42 คน
- ไม่พบเชื้อ 27,773 คน
ต้องตรวจเร็ว รักษาทันที และเร่งสร้างภูมิคุ้มในหนึ่งวันนั้น
ตัวเลขการตรวจเชิงรุก 145,599 คน ภายในเวลา 7 วัน เป็นจำนวนการตรวจคัดกรองที่ทำสถิติสูงสุดของการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อในชุมชน (มีแรงงานข้ามชาติและผู้ไม่มีบัตรประชาชนประมาณ 20%)
แพทย์ชนบททั้ง 41 ทีม ตั้งจุดตรวจ 196 หน่วย ในพื้นที่ 369 ชุมชน ด้วยเครื่องมือ ATK พบมีชาวบ้านติดเชื้อโควิด-19 หรือเป็นผลบวกรวม 16,186 คน คิดเป็น 11% ของจำนวนที่ตรวจ และส่งตรวจซ้ำด้วยวิธี RT-PCR จำนวน 15,562 คน หรือคิดเป็น 96.1% ของจำนวนทั้งหมดที่พบผลบวกเบื้องต้น ในจำนวนนี้ บางส่วนไม่ได้ทำการตรวจซ้ำเพราะข้อจำกัดเรื่องสภาพภูมิอากาศ บางวันมีฝนตกหนัก ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถรอตรวจ RT-PCR อีกครั้งได้
เมื่อเปรียบเทียบผลตรวจผู้ติดเชื้อในการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่าผลเป็นบวก ครั้งที่ 1 คือ 9% ครั้งที่ 2 คือ 16.1% และครั้งนี้ 11.1% สะท้อนว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในชุมชนยังมีจำนวนที่น่าเป็นห่วง และต้องติดตามเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดต่อไป
จากการประเมินอาการผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบครั้งนี้ มีอาการแตกต่างกันดังนี้
- ระดับสีเขียว มีจำนวน 11,216 คน คิดเป็นร้อยละ 69.3
- ระดับสีเหลือง 4,639 คน คิดเป็นร้อยละ 28.7
- ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงระดับสีแดงจำนวน 331 คน คิดเป็นร้อยละ 2
หมายความว่า ยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่ยังตกค้างอยู่ในชุมชน!!
แล้วจะต้องทำอย่างไร เพื่อรักษาชีวิตที่ของผู้ป่วยที่ตกหล่นให้ทันเวลาก่อนที่จะสายเกินไป?
ตรวจง่าย จ่ายยาเร็ว รื้อมายาคติผูกขาด “การแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ”
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ในฐานะประธานชมรมแพทย์ชนบท ตั้งคำถามว่า หลังปฏิบัติการกู้ภัยโควิด-19 กรุงเทพฯ โดยทีมจรยุทธ์ที่ตรวจเชิงรุก 7 วัน แล้วหลังจากนี้ การตรวจเชิงเร็ว รักษาเร็ว จะเกิดต่อเนื่องขึ้นได้อย่างไร
“ผมไม่เคยคิดเลยว่าจะเกิดปรากฏการณ์โรงพยาบาลไม่มีเตียงรักษาผู้ป่วย มีคนตายจำนวนมาก และตายคาบ้านมากอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สิ่งเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้นกับประเทศไทย ที่เคยถูกยกย่องว่าเป็นประเทศที่มีระบบการแพทย์และสาธารณสุขดีติดอันดับโลก”
