สถาปนา “พื้นที่กลางใหม่” ส่งสัญญาณเปิดพื้นที่ปรึกษาหารือสาธารณะ ?

ย้อนภาพบรรยากาศเวทีสมัชชาสันติภาพชายแดนแดนใต้ปาตานี ครั้งที่ 4: ตลาดนัดสันติภาพ #พื้นที่กลางใหม่ ที่จัดโดยสภาประชาสังคมชายแดนใต้และเครือข่ายจำนวนมาก เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ในวาระครบรอบ 10 ปีกระบวนการสันติภาพกันอีกสักครั้ง

‘ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี’ ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุว่า ภาคประชาสังคมเคยร่วมกันสร้าง “พื้นที่กลางสร้างสันติภาพจากคนใน” มาก่อนที่จะมีการพูดคุยสันติภาพ “อย่างเป็นทางการ” ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2556 และคอยติดตามอย่างใกล้ชิด หนุนเสริมกระบวนการสันติภาพที่เปราะบางนั้น (safety net)

การมี “#พื้นที่กลางสันติภาพจากคนใน” นับตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งเป็นพื้นที่ทางการเมืองรูปแบบหนึ่ง มีผู้เข้าร่วมจากหลากหลายกลุ่ม มีความเป็นอิสระ เข้ามาแสดงออกอย่างเท่าเทียม มีเสรีภาพในการเรียกร้องความต้องการของตนเองร่วมกับกลุ่มต่าง ๆ เพื่อหาทางออกจากความขัดแย้ง และยังมีบทบาทหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพซึ่งพวกเขาไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นได้จริงในปี 2556 ด้วยซ้ำ

“#พื้นที่กลางสันติภาพจากคนใน” ทำให้พื้นที่สาธารณะกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัย และพื้นที่สนทนาของภาคประชาสังคมที่สยายตัวออกไปตามชุมชนและหมู่บ้าน กลายเป็นพื้นที่พูดคุย “นอกโต๊ะเจรจา” กลายเป็นพื้นที่ต่อรองกับความรุนแรงได้ระดับหนึ่ง ทำให้ตั้งแต่ภาคประชาสังคมและชาวบ้านสามารถพูดคุย พยายามช่วยกันหาทางออกจากความรุนแรง ประเด็นที่เคยเป็นเรื่องต้องห้าม เช่น เรื่องการปกครองตนเอง และ “เอกราช” (Merdeka) รวมทั้งสิทธิในการ กำหนดชะตากรรมตัวเอง ได้ถูกหยิบยกมาอภิปรายได้ในพื้นที่สาธารณะ การอภิปรายประเด็นเหล่านี้ โดยเฉพาะเรื่องเอกราชอย่างเปิดเผยเป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการในช่วงที่ผ่านมา

จนกระทั่งปี 2557 การรัฐประหารที่ส่วนกลางมีผลต่อกระบวนการพูดคุยอย่างมาก แม้รัฐบาลจะเดินหน้าผลักดันการพูดคุยต่อ แต่ก็ลดทอนเหลือแค่การ “สร้างสันติสุข” ไม่ใช่สันติภาพเหมือนที่ผ่านมา โดยผู้มีอำนาจพยายามกุมสภาพการพูดคุยกลับมา ไม่ให้มุ่งเน้นแต่เรื่องของอำนาจการปกครองเป็นหลัก แต่ให้มีการพูดคุยเรื่องการสร้างความสงบสุขในพื้นที่ การป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม

ปัจจัยที่ทำให้ “พื้นที่กลาง” และ “พื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัย” ของภาคประชาชนหายไป ‘ศรีสมภพ’ ระบุว่า ภาครัฐ โดยฝ่ายความมั่นคงเข้ามาจัดการ ‘พื้นที่กลาง’ นี้เอง ผ่านคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 230/2557 มีการจัดโครงสร้างกลไกการขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยสันติสุขใหม่ เป็น 3 ชั้น มีคณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ (สล.1)เป็นส่วนกำหนดนโยบายลงมา มีคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ (สล.2) และมีคณะประสานงานระดับพื้นที่ (สล.3) โดยกอ.รมน ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นผู้ดูแลจัดการอยู่

“จากเดิมพื้นที่กลางที่เคยหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ ก็กลายเป็นพื้นที่กลางโดยรัฐ (สล.3) เพื่อไปหนุนเสริม “คณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย” (สล.2) ตามโครงสร้างอำนาจรัฐที่กำหนดลงมาจัดตั้งขึ้นมาใหม่”

ภาคประชาสังคมจำนวนหนึ่งที่เคยมีจิตใจปรารถนาจะผลักดันกระบวนการสันติภาพก็ถอยห่างและเริ่มต่างคนต่างทำงาน จนกระทั่ง, การพูดคุยสันติภาพกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และขบวนการบีอาร์เอ็นกลับขึ้นบนโต๊ะเจรจาอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ก็เริ่มมีการตั้งข้อสังเกตว่า “พื้นที่กลางที่รัฐจัดให้” น่าจะขาดการมีส่วนร่วมและการจัดการรวบรวมเสียงจากกลุ่มผู้เห็นต่างด้วย และเมื่อมาเลเซียเปลี่ยนรัฐบาลใหม่เมื่อปลายปี 2565 มีการแต่งตั้งผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ ต้นปี 2566 ก็ต้องการผลักดัน “เนื้อหาสารัตถะ” หรือกรอบในการพูดคุย 3 ประเด็น: การลดความรุนแรง การปรึกษาหารือสาธารณะ และการแสวงหาทางออกทางการเมือง ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ทว่า ทั้งสามเรื่องนี้ไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้ เพราะไม่มีพื้นที่ที่ปลอดภัย หรือกลไกของการปรึกษาหารือสาธารณะ ที่เป็น “พื้นที่ทางการเมือง” อย่างมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายจริง

กล่าวกันว่า ปาฐกถาไตรภาคในช่วงบ่าย ระหว่างปาร์ตี้ A: (พลเทพ ธนโกเศศ ตัวแทน) พลเอกวัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ชุดปัจจุบัน ปาร์ตี้ B: อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็น และพลเอกซุลกิฟลี ไซนัส อาบีดิน ผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ เป็นการตกลงกันมาก่อนหน้าแล้วว่าจะปรากฏตัวพร้อมกันในงาน เพื่อ “ส่งสัญญาณ” ให้ภาคประชาสังคมสามารถเปิดพื้นที่การเมือง และรวมกันหาข้อสรุปรูปแบบและกลไกในการปรึกษาหารือสาธารณะเพื่อหาทางออกทางการเมือง ขณะเดียวกัน ก็ใช้พื้นที่ของ การจัดงานนี้ ให้ทั้งสามฝ่ายรับ “ข้อเสนอ” ที่เกี่ยวข้องกับกรอบการพูดคุยกลับไปด้วย

