‘ภาคประชาสังคม’ ไร้อำนาจต่อรองในกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี?

การพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี รอบใหม่ดูมีความหวังขึ้นบ้าง หลังการแถลงของผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ของมาเลเซีย ‘ตันศรีซุลกิฟลี บิน ไซนัล อะบีดีน’ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมาว่า คู่พูดคุยระหว่างตัวแทนรัฐไทย นำโดย ‘พลเอก วัลลภ รักเสนาะ’ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข จชต. กับขบวนการบีอาร์เอ็น นำโดย ‘อุสตาซอานัส อับดุลเราะห์มาน’ เห็นพ้องที่จะทำ “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติภาพแบบครอบคลุม” (Join Comprehensive Plan towards Peace, JCPP) ซึ่งเป็น ‘โรดแม็ป’ นำทางสำหรับการพูดคุยสันติภาพในช่วง 2 ปี ระหว่างปี 2566 – 2567 และช่วงท้ายยังย้ำด้วยว่า “โรดแม็ปนี้ไม่ใช่แค่สำหรับสองฝ่ายเท่านั้น ประชาชนในพื้นที่ต้องสนับสนุนด้วย ผมเชื่อว่าถ้าเราอธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้ เราจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์”

แต่กระบวนการสันติภาพไม่ใช่เรื่องของคู่ขัดแย้งตกลงกันโดยลำพัง ยิ่งความขัดแย้งยืดเยื้อที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 7,400 คน และบาดเจ็บอีกจำนวนมากกว่าสามเท่าตัว ดังนั้น ในเชิงกระบวนการยิ่งต้องการการมีส่วนร่วมจากประชาชนเพื่อความชอบธรรมในการยุติความขัดแย้งด้วย เมื่อคู่ขัดแย้งกำลังมี ‘โรดแม็ป’ เพื่อเห็นชอบร่วมกันอย่างเร็วสุดคือ เดือนมิถุนายน 2566 หรืออาจล่าช้าไปอีก เพราะการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้วทั่วไปก็ตาม  

แรงเหวี่ยงคำถามจึงไปตกอยู่ที่ “ภาคประชาสังคมชายแดนใต้” ที่ควรทำหน้าที่หนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ พวกเขาเคยทำ ‘โรดแม็ปภาคประชาสังคม’ มาตั้งแต่ปี 2556 หลังจากที่มีการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการ วันนี้ “ภาคประชาสังคมชายแดนใต้” ยังเหลือพลังในการต่อรองใด ๆ เหลืออยู่หรือไม่ และจะรักษาบทบาทผู้เล่นหลักในสนามสันติภาพนี้อย่างไรต่อไป?

งานชิ้นนี้ พยายามชี้ให้เห็น ความสำคัญของ “โรดแม็ปกระบวนการสันติภาพ” และ “บทเรียนของภาคประชาสังคมชายแดนใต้” ที่เคยผ่านยุคทองมาแล้ว เพื่อสร้างคำถามปลายเปิดว่าพวกเขาเหลือที่ทางและจะหาทางเดินต่อไปได้อย่างไร?

หน้าที่และความสำคัญของโรดแม็ปกระบวนการสันติภาพ

ในเชิงทฤษฎีนั้น กระบวนการสันติภาพเป็นเรื่องของลำดับเวลา ขั้นตอน และกิจกรรมทางการเมืองและสังคมในหลายระดับ ‘จอหน์ พอล เลอเดอรัค’ (John Paul Lederach) นักวิชาการด้านสันติวิธีคนสำคัญของโลก เห็นว่าไม่จำเป็นเสมอไปที่กระบวนการสันติภาพจะถูกำหนดจาก ‘ข้างบน’ (top up approach) แต่สามารถสร้างจาก ‘ข้างล่าง’ (bottom up approach) ซึ่งเป็น “ความชอบธรรม” ของพลเมืองมือเปล่าได้เช่นกัน ด้วยมุมมองนี้ทำให้เราเห็น ‘ตัวแสดงหลัก’ ที่มีบทบาทและยุทธศาสตร์แตกต่างกันในแต่ละระดับ หรือ “มัลติแทร็ค” กล่าวคือ แทร็ค 1: ระดับผู้มีอำนาจที่สามารถกำหนด ตัดสินใจ กุมทิศทางของความรุนแรงและนโยบาย แทร็ค 2: ระดับองค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการ สื่อทั้งในและนอกพื้นที่ความขัดแย้ง ผู้ทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างผู้มีอำนาจตัดสินใจและชุมชน และแทร็ก 3: ระดับชุมชนรากหญ้าในพื้นที่

“ภาคประชาสังคม” มีความชอบธรรมในกระบวนการสันติภาพ เพราะมีสัดส่วนเหยื่อและพลเรือนที่ต้องรับเคราะห์จากผลของความขัดแย้ง  ดังนั้น การเคลื่อนไหวในสังคมเพื่อต่อต้านการใช้ความรุนแรงจึงไม่ใช่แค่เรื่องพอเข้าใจได้ แต่เป็น “ความชอบธรรม” ของประชาชนคนธรรมดาอย่างยิ่งในการเป็น “ตัวแสดงหลัก” สำคัญของการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง โดยร่วมแสวงหาทางออกของปัญหา และสถาปนากลไกเชิงสถาบันต่าง ๆ เพื่อเป็นหลักประกันในการปกป้องประชาชนจากการใช้อำนาจปกครองในทางที่ผิดไม่ว่าจากฝ่ายใด

สิ่งที่คนในพื้นที่และสาธารณะต้องเข้าใจร่วมกัน คือ ขั้นตอนของกระบวนการสันติภาพ แบ่งออกเป็น 4 ช่วงหลัก คือ 

  1. ช่วงของการพูดคุย (Dialogues) เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (Trust Building) หมายถึงการพูดคุยเพื่อลองเชิงเพื่อดูท่าทีของอีกฝ่ายว่าสามารถพูดคุยกันได้หรือไม่ มีแนวโน้มตกลงกันได้หรือไม่ และสามารถสร้างความไว้วางใจกันได้หรือไม่ ทำความเข้าใจความคิดของแต่ละฝ่ายและพยายามสร้างภาพอนาคตจากการพูดคุยเพื่อนำไปสู่การเจรจาได้ ซึ่งขั้นตอนนี้ก็มีองค์ประกอบสำคัญคือ (ก) แต่ละฝ่ายได้รับอาณัติจากผู้มีอำนาจในการตัดสินใจจริงจากแต่ละฝ่ายให้มาพูดคุยกัน (ข) การพูดคุยต้องนำไปสู่การหาข้อตกลงที่นำไปสู่การผูกพันข้อตกลงบางอย่างร่วมกัน ซึ่งอาจเกิดขึ้นหลายครั้งและเป็นไปในทางปิดลับ จนกว่าจะไว้เนื้อเชื่อใจกัน และก้าวเข้าสู่ระยะต่อมา
  2. ช่วงของการเตรียมการพูดคุยเพื่อเจรจาอย่างเป็นทางการ โดยมีอำนาจที่ได้รับมอบหมายอย่างเป็นทางการ (Mandate for pre-negotiation) จะมีการกำหนดขอบเขตอำนาจในการได้รับมอบหมาย โดยเป็นอำนาจจากผู้ที่สามารถควบคุมความรุนแรงได้จริง การสร้างทีมเหล่านี้ คือจุดเริ่มต้นการเจรจาในอนาคต ที่สามารถลงนามข้อตกลงระหว่างกันอย่างเป็นทางการว่าจะมีการพูดคุยสันติภาพอย่างจริงจัง ขั้นตอนนี้ต้องใช้เวลาหลายครั้งและไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด จนกว่าทั้งสองฝ่ายจะได้ข้อตกลงร่วมกันว่าร่วมวางกรอบการเจรจาในขั้นตอนต่อไปร่วมกัน ถือว่าเป็นขั้นตอนเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของกระบวนการสันติภาพทั้งหมด
  3. กระบวนการเจรจา เมื่อมีการเปลี่ยนผ่านเตรียมการเข้าสู่กระบวนการเจรจาสำเร็จตามประเด็นหลักที่ตกลงกันได้แล้วคือ (ก) ใครคุยกับใคร ตำแหน่งอะไร แต่ละฝ่ายประกอบด้วยใครบ้าง (ข) สถานที่ดำเนินการเจรจา (ค) การพูดคุยเป็นอย่างไร จึงจะถือว่าเป็น “กรอบของการเจรจา” (Framework Agreement of Negotiation) แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการเจรจาอย่างแท้จริง อย่างเป็นลำดับ (Series of Negotiation) อาจมีหลายวงเจรจา ไม่มีความราบรื่นหรือสะดุดได้เช่นกัน อาจจะมีการชะงัก หรือกลับมามีความรุนแรงใหม่ได้ ไม่มีความก้าวหน้าเป็นเชิงเส้นเสมอไป โดยทั่วไปกรอบการเจรจานี้จะเข้าสู่การตกลงหยุดยิงหรือหยุดความรุนแรงก่อน ซึ่งทั้งสองฝ่ายอาจไม่ชัดเจนว่าข้อตกลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นจะเป็นไปในลักษณะใดจึงต้องอาศัยการเจรจาอีกหลายครั้ง
  4. ขั้นยอมรับข้อตกลงจากการเจรจาและการแปลงผลไปสู่การปฏิบัติและติดตามผล จะดำเนินต่อเนื่องจาก การเจรจาในประเด็นต่าง ๆ มีความคืบหน้าและตกลงกันได้ จนเข้าสู่ข้อตกลงใประเด็นต่าง ๆ (Agreement on substantive issues) จนเกิดเป็นข้อตกลงในทางการเมืองจากฝ่ายคู่ขัดแย้งในระยะเวลาต่อมา เพื่อนำข้อตกลงนั้นไปมีผลทางปฏิบัติ และมีการติดตามประเมินผล เพื่อตรวจสอบว่าแต่ละฝ่ายสามารถทำได้ตามข้อตกลงหรือไม่ ซึ่งจะมีการเจรจาเพื่อติดตามข้อตกลง จะมีการถกเถียงตีความขึ้นอีกหลายครั้ง