สำหรับ นิมิตร์ เทียนอุดม หนึ่งในคณะทำงานโควิดชุมชน เสนอว่า ครอบครัวที่มาตรวจแล้วพบว่า มีคนติดเชื้อและคนไม่ติดเชื้ออยู่บ้านเดียวกัน “น่าจะมีการแจก ATK ให้คนที่มีผลเป็นลบอย่างน้อยคนละ 3 ชิ้นไปเลย เพื่อเขาจะได้ตรวจซ้ำครั้งที่ 2 ภายใน 3 วัน และครั้งที่ 3 ในอีก 7 วัน เพื่อให้แน่ใจว่าพ้นจากระยะฟักตัวของเชื้อแล้วจึงจะมั่นใจว่า ‘ไม่ติดเชื้อ’ จริง ข้อจำกัดของการเข้าถึงการตรวจที่ง่ายและทำเองได้ ทำให้มีความเสี่ยงที่คนไม่ติดเชื้ออาจติดเชื้อภายหลังโดยไม่รู้ตัว”
มีผู้ติดเชื้อจำนวน 3,614 คน หรือ 22.3% ในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือกลุ่มสีเขียว ได้รับยาฟ้าทะลายโจรกลับบ้าน
ผู้ป่วยจำนวน 9,343 คน หรือคิดเป็น 57.7% ของคนที่มีอาการเล็กน้อย ได้รับยาต้านไวรัส ‘ฟาวิพิราเวียร์’ นับเป็นครั้งแรกที่มีการจ่ายยาต้านไวรัสชนิดนี้ในชุมชน รวมจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ในปฏิบัติการนี้ทั้งสิ้น 467,150 เม็ด
นิมิตร์ ระบุการตรวจเชื้อเชิงรุกครั้งนี้ ตั้งอยู่บนข้อสันนิษฐานว่า ตรวจเชื้อเร็ว รักษาเร็ว ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข อ้างว่ายามีจำนวนจำกัด เพราะต้องนำเข้าจาก บริษัท ฟูจิฟิล์ม โทยามะ เคมิคอล ประเทศญี่ปุ่น โดยจะจ่ายยานี้ ‘เฉพาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักในโรงพยาบาล’ จนไม่สามารถคุมการระบาดและมีผู้ป่วยเสียชีวิตจำนวนมาก
“ภาคประชาชนเรียกร้องให้บริษัทยาดังกล่าวถอนสิทธิบัตรในประเทศไทย และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผลิตได้เอง ทำให้ต้นทุนราคายาจากเม็ดละ 120 บาท ลดลงเหลือเม็ดละ 13-14 บาทเท่านั้น”
นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตอบรับว่า นี่คือปฏิบัติการทลาย “มายาคติของระบบการแพทย์” ที่ผูกขาดการจ่ายยาไว้ที่ “ผู้เชี่ยวชาญ” ก่อนหน้านี้ ยาฟาวิพิราเวียร์ ถูกกำหนดด้วยมาตรฐานการรักษาที่กรมการแพทย์ให้แนวทางไว้ว่า ผู้จ่ายยาควรเป็นอายุรแพทย์โรคติดเชื้อและจ่ายยาที่โรงพยาบาลเท่านั้น ในสถานการณ์ที่ผู้ป่วยล้นเตียงโรงพยาบาล ต้องเปิดโรงพยาบาลสนามหลายแห่ง ผู้ป่วยต้องยอมกักตัวรักษาตัวเองที่บ้าน และบางคนต้องไปอยู่ศูนย์พักคอยนาน จำเป็นต้องทำให้ยานี้จ่ายได้โดยง่าย เพื่อลดอัตราการป่วยรุนแรง ลดการใช้เตียง ICU ต้องทำทุกทางเพื่อรักษาชีวิตคนไว้
นพ.ยงยศ ยังมองเห็นสิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้นโดยเร็ว คือ หลังจากที่มีการกระจายชุดตรวจตนเอง ATK ฟรีให้ประชาชนและ อภ. ลดต้นทุนการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ แล้ว ประชาชนสามารถนำผลบวกจาก ATK มารับยาที่ร้านขายยา หรือ ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) คลินิกชุมชนอบอุ่นได้โดยไม่ต้องเสียเวลารอ และพลาดโอกาสการรักษาที่รวดเร็ว
เร่งฉีดวัคซีน ลดโอกาสตายแม้ได้รับเชื้อ