แน่นอน. กระบวนการสันติภาพนั้นทำหน้ารักษาความหวังของผู้คนในพื้นที่ความขัดแย้งรุนแรงที่ยืดเยื้อมายาวนาน แต่ “สัญญาณ” ที่ตัวละครหลักบนโต๊ะพูดคุยส่งต่อมาที่ภาคประชาสังคมนั้น มีแรงเหวี่ยงให้สั่นสะเทือนหรือแรงพอที่จะให้มีการขับเคลื่อนหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพเหมือนเมื่อก่อนไหม พูดยาก เหมือนกับว่างานจบแล้ว ทุกคนก็กลับบ้านไปเสียเฉย ๆ เลย วันรุ่งขึ้น เกิดเหตุคนร้ายใช้ระเบิดแสวงเครื่องแบบไปป์บอมบ์และอาวุธปืนยิงใส่ฐานปฏิบัติการ กองร้อยทหารพราน ที่อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส วันต่อมาก็เกิดเหตุลอบวางระเบิด-ซุ่มยิงขบวนรถรองแม่ทัพภาค 4 ขณะเดินทางไปตรวจสอบ เหตุคนร้ายโจมตีฐานทหารพรานร้อยดังกล่าว และเร็ว ๆ นี้ ก็มีการปิดล้อมตรวจค้นบ้านของนักศึกษา นักกิจกรรมทางสังคม และสื่อท้องถิ่น “เหตุการณ์ยังรุนแรงปกติ” ใครบางคนกล่าว เหมือนมีคนไม่ต้องการสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพูดคุย

บางส่วนของ “ข้อเสนอ” ขององค์กร เครือข่ายภาคประชาสังคมต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างฝ่ายไทยและขบวนการบีอาร์เอ็น ในวาระครบรอบ 10 ปี การพูดคุยสันติภาพ “อย่างเป็นทางการ” ที่ “สภาประชาสังคมชายแดนใต้” พยายามสถาปนา “พื้นที่กลางใหม่” ขึ้นมา เพื่อเปิดพื้นที่การเมืองที่มีความเป็นอิสระ มีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายได้จริง ๆ มีการยอมรับซึ่งกันและกันในการทำงานทางความคิด ต่อรองกันได้ ผ่านการจัดงานสมัชชาสันติภาพชายแดนใต้ปาตานี ครั้งที่ 4: ตลาดนัดสันติภาพ พื้นที่กลางใหม่ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีประเด็นและข้อเสนอที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้

“ขอบคุณที่เปิดพื้นที่ให้คนเปราะบางและคนพิการมีสิทธิมีเสียงที่เท่าเทียมเพื่อผลักดันสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ผมเป็นคนพิการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ ผมถูกยิงในปี 2556 ซึ่งเป็นปีที่มีการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการ ยอมรับว่ามีความกระหายอยากได้สันติภาพอย่างมาก ชีวิตความเป็นอยู่ถูกกดทับจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ถูกกดทับจากสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ ทำให้คนเปราะบางและคนพิการใช้ชีวิตอย่างยากลำบากถูกดูถูกดูแคลน  เอารัดเอาเปรียบ ถูกเลือกปฏิบัติ จากคนที่ไม่เข้าใจ มองว่าปัญหาของคนพิการเป็นปัญหาที่ไม่สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นกว่านี้ได้แล้ว”

สุขกรี อีแตเครือข่ายกลุ่มคนเปราะบางและผู้คนพิการ

ปี 2563 ที่ผ่านมา เราได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิพัฒนาศักยภาพคนพิการและหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ สร้างศูนย์เรียนรู้ร่วมพัฒนาศักยภาพคนพิการชายแดนใต้ จนเป็นต้นแบบจัดสวัสดิการสำหรับคนพิการจำนวนหนึ่งได้แล้ว สามารถช่วยเหลือพวกเขาได้จริงและครอบคลุมการดำรงชีวิตของคนพิการ นำไปสู่การอยู่ร่วมกันในสังคมและใช้ชีวิตได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ในสถานการณ์ความไม่สงบ หรือสถานการณ์สงคราม หนีไม่พ้นความสูญเสีย ทั้งการสูญชีวิต การบาดเจ็บ พิการ เราแม้จะเป็นคนพิการ ไม่ต้องการให้มีการสูญเสียเพิ่มขึ้นอีกแล้ว ถ้าหนีไม่ได้ก็อยากเห็นสันติภาพในพื้นที่ หรือมีที่รองรับกลุ่มคนเหล่านี้ได้เป็นอย่างน้อย ไม่ว่าสถานการณ์การเมืองและการปกครองจะเป็นอย่างไร ทิศทางใดก็ตาม ความพิการก็จะติดตามกับคนกลุ่มนี้ไปโดยตลอด ดังนั้น กลุ่มคนเปราะบางและคนพิการก็ยังต้องการผู้นำ ผู้ปกครอง หรือผู้บริหารบ้านเมืองที่มีความเข้าใจในการแก้ไขปัญหาด้วยการจัดสวัสดิการ หรือการสนับสนุนการพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยความเข้าใจจริง ขอบคุณอีกครั้งครับ ที่เปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้มีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสันติภาพครั้งนี้ด้วย

“สภาประชาสังคมชายแดนใต้” ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2554 ด้วยความร่วมมือขององค์กรประชาสังคม 35 องค์กร เป็นองค์กรที่มีความหลากหลายในด้านอัตลักษณ์ ศาสนา และวัฒนธรรม อับดุลการีม อัสมะแอ
ประธานสภาประชาสังคมชายแแดนใต้ ระบุว่า สภาฯ​เป็นพื้นที่ในการร่วมแสวงหาแนวทางการใช้สันติวิธีในการแก้ไขความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่ผ่านมานอกจากการจัดเวทีสาธารณะในประเด็นที่หนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ สภาฯ ยังรวบรวมข้อเสนอจากองค์กรภาคประชาสังคมเพื่อเสนอต่อฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยมี 8 ประเด็นซึ่งมีความสำคัญต่อปัจจัยในการแก้ปัญหาใน จชต. เช่น ความปลอดภัย กระบวนการยุติธรรมและสิทธฺมนุษยชน กระบวนการพูดคุยสันติภาพ สิ่งแวดล้อมและการจัดการทรัพยากรที่เป็นธรรม ฯลฯ โดยมีการยื่นและนำเสนอต่อ ปาร์ตี้ เอ (รัฐไทย) และปาร์ตี้ บีี (ฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐ) ของการพูดคุยสันติภาพ รวมทั้งผู้อำนวยการความสะดวกประเทศมาเลเซีย