ในช่วงสุดท้าย จะเป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง โดยจะมีการปฏิรูปทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคงและกองทัพ การผนวกรวมของกองกำลังติดอาวุธของฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐ จะนำเข้ามาสู่ระบบได้หรือไม่ ข้อตกลงบางอย่างอาจก้าวไปไกลถึงขั้นแก้รัฐธรรมนูญก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของกระบวนการสันติภาพนั้นจะยังคงมีสภาพที่เปราะบางอยู่ในทุกขั้นตอน

กรณีกระบวนการสันติภาพปาตานี, น่าจะอยู่ในขั้น 2.5 ทั้งสองฝ่ายคู่ขัดแย้งทั้ง ‘พลเอก วัลลภ รักเสนาะ’ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข จชต. ได้รับอาณัติจากนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 230/2557 และบีอาร์เอ็น นำโดย ‘อุสตาซอานัส อับดุลเราะห์มาน’ แม้จะอยู่ปีกการเมืองของขบวนการ ทว่า ในการประชุมคณะทำงานครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม – 1 เมษายน 2565 ที่กัวลาลัมเปอร์ ซึ่งเป็นวันที่ทั้งสองฝ่ายให้การรับรองอย่างเป็นทางการต่อ “หลักการทั่วไปของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ” (General Principle of the Peace Dialogue Process) ว่าสองฝ่ายจักมุ่งแสวงหาทางออกที่สอดคล้องกับเจตจำนงของชุมชนปาตานีภายใต้ความเป็นรัฐเดี่ยวของประเทศไทยตามที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญวันนั้น ปีกการทหารของบีอาร์เอ็น ‘เด็ง อะแวจิ’ ได้เข้าร่วมโต๊ะพูดคุยเป็นครั้งแรกด้วย

ทว่า สารัตถะของการพูดคุย 3 ข้อ ที่เคยตกลงร่วมกันก่อนหน้านั้น คือ (ก) การลดความรุนแรง (ข) การปรึกษาหารือกับประชาชน และ (ค) การแสวงหาทางออกทางการเมือง ยังไม่มีประเด็นใดคืบหน้า แม้ทั้งสองฝ่ายจะตั้งคณะทำงานแต่ละชุดแล้วก็ตาม  ดังนั้น ในการพบปะเต็มคณะครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 21-22 ก.พ.ที่ผ่านมา ผู้อำนวย ความสะดวกการพูดคุยจากมาเลเซีย จึงเสนอให้ทำ ‘โรดแม็ป JCPP’ เป็นแผนที่นำทางสำหรับการพูดคุยสันติภาพในช่วง 2 ปี ระหว่างปี 2566 – 2567 ผ่าทางตันก่อน เพื่อให้กระบวนการพูดคุยพอจะไปได้

ข่าววงในเล่าว่า คณะทำงานฝ่ายไทยชิงเสนอโรดแม็ปก่อน ให้ชื่อว่า “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม” (ก) มุ่งลดความรุนแรง/การลดการเผชิญหน้า และ (ข) การปรึกษาหารือสาธารณะ ในประเด็นรูปแบบ การบริหารพื้นที่ การยอมรับอัตลักษณ์และวัฒนธรรมชุมชนชาวปาตานี สิทธิมนุษยชน กระบวนการยุติธรรมและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เศรษฐกิจและการพัฒนา การศึกษา และอื่น ๆ

ขณะที่ เงื่อนไขของบีอาร์เอ็นคือ (1) การหยุดยิงกับการปรึกษาหารือประชาชนในพื้นที่ต้องเกิดขึ้นพร้อมกัน (2) รัฐบาลต้องให้ความคุ้มกันทางกฎหมายแก่ตัวแทนบีอาร์เอ็นและรับรองความปลอดภัย รวมไปถึงความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว และ (3) กระบวนการทั้งหมดนี้ต้องมีการติดตาม (monitoring) ขององค์กรอิสระจากฝ่ายที่สาม

และคาดว่า เมื่อถึงขั้นตอนของการเข้าสู่ข้อตกลงใประเด็นต่าง ๆ (Agreement on substantive issues) เพื่อให้เกิดเป็นข้อตกลงในทางการเมือง ฝ่ายขบวนการกลุ่มต่าง ๆ ทั้ง ‘มารา ปาตานี’ พูโล BIPP และกลุ่มอื่น ๆ จะเข้ามาร่วมด้วยภายใต้หลักการการมีส่วนร่วมของทุกกลุ่ม (inclusivity) ไม่ใช่แค่ฝ่ายที่ถืออาวุธอย่างเดียวแต่เป็นทุกกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการอยู่ร่วมกัน และคนที่จะเห็นชอบท้ายที่สุดของข้อตกลงทางการเมืองคือ การทำประชามติโดยผู้มีสิทธิออกเสียงทางการเมือง หรือประชาชนไทยผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดนั่นเอง

เมื่อยังไม่รู้ว่า “โรดแม็ป” จะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร และทั้งสองฝ่ายจะยอมรับร่วมกันหรือไม่ กระบวน การสันติภาพจึงยังเป็นเรื่องที่เปราะบาง แตกหักง่าย และยากที่จะแก้ไขหรือประกอบขึ้นมาใหม่ จึงจำเป็นต้องมี ‘ตาข่ายนิรภัย’ (safety net) รองรับจากประชาชน ‘นอร์เบิร์ต โรเปอร์’ นักวิชาการและนักปฏิบัติการสันติภาพชาวเยอรมัน นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ และอาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อธิบาย ‘ตาข่ายนิรภัย’ จะมี 2 ระดับ (ก) ขั้นที่เป็นทางการ คือตัวแทนของทั้งสองฝ่ายพูดคุยกัน และ (ข) ระดับล่างลงมา คือ ประชาชนที่ไม่ใช่ตัวแทนของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เป็นทางการ และพูดคุยเรื่องเดียวกันกับกลุ่มที่เป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการ หรือมีประชาชนที่จัดตั้งกลุ่มถาวรเป็นคณะในการให้คำปรึกษาเมื่อเกิดวิกฤติ ซึ่งกลุ่มนี้ต้องคิด เตรียมการว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากกลุ่มพูดคุยเป็นทางการล้มเหลว โดยช่วยก่อร่างความคิด วิธีการ หรือวางเป้าหมายเพื่อให้กระบวนการสันติภาพกลับคืนมา

ดังนั้น ภาคประชาสังคมมี 2 บทบาทหลักที่ต้องทำ คือ (1) ต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ตัวเองให้มีพลังในการเสนอแนะ โดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับการพูดคุย/เจรจาเลยก็ได้ และ (2) การเข้าไปนั่งในโต๊ะเจรจา หรือเพียงเข้าไปฟังการเจรจาก็อาจเป็นได้ แต่ส่วนใหญ่ของประสบการณ์การเจรจาในต่างประเทศในช่วงแรก ๆ ของกระบวนการ  คู่พูดคุยจะไม่อนุญาตให้คนนอกเข้ามามีส่วนร่วม เนื่องจากยังลังเล ไม่แน่ใจที่จะให้มี “ฝ่ายที่สาม” ในการเข้าไปสู่โต๊ะพูดคุย

โรเปอร์ สรุปประสบการณ์จากที่ได้ศึกษารูปแบบของทั่วโลก พบว่า น่าจะต้องมีบทบาทที่รวม ๆ กันระหว่างสองแบบข้างต้น ซึ่งเมื่อการเจรจาเกิดขึ้น ภาคประชาสังคมอาจจะเข้าไปเป็นคณะทำงานในกระบวนการเจรจา และทางหนึ่งก็รณรงค์สร้างกระแสเพื่อผลักดันเพื่อกระบวนการสันติภาพ โดยทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้เป็นเอกเทศจากการเจรจาเพื่อออกแบบการอยู่ร่วมกันอย่างที่ทุกฝ่ายรับได้ เมื่อออกแบบเรียบร้อยแล้วก็ยื่นเสนอให้คู่ขัดแย้งหลักทั้งสอง หรืออีกวิธีคือการเปิดเวทีสาธารณะในพื้นที่ประชาสังคมเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องในโต๊ะพูดคุย/เจรจามานั่งร่วมเวที เพื่อประเมินสิ่งที่เกิดขึ้นว่าถึงไหนแล้ว และยื่นข้อเสนอที่ตัวเองทำงานอยู่ขึ้นไปสู่โต๊ะพูดคุย/เจรจา

เหตุผลที่จำเป็นต้องมี “โรดแม็ป”: ประการแรก เมื่อความขัดแย้งยืดเยื้อเรื้อรัง ไม่เห็นจุดสิ้นสุด จะทำให้มองไม่เห็นทางออก จำเป็นต้องมีถนนหรือเส้นทางที่ทำให้เห็นว่าทางออกว่าความขัดแย้งจะเดินไปที่ไหน อย่างไร ใครจะทำอะไร ซึ่งเป็นกระบวนการก่อนจะมีข้อตกลงสันติภาพ ประการที่สอง เมื่อมีข้อตกลง หรือการเซ็นสัญญาสันติภาพไปแล้ว จะเดินต่ออย่างไร เพื่อให้เห็นการเดินไปข้างหน้าต่ออย่างมีรูปธรรม ประการที่สาม ในสถานการณ์ที่มีการพูดคุย เช่น กรณีการพูดคุยสันติภาพปาตานี ระหว่างการพูดคุยทั้งสองฝ่ายจะมีการช่วงชิงการนำอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ถ้าฝ่ายหนึ่งชิงเสนอ “โรดแม็ป” ก่อนอีกฝ่ายหนึ่ง จะทำให้รู้สึกว่าตัวเองเป็นฝ่ายรุก ควบคุมเกมได้

ใครเป็นผู้ริเริ่มสร้าง “โรดแม็ป”: แบบแรก จะมี “คนนอก” หรือ “คนที่สาม” ที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งเป็นคนเสนอตัวอย่างในความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย สหประชาชาติ และสหภาพยุโรปเป็นคนเสนอ แบบที่สอง เป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคู่ขัดแย้งเป็นฝ่ายเสนอโรดแม็ป เช่น กรณีรัสเซีย ฝ่ายรัฐเสนอโรดแมปในความพยายามแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในคอเคซัส ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ เชชเนีย หรือกรณีฝ่ายต่อต้านรัฐเสนอก่อน ได้แก่ Euskadi Ta Askatasuna (ETA) ในประเทศสเปนเป็นผู้เสนอก่อน