7,761 คน คือ ตัวเลขของผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกในปฏิบัติการหมอชนบทกู้ภัยโควิด-19 ครั้งนี้ เมื่อตรวจคัดกรองแล้วผลเป็นลบ และเป็นกลุ่มเสี่ยงที่หากติดเชื้อแล้วอาการหนักและอาจเสียชีวิต จะได้รับการพิจารณาให้ฉีดวัคซีนทันที
นพ.สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินี ณ อำเภอนาทวี จ.สงขลา บริหารวัคซีนที่ได้รับหน่วยละ 10 ขวด ให้สามารถดึงยาได้ถึง 120 โดส ทำให้ฉีดวัคซีนให้กลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น จึงได้ขยายนิยามคนทำงานด่านหน้าด้วย
ทีม รพ.นาทวี ได้ไปฉีดวัคซีนให้สัปเหร่อที่วัดสุทธิสะอาดจำนวน 3 คน ซึ่งพวกเขาช่วยกันเผาศพผู้ติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 2-3 ศพต่อวัน สัปเหร่อ เล่าว่า “ถ้าหมอไม่มาฉีดวัคซีนให้ถึงที่แบบนี้ ผมก็ไม่มีโอกาสไปฉีดแบบคนอื่น ต้องอยู่จัดการศพที่วัด”
นพ.สุวัฒน์ บอกว่า เจ้าหน้าที่วัดและลุง ๆ สัปเหร่อเหล่านี้ ถือเป็นบุคคลากรด่านหน้า เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง นำวัคซีนแอสตราเซเนกามาฉีดเข็มแรกให้ เข็มที่สองเจ้าหน้าที่จากศูนย์บริการสาธารณสุข 64 ของกรุงเทพมหานครจะมาฉีดเข็มที่ 2 ให้ในเดือนตุลาคม
พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. ให้สัมภาษณ์หลังทำงานร่วมกับทีมแพทย์ชนบทตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่ามีแผนเดินหน้าฉีดวัคซีนเป็นหลัก จากนี้จะเน้นไปที่ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง ตอนนี้ดูเหมือนสถานการณ์การระบาดในกรุงเทพฯ เริ่มทรงตัว มีแนวโน้มดีขึ้น เพราะฉีดวัคซีนได้จำนวนมาก
นพ.สุภัทร กล่าวว่า ในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้า เป็นระยะหน้าสิ่วหน้าขวานของการควบคุมการระบาด ประเทศไทยกำลังจะประสบปัญหาการขาดแคลนวัคซีนอย่างหนัก วิธีที่ตรงไปตรงมามากที่สุดที่ประเทศควรทำในขณะนี้ คือ การลดหรืองดการส่งออกวัคซีนที่ผลิตที่สยามไบโอไซเอนซ์เป็นการชั่วคราว ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีอำนาจตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงแห่งชาติด้านวัคซีน พ.ศ.2561 ในการดำเนินการเรื่องนี้อยู่แล้ว
สยามไบโอไซเอนซ์ มีกำลังการผลิตประมาณเดือนละ 10 ล้านโดส หากใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. ทำให้ประเทศมีวัคซีน 20-30 ล้านโดส ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ประเทศไทยจะมีโอกาสควบคุมการระบาดและลดความสูญเสียได้ดีขึ้นมาก เพราะ “หากวัคซีนมีน้อย คนอาจตายเพิ่มนับหมื่นคน”
โครงสร้างระบบสาธารณสุข “กรุงเทพฯ” ยังเหลื่อมล้ำ
“กรุงเทพฯ” มหานครที่เพียบพร้อมไปด้วยสถานพยาบาล บุคลากร และอุปกรณ์ทางการแพทย์ครบครัน