สภาฯ ยังพยายามจัดวงสานเสวนาและการลงนามข้อตกลงระหว่างนักการเมืองกับภาคประชาสังคมชายแดนใต้เพื่อผลักดันการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 ได้ยื่นหนังต่อสภาผู้แทนราษฎรเสนอเร่งรัดให้ตั้งคณะกรรมาธฺการวิสามัญเพื่อศึกษากระบวนการพูดคุยสันติภาพ รวมทั้ง ให้มีการจัดการความขัดแย้งระดับชุมชนบ้านดาโต๊ะ ตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน และนำไปสู่การพัฒนาชุมชน

สภาประชาสังคมชายแดนใต้เป็นกลไกหนึ่งที่มีส่วนสำคัญต่อกระบวนการสันติภาพในการเป็นพื้นที่กลางให้แก่ทุกกลุ่มทุกฝ่ายที่แสดงเจตจำนงที่สนับสนุนกระบวนการสันติภาพ ดังนั้น ประชาสังคมชายแดนใต้ขอให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องรับฟังเสียงที่เป็นข้อเสนอจากประชาชน และได้โปรดนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้สารัตถะ 3 ข้อ ด้วยความจริงใจระหว่างกัน เพื่อนำสันติภาพกลับคืนสู่ดินแดนชายแดนใต้ปาตานี

มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เกิดขึ้นจากการรวมตัวของนักกฎหมายและทนายความที่มีจิตสาธารณะ ช่วยเหลือสังคมที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมและผู้ยากไร้ในการเข้าถึงสิทธิกระบวนการยุติธรมและการได้รับการคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยการสานต่อเจตนารมณ์และอุดมการณ์ให้ความช่วยเหลือทางด้านคดีของทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่ถูกบังคับสูญหายในปี 2547 โดยเฉพาะคดีที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ มาจนถึงปัจจุบัน

หลังจากกระบวนการเจรจาสันติภาพได้เกิดขึ้นช่วงปี 2556 ทางมูลนิธิฯ ได้มีการปรับตัวในเชิงนโยบายการทำงานประเด็นความยุติธรรม มีความเกี่ยวโยงกับกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่ได้อย่างไร จนเป็นที่ตกผลึกร่วมกันว่า “สันติภาพจะไม่มีทางเกิดขึ้น ตราบใดที่ไม่สามารถขจัดความอยุติธรรมที่เกิดจากทั้งเชิงโครงสร้างและเชิงวัฒนธรรมที่มีปัญหา ที่ส่งผลก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมทางสังคมในพื้นที่หลายด้าน ๆ ด้าน” ซึ่งมีความสลับซับซ้อนพอสมควร จึงได้ออกสโลแกนรณรงค์ ชื่อว่า “No Justtice No Peace”

มุมมองด้านกระบวนการสร้างสันติภาพอาจมีมุมมองที่แตกต่าง หลากหลาย มีหลายทฤษฎี มีหลายตัวอย่างมากมายจากที่ต่าง ๆ ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการแสวงหาทางออกทางการเมืองนั้นย่อมดีกว่าเสมอ วันนี้ เราอาจแบ่งสันติภาพได้ 2 ลักษณะ มีทั้งสันติภาพเชิงลบและสันติภาพเชิงบวก ล้วนย่อมมีความสำคัญทั้งสิ้นในการแสวงหาสันติภาพที่ยั่งยืน อย่างไรก้ตาม มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมขอยืนยันหลักการที่ว่า “สันติภาพต้องสร้างด้วยการให้ความเป็นธรรมกับสังคม”

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี เครือข่ายวิชาการ Peace Survey ระบุว่า “การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้” หรือ “Peace Survey” ทำมาอย่างต่อเนื่อง 6 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2559 และจะลงเก็บข้อมูลภาคสนามในเดือนมีนาคม – เมษายน 2566 นี้เพื่อเป็นการสำรวจครั้งที่ 7 โดยความร่วมมือหระหว่างสถาบันวิชาการ หน่วยงานอิสระ และองค์กรภาคประชาสังคม ทั้งในและนอกพื้นที่จำนวน 24 องค์กร มีเป้าหมายสำคัญในการแสวงหาและรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อประโยชน์ในการแก้ปัญหา จชต. ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสำรวจความเห็นของประชาชนต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพูดคุยซึ่งมุ่งจะให้กลายเป็น Peace Poll ในที่สุด ดังเช่นที่เกิดในกระบวนการสันติภาพไอร์แลนด์เหนือ การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนนี้

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2554 สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับเครือข่ายวิชาการ 24 องค์กร แถลง Peace Survey ครั้งที่ 6 โดยครั้งนั้นรวบรวมกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,391 ตัวอย่าง ที่อาศัยในพื้นที่ 3 จชต.และอีก 4 อำเภอ จ.สงขลา ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลเชิงลึกระหว่างวันที่ 16 เมษายน – 30 กรกฎาคม 2564 ผลสำรวจสะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 44 ระบุว่าหลังการพูดคุยสันติภาพแล้วสถานการณ์ความรุนแรงยังเหมือนเดิม ขณะที่ 32.9 ระบุว่าสถานการณ์ดีขึ้น ส่วนอีกร้อยละ 16 ระบุว่าสถานการณ์แย่ลง

ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับความหวังต่อการเกิดสันติภาพในพื้นที่นั้น ประชาชนกลุ่มตัวอย่างเกือบครึ่งหนึ่ง คือ ร้อยละ 49.8 มีความหวังและมีความหวังมาก ว่าภายใน 5 ปีจะเกิดข้อตกลงสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 63.2 สนับสนุนให้ใช้กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพเพื่อแก้ปัญหา รวมทั้งร้อยละ 89 มีความเชื่อมั่นและเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่ากระบวนการรพูดคุยจะช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความหวัง ความเชื่อมั่น และให้การสนับสนุนกระบวนการพูดคุยสันติภาพ แต่ประชาชนเพียงร้อยละ 30.3 ที่เห็นว่ากระบวนการพูดคุยมีความก้าวหน้า ขณะที่ส่วนใหญ่ระบุว่า ไม่มีความก้าวหน้า หรือขอไม่ตอบ และไม่รู้เกี่ยวกับการพูดคุย จะเห็นว่า ผลสำรวจ สะท้อนความไม่แน่นอนของเหตุการณ์และประชาชนให้ความหวังต่อการพูดคุยสันติภาพสูง ดังนั้น ทำอย่างไรให้เกิดรูปธรรมในการพูดคุยให้มากขึ้น

ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับรูปแบบการปกครอง จากผลการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 44.9 มีความเห็นว่า การพูดคุยในประเด็นรูปแบบการปกครองที่มีลักษณะเฉพาะของพื้นที่นี้ ภายใต้กฎหมายของประเทศไทย เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เขตปกครองพิเศษ มีกลุ่มตัวอย่างต้องการให้เป็นอย่างนั้นและจำเป็นอย่างยิ่ง ร้อยละ 24 ส่วนรูปแบบการปกครองที่เป็นอิสระจากประเทศไทยนั้น มีเพียงร้อยละ 13.4 เลือกรูปแบบการปกครองแบบนี้ ทั้งนี้ รูปแบบการปกครองประเด็นนี้ มีผู้ระบุขอไม่ตอบและไม่รู้ สูงถึงหนึ่งในสาม คือร้อยละ 35.2 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนไหวและความกังวลในการแสดงออกทางคิดในประเด็นดังกล่าว

ในการสำรวจครั้งที่ 7 ซึ่งทำในรอบ 8 ปี เครือข่ายวิชาการที่เข้าร่วมโครงการก็ขยายตัวมีจำนวนมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ Peace Survey เป็นหนึ่งในพื้นที่ในการปรึกษาหารือสาธารณะ (Public Consultation) ที่สำคัญผลการสำรวจทุกครั้งได้ส่งให้กับผู้พูดคุยบนโต๊ะเจรจาทั้งสองฝ่าย Peace Survey จึงสำคัญมากต่อการพัฒนารูปแบบหรือกลไกในการพัฒนาปรึกษาหารือสาธารณะเพื่อสันติภาพชายแดนภาคใต้ต่อไป

โซรยา จามจุรี คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ (Women’s agenda for peace – PAOW) ระบุว่า คณะทำงานวาระผู้หญิงชายชายแดนใต้ เกิดจากการรวมตัวถอดบทเรียนการทำงานของ “ขบวนการผู้หญิงเพื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี” ซึ่งมีองค์กรสมาชิกรวม 23 องค์กร ทั้งพุทธและมุสลิม โดยเริ่มต้นผลักดันและรณรงค์ประเด็นด้านสันติภาพกันอย่างเป็นรูปธรรม นับตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2558 ที่เป็นวันเริ่มก่อตั้ง ถือเป็นเครือข่ายผู้หญิง นักกิจกรรม นักวิชาการ ผู้นำชุมชน ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรง รวมถึงผู้ที่ทำงานในประเด็นผู้หญิงในจังหวัดชายแดนใต้

ก้าวย่างที่สำคัญเกิดขึ้น เมื่อมีกระบวนการพูดคุยสันติภาพรระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยและขบวนการบีอาร์เอ็น ในปี 2556 ซึ่งเครือข่ายผู้หญิงหลายองค์กรมีความเห็นตรงกันว่าควรร่วมเรียกร้องเพื่อขอให้ “ยุติความรุนแรง” ต่อผู้หญิงและประชาชน พลเรือน อันเนื่องจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นร่วมทศวรรษได้ส่งผลโดยตรงและโอบอ้อมต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้หญิง ผู้หญิงกลายเป็นผู้รองรับผลและปัญหานานัปการ ต้องแบกรับภาระครอบครัว ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ต้องดูแลเด็กกำพร้า คนพิการ ทั้งยังต้องพยายามรักษาอัตลักษณ์และวิถีชีวิตท้องถิ่น

การขับเคลื่อนของคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ อยู่บนหลัการวางตัวเป็นกลางเพื่อสร้างการยอมรับจากทุกฝ่าย ทำงานบนฐานของพหุศาสนิก พหุวัฒนธรรม โดยไม่เลือกปฏิบัติต่อชาติพันธุ์และศาสนา ยึดหลักสันติวิธีและหลักการ สิทธิมนุษยชน ส่งเสริมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และมุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพ (Capacity building) พลังอำนาจ (empowerment) แก่ผู้หญิงในชุมชนทุกระดับ

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา การขับเคลื่อนงานของคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ เพื่อหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ มีความโดดเด่นและขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงปี 2558-2559 เพื่อผลักดันนโยบายให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ และเรียกร้อง “พื้นที่สาธารณะปลอดภัย”: ทั้งโรงเรียน วัด ถนนที่ผู้คนสัญจรไปยังจุดต่าง ๆ ตลาด เสนอต่อคณะพูดคุยสันติภาพทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายมารา ปาตานี ที่กำลังจะเปิดการพูดคุยรอบใหม่ที่ประเทศมาเลเซีย ในวันที่ 2 กันยายน 2559 และขอให้ผู้พูดคุยนำข้อเรียกร้องนี้บรรจุเป็นวาระของการพูดคุยบนโต๊ะ

ข้อเสนอดังกล่าวผ่านการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้หญิงและคนในชุมชนมุสลิมและชุมชนพุทธที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรง จำนวน 5 เวที รวม 500 คน ในจ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เพื่อจัดทำข้อเสนอ “พื้นที่สาธารณะปลอดภัย” อาจเรียกได้ว่ากระบวนการจัดเวทีและรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว ที่กลุ่มผู้หญิงเรียกว่าประชาหารือหรือสานเสวนา เป็นกระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะ (public consultation) รูปแบบหนึ่ง ที่มุ่งเน้นการรับฟังเสียงของผู้หญิง และคนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงโดยตรง โดยมีแกนนำผู้หญิงจาก PAOW เป็นผู้จัดเวทีและกระบวนการได้รับการตอบรับจากคู่พูดคุยและแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ โดยทั้งสองฝ่าย มีข้อตกลงร่วมกันที่จะให้มีพื้นที่ปลอดภัย (safety zone) และพื้นที่สาธารณะผลอดภัยจะเป็นหนึ่งในเรื่องที่จะพิจารณาร่วมกัน

แต่ภายหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวหัวหน้าคณะพูดคุยทั้ง 2 ฝ่าย กลุ่มผู้พูดคุย รวมถึงผู้อำนวยความสะดวกทำให้ไม่มีการหยิบยกเรื่องนี้มาพิจารณาต่อ ข้อเรียกร้องดังกล่าว ยังคงอยู่ในกระแสความสนใจของสื่อมวลชน นักวิชาการ และผู้คนในสังคม โดยเฉพาะคนในชุมชนชายแดนใต้เองที่ต้องการพื้นที่ปลอดภัย ในการสำรวจ Peace Survey มาแล้ว 6 ครั้ง เรื่องของการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในชุมชน ยังคงเป็นมาตรการเร่งด่วน ที่คนในชุมชนเรียกร้องให้เกิดขึ้นจนถึงทุกวันนี้