แบบที่สาม คือภาคประชาสังคมในพื้นที่เป็นคนเสนอ ซึ่งกรณีกระบวนการสันติภาพปาตานี “สภาประชาสังคมชายแดนใต้” และเครือข่าย “พื้นที่กลางคนในสร้างสันติภาพ” (IPP) เคยระดมความเห็นทำ “แผนที่เดินทางสู่สันติภาพฉบับภาคประชาชน” เมื่อเดือนพฤษภาคม 2556 (ดังภาพประกอบ) และทำเป็นรายงานสองภาษา (ไทย – อังกฤษ) เพื่อยื่นให้กับคู่ขัดแย้งหลัก (แต่ไม่ได้รับการตอบสนองในช่วงนั้น ซึ่งไมไ่ด้หมายความว่าล้มเหลว เพราะโรดแมปนี้ ยังไม่ได้ถูกนำมาสู่การปฏิบัติ) และแบบที่สี่ เป็นโรดแม็ปที่เป็นข้อตกลงของทั้งสองฝ่ายเกี่ยวกับขั้นตอนในการพูดคุยก่อนที่จะมีการตกลงกันในสาระสำคัญใด ๆ รูปแบบนี้ถือว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุด เนื่องจากโรดแม็ปที่มีที่มาจากแต่ละฝ่ายอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาและไม่ได้เป็นทางออกแต่อย่างใด

องค์ประกอบของโรดแมปมีอะไรบ้าง?: (1) ห้วงเวลา (Timeline) เส้นเวลาจะกำหนดว่า อะไรต้องทำเมื่อใด ซึ่งในระยะแรกมักเน้นเรื่องขั้นตอนเป็นหลัก (2) สถาปัตยกรรมสันติภาพ (Architecture) หมายถึงโครงสร้างหรือพิมพ์เขียวของกระบวนการสันติภาพที่เป็นการตกลงของทั้งสองฝ่ายว่าบุคคลที่พูดคุยเป็นใคร มีบทบาทหน้าที่ในกระบวนการต่าง ๆ อย่างไร ใครสื่อสารสาธารณะ มีโครงสร้างภารกิจชัดเจน ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก (3) โครงสร้างพื้นฐาน (Instructure) เกี่ยวข้องกับบุคคลที่ไม่ได้เป็นคู่กรณีโดยตรง ซึ่งอยู่นอกโต๊ะเจรจา ความสัมพันธ์ระหว่างคนในโต๊ะ หรือกระบวนการเจรจากับกระบวนการสันติภาพข้างนอกโต๊ะ อาจหมายถึงภาคประชาสังคมข้างนอก ประชาชนในพื้นที่ที่จะสนับสนุนกระบวนการสันติภาพให้เดินหน้าได้อย่างไร

ความจริงแล้ว ก่อนกระบวนการสันติภาพ “อย่างเป็นทางการ” จะเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ที่มาเลเซียนั้น กระบวนการลักษณะนี้เคยเริ่มมาแล้วใน “ทางลับ” และก่อนจะมีการพูดคุยครั้งนั้น ได้มีความเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันกระบวนการสันติภาพจากภาคประชาสังคมอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ทั้งแทร็ค 2 และ 3 มาก่อนด้วย โดยขับเคลื่อนในประเด็นต่าง ๆ เช่น การศึกษา อัตลักษณ์ ภาษา กฎหมาย สิทธิมนุษยชน การบริหารการปกครอง เป็นต้น คำถามสำคัญขณะนี้คือ ภาคประชาสังคมชายแดนใต้/ปาตานีมีความเข้มแข็งให้ตัวเองและมีพลังในการเสนอแนะหรือยัง ถ้าดูจากบทเรียนที่ผ่านมา

ภาคประชาสังคม x กระบวนการสันติภาพ

การขัดแย้งด้วยอาวุธถึงตายเข้มข้นมากนับจากปี 2547 เป็นต้นมา ถือเป็นสิ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สร้างความประหลาดใจให้กับรัฐไทยอย่างมาก ทว่า พลเรือนกลายเป็นผู้ได้รับเคราะห์กรรมหนักสุดจากปฏิบัติการทางทหารของคู่ขัดแย้ง ระหว่างปี 2547-2555 การเจรจาสันติภาพเป็นเพียงองค์ประกอบรองของการคลี่คลายความขัดแย้งในพื้นที่ รัฐไทยมักอ้างว่าขบวนการก่อความไม่สงบมีโครงสร้างลึกลับซับซ้อน เป็นเหตุให้ไม่สามารถเจรจาได้ กล่าวกันว่าหน่วยงานความมั่นคง “กำลังต่อสู้กับผี” ด้วยยุทธศาสตร์ปิดลับของแกนนำฝ่ายขบวนการที่อ้างการต่อสู้เพื่อการกำหนดชะตากรรมของชาวมลายูมุสลิม ทำให้การใช้กำลังกดปราบนำไปสู่ความล้มเหลวเพื่อยุติความความขัดแย้งหลายครั้ง จนการพูดคุยทางลับของทั้งสองฝ่ายนำไปสู่การพูดคุยสันติภาพปาตานีอย่างเป็นทางการในปี 2556 นั่นเอง

  • จุดก่อตัวของภาคประชาสังคมชายแดนใต้

         ขณะที่ภาคประชาสังคมพื้นที่ชายแดนใต้ส่วนใหญ่มาจากการรวมตัวกันขององค์กรพัฒนาเอกชนและเครือข่ายประชาชนมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2530 และเติบโตขึ้นอย่างมากเพราะได้รับการสนับสนุนโดย “กองทุนการลงทุนเพื่อสังคม” (SIF: Social Investment Fund) จนเครือข่ายขยายตัวมากยิ่งขึ้นเมื่อมีการก่อตั้ง “สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน” (พอช.) และมูลนิธิชุมชนไท ในระยะก่อนจะเข้าสู่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ไม่นานนัก ก็เกิด “สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา” (LDI) และมูลนิธิพัฒนาไทยขึ้นมาเป็นแกนในการขับเคลื่อนนโยบายสังคมแห่งชาติ ด้วยพวกเขาอยู่กับชุมชนมาเนิ่นนานจึงมีความเข้าใจปัญหาในพื้นที่อย่างดี และห้วงก่อนเหตุความรุนแรงจะก่อตัวขึ้นใหม่ การเคลื่อนไหวในพื้นที่ชายแดนใต้เต็มไปด้วยประเด็นเชิงสังคมด้านต่าง ๆ และหนุนเสริมขบวนประชาธิปไตยอย่างเข็มแข็ง

            แต่การตอบโต้อย่างเป็นระบบครั้งแรกของภาคประชาสังคมต่อการขยายตัวของความขัดแย้ง เห็นได้จากการส่งจดหมายเปิดผนึกของอาจารย์มหาวิทยาลัย 144 คนให้กับ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ นายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2547 (หลังเหตุการณ์กรือเซะและตากใบ) จดหมายดังกล่าวส่งผลให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) มีตัวแทน 50 คนจากภาคประชาสังคม การเมือง และราชการ รายงานของกอส. ซึ่งตีพิมพ์สองปีหลังจากนั้น ผู้สังเกตการณ์บางคนวิจารณ์ว่าขาดบทวิเคราะห์รากเหง้าและมิติทางการเมืองของความขัดแย้ง ข้อเสนอส่วนใหญ่กลับเน้นที่ความยุติธรรมเชิงสมาฉันท์​ แต่ไม่ได้แก้สาเหตุรากเหง้าของความขัดแย้ง

กล่าวได้ว่า สถานการณ์ความไม่สงบคือตัวเร่งสำคัญในการตั้งกลุ่มแกนนำประชาสังคมในพื้นที่และการเข้ามาสมทบด้วยองค์กรภายนอกพื้นที่ พวกเขาเข้ามาช่วยวางรูปแบบการทำงานและสร้างคนทำงานในพื้นที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ จนเกิดเป็น “เครือข่ายประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้”

หลัง ‘เอ็นจีโอขุนนาง’ ทยอยกันกลับ ตั้งแต่ปลายปี 2548 ด้วยมีเค้าลางสถานการณ์ความขัดแย้งที่ส่วนกลาง – กรุงเทพฯ งานภาคประชาสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งรุนแรง ระยะแรกจึงเป็นงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงจนเกิดเป็นเครือข่ายและมูลนิธิที่ทำงานกับผู้หญิงและเด็กจำนวนมาก ช่วยเหลือด้านสังคม เศรษฐกิจ และจิตใจให้เข็มแข็ง อย่างไรก็ดี มักไม่มีการพูดคุยถึงบาดแผลทางจิตใจร่วมที่เกิดขึ้นและส่งผ่านมาหลายชั่วรุ่นของคนในพื้นที่ ทั้งที่มีผลกระทบต่อความสมานฉันท์ในสังคมเห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งงานด้านการสื่อสาร ที่เป็นมรดกจาก กอส. ทำให้เกิด “โต๊ะข่าวภาคใต้” หรือ “สำนักข่าวอิศรา” ภายใต้ร่มเงาของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยที่ยังขับเคลื่อนข่าวสารวงในชายแดนใต้ออกสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ยิ่งหลังการรัฐประหาร 2549,  ‘เอ็นจีโอขุนนาง’ จำนวนหนึ่งเข้าไปร่วมมือกับฝ่ายทหารที่ทำการรัฐประหารก็เห็นความอ่อนแรงจากภาคประชาสังคมในพื้นที่จากการปล่อยมือของ “องค์กรนอกพื้นที่” เกิดความซบเซาหลายปัจจัย

จำเป็นต้องกล่าวถึง “ข้อจำกัด” ของภาคประชาสังคมในพื้นที่ไว้ด้วย นอกจากต้องทำงานภายใต้ข้อจำกัดของสถานการณ์ความรุนแรงแล้ว พวกเขายังจำกัดบทบาทไว้เฉพาะงานที่เขาสังกัดและถนัด มิพักต้องกล่าวถึงที่มาของ องค์กรต่าง ๆ นั้น: จัดตั้งและดำเนินการโดยรัฐ หรือจัดตั้งขึ้นมาโดยมีเป้าหมายเฉพาะตัว หรือเป็นกลุ่มที่แยกตัวออกมาจากเครือข่ายการทำงานเดิมก็ตาม แต่ความที่องค์กรทั้งหมดนี้, มีกรอบแนวทางการทำงานที่แตกต่างกัน จึงยากที่จะมองเรื่องการพัฒนาโครงสร้างของประชาสังคมร่วมกัน ไม่ง่ายนักที่จะสามารถผลักดันประเด็นต่าง ๆ ในลักษณะ “วาระจากประชาชน” หรือนโยบายสาธารณะ และไม่ต้องพูดไปไกลถึงการถักทอเชื่อมร้อยเข้าสู่การตั้ง “ขบวน” เพื่อผลักดันประเด็นร่วมกันได้นั้นต้องเผชิญกับความยากลำบากเพียงไร