มีจำนวนสถานพยาบาลและหน่วยให้บริการด้านสาธารณสุข มากถึง 1,469 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นโรงพยาบาล 177 แห่ง และมีคลินิกเอกชนมากถึง 1,100 แห่ง
แต่การควบคุมโรคในกรุงเทพฯ ทำได้ยาก นั่นเพราะสิ่งที่ขาดหายไปจากเมืองใหญ่แห่งนี้ คือ “การแพทย์ปฐมภูมิ” ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของระบบสาธารณสุข
“การแพทย์ปฐมภูมิ” หรือ Primary care รับผิดชอบดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และควบคุมโรคระบาดอย่างต่อเนื่องร่วมกับประชาชน โดยประยุกต์ความรู้ทั้งทางด้านการแพทย์จิตวิทยา และสังคมศาสตร์ ในลักษณะผสมผสาน การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาโรค และการฟื้นฟูสภาพได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยแนวคิดแบบองค์รวม ให้แก่บุคคล ครอบครัว และชุมชน โดยมีระบบการส่งต่อและเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งประสานกับองค์กรชุมชนในท้องถิ่น เพื่อพัฒนาความรู้ของประชาชนในการดูแลส่งเสริมสุขภาพของตนเอง และสามารถดูแลตนเองเมื่อเจ็บป่วยได้อย่างสมดุล
วิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ ทำให้เห็น ความจำเป็นที่ต้องมีการปฏิรูประบบสาธารณสุข ในกรุงเทพฯ ที่แยกส่วน แม้จะมีโรงพยาบาลจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลทุติยภูมิ และตติยภูมิ ขณะที่ความสำคัญของการแพทย์ปฐมภูมิ ขาดหายไปจากระบบ
แม้กรุงเทพมหานคร จะมี “ศูนย์บริการสาธารณสุข” สังกัดสำนักอนามัย ของ กทม. กระจายอยู่ตามเขตต่าง ๆ ถึง 68 ศูนย์ แต่ศูนย์บริการสาธารณสุขเหล่านั้น จะถูกเรียกว่าเป็นระบบการแพทย์ขั้นปฐมภูมิของกรุงเทพมหานครได้หรือไม่ คงขึ้นอยู่กับว่า “ประชาชน” รับรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของศูนย์เหล่านี้มากน้อยแค่ไหน
หลายคนรู้สึกว่า “คนกรุงเทพฯ น่าสงสาร” เมื่อเปรียบเทียบกับคนต่างจังหวัด ที่สามารถเดินเข้าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ขยับขึ้นไปเป็นโรงพยาบาลอำเภอ และโรงพยาบาลจังหวัด ที่มีอยู่ในทุกพื้นที่ ขณะที่คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ต้องจ่ายเงินให้กับสถานพยาบาลเอกชน ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ถึง 70% ในพื้นที่
ขณะเดียวกัน เครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพฯ (อสส.) มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร และมีข้อจำกัดการเข้าถึงประชาชน ด้วยลักษณะสังคมเมือง มีความต่างคนต่างอยู่ ทำให้การแพทย์ปฐมภูมิค่อย ๆ เลือนหายไปจากพื้นที่
“คล้าย ๆ กับกาน้ำมันเดือด เราทำให้กาน้ำนี้มีรูระบายหน่อย”