แม้สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่สาธารณะจะลดลง แต่ก็ยังไม่มีหลักประกันเรื่องความปลอดภัยที่ชัดเจนและยั่งยืนในเรื่องนี้จากคู่ขัดแย้ง รวมไปถึงพื้นที่การทำงานของผู้หญิงและนักกิจกรรมทางสังคมทั้งหญิงและชายก็ยังประสบปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยและไม่เป็นอิสระ ในขณะเดียวกัน การส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ และทำให้บทบาทผู้หญิงได้รับการยอมรับ ทั้งจากคู่พูดคุยและสังคมในวงกว้าง ก็ยังคงเป็นภาระหนักหน่วงที่กลุ่มองค์กรผู้หญิง 23 องค์กรในเครือข่าย PAOW ยังคงขับเคลื่อนต่อไป

และการยืนยัน “พื้นที่สาธารณะปลอดภัย” ยังเป็นจุดยืนของ PAOW สำหรับรายละเอียดข้อเรียกร้องเรื่อง มีดังนี้

  1. ผู้ใช้กำลังอาวุธทุกฝ่ายต้องยุติการก่อเหตุรุนแรงและปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่สาธารณะ เพื่อไม่ให้ผู้หญิงได้รับผลกระทบที่นำไปสู่การเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ และขาดพื้นที่ปลอดภัยในชีวิตประจำวันและทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นต่อผู้หญิงและทุกคนในครอบครัว
  2. ขอให้คู่ขัดแย้งเดินหน้ากระบวนการพูดคุย เพื่อแก้ไขความขัดแย้งด้วยวิธีการและกระบวนการทางการเมือง และให้นำข้อเรียกร้องเรื่องพื้นที่สาธารณะปลอดภัยของผู้หญิง บรรจุเป็นวาระสำคัญในการพูดคุย เพื่อทำให้ข้อเสนอดังกล่าวเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
  3. เปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงนักกิจกรรมภาคประชาสังคม ทำงานอย่างปลอดภัยและเป็นอิสระ ไม่ถูกจับตา แทรกแซง ข่มขู่คุกคามจากคู่ขัดแย้ง เพราะที่จริงแล้ว บทบาทการทำงานของผู้หญิงภาคประชาสังคมที่ผ่านมา เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและทุกฝ่าย โดยเฉพาะการตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่นำไปสู่การลดเงื่อนไขของการก่อเหตุ
  4. ขอเชิญชวน “ทุกภาคส่วน” เข้าร่วมกิจกรรมประชาหารือหรือสานเสวนา เพื่อหาทางออกในวิถีทางสันติ พร้อมลงมือดำเนินการตามบริบทของพื้นที่นั้น ๆ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงทุกคนในชายแดนใต้ร่วมกัน

คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้สนับสนุนกระบวนการพูดคุยสันติภาพ เนื่องจากเป็นแนวทางการเมืองและสันติวิธี และมีความหวังว่ากระบวนการพูดคุยจะนำไปสู่การแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งร่วมกันได้ อย่างไรก็ตาม ผู้พูดคุยต้องแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ (political will) ที่ชัดเจนกว่านี้ นอกจากนี้ ต้องเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิง ครอบคลุม (inclusive) ผู้คนทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย คำนึงถึงเพศสภาวะ (gender responsive) และการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อและเป็นเอกภาพกับกระบวนการพูดคุย

มูฮัมหมัดอาฟีฟี อัซซอลีฮีย์ เครือข่ายการศึกษาและอิสลามศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ ระบุว่า เครือข่ายการศึกษาและอิลามศึกษาจังหวัดชายแดนใต้เกิดขึ้นมาพร้อมกับการก่อเกิดสถาบันการศึกษาและสถาบันการศึกษาอิสลามในพื้นที่ชายแดนใต้ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 สำหรับสถาบันการศึกษาอิสลามนั้นมีหลากหลายรูปแบบ จัดการศึกษาตั้งแต่ปฐมวัยไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ลักษณะของสถาบันมีทั้งในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย สถาบันการศึกษาอิสลามที่ทุกท่านมักคุ้นกันอย่างยาวนานคือ “สถาบันปอเนาะ” ซึ่งรัฐได้ให้จดทะเบียนในช่วงประมาณปี 2504 พร้อม ๆ กับการมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1

ปัจจุบันสถาบันการศึกษาอิสลามในประเทศไทยมีหลากหลายรูปแบบและมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทและยุคสมัย เช่น สถาบันอัลกุรอาน มัจลิซออิลมี ตาดีกา สถาบันปอเนาะ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม โรงเรียนเอกชนสามัญ และสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาอิสลาม โดยองค์กรเครือข่ายการศึกษาในพื้นที่มีหลายองค์กรในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น สมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม สมาคมเครือข่ายโรงเรียนคุณภาพอัสสลาม สมาคมโรงเรียนตาดีกา (PUSAKA) ชมรมโรงเรียน กลุ่มโรงเรียน และเครือข่ายอิสลามศึกษาระดับอุดมศึกษา

องค์กรการศึกษาในพื้นที่มีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการในการสร้างสันติภาพชายแดนใต้ เนื่องจากการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคน และคนก็คือตัวแปรหลักในกระบวนการสร้างสันติภาพ

เครือข่ายการศึกษาและอิสลามศึกษาทำหน้าที่หลักในการพัฒนาบุคคลให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป้าหมายสูงสุดก็คือการสร้างมนุษย์ที่สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสันติ นั้นคือหัวใจของการศึกษา และยืนหยัดบนหลักการสร้างสันติภาพด้วยกับการสร้างคนรุ่นต่อรุ่นที่มาขับเคลื่องสังคมให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ

เครือข่ายการศึกษาและอิสลามศึกษาคาดหวังอย่างยิ่งให้การศึกษาเป็นเครื่องมือในทุกกระบวนการของการส่งเสริมการสร้างสันติภาพ โดยส่งเสริมทัศนคติและทักษะที่จำเป็นต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เช่นเดียวกัน การศึกษา บุคลากรทางการศึกษา ผู้เรียน สถาบันการศึกษา พื้นที่การเรียนรู้ทั้งหมดจะต้องไม่ถูกคุกคามและเป็นเครื่องมือของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในการสร้างความเกลียดชังและการดูถูกดูแคลนระหว่างกัน โดยกระบวนการสันติภาพควรมีประเด็นของการสนับสนุนการศึกษาและให้การศึกษามีส่วนในการพัฒนาคน ตามเป้าหมายต่อไปนี้