ต่อมา การเปลี่ยนแปลงของภาคประชาสังคมชายแดนใต้มีหมุดหมายอย่างสำคัญ จากการสัมมนาเครือข่ายภาคประชาสังคม เรื่อง “ประชาสังคมกับกระบวนการสันติภาพ: การขยายพื้นที่ภาคประชาชนเพื่อการแก้ปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้” ในวันที่ 30 กันยายน 2552 มีคนทำงานด้านสังคมเข้าร่วมมากกว่า 300 คน ณ โรงแรมพาราไดส์ แอนด์ รีสอร์ท จ.สงขลา จัดโดยศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า, มูลนิธิฟรีดิช เนามันน์ (FNS) ที่จุดกระแสริเริ่มพูดถึง “ฝ่ายทางเลือก” หรือ “ฝ่ายที่สาม” (Third Party) ในความขัดแย้ง โดยมีการหารือสำคัญ 3 ประเด็น คือ (ก) ทบทวนการทำงานภาคประชาสังคมกับการเปลี่ยนแปลงสู่สันติภาพ (ข) การเสริมพลังและสร้างศักยภาพภาคประชาสังคม และ (ค) การทำงานระยะต่อไปกับการสร้างเครือข่ายเพื่อสันติภาพ หรือ PeaceNet

กล่าวถึงที่สุดแล้ว วันนั้น ‘มารค ตามไท’ นักสันติวิธี จากมหาวิทยาลัยพายัพ ผู้เคยอยู่ในคณะพูดคุยสันติภาพวงปิดหลายรัฐบาลมาปาฐกถาปลุกพลังให้ภาคประชาสังคมทำงาน “กระบวนการสันติภาพ” ในฐานะ “ฝ่ายที่สาม” โดยย้ำว่า “เราแก้ปัญหาทั้งหมดไม่ได้ แต่เราวาดฝันว่าสังคมจะเป็นอย่างไรได้ แต่จะเริ่มทำโดยไม่พูดถึงความฝันเลยไม่ได้ เพราะมันจะไปคนละทาง” ซึ่งมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการขับเคลื่อน “ความสมานฉันท์และความปรองดอง” ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทว่า “ภาพ” ของกระบวนการสันติภาพที่หมายถึงคืออะไรนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สามารถ จิตนาการไปถึงได้

ขณะเดียวกัน เขาตั้งข้อสังเกตที่ภาคประชาสังคมอาจเผชิญในการทำงานด้านสันติภาพ ซึ่งยังสมสมัยถึงปัจจุบัน จึงขอยกมาอีกครั้ง คือ

  1.  การประสานงานระหว่างกลุ่มที่มีเป้าหมายระยะยาวเหมือนกัน แต่เป้าหมายระยะสั้นต่างกัน ทำให้การทำงานของกลุ่มหนึ่งอาจไปลบความคืบหน้าของอีกกลุ่มหนึ่ง เช่น กลุ่มที่ทำงานด้านปกป้องสิทธิมนุษยชนกับกลุ่มทำงานพูดคุยสันติภาพกับผู้ใช้ความรุนแรง มักมีปัญหากันตลอดในทุกพื้นที่ทั่วโลก ทั้งที่ สันติภาพและความยุติธรรมเป็นเรื่องเดียวกันที่ต้องประสานจังหวะ หากประสานได้ดีจะทำให้โอกาสทั้งสองอย่างเพิ่มขึ้น
  2.  การประสานงานระหว่างกลุ่มที่มีเป้าหมายระยะยาวต่างกัน ปัญหาคือทำอย่างไรที่จะรวมคนที่ไม่อยากอยู่ร่วมกันให้เข้ามาอยู่ร่วมกัน คือต้องให้ครอบคลุมทุกกลุ่มมากที่สุด (inclusive) ในอดีตมักให้รัฐเป็นคนรวมผู้คนและทำความเข้าใจ ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด เพราะหากรัฐเป็นคนรวมก็จะมีคนเข้าใจว่ามีส่วนใดส่วนหนึ่งเข้าข้างรัฐ ภาคประชาสังคมจึงต้องรวมกันเอง ซึ่งเป็นสิ่งท้าทายในกระบวนการสันติภาพอย่างยิ่ง
  3. การประสานงานระหว่างภาคประชาสังคมในพื้นที่กับภาคประชาสังคมที่มาจากนอกพื้นที่ ต้องดูความเหมาะสมตามจังหวะเวลาความพร้อมในการเข้ามาสนับสนุน ต้องดูว่าลงเวทีหรือกิจกรรมเมื่อใด หรือลงเป็นหรือไม่ เป็นสิ่งสำคัญว่างานนั้นเป็นของใครและเป้าหมายเพื่อใครกันแน่
  4. อิทธิพลของแหล่งทุน มีปัญหาหลายประการ ไม่ได้เพียงว่าคนทำงานอยู่ที่ไหน (การไม่อยู่ในพื้นที่ไม่ได้หมายถึงไม่ได้ทำงาน) แต่ปัญหาอยู่ที่การเขียนรายงานด้วย เพราะเป้าหมายสูงสุดคือการทำรายงานให้ผ่าน การตรวจสอบจากแหล่งเงินทุน ส่วนผลจริง ๆ ที่ได้เป็นเป้าหมายรอง เป็นต้น

แม้เวลาจะซื่อสัตย์ แต่ไม่จำเป็นต้องเดินทางเป็นเส้นตรง สิ่งที่ต้องบันทึกไว้อย่างมีนัยสำคัญ คือ ขบวนการเคลื่อนไหวของเครือข่ายนักศึกษา คนหนุ่มสาวท่ามกลางความไม่สงบที่มีสำนึกสาธารณะรู้ร้อนรู้หนาวต่อปัญหาชาวบ้านในระดับหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากชาวบ้าน สิ่งที่พวกเขาทำได้คือการ “เปล่งเสียงแทน” (speak for) คนเล็กคนน้อย ห้วงความรุนแรงช่วงปี 2550-2551 มีปฏิกริยาของนักศึกษาต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนมากขึ้นตามลำดับ อันเป็นผลต่อเนื่องจากยุทธการทางทหารที่เน้นการปิดล้อมตรวจค้นหมู่บ้านที่คาดว่าเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการเอกราชปาตานี จนนำไปสู่การก่อตัวและชุมนุมประท้วงใหญ่ที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี กลางปี 2550 นำโดยเครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน (คพช.) ทั้งยังมีสมาชิกกลุ่ม PNYS (Patani Narrathiwas Yala Satul and Songkhla) ของมหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นกำลังหนุนสำคัญ ก่อนจะเชื่อมงานเข้ากับสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) โดยเริ่มเคลื่อนไหวและจัดกิจกรรม อบรม ส่งเสริมความรู้ด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชนในพื้นที่เรื่อยมา และจัดตั้งสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแยกย่อยไปแต่ละจังหวัด ทั้งปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ก่อนจะยกระดับมาเป็น “สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้” (สนน.จชต.) เคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก ยกเลิก พ.ร.กฉุกเฉิน สัมมนาเรื่องเขตปกครองพิเศษและการกระจายอำนาจ กระทั่งเวทีวิพากษ์การเมืองระดับชาติก่อนพัฒนาสู่ความขัดแย้งอุดมการณ์เรื่องสีเสื้อในเวลาต่อมา

ไม่นานนัก สนน.จชต. มามติให้รวมกลุ่ม PNYS ยุบลงให้เหลือแค่องค์กร เมื่อเดือนเมษายน 2556 เพื่อเชื่อมตัวแทนนักศึกษาปาตานีทั้งในและต่างประเทศ มีนโยบายสำคัญเรื่อง “ซาตูปาตานี” (satu patani) หรือ ‘ปาตานีหนึ่งเดียว’ ในชื่อว่า “สหพันธ์นิสิตนักศึกษาและเยาวชนปาตานี” (The Federration Patani Student and Youth) หรือ Persstuan Mahasiswa Anak muda dan Siswa Patani ที่นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า ‘เปอร์มาส’ (PerMas)

การรวมตัวข้างต้นนั้น ทำให้พวกเขาเป็นกลุ่มก้อนขบวนการนักศึกษาที่มีความต่อเนื่องในการทำงานผ่านการจัดตั้งที่แข็งแกร่งและพัฒนาศักยภาพของตัวเองอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกัน ก็เป็นที่เคลือบแคลงของหน่วยความมั่นคงของรัฐมากที่สุดเช่นกัน จากสิ่งที่พวกเขาอ้างว่า “เวทีบีจารอปาตานี” (Bicara Patani)  เป็นเวทีเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านพูดถึงทางออกของปาตานีได้ทุกมิติ แม้กระทั่งการแยกตัวเป็นเอกราช เขตปกครองตนเอง หรือเขตปกครองพิเศษ โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นข้อเสนอที่ใหม่และล่อแหลม คือการลงประชามติเพื่อกำหนดใจตนเอง (Right to Self Determination) ซึ่งประเด็นดังกล่าวสุ่มเสี่ยงต่อการอาจถูกมองว่า พวกเขาคือปีกงานเยาวชนของขบวนการบีอาร์เอ็นได้ดังจะพบได้ว่ากลุ่มนักศึกษามักถูกปิดล้อมตรวจค้นบ้านพักของพวกเขาโดยเจ้าหน้าที่ความมั่นคงอยู่บ่อยครั้ง

กลุ่มนักศึกษาจึงกลายเป็น “ตัวแสดงทางการเมือง” ที่สำคัญควบคู่กับความรุนแรงที่ จชต. เสมอมา แต่ก็ถือได้ว่ามีความแตกต่างไปจากคนหนุ่มสาวอีกกลุ่มที่เคลื่อนไหวสมาทานการใช้ความรุนแรงในฐานะกองกำลังติดอาวุธ ทั้งยังเป็นผู้บริสุทธิ์ในสายตาของชาวบ้านที่เขาเข้าไปช่วยเหลือ