นพ.สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินี ณ อำเภอนาทวี จ.สงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดสีแดงเข้ม เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร เขามองว่า กรุงเทพฯ คือ ต้นเพลิง ซึ่งการเดินทางมาทั้ง 3 ครั้ง นอกจากการร่วมตรวจเชิงรุกหวังช่วยคลี่คลายสถานการณ์ได้ระดับหนึ่ง เขายังเสนอว่า โครงสร้างระบบบริการสุขภาพในกทม. จำเป็นต้องปฏิรูปอย่างเร่งด่วน
“ถ้าอยู่กันอย่างนี้ ผมนึกภาพไม่ออกเลยว่าจะอยู่อย่างไร” นพ.สุวัฒน์ ยังบอกอีกว่า ระบบสุขภาพในต่างจังหวัดมีสถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ที่รู้จักและเข้าถึงชาวบ้านในระดับชุมชนได้ แต่ในกรุงเทพฯ แม้มีศูนย์บริการสาธารณสุข ของ กทม. อย่างน้อยเขตละ 1 ศูนย์ แต่ต้องดูแลประชาชนไม่ต่ำกว่า 2 แสนคน ไม่มีทางทำหน้าที่การแพทย์ปฐมภูมิได้
ยกตัวอย่าง เขตคลองสามวา ที่มีประชากร 204,900 คน มีสถานพยาบาลทั้งหมด 24 แห่ง ในจำนวนนี้ 22 แห่งเป็นคลินิกเอกชน ซึ่งดูแลเรื่องการรักษาเมื่อเจ็บป่วยเป็นหลัก แต่ถ้าเป็นเรื่องการควบคุมและป้องกันโรค มีเพียงศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 64 แห่งเดียวที่ทำหน้าที่โดยตรง
และแม้จะมีโรงพยาบาลคลองสามวา สังกัดสำนักการแพทย์ กทม. ที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2560 แม้ว่าตามแผนได้กำหนดให้ที่นี่เป็นโรงพยาบาลขนาด 250 เตียง รองรับประชาชนในโซนกรุงเทพฯ ตะวันออกราว 1 ล้านคน แต่ถึงเวลานี้ก็ยังรองรับเพียงผู้ป่วยนอก (OPD) เท่านั้น
เปรียบเทียบกับโรงพยาบาลจะนะ โรงพยาบาลชุมชนใน จ.สงขลา เป็นโรงพยาบาลขนาด 64 เตียง ดูแลประชาชนในอำเภอจะนะ ทั้ง 101,116 คน โดยในสถานการณ์โควิด-19 สามารถขยายเตียงได้มากถึงอีก 80 เตียง ยังไม่นับว่า มีเครือข่ายศูนย์สุขภาพชุมชนของโรงพยาบาลและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อีกกว่า 20 แห่ง ที่ทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ
หรือที่ โรงพยาบาลสมเด็จฯ นาทวี ของ นพ.สุวัฒน์ ก็เป็นโรงพยาบาลชุมชน ขนาด 90 เตียง ที่รับผู้ป่วยจริง 120 เตียง และยังสามารถเสริมเตียงได้อีกเช่นกัน เพื่อดูแลประชาชนราว 70,000 คน เท่านั้น
สิ่งหนึ่งที่แพทย์ชนบทคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นหลังจบภารกิจครั้งนี้ คือ กลไกรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมในกรุงเทพมหานคร ร่วมปฏิรูประบบสุขภาพ ทั้งด้วยองค์ความรู้ และการจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาระบบการแพทย์และสาธารณสุขของรัฐท้องถิ่นในกทม. เพื่อให้บริการประชาชนอย่างมีคุณคุณภาพ ด้วยสวัสดิการถ้วนหน้าในยามปกติ และมีขีดความสามารถ ยืดหยุ่น พร้อมปรับตัว เผชิญภาวะวิกฤตโรคระบาด ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