1. การส่งเสริมความขันติหรืออดทนอดกลั้นและความเข้าใจ: โดยการสอนเกี่ยวกับวัฒนธรรม ศาสนา และโลกทัศน์ที่แตกต่างกัน ส่งเสริมความเข้าใจข้ามวัฒนธรรม การศึกษาสามารถช่วยลดอคติและการเหมารวมซึ่งมักเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง

2. การพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิพากษ์และการแก้ปัญหา: ช่วยให้บุคคลมีทักษะที่จำเป็นในการจัดการกับความขัดแย้ง อย่างสันติ โดยการพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิพากษ์และการแก้ปัญหา จะช่วยให้บุคคลสามารถระบุสาเหตุของความขัดแย้ง เช่นเดียวกับการพัฒนาวิธีการที่ไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขความขัดแย้ง

3. การส่งเสริมความสามัคคีทางสังคม: โดยการนำผู้คนจากภูมิหลังที่แตกต่างกันมารวมกันในสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ร่วมกัน โดยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและการสนทนา การศึกษาสามารถช่วยสร้างความไว้วางใจ ความเคารพ และความเห็นอกเห็นใจระหว่างกลุ่มต่าง ๆ

4. ส่งเสริมค่านิยมการมีส่วนร่วมของพลเมือง: ส่งเสริมค่านิยมประชาธิปไตย เช่น สิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการแสดงออก และความยุติธรรมทางสังคม โดยการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการมีส่วนร่วมของพลเมือง ช่วยสร้างระบบการช่วยเหลือเกื้อกูลที่เป็นธรรมและเท่าเทียม ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการและปลดทิ้งข้อกังวลของสมาชิกทุกคนในสังคมได้ดีขึ้น และ

5. ให้โอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจ: โดยเตรียมบุคคลให้มีทักษะที่จำเป็นในการมีส่วนร่วมในแรงงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจฐานรากและมหาชน ด้วยการให้การเข้าถึงการศึกษาของทุกคนและการฝึกอบรมที่ตรงเป้า บุคคลสามารถพัฒนาทักษะและความรู้ที่จำเป็นในการสร้างชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับตนเองและชุมชน ซึ่งสามารถช่วยลดความยากจนและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ

6. การจัดการศึกษาที่สามารถดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของตนเอง เช่น ความเชื่อ ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม

ลม้าย มานะการ เครือข่ายชาวพุทธจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Buddhist Network in Deepsouth, Thailand) ระบุว่า เครือข่ายชาวพุทธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเครือข่ายเชิงพื้นที่ ที่รวมตัวกันในลักษณะภาคีร่วมสร้างข้อเสนอเพื่อกระบวนการพูดคุยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา แต่ละองค์กรในเครือข่ายมีอิสระต่อกันในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์และพันธกิจขององค์กรนั้น ๆ  ประธานหรือหัวหน้าองค์กร หรือประธานองค์กร จะประสานงานและเชื่อมต่อกันด้วยภารกิจที่เห็นพ้องต้องกัน โดยให้แต่ละองค์กรหรือกลุ่มเป็นตัวเชื่อมกับสมาชิกขององค์กร รับฟัง และส่งข้อเสนอต่อการพูดคุยสันติภาพ ในแต่ละจังหวะของการทำข้อเสนอในแต่ละช่วงจนเป็นเอกฉันท์  หรือบางครั้งทางองค์กรสามารถออกข้อเสนอผ่านองค์กรเดี่ยวของตัวเองอย่างอิสระ ขึ้นกับโอกาสและสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เราไม่ได้ทำงานร่วมกันทั้งหมดทุกครั้ง เพราะเฉดขององค์กรมีความแตกต่างกัน เพราะการก่อตัวนั้นไม่ได้ทำงานเรื่องสันติภาพทั้งหมด แต่เป็นการขับเคลื่อนประเด็นเกี่ยวกับชาวพุทธแง่มุมต่าง ๆ

ขณะนี้ มีกลุ่มองค์กร โดยเครือข่ายชาวพุทธจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีสมาชิกและภาคี ดังต่อไปนี้

  1. ชมรมพุทธรักษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (4 จังหวัด) เป็นสายวัด ส่งเสริมคนทำดีสากล
  2. เครือข่ายชาวพุทธจังหวัดปัตตานี ตั้งขึ้นมาประมาณปี 2548 เพื่อทำงานดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทั้งพี่น้องชาวพุทธและมุสลิมในพื้นที่ ถือว่าเป็นพี่น้องกัน
  3. กลุ่มชาวพุทธจังหวัดยะลา เป็นกลุ่มที่ติดตามกระบวนการสันติภาพอย่างใกล้ชิด มักทำข้อเสนอ ข้อเรียกร้องส่งต่อให้กับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) หรือ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นต้น เรียกร้องให้เกิดความสงบสุขและความเป็นธรรม
  4. เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความเป็นเชิงโครงสร้างมากขึ้นโดยรวมตัวชาวพุทธที่สนใจกระบวนการสันติภาพในปี 2559 มีการพัฒนาศักยภาพ มีโอกาสในการเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องมือต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพูดคุยสันติภาพ และไปเยี่ยมเยียนกัน
  5. เครือข่ายพุทธธรรมนำสันติสุข จชต. (5 จังหวัด) ที่นำโดยพระสงฆ์ที่คอยดูแลชาวพุทธที่เป็นกลุ่มเปราะบางเดือดร้อนในพื้นที่ ทั้ง 5 จังหวัด คือปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล
  6. สมาพันธ์ไทยพุทธจังหวัดชายแดนภาคใต้ 4 จังหวัด รวมตัวกันมาประมาณ 4 ปี ที่รวมตัวกันหลากหลายมาก
  7. กลุ่มชาวพุทธรักสันติ เป็นองค์กรที่รวมตัวกันเล็ก ๆ อาจจะไม่ได้สังกัดเป็นองค์กร และกลุ่มนี้เองที่เป็นคนยื่นข้อเสนอเรื่องการเข้าพรรษาสันติ ซึ่งยังไม่สำเร็จ

เครือข่ายชาวพุทธฯ ขอบคุณผู้อำนวยความสะดวก ประเทศมาเลเซีย คู่พูดคุย ไทยและบีอาร์เอ็น ที่เดินหน้าการพูดคุย อย่างต่อเนื่อง เราสนับสนุนการพูดคุยเสมอมานับสิบปี และมีความหวังในความจริงใจของทุกฝ่าย โดยการระดมความเห็นจากสมาชิกพลเมืองชาวพุทธ ทำข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่ และเสนอต่อการพูดคุยสันติสุขมาอย่างต่อเนื่อง เพราะ “เรา : ทั้งชาวพุทธดั้งเดิม ชาวพุทธที่มาอยู่อาศัย เกิด เติบโต มีชีวิตร่วมกันมากับพี่น้องศาสนิกอื่น เพราะเราคือพี่น้องกัน อยากอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัย เป็นสุข อยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้แห่งนี้ร่วมกัน”