  • “พื้นที่กลาง”: พื้นที่การเมืองที่ปลอดภัย

กล่าวได้ว่า ตั้งแต่ช่วงปี 2552 เป็นต้นมา นับเป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การทำงานของภาคประชาสังคมชายแดนใต้มากที่สุด นับจากการเกิดขึ้นของ ‘ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้’ (Deep South Watch) ตั้งแต่ปี 2549 คณะผู้ก่อตั้งจำนวนหนึ่งแยกตัวมาจาก “โต๊ะข่าวภาคใต้” ของสมาคมนักข่าวฯ และร่วมกับภาคประชาสังคมในพื้นที่ จัดตั้งเป็นองค์กรทำหน้าที่ผู้ประสานงานเครือข่ายภาคประชาสังคมและวิชาการ ทั้งในและนอกพื้นที่ จชต. ภารกิจสำคัญที่สุด คือ การจัดทำฐานข้อมูลความรุนแรงชายแดนใต้ และสร้างกระบวนการเรียนรู้ความรุนแรงและสันติภาพโดยใช้ข้อมูล การคิดหาเหตุผลเพื่ออธิบายและหาทางออกจากปัญหา การเกิดขึ้นของสื่อสาธารณะ ‘ไทยพีบีเอส’ ที่มีแขน 2 ข้างในการ ‘จัดเวทีสาธารณะ’ และ ‘ขับเคลื่อนนักข่าวพลเมือง’ ทำงานด้วยกัน มี ‘ศูนย์ฝึกอบรมผู้ผลิตสื่อ’ โดยอินเตอร์นิวส์  เกิดสื่อทางเลือกและสื่อภาคประชาสังคมในพื้นที่อย่างคึกคัก เช่น ปาตานีฟอรั่ม โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ สำนักข่าวอามาน สำนักข่าวบุหงารายา Peace Media Group สถานีวิทยุมีเดียสลาตัน เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (Civic Woman) กลุ่มลูกเหรียง เป็นต้น ที่นับว่าเป็นการสื่อสารจาก “คนใน” ให้สังคมไทย “ได้ยิน” ด้วยจุดยืนที่แตกต่างกันไป

คู่ขนานกันไป, ช่วงเดียวกันนี้ มีการพูดคุยสันติภาพแบบไม่เป็นทางการในทางลับและล้มเหลวหลายครั้ง ซึ่งรัฐบาลไทยหลายชุดเพิกเฉยต่อความจำเป็นที่จะต้องหาทางออกทางการเมือง จึงเป็นช่วงเวลาที่ถือได้ว่ามี “การทำให้เป็นการเมือง” (politicization) มากขึ้น เป็นวาระที่ได้รับการผลักดันส่วนใหญ่จากนักกิจกรรมภาคประชาสังคม โดยเฉพาะปลายปี 2552 “เครือข่ายการเมืองภาคพลเมืองและองค์กรวิชาการ” 23 องค์กร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนมลายูมุสลิมในพื้นที่ ดึงกระแส “นครปาตานี” มาจัดเวทีวิชาการ “นครปัตตานีภายใต้รัฐธรรมนูญไทย: ความฝันหรือความจริง” ความน่าสนใจคือ ไทยพีบีเอสและกับศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ร่วมถ่ายทอดสดออนไลน์ และให้นักข่าวพลเมืองช่วยกันทำร้อยคลิปร้อยเสียง “การเมืองการปกครองชายแดนใต้ที่ควรจะเป็น” จากกลุ่มคนไทยพุทธ และผู้คนหลากหลายกลุ่ม ไทยพีบีเอสยังนำกระแสนี้ไปจัดเวทีสาธารณะในรายการ “วารประเทศไทย” และ “เปลี่ยนประเทศไทย” ต่อเนื่องกันหลายตอน ทำให้เรื่อง “เขตปกครองพิเศษ” “เขตปกครองตนเอง” รวมทั้ง “เอกราช” เป็นเรื่องที่พูดได้ในที่สาธารณะ

ในเวทีวิชาการดังกล่าว ‘อิสมาแอ อาลี’ อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นิยามความเคลื่อนไหวผลักดันนี้ เป็น “การต่อสู้” อีกประเภทหนึ่งที่ยืนอยู่ในแนวทางของสันติวิธี และยกระดับของเครือข่ายเป็น “เครือข่ายประชาชนเพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการปกครองในจังหวัดชายแดนใต้” เพื่อเคลื่อนไหวเรื่องการกระจายอำนาจอย่างต่อเนื่อง

ต่อมา การเกิดขึ้นของ ‘สภาประชาสังคมชายแดนใต้’ ที่ก่อรูปขึ้นจากนักกิจกรรมอาวุโส นักเคลื่อนไหว นักวิชาการ กลุ่มสตรีและเครือข่ายเยาวชน กลุ่มสื่อ รวม 20 องค์กร เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2554 ที่ตระหนักต่อความขัดแย้งยืดเยื้อว่ามีความจำเป็นที่ต้องมีองค์กรที่มีภารกิจในการเป็น ‘ตัวแทน’ ในการประสานงานและเชื่อมร้อยองค์กรต่าง ๆ ในพื้นที่ ในฐานะ “พื้นที่กลาง” หรือ “พื้นที่ร่วม” ของการรวมตัวกันอย่างหลวม ๆ แต่ก็มีทิศทางบางอย่างร่วมกันในประเด็นสำคัญ หรือประเด็นเชิงนโยบายเพื่อผลักดันเคลื่อนไหวร่วมกัน รวมถึงการผลักดันไปสู่การสนับสนุน กระบวนการสันติภาพ

ต่อมา “สภาประชาสังคมชายแดนใต้” ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า เป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อรูปแบบการปกครองและการกระจายอำนาจ 200 เวที ทั่วพื้นที่จชต. และเครือข่ายนักวิชาการช่วยกันศึกษารูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับในพื้นที่สร้างเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายใน ‘เวทีสมัชชาปฏิรูปชายแดนใต้ เดินหน้าสู่การกระจายอำนาจ’ วันที่ 4–5 มกราคม 2555 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่ง ‘ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี’ ผู้อำนวยการ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ เห็นว่า ภายใต้สถานการณ์ขัดแย้งด้วยอาวุธถึงตาย หากมี ‘พื้นที่ทางการเมือง’ มากขึ้น เป็นพื้นที่ต่อรองอำนาจจากกลุ่มต่าง ๆ ก็อาจส่งผลให้ความรุนแรงลดลงได้ ในทางผกผันกัน ถ้าพื้นที่ทางการเมืองถูกบีบให้แคบลง ย่อมส่งผลให้การก่อความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นได้

อนึ่ง ต้องบันทึกไว้ว่า ทุนสนับสนุนของ “สภาประชาสังคมชายแดนใต้” ที่ประคับประคองให้จัดการทางธุรการได้ เพราะมีมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) เป็นกลไกในการขับเคลื่อน รวมทั้งสำนักงานปฏิรูป (สปร.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ล้วนแต่เป็นองค์กรเครือข่ายสำคัญที่ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลัง ส่วนแหล่งทุนอื่น ๆ มักเข้ามาตามห้วงเวลาที่องค์กรเหล่านั้นสนใจ หรือตามแต่สมาชิกจะประสานงานติดต่อกันมาได้ทำให้เครือข่ายนักศึกษาและเครือข่ายนักกิจกรรมสังคมเยาวชนจำนวนไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก และวางระยะห่างด้วยด้วยแหล่งทุนใกล้ชิดกับรัฐ และถ้อยคำหยอกล้อว่าเป็น “เอ็นจีโอขุนนาง” หรือ “CSO Elite”

อย่างไรก็ดี ต้นทุน “การทำให้เป็นการเมือง” (politicization) ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ช่วยย่นย่อการแสวหาทางออกทางการเมือง ในการพูดคุยสันติภาพให้แคบลงเมื่อคู่พูดคุยวางกรอบ “หลักการทั่วไปของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ” (General Principle of the Peace Dialogue Process) โดยมุ่งแสวงหาทางออกที่สอดคล้องกับเจตจำนงของชุมชนปาตานีภายใต้ความเป็นรัฐเดี่ยวของประเทศไทยตามที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ที่ยังต้องขบายความจากการเมืองการปกครองคือ ด้านสังคม เศรษฐกิจ ศาสนา การศึกษา และอื่น ๆ จะมีรายละเอียดอย่างไร

  • พื้นที่กลางสร้างสันติภาพจาก คนใน

และห้วงเวลาที่เป็นยุคทองนี้ เริ่มมีการเข้ามาของผู้เชี่ยวชาญด้านสันติภาพทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะการเข้ามาของ ‘ดร.นอเบิร์ต โรเปอร์ส’ มูลนิธิเบิร์กฮอฟ (Berghoff Foundation) เข้ามาทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมมากขึ้นด้วย โดยเล็งเห็นบทบาทของ “ฝ่ายที่สาม” ในฐานะข้อต่อที่สำคัญระหว่างพื้นที่กับคู่ขัดแย้ง (รัฐกับขบวนการเอกราช) รวมไปถึงบทบาทของผู้ริเริ่มสันติภาพว่า “คนในคือผู้จุดคบเพลิงสันติภาพ” และสร้างอำนาจต่อรองความรุนแรงโดยประชาชนได้

การที่ภาคประชาสังคมชายแดนใต้สามารถลงหลักปักฐานและสัมพันธ์กับกระบวนการสันติภาพจนสามารถต่อรองกับความรุนแรงได้ อย่างมีวิชาการรองรับนั้น ไม่สามารถปฏิเสธบทบาท “เวทีสร้างสันติภาพจากคนใน: Insider Peace Building Platform: IPP” หรือ ที่รู้จักกันในชื่อ “วงไอพีพี” ซึ่งเริ่มขึ้นกลางเดือนกันยายน 2554 ก่อรูปขึ้นหลังจาก ‘ดร.นอร์เบิร์ต’ ได้คุยกับ ‘ศรีสมภพ’ เรื่องการสร้างพื้นที่กลาง (common ground) ในการต่อรองกับความรุนแรง จึงมีการระดมทีมนักวิชาการด้านสันติภาพคนหนุ่มสาวที่เข้มข้นที่สุดในเวลานั้นมาร่วมทีม ทั้ง ‘ชญาณิศ พูลยรัตน์’ จากศูนย์ข่าวสารสันติภาพ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศูนย์สิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ส่ง ‘งามศุกร์ รัตนเสถียร’ ก่อนจะเปลี่ยนเป็น ‘ดวงหทัย บูรณเจริญกิจ’ ภายหลัง, สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ส่ง ‘ธรรมศาสตร์ โสตถิพันธุ์’ เข้ามาเป็นทีมงาน ส่วน ‘เมธัส อนุวัตรอุดม’ มาร่วมในนามสถาบันพระปกเกล้า ขณะที่ ‘รอมฎอน ปันจอร์’ ‘ฟารีดา ขจัดมาร’ ‘สมัชชา นิลปัทม์’ และ ‘ฐิตินบ โกมลนิมิ’ มาร่วมในนามศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และ ‘จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม’ จากมูลนิธิเบิร์กฮอฟ