บทพิสูจน์ ตรวจเร็ว รักษาเร็ว มีโอกาสรอดได้
ปฏิบัติการกู้ภัยโควิด-19 ระหว่างวันที่ 4-10 สิงหาคม 2564 ผลการตรวจที่ยืนยันซ้ำด้วย RT-PCR ได้ถูกรายงานร่วมกับตัวเลขผู้ติดเชื้อของกระทรวงสาธารณสุข
ในช่วงเวลา 7 วันนั้น ศบค. รายงานจำนวนผู้เสียชีวิตรวม 1,273 คน หรือเฉลี่ย 182 คนต่อวัน ส่วนผู้ป่วยสีแดงมีจำนวนเฉลี่ย 7 วัน คือ 5,127 คน ดังนั้น อัตราการเสียชีวิตต่อวัน คือ 3.55% ของผู้ป่วยสีแดงในระบบ
ช่วงเวลาเดียวกันนี้ แพทย์ชนบท ตรวจพบผู้ป่วยสีแดง 331 คน หากทั้งหมดนี้ไม่ได้เข้าสู่ระบบการรักษา ก็อาจมีโอกาสเสียชีวิตได้ตั้งแต่ 3.55 – 100 % ซึ่งหมายความว่า การร่วมตรวจเชิงรุก และรักษาเร็ว ภายใต้ปฏิบัติการครั้งนี้ อาจช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยไว้ได้อย่างน้อย 319 คน
ในความเป็นจริงจะมากกว่านั้น!! เพราะนี่เป็นตัวเลขที่ยังไม่ได้คำนวณรวมกับผู้ป่วยสีเขียว และสีเหลือง ที่มักจะมีอาการรุนแรงขึ้นจนถึงขั้นเป็นสีแดง หากเข้าไม่ถึงระบบการตรวจและการรักษาด้วยยาที่จำเป็น
ค่าสถิติการเสียชีวิตที่เกินปกติ (Excess Mortality) สะท้อน “ผู้เสียชีวิตที่ไม่ถูกรายงาน”
จำนวนการเสียชีวิตที่สามารถลดลงได้จากการตรวจพบผู้ป่วยสีแดงเพิ่มเติมดังเช่นของแพทย์ชนบทนี้ เป็นจำนวนการเสียชีวิตที่จะไม่ปรากฏอยู่ในรายงานของทางการ แต่ปรากฏให้เห็นได้ในสถิติการเสียชีวิตที่เกินปกติ (Excess Mortality) ที่เปรียบเทียบจำนวนการเสียชีวิตรายเดือนหรือรายสัปดาห์ในปีปัจจุบัน กับค่าเฉลี่ยของปีก่อนหน้าที่ยังไม่เกิดการระบาดของโควิด-19
เช่น หากเทียบกับค่าเฉลี่ยของ พ.ศ. 2558-2562 เดือนเมษายน พฤษภาคม มิถุนายน และกรกฎาคม กับช่วงเดือนเดียวกันของ พ.ศ. 2564 จะมีจำนวนการเสียชีวิตเกินปกติอยู่ 660 คน 4,933 คน 6,505 และ 9,677 คน ตามลำดับ
และถ้าหักลบจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 รายเดือนที่ ศบค. รายงาน คือ 109 คน 828 คน 992 คน 2,834 คน ตามลำดับ จะได้จำนวนการเสียชีวิตเกินปกติที่ไม่รวมจำนวนการเสียชีวิตจากโควิด-19 ที่ทางการรายงานของทั้ง 4 เดือน คือ 551 คน 4,105 คน 5,513 คน และ 6,843 คน ตามลำดับ รวมเป็น 17,012 คน
จึงอนุมานได้ว่า จำนวนผู้เสียชีวิตที่เกินปกติในช่วงการระบาดระลอกสามและสี่ คือ เดือนเมษายน 18 คนต่อวัน เดือนพฤษภาคม 132 คนต่อวัน เดือนมิถุนายน 184 คนต่อวัน และ 221 คนต่อวันในเดือนกรกฎาคม ซึ่งทั้ง 17,012 คน อาจนับได้ว่าอาจความเชื่อมโยงกับการระบาดของโควิด-19 ด้วย
Excess Mortality นี้ มักถูกใช้ในงานระบาดวิทยาและการสาธารณสุข หมายถึงจำนวนการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุที่เกิดในช่วงวิกฤตการณ์ ที่สูงเกินกว่าจำนวนการเสียชีวิตที่คาดหมายได้ว่าจะเกิดภายใต้สถานการณ์ปกติ ซึ่งเป็นมาตรวัดที่ครอบคลุมผลทั้งหมดของวิกฤตการณ์