เครือข่ายชาวพุทธจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงมุ่งหน้า ยืนยันภารกิจข้างต้น และมีข้อเสนอต่อกระบวนการพูดคุย ดังนี้

  1. ให้มีการพูดคุยและจัดทำข้อตกลงบนโต๊ะพูดคุย ระหว่างบีอาร์เอ็นและรัฐบาลไทย เพื่อยุติการก่อเหตุรุนแรงและปฏิบัติการทางทหารของทุกฝ่ายในพื้นที่ตลอด 3 เดือนในห้วงเข้าพรรษาถึงประเพณีชักพระของชาวพุทธ ในปี 2566 เพื่อให้เกิด “วาระเข้าพรรษาสันติ – ปลอดภัยสำหรับทุกคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้” ให้เป็นพื้นที่ที่ไว้เนื้อเชื่อใจกันได้จริง ๆ และปลอดภัยกันทุกคน ไม่ใช่แค่คนพุทธในพื้นที่แต่ครอบคลุมพี่น้องมุสลิมและคนที่เดินทางเข้ามาทำงานไป ๆ มา ๆ ปลอดภัยเช่นกัน
  2. ให้ทั้งสองฝ่ายที่เป็นคู่พูดคุยฯ ในขณะนี้ รวมทั้งผู้อำนวยความสะดวก ประเทศมาเลเซีย ซึ่งควรทำหน้าที่มากขึ้นไปถึงการไกล่เกลี่ยด้วย ร่วมกันแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งด้วยวิธีการทางการเมือง และขอให้คู่พูดคุยฯ เดินหน้ากระบวนการพูดคุยและแก้ไขความขัดแย้งด้วยวิธีการและกระบวนการทางการเมืองโดยเอื้อให้มีการเปิดพื้นที่ การปรึกษาหารือประชาชนในพื้นที่ทุกกลุ่ม เพื่อเป็นการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อ และความร่วมมือในการสร้างสันติสุขในพื้นที่
  3. ประชาชน กลุ่ม องค์กร และตัวแทนกลุ่มชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธในพื้นที่ จชต. มีโอกาสแสดงพลัง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยและขบวนการบีอาร์เอ็น ภายใต้การดำเนินงานของคณะพูดคุยฝ่ายไทย และคณะผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุย ประเทศมาเลเซีย


เครือข่ายปกป้องเด็กจังหวัดชายแดนใต้ คือการรวมตัวเครือข่ายที่ทำงานด้านเด็ก 17 องค์กรในปี 2557 เกิดจากปัญหาเด็กถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มีมากขึ้น องค์กรด้านเด็กทั้งในและนอกพื้นที่ จชต. จึงมีการประชุมร่วม วิเคราะห์และศึกษาสถานการณ์เด็กในพื้นที่ความขัดแย้งทุก 3 เดือน อย่างต่อเนื่อง จำนวนมากกว่า 10 องค์กรที่มาประชุมทุกครั้ง และมีการทำกิจกรรมร่วมกันทุกปี คือ กิจกรรมวันสิทธิด็กสากล การทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ทำให้สมาชิกองค์กรเครือข่ายมีความคิดร่วมกันที่จะจัดตั้งเป็นเครือข่ายอย่างรูปธรรมขึ้นในปี 2560 โดยมีชื่อว่า “เครือข่ายปกป้องเด็กจังหวัดชายแดนใต้” Child Protection Network (CPN) และมีสมาชิกองค์กรเพิ่มขึ้นเป็น 22 องค์กร

โดยมีเป้าหมาย ก. เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรในการสร้างสภาวะแวดล้อมที่ดีเพื่อปกป้องคุ้มครองและพัฒนาเด็กในพื้นที่ความขัดแย้งนี้ ข. เพื่อพัฒนาศักยภาพเครือข่ายที่ทำงานประเด็นเด็กให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการทำงานด้านสิทธิเด็ก ค.เพื่อจัดทำรายงานสถานการณ์เด็กเพื่อนำไปสู่การผลักดันเชิงนโยบายด้านเด็กในจังหวัดชายแดนใต้

สำหรับข้อเสนอต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่นี้ เครือข่ายเด็กต้องการ

  • พื้นที่ปลอดภัย หยุดใช้ความรุนแรง ไม่อยากให้เกิดความรุนแรงภายในบริเวณโรงเรียนและพื้นที่สาธารณะ ดังนั้น ข้อเสนต่อกลุ่มผู้ใช้ความรุนแรง เราไม่ต้องการให้เด็กหรือผู้บริสุทธิ์ต้องโดนลูกหลงหรือได้รับผลกระทบจากเหตุความรุนแรง
  • อยากให้การพูดคุย เจรจาของภาครัฐและขบวนการบีอาร์เอ็นในแนวทางที่หาทางออกร่วมกัน แก้ปัญหาในพื้นที่ ทำอย่างรวดเร็วเพราะผ่านมาแล้ว 10 ปี มี นำปัญหาที่ชุมชน เยาวชนเสนอนำเข้าไปสู่เวทีการพูดคุยอย่างเป็นทางการ
  • มีการอบรมปลูกฝังเยาวชนเข้าใจเรื่องสันติวิธีเพื่อนำไปสู่สันติภาพ
  • มีเวทีกิจกรรมชุมชนเพื่อความปรองดอง รัฐบาลควรเปิดโอกาสให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปาตานีด้วย
  • เนื่องจากเด็กไม่มีความรู้เรื่องสิทธิของตนเอง และผู้ใหญ่ยังขาดองค์ความรู้เรื่องสิทธิเด็ก ทำให้ยังมีการละเมิดสิทธิเด็ก ทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐ​ ครู ผู้ปกครอง และอื่น ๆ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ทั้งทางตรงและทางอ้อม พยายามจัดตั้งเครือข่ายสิทธิเด็กฯ นี้ขึ้นเพื่อขอความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อปกป้องการละเมิดสิทธิเด็ก แต่ในสถานการณ์จริงยังคงขาดความร่วมมือ

มารุฟ เจะบือราเฮ็ง เครือข่ายองค์กรนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามว่า “สันติภาพเป็นของใคร” สันติภาพเริ่มต้นจากคนที่อยู่บนโต๊ะเจรจาแค่นั้นหรือไม่ หรือสันติภาพเป็นของนักรัฐศาสตร์ นักการเมือง ข้าราชการ หรือผู้มีอำนาจในสังคม ผมคิดว่าสันติภาพเป็นของทุกคน ๆ คน ไม่ว่าเขาจะเป็นคนรุ่นใหม่ เรียนด้านใดมาก็ตาม ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ การบริหารทธุรกิจ การตลาดหรือด้านใดมาก็ตาม