การออกแบบวงไอพีพีวางอยู่บนพื้นฐานความหลากหลายของผู้เข้าร่วมประมาณ 50 คน ทั้งในแง่ของชาติพันธุ์ ศาสนา และอุดมการณ์ทางการเมือง ตัวแทนเครือข่ายนักศึกษา และตัวแทนของฝ่ายความมั่นคง การคัดเลือกสมาชิกเข้าในวงเป็นไปอย่างมีหลักเกณฑ์และวางกระบวนการเรียนรู้ที่ชัดเจน สิ่งที่สำคัญยิ่งคือการสร้างให้วงเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ แลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกันได้อย่างอิสระ ตามข้อตกลงสากลคือ กฎสถาบันแชทแธม ลอนดอน (Chatham House’s rule) ที่ตอกย้ำทุกครั้งก่อนเริ่มวง โดยหวังให้กลุ่มคนที่มุ่งมั่นในการสร้างสันติภาพเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน สร้างบรรยากาศเพื่อผลักดันกระบวนการสันติภาพให้สามารถดำเนินต่อไปได้ และวงสามารถดำเนินมาถึงปัจจุบันได้มากกว่า 30 ครั้ง นับเป็นวงคุยต่อเนื่องที่ยาวนานอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ลักษณะเฉพาะของวงไอพีพีได้กลายรูปเป็นพื้นที่เชื่อมเครือข่ายการทำงานของผู้เข้าร่วมในแต่ละกลุ่ม รวมถึงขยายผลการทำงานในวงกว้างอย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรมเครือข่ายภาคประชาสังคมและภาควิชาการ ความสัมพันธ์ของผู้เข้าร่วมวงอย่างไม่เป็นทางการแต่เป็นธรรมชาติ มีการประยุกต์นำความรู้และเครื่องมือส่งต่อในเวทีย่อย ๆ ระดับชุมชนบ่อยครั้ง ตอกย้ำบทบาท “ภาคประชาสังคม” ในฐานะเป็นผู้เล่น “ฝ่ายที่สาม” ที่สำคัญในแทร็กสองของกระบวนการสันติภาพสามารถเชื่อมโยงเสียงจากชุมชนรากหญ้าในแทร็กสาม ไปให้ผู้กำหนดทิศทางของความรุนแรงในแทร็กหนึ่ง “ได้ยิน” ได้ โดยพวกเขาเข้าใจบทบทของ “คนใน” และ “คนกลาง” ที่ทำหน้าที่หนุนเสริมกระบวนการสันติภาพอย่าง และคึกคักมากในช่วงปี 2555-2558

ดังนั้น เมื่อการพูดคุยสันติภาพ “อย่างเป็นทางการ” สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เปราะบางไปต่อไม่ได้หลังจากฝ่ายบีอาร์เอ็นยื่นข้อเสนอ 5 ข้อต่อรัฐบาลไทย ยืนยันเรื่องสิทธิความเป็นเจ้าของดินแดนปาตานีและให้ยอมรับพวกเขาในฐานะนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพของชาวปาตานีไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน “วงไอพีพี” จึงร่วมกับ “สภาประชาสังคมชายแดนใต้” หารือแนวทางสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ “ไม่ให้ล่ม” ทั้งทำ “โรดแม็ปฉบับภาคประชาชน” และออกแบบเอกสารเชิงนโยบาย “เราจะทำให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร?” เป็น 3 ภาษา (ไทย อังกฤษ และมลายู) ส่งให้คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2556 (อ่านรายละเอียดได้ที่นี่) ตามแนวคิด ‘ตาข่ายนิรภัย’ (safety net) รองรับจากประชาชน ทว่า การรัฐประหารในปี 2557 ก็ทำให้การพูดคุยครั้งนี้ต้องยุติลงโดยปริยาย

            แม้วงไอพีพีจะบ่มเพาะมาก่อนการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการ เมื่อกุมภาพันธ์ 2556 แต่ก็มีปฏิกริยาจากฝ่ายไม่เห็นด้วยในหมู่นักกิจกรรมนักศึกษา คือ “กลุ่มเปอร์มัส” ที่พัฒนาเป็น “เครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ” (คปส.) พวกเขาเห็นว่า กระบวนการพูดคุยที่ดำเนินอยู่นั้นไม่ใช่ “กระบวนการสันติภาพที่แท้จริง” แต่มาจากการบีบบังคับกลุ่มผู้เห็นต่างและขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐที่พำนักอยู่ในฝั่งมาเลเซียผ่านการกดดันของทาง การมาเลเซีย ที่ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก พวกเขาวิจารณ์บทบาทของมาเลเซียว่าไม่เหมาะสม ทั้งยังมองว่าเสียงของ “สันติภาพ” นั้น ต้องฟังคนในพื้นที่อีกมาก และโดยความหมายของ “สันติภาพ” ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ถึงปัจจุบัน พร้อมทั้งวิจารณ์บทบาทของภาคประชาสังคมว่าไม่ได้เป็น “ตัวแทน” ที่แท้จริงของชาวปาตานี ที่มีสภาประชาสังคมชายแดนใต้นำแต่ฝ่ายเดียว ส่วนพวกเขาก็ไปจัดวงพูดคุยอันร้อนแรงในพื้นที่ระดับชุมชนและหมู่บ้านที่ชื่อ “บีจารอปาตานี” กล่าวได้ว่า พวกเขาคือกลุ่มคนที่ทำงานในแทร็กสามอย่างเข้มข้นนั่นเอง

ไม่นานนัก จาก “วงไอพีพี” ก็มีการตั้ง “ศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรสันติภาพ” (Peace Resource Collaborative – PRC) ในปี 2557 นั่นเอง จากการริเริ่มของ 8 สถาบันวิชาการด้านสันติภาพจากทั้งในและต่างประเทศ คือ 1) มูลนิธิเบิร์คฮอฟ 2) ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3) ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4) สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล 5) สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า 6) สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ 7) ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และ 8) สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อหนุนเสริมงานวิชาการและเป็นที่ปรึกษาของภาคประชาสังคมในระยะยาว

พร้อมกับการเกิดขึ้นของ “วิทยาลัยประชาชน” ที่อดีตกลุ่มนักศึกษาทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ คนหนุ่มสาวที่ผ่านงานด้านสิทธิมนุษยชน ได้เปิดพื้นที่เว็บบล็อกและวงพูดคุย รวมทั้งห้องเรียนสันติภาพที่ออกแบบไว้คือการแบบแพลตฟอร์มดึงผู้คนในชุมชน ในหมู่บ้านที่เชื่อว่าเขาเป็นฝ่ายขบวนการที่อยู่ต่างพื้นที่กันให้ได้สื่อสารกันในระนาบเดียวกันมากขึ้นด้วย ในอีกทางหนึ่งก็เป็นช่องทางให้ข่าวสารเกี่ยวกับกระบวนการสันภาพได้ไหลเวียนไปในระดับชุมชน เพราะนี้คือปัญหาเชิงโครงสร้างที่ข่าวสารมักไปไม่ถึวพวก “ญูแว” หรือ “กลุ่มนักรบ” ที่ทำงานใต้ดินด้วยภาษามลายู รวมทั้งภาษาการเมืองของพวกเขาเอง เพื่อให้มวลชนเข้าใจสถานการณ์มากขึ้น

การมีพื้นที่สื่อสารที่มากขึ้นจะส่งผลทางบวกที่จะทำให้ฝ่ายขบวนการที่สมาทานการใช้ความรุนแรง มีแนวโน้มที่จะลดการใช้ความรุนแรงและหันหาสู่ทางเลือกใหม่ที่เป็นแนวทางการเมืองและสันติวิธีมากขึ้น เพราะต่างตระหนักดีว่าการใช้ความรุนแรงนั้นมีขอบเขตจำกัด

  • พื้นที่สาธารณะ: พื้นที่ส่งเสียง พื้นที่ต่อรอง

 ตามที่กล่าวข้างต้น “สื่อทางเลือก” “สื่อภาคประชาชน” เป็นส่วนสำคัญในการช่วยปรับภูมิทัศน์การขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมชายแดนใต้ ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา โดยเนื้อหาและท่วงทีการนำเสนอของพวกเขาก็ปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับสื่อหลักของประเทศด้วย เพราะพวกเขาในฐานะ “คนในพื้นที่” เมื่อรวมตัวกันเป็น “เครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมชายแดนใต้” ได้แล้วก็สามารถกำหนด “วาระการสื่อสาร” ไม่ให้ความรุนแรงผูกขาดการบอกเล่าสถานการณ์ชายแดนใต้ฝ่ายเดียว และยังสามารถอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ จากมุมมองเจ้าของเรื่องราว ไม่ใช่จากมุมมองของ “ส่วนกลาง” หรือศูนย์กลางอำนาจอีกต่อไป

จุดเริ่มต้นของปฏิบัติการราวปี 2553 หลังจาก ‘มาโฮ นากายามา (ซาโตะ)’ ตัวแทนมูลนิธิซาซากาวา สันติภาพแห่งประเทศญี่ปุ่น ผู้มีประสบการณ์การทำงานสันติภาพในอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซียมาก่อน ติดต่อศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ องค์กรที่อุดมไปด้วยคนทำสื่อที่มีประสบการณ์ทั้งระดับประเทศและทำชื่อชุมชนไปพร้อมกัน และเป็นกลุ่มคนที่มีฐานความคิดเชิงวิชาการ มีศักยภาพในการจัดเวทีสาธารณะหรือ “พื้นที่กลาง” ในการขยับประเด็นเรื่องต้องห้ามที่คุยกันไม่ได้มาก่อน รวมทั้งการพยายามขยายอำนาจต่อรองของภาคประชาสังคมนมิติต่าง ๆ ดังนั้น เธอต้องการสนับสนุนการจัดตั้งขบวนของสื่อในพื้นที่ นี่คือที่มาของการรวมตัวของสื่อทางเลือก สื่อภาคประชาชนแบบหลวม ๆ เพื่อเป้าหมายระยะยาวที่เหมือนกันภายใต้ชื่อ “เครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมชายแดนใต้” ที่ปฏิบัติการผ่าน “วันสื่อทางเลือกชายแดนใต้/ปาตานี” 3 ปี ก่อนเปลี่ยนเป็นวันสื่อสันติภาพ และสมัชชาสันติภาพชายแดนใต้ตามลำดับ