ในกรณีการระบาดโควิด-19 นี้ Excess Morality ไม่เพียงแต่นับจำนวนการเสียชีวิตจากโควิด-19 ที่ได้รับการยืนยันและรายงานแล้ว แต่ยังนับจำนวนการเสียชีวิตจากโควิด-19 ที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยและรายงานด้วยหลายสาเหตุ เช่น ขาดแคลนการตรวจคัดกรองเพื่อนำผู้ป่วยเข้าระบบ หรือเพราะไม่ได้รายงานการเสียชีวิตจากโควิด-19 ของผู้ป่วยสีแดงที่อยู่นอกระบบ ไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่นับจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 รวมไปถึงการเสียชีวิตการสาเหตุอื่นที่อาจเชื่อมโยงกับการระบาดของโควิด-19 ด้วย เช่น การเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคอื่นจากการที่ระบบสาธารณสุขรับภาระไม่ไหว หรือผู้ป่วยโรคทั่วไปเข้ารับการรักษาพยาบาลน้อยลง จนเกิดความเสี่ยงทางสุขภาพด้านอื่น ๆ ตามมา
นอกจากนี้ การตรวจพบผู้ป่วยสีเขียวจำนวน 11,216 คน และผู้ป่วยสีเหลืองจำนวน 4,639 คน ของแพทย์ชนบท ยังนำไปสู่การแยกผู้ป่วยออกจากชุมชนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นทั้งการลดอัตราการติดเชื้อใหม่และลดจำนวนผู้ป่วยสีเขียวนอกระบบที่จะกลายเป็นสีเหลือง และลดจำนวนผู้ป่วยสีเหลืองนอกระบบที่จะกลายเป็นสีแดง นำไปสู่การลดจำนวนการเสียชีวิตเพิ่มเติมอีกในอนาคต
ปฏิบัติการกู้ภัยโควิด-19 ที่หมอจากชนบท เข้ามาร่วมกับหน่วยงานรัฐและภาคประชาสังคมในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการตรวจคัดกรองเชิงรุกที่กว้างขวางและรวดเร็ว ที่จะลดอัตราและจำนวนการติดเชื้อ ลดความรุนแรงของโรคด้วยการรักษาเร็ว และลดจำนวนผู้เสียชีวิต
เพราะแต่ละชีวิตที่ต้องตายไป ไม่ใช่เพียงแค่ตัวเลข…
ปฏิบัติการทุ่มสุดตัว ฝ่าทุกข้อจำกัดของระบบที่เป็นอุปสรรค ของขบวนการหมอชนบทในเมืองกรุงครั้งนี้ พิสูจน์ว่าตัวเลขทุกตัวที่ฟังจนเคยชิน คือชีวิตที่มีความหมาย และ “รักษา” ไว้ได้ด้วยความร่วมมือที่จริงจัง
หมายเหตุ โมเดลระบาดวิทยาแบบ SIR ที่แยกผู้ป่วยเป็นสามระดับ (สีเขียว เหลือง แดง) และมีการกักตัว
อ้างอิง
- Excess mortality during the Coronavirus pandemic (COVID-19)
- ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร
- จำนวนสถานพยาบาล จำแนกตามประเภท สังกัดกระทรวงสาธารณสุข
- ห่วงการติดเชื้อในครัวเรือน และการเข้าถึงยาเพื่อรักษาทันที
- “แพทย์ชนบท” บุกกรุงฯ ตรวจเชิงรุก ปิดแผลระบบสาธารณสุข กทม.
- กทม. ทุ่ม 2 พันล้านสร้างโรงพยาบาลคลองสามวารองรับผู้ป่วยโซนตะวันออก
- ระบบสารสนเทศด้านข้อมูลสุขภาพจังหวัดสงขลา
- ผู้ป่วยโควิดกลับภูมิลำเนา 9.4 หมื่นราย คาดอีก 2 สัปดาห์ยอด ตจว. ถึงจุดพีค
- ศูนย์ข้อมูล COVID-19