ผมเป็นคนเรียนด้านคอมพิวเตอร์มาก็จริง แต่สันติภาพก็เป็นเรื่องของผมด้วย และจะไม่ให้คนอื่นมาจัดการสันติภาพแทนผม ต้องการจัดการสันติภาพด้วยตนเองในฐานที่เรียนด้านเทคโนโลยีมา

วันนี้ (28 กุมภาพันธ์ 2566) เมื่อสิบปีที่แล้ว มีการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการ กลายเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ขณะนั้นผมยังเรียนอยู่ปี 3 มหาวิทยาลัยฟาฎอนี จนถึงวันนี้ก็ได้เห็นความคืบหน้าของการพูดคุยในระดับเริ่มต้น

วันนั้น ช่วงที่มีการริเริ่มพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการ ผมและเพื่อน ๆ ได้มีการรวมตัวกันภายใต้องค์กรนักศึกษา 4 มหาวิทยาลัย เป็นข้อเสนอแรก ๆ ของกลุ่มนักศึกษาที่มีต่อคณะพูดคุยสันติภาพของฝ่ายไทย คือ พลโท ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ว่าเยาวชนครุ่นใหม่ นักศึกษาต้องการสันติภาพอย่างไร และหนึ่งในหลายข้อเสนอนั้น อยากให้มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งก็ยังเป็นอยู่และมีบทบาทสำคัญจนถึงวันนี้

ต่อมา เราจัดตั้งองค์กรที่เรียกว่า digital for peace ที่เป็นองค์กรนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ ทำให้เกิดบรรยากาศเอื้อต่อการพูดคุยมากขึ้น ถึงแม้ว่า การพูดคุยสันติภาพอาจจะหยุดชะงักไป แต่ทำอย่างไรให้ฝ่ายภาคประชาชนและภาคประชาสังคมสามารถทำงานหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพได้อย่างต่อเนื่อง

ในฐานะคนรุ่นใหม่ เราคิดว่าสันติภาพที่มีความครอบคลุมและมีส่วนร่วมกับคนทุกกลุ่มเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นต้องสร้างมาจากข้างล่างไม่ใช่รอความคืบหน้าจากบนโต๊ะเจรจาเพียงอย่างเดียว

ส่วนหนึ่งของกิจกรรมมูลนิธิ digital for peace คือเราส่งเสริมให้สังคมมีการพูดคุยเรื่องข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงลดข้อมูลข่าวสารที่เป็นเฟคนิวส์ ในสังคม กิจกรรมเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งของสันติภาพในมิติการสื่อสารเชิงบวก (positive Alternative Narrative) พยายามสร้างสันติภาพในมิติความมั่นคงทางอาหาร พยายามพัฒนาศักยภาพให้เยาวชนกลายเป็นนักนวัตกรรมทางสังคม และสร้างสังคมเข้มแข็งเป็นหนึ่งเดียว พยายามให้เยาวชนเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสันติภาพที่ชุมชนฐานรากให้เข้มแข็ง (strong and resilient community) สันติภาพที่คนรุ่นใหม่นำเทคโนโลยีมาช่วยให้เกิดการพัฒนา

โดยสรุปเยาวชนคนรุ่นใหม่พูดถึงสันติภาพที่มีความหลากหลายและตรงกับเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน วันนี้ครบรอบ 10 ปีการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการและเปิดเผย จึงมี 4 ข้อเสนอของคนรุ่นใหม่ คือ

  1. สนับสนุนการพูดคุยเจรจาสันติภาพที่ครอบคลุมเป็นธรรมให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  2. ขอให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นในสันติวิธีอย่างเคร่งครัด และปฏิเสธความรุนแรงทุกรูปแบบ
  3. ยึดมั่นในสิทธิมนุษยชนตามหลักปฏิญญาณสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ
  4. อยากให้มีการริเริ่มเปลี่ยนผ่านความยุติธรรม (Transitional Justice) ด้วยประชาธิปไตยเสรี และส่งเสริมสันติภาพเชิงบวกตามกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

เราในฐานะของประชาชนต้องการร่วมกันผลักดัน ติดตาม สนับสนุน มีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพที่ครอบคลุมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน สุดท้าย หลายคนมีความคาดหวังว่าปาตานีเป็นดินแดนอุดมสมบูรณ์และมีพระเจ้าผู้ทรงอภัย

การรวมตัวก่อตั้งสมัชชาเพื่อสันติภาพปาตานี ทำงานผลักดันกระบวนการสันติภาพครั้งแรก ตั้งแต่ปี 2556 ช่วงปี 2558-2562 ใช้ชื่อ “องค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ” (คปส.) เป็นลักษณะองค์กรร่ม ที่มีองค์กรฐานทำงานร่วมกัน 27 องค์กร ใน 8 ประเด็นสำคัญ หนึ่งในนั้นคือการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนประเด็นการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

มูฮำหมัดอาลาดี เต็งนิ สมัชชาประชาสังคมพื่อสันติภาพปาตานี (Civil Society Assembly for Peace – CAP) ระบุว่า เรามี 3 ยุทธศาสตร์การทำงานสมัชชาภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ คือ ก.ส่งเสริมและสร้างความตระหนักให้กับองค์กรภาคประชาสังคมและชุมชนเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือสังคมและเคารพหลักสิทธิมนุษยชนในการทำงานของบริบทพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง ข. สร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและหาทางออกของปัญหาร่วมจากทุกภาคส่วน ค. สันติภาพ ส่งเสริมกระบวนการเจรจาสันติภาพ ภายใต้รูปแบบการสร้างการมีส่วนร่วมจากพื้นที่ รวมทั้งเป็นองค์กรส่งเสริมองค์ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพและประชาธิปไตย

สำหรับข้อเสนอนั้น (1) ให้มีพื้นที่กลางอย่างปลอดภัยและมีส่วนร่วมอย่างหลากหลาย (2) พัฒนากลไกการประเมินและมอนิเตอร์กระบวนการพูดคุยสันติภาพ (3) ส่งเสริมการเคารพหลักสิทธิมนุษยชน และจำกัดการใช้อำนาจรัฐที่มีมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกฎหมายความมั่นคง


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ฐิตินบ โกมลนิมิ

อดีตนักข่าวกระทรวงสาธารณสุข ผู้คลุกคลีในสนามข่าวสีแดงชายแดนใต้ เป็นทั้งนักมนุษยวิทยา นักสตรีศึกษา และนักสันติศึกษา ที่ใช้การเขียนเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์