หัวใจสำคัญของ “วันสื่อทางเลือกชายแดนใต้/ปาตานี” นั้น ต้องการผลักสัญลักษณ์ 2 สำคัญ คือ (ก) การทำงานผนึกกำลังร่วมกันของเครือข่ายภาคประชาสังคม เพื่อต่อรองกับผู้ใช้ความรุนแรงทุกฝ่าย (ข) เพื่อผลัก “วาระ” (agenda) ว่าด้วยการสื่อสารใหม่ รวมถึงการปฏิเสธการใช้ความรุนแรง นัยหนึ่งคือการกำหนด “วาระข่าวสารใหม่” ถือเป็นบทบาทใหม่ที่ท้าทายต่อสื่อกระแสหลักอย่างน่าจับตามองในขณะนั้น

วันสื่อทางเลือกฯ ปีแรก (2554) วางจังหวะก้าวของ “สื่อใหม่ สื่อชุมชนกับการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่” โดยเชิญ ‘ฟรอยลัน กัลลาร์โด’ ผู้สื่อข่าวและช่างภาพของเว็บไซต์มินดาเนานิวส์ จากฟิลิปปินส์ ซึ่งตัวเล็บไซต์มินดานิวส์เป็นสื่อที่ให้ความสำคัญกับการอธิบายปรากฏการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์ กับกลุ่มเรียกร้องเอกราชบังซาโมโร และ ‘ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข’ บรรณาธิการเว็บไซต์ประชาไท ที่ได้รับอิทธิพลจากมินดานิวส์มาก่อน เป็นเว็บไซต์ภาคประชาชนเจ้าแรก ๆ ในสังคมไทยที่ใช้เวบไซต์เป็นฐานป้อนข้อมูลสู่สังคม

วันสื่อทางเลือกฯ ปีที่สอง (2555) ยกระดับขึ้นในการ “เชื่อมร้อยเครือข่าย ผสานกำลังสื่อ สร้างพลังต่อรอง” ในปีนี้จัดรูปแบบคล้ายตลาดนัดสื่อทางเลือกต่าง ๆ ที่ทำงานร่วมกันราว 40 องค์กร เพื่อเปิดพื้นที่ เปิดห้องย่อยให้แต่ละเครือข่ายได้กำหนดวาระพูดคุยเชิงประเด็นเป็นของกันเอง และมีพื้นที่ให้แลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างกันด้วย รวมทั้งมีการบรรยาความรู้ “แนวคิดว่าด้วยพื้นที่สาธารณะของเจอร์เกน ฮาเบอร์มาส นักปรัชญาและนักทฤษฎีสังคมศาสตร์ชาวเยอรมัน” โดย ‘นอร์เบิร์ต โรเปอร์ส’ นัยหนึ่งคือการประกาศความชอบธรรมของการริเริ่มสร้างพื้นที่สาธารณะผ่านการสื่อสารโดยภาคประชาชนที่รวมตัวกันขึ้นมา ยังเป็นเวทีเปิดตัวครั้งแรกของ “วิทยาลัยประชาชน” และเครือข่ายผู้หญิงยังรวมตัวอ่านแถลงการณ์ร่วมกันเป็นครั้งแรก เรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติความรุนแรงต่อผู้บริสุทธิ์

ข้อสังเกตคือ สมาชิกบางส่วนในกิจกรรมวันสื่อทางเลือกครั้งนี้ ล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ “วงไอพีพี” ซึ่งกลายมาเป็นกำลังสำคัญในการถักทอเครือข่ายการทำงานนี้

วันสื่อทางเลือกฯ ​ครั้งที่สาม (2566) “สนามสันติภาพ: เครือข่ายการสื่อสารภาคประชาสังคม” โดยขยายพื้นที่การสื่อสารและพื้นที่สาธารณะ จากปัตตานีไปสู่ยะลา โดยลองใช้มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลาเป็นสถานที่จัดงาน ความน่าสนใจของการจัดงานครั้งนี้ คือช่วงเวลาที่เริ่มมีการพูดคุยสันติภาพอย่างทางการไม่นานนัก จึงพยายามเชื่อมประเด็นสื่อใหม่และการเคลื่อนไหวทางสังคมให้เข้ากับเรื่องกระบวนการสันติภาพให้มากขึ้น

แม้ การพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการ เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ทำให้เกิดความขลุกขลัก​และงงงวย กันไปในหมู่ภาคประชาสังคม สิ่งที่เป็นผลพลอยได้สำคัญคือ การมีพื้นที่การเมืองแง้มออกเพื่ออภิปรายกระบวนการพูดคุยที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง (บางคนเถียงในใจว่าทำได้สิ เพราะอยู่ภายใต้บรรยากาศของรัฐบาลพลเรือน ฝ่ายความมั่นคงไม่ได้เข้มงวดเหมือนในปัจจุบัน) ในกรณีของวันสื่อทางเลือกซึ่งจัดต่อเนื่องมา 3 ปี คณะกรรมการจัดงานจึงมีมติร่วมกันเปลี่ยนชื่องานเป็น “วันสื่อสันติภาพเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ซึ่งน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมบรรยากาศการสร้างสันติภาพ และยังทำหน้าที่ของ “พื้นที่ต่อรอง” รวมถึงเป็นข้อต่อที่สำคัญระหว่าง “ผู้เล่น” บาทบาทต่าง ๆ ในสนามสันติภาพ

ดังนั้น การจัดงานครั้งแรกในปี 2557 จึงกลายเป็น “มหกรรมวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี PPP101: 10 ปีความรุนแรง, 1 ปี สนามสันติภาพ” (จัด 2 วัน 27-28 กุมภาพันธ์) ซึ่งเป็นช่วงเวลาครบรอบ 10 ปีสถานการณ์ความรุนแรงที่ยืดเยื้อด้วย วันนี้งานมี 3 องค์ประกอบที่น่าสนใจ ส่วนแรก คือ ปาฐกถาพิเศษที่ ‘ดาโต๊ะ ศรี อะหมัด ซัมซามิน’ ผู้อำนวยความสะดวกคนแรกในการพูดคุยมาพูดถึงเจตจำนงและบรรยากาศของกระบวนการสันติภาพ ส่วนเสวนาพิเศษมีทั้งนักวิชาการสำคัญอย่าง ‘ศ.ดร.ดันแคน แมคคาร์โก’ และ ‘ศ.ดร.กามารุซามัน อัสกันดาร์’ รวมถึงผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในกระบวนการพูดคุยฝ่ายไทยคือ ‘พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร’ เลขาธิการ สมช. และ ‘พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง’ ตัวแทนจากกอ.รมน. ส่วนที่สอง คือ การอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี โดยเครือข่ายองค์กรประชาสังคมและองค์กรสื่อในพื้นที่ และกิจกรรมปลูกต้นชบาเพื่อสันติภาพ ซึ่งปฏิบัติการนี้แปรสภาพมาเป็น “พื้นที่การส่งเสียง ต่อรอง” การใช้ความรุนแรงของภาคประชาสังคมอย่างเป็นทางการ ส่วนที่สาม คือวงเสวนาว่าด้วยบทบาทของผู้คนแทร็กสาม ระดับรากหญ้าในกระบวนการสันติภาพ และการยื่นข้อเสนอเชิงนโยบาย “เราจะทำให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร” ของสมาชิกวงไอพีพี

วันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 2 “สันติ (ที่มองเห็น) ภาพ” (Visible/Visionary Peace) ภายใต้หลักคิดการทำให้เรื่องนามธรรมอย่างกระบวนการสันติภาพให้เกิดเป็นรูปธรรม หรือ “มองเห็นภาพ” ที่น่าสนใจนี่คือการจัดงานในห้วงครบรอบปีของการรัฐประหาร 2557 ที่เปลี่ยนมาสู่รัฐบาลทหาร ที่กิจกรรมการเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกเข้มงวดเป็นพิเศษ แต่ในพื้นที่ชายแดนใต้กลับสามารถจัดได้อิสระกว้างขวางจนน่าประหลาดใจ

ความน่าสนใจของงานสื่อสันติภาพ ปี 2558 มี 2 ส่วนสำคัญ คือ ส่วนแรกที่เรียกว่า “ดุลยปาฐก” ว่าด้วย “ภาพ” การพูดคุยสันติภาพรอบใหม่มีความเป็นไปได้เพียงไรภายใต้รัฐบาล คสช. โดยคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายมาอยู่ในเวทีเดียวกัน คือ ‘พล.ต.ชินวัฒน์ แม้นเดช’ ผู้อำนวยการศูนย์สันติสุข กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในฐานะตัวแทนแม่ทัพภาค 4 และ ‘อาบูฮาฟิช อัลฮากีม’ สมาชิกขบวนการ BIPP และในฐานะโฆษกของ ‘มารา ปาตานี’ โดยใช้วิธีการอัดเทปวีดิโอส่งเข้ามาเปิดในงาน เนื่องจากรัฐยังไม่มีประกาศเอกสิทธิ์คุ้มครองคู่ความขัดแย้ง (immunity) การจัดปาฐกถาลักษณะเช่นนี้ นอกจากได้ฟังสาระและจุดยืนของแต่ละฝ่ายแล้ว “พื้นที่สาธารณะ” นี้ยังเป็นพื้นที่ปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจของตัวแสดงสำคัญในความขัดแย้งเข้ามาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนและไม่ง่ายนัก ส่วนที่สอง เป็นสิ่งที่กระทำต่อเนื่องทุกปีคือ การเป็นพื้นที่ส่งเสียงต่อรองและเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงของภาคประชาสังคม ที่เรียกว่า “วาระสันติภาพจากพื้นที่” เป็นคำกล่าวแถลงของบรรดาเครือข่ายประชาสังคมหลัก 14 องค์กร

วันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 3 และสมัชชาสันติภาพ 2016 “สันติภาพเดินหน้า” (Peace, Moving Forward) ความน่าสนใจของการจัดงานปีนี้ เพื่อให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้าต่อไปได้  กิจกรรมมี 2 ส่วนหลัก คือ ในส่วนแรก มี 3 ปาฐกถาหลักของงาน (ก) “ความท้าทายและก้าวต่อไปของการพูดคุยเพื่อสันติสุข” โดย ‘พลโท นักรบ บุญบัวทอง’ เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข จชต. (ข) “ความท้าทายและก้าวต่อไปการพูดคุยเพื่อสันติภาพ” โดย ‘อาวัง ญาบัต’ ประธานสภาชูรอแห่งปาตานี (มารา ปาตานี) และ (ค) “ความท้าทายและก้าวต่อไปของผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยเพื่อสันติภาพ” โดย ‘ดาโต๊ะ ซัมซามิน’ ผู้อำนวยความสะดวกคนเดิมจากมาเลเซีย นัยหนึ่งในการนำทั้งสามตัวแสดงหลักบนโต๊ะพูดคุยมาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน คือการสร้าง “สันติสนทนา” (peace dialogue) ในพื้นที่สาธารณะ ในพื้นที่เสมือน และในพื้นที่ของภาคประชาชนที่ริเริ่มโดยภาคประชาชน

ในส่วนที่สอง มีความน่าสนใจอีกประการ คือ การรวมตัวกันจัด “สมัชชาสันติภาพ 2016W โดยภาคประชาสังคม เพื่อเสนอวาระสันติภาพจากประชาชน นั่นคือ เวทีรายงานสันติภาพและข้อเสนอ (Agenda Damai Dari Rakyat) การกล่าวถ้อยแถลงของบรรดาเครือข่ายภาคประชาสังคมและกลุ่มองค์กรต่าง ๆ กว่า 20 องค์กร ซึ่งถือว่าเป็นสมัชชาสันติภาพครั้งแรกของพื้นที่

ตัดภาพ 10 ปีต่อมา ปี 2566, ในวาระครบรอบ 10 ปีการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการ ปีนี้ “สภาประชาสังคมชายแดนใต้” เป็นโต้โผใหญ่ในการจัดสมัชชาสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 4: ตลาดนัดสันติภาพ พื้นที่กลางใหม่ (Peace Market Place) ซึ่งวางหัวใจการจัดงานอยู่ที่บทเรียนและการเรียนรู้สู่ทิศทางและความหวังใหม่ในอนาคต ในบริบทการพูดคุยสันติภาพรอบใหม่กลับมา ด้วยการสื่อสารแบบปิดระหว่างตัวแทนรัฐไทยกับขบวนการปลดปล่อยปาตานี จนกระทั่งขบวนการบีอาร์เอ็นกลับขึ้นโต๊ะพูดคุยใหม่อีกครั้ง และมีความคืบหน้าที่ทั้งสองฝ่ายจะพูดคุยกันในสารัตถะ 3 เรื่อง คือ การลดความรุนแรง การปรึกษาหารือสาธารณะ และแสวงหาทางออกทางการเมือง ในเงื่อนไขที่สอดคล้องกับเจตจำนงของชุมชนปาตานีภายใต้ความเป็นรัฐเดี่ยวของประเทศไทยตามที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

“พื้นที่สาธารณะ” ที่ริเริ่มกลับมาจัดใหม่อีกครั้งโดยภาคประชาสังคมยังให้ความหมายกับการจัดสมดุลอำนาจ เปิดพื้นที่การเมืองใหม่ และการต่อรองกับความรุนแรง โดยส่วนแรก มีปาฐกถาสำคัญจาก ‘ตันศรีซุลกิฟลี บิน ไซนัล อะบีดีน’ และปาฐกภาพิเศษจากตัวแทนพูดคุย 2 ฝ่ายในช่วงเวลาเดียวกัน จาก ‘พลเอกวัลลภ รักเสนาะ’ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข จชต. และ ‘อุสตาซอานัส อับดุลเราะห์มาน’ หัวหน้าคณะพูดคุยของขบวนการบีอาร์เอ็น และส่วนที่สอง เป็นการถอดบทเรียนของภาคประชาสังคมในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาพร้อมกับยื่นขอเสนอเชิงนโยบายจากภาคประชาชน คือ “พื้นที่กลางใหม่” ให้สอดรับกับเงื่อนไขบนโต๊ะพูดคุย ที่ต้องการสร้างพื้นที่ปรึกษาหารือสถานะที่สามารถรวมทุกกลุ่มทุกฝ่ายมาพูดคุยกันได้อย่างปลอดภัย ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรต้องติดตามต่อไป

พูดแบบ ‘มูฮำหมัด อายุป ปาทาน’ อดีตประธานสภาสังคมชายแดนใต้ “การสื่อสารไม่สามารถเปลี่ยนใจคนทุกคนได้ แต่เราเชื่อว่า ถ้าเปลี่ยนภูมิทัศน์และบรรยากาศการสื่อสารได้ ก็จะเปลี่ยนทั้งคนและสังคมได้”

  • พื้นที่ปลอดภัยเครื่องมือวัดความไว้วางใจ

ประดิษฐกรรมสำคัญของประชาสังคมในการสร้างข้อต่อรองในการแก้ปัญหา จชต. อย่างหนึ่งคือ การสร้างข้อเสนอสาธารณะ หรือข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะที่มีความก้าวหน้าในการเสนอรูปธรรมทางออกของปัญหาเสนอต่อตัวแสดงสำคัญในสถานการณ์ความขัดแย้ง เช่น ภาพอนาคตจังหวัดชายแดนภาคใต้ (2554) จัดพิมพ์เผยแพร่โดยศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ต้องการนำเสนอภาพอนาคตในการมองการแก้ปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ร่วมกัน, เลือกอนาคต: บทสังเคราะห์การพิจารณาทางเลือกเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในเวทีนโยบายสาธารณะ “ชายแดนใต้จัดการตนเอง” (2556) จัดพิมพ์และเผยแพร่โดยสำนักงานประสานงานพัฒนาสุขภาวะ (สปพส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้สถานการณ์ที่ดำเนินไปหลังจากวงไอพีพี ก่อรูปขึ้นได้ปีเศษ ข้อเสนอจากคณะทำงานวงไอพีพี “เราจะทำให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้าต่อได้อย่างไร?” (2557) ก็ถูกจัดพิมพ์โดยสถาบันพระปกเกล้า เพื่อนำเสนอในวันสื่อสันติภาพ ครั้งที่ 1 และเวลาไล่เรียกันปีนั้น ยังมี “สื่อพลเมืองกับปัญหาปาตานี” โดยปาตานีฟอรั่ม ซึ่งสะท้อนการขยายตัวและบทบาทสื่อภาคประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

แต่ข้อเสนอเชิงนโยบายในฐานะเครื่องมือในการต่อรองการใช้ความรุนแรงที่สำคัญ มี 2 ชิ้น ที่ยื่นตรงต่อตัวแทนคู่ขัดแย้งของคณะพูดคุยสันติภาพและมีผลในเชิงปฏิบัติตามมา คือ (ก) ข้อเสนอเชิงนโยบาย “พื้นที่สาธารณะปลอดภัยสำหรับผู้หญิงชายแดนใต้” ของ ‘คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้’ (PAOW) กับ (ข) “ยุติธรรมทางเลือกเพื่อสันติภาพชายแดนใต้: ข้อเสนอเชิงนโยบายจากเสียงของประชาชน” ของ ‘เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ’ (B4P) เกิดในห้วงเวลาเดียวกัน และมีจุดร่วมสำคัญคือ มุ่งปกป้องกลุ่มเป้าหมายอ่อนแอและเปราะบางที่มีความเสี่ยงในการได้รับผลกระทบจากความรุนแรง

ความแตกต่างของ 2 ข้อเสนอนี้คือ ‘คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้’ (PAOW) ซึ่งเกิดจากรวมตัวของเครือข่ายองค์การผู้หญิงและเด็ก 23 เครือข่าย ต้องการผลัก (1) แนวคิดพื้นที่สาธารณะปลอดภัยในตลาด ถนน โรงเรียน ศาสนสถาน และป้อมรักษาความปลอดภัยของหมู่บ้าน (ชรบ.) และ (2) ต้องการสร้างสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐไทยกับฝ่าย ‘มารา ปาตานี’ ในเชิงกระบวนการพวกเธอตั้งคณะทำงาน (ก) ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มต่าง ๆ ในหลายพื้นที่สีแดง (ข) การจัดทำและยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อคู่ขัดแย้งมีหนังสือปะหน้าสรุปใจความสำคัญเป็น 3 ภาษา ทั้งไทย มลายูกลาง และอังกฤษ และ (ค) การรณรงค์ผ่านช่องทางสื่อและกิจกรรมต่าง ๆ เสนอเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559 หนึ่งวันก่อนที่คณะพูดคุยสันติภาพจะประชุมกันอย่างเป็นทางการ ที่มาเลเซีย และรับเข้าเป็นวาระในการพูดคุยทันที

ด้านข้อเสนอของ ‘เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ’ (B4P) นั้น มาจากความกังวลจากข้อเรียกร้องของ ‘มารา ปาตานี’ ห้วงเดือนสิงหาคม 2558 ฝ่ายขบวนการที่พักพิงประเทศมาเลเซียขอความคุ้มครองทางกฎหมาย (immunity) ให้แก่ตัวแทนการพูดคุย 15 คน โดยอ้างว่าจะอำนวยความสะดวกในการพูดคุยให้เป็นรูปธรรม และมีความคิดริเริ่มที่จะออกนโยบายกระบวนการยุติธรรมทางเลือก ผ่าน 3 กลไก คือ การไม่สั่งฟ้องคดี การพักการลงโทษ และการเข้าอบรมแทนการดำเนินคดีอาญา แต่ชาวพุทธจำนวนหนึ่ง มองว่ากลไกดังกล่าวยังมีช่องโหว่และเอื้อประโยชน์ต่อผู้กระทำผิดแต่ละเลยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะกลุ่มคนพุทธ ซึ่งสวนทางกับ “โครงการกลับบ้าน” แต่อาจเป็น “โครงการพาโจรกลับบ้าน” ที่สะท้อนความหวาดระแวงของชาวพุทธและขอให้ชลอนโยบายดังกล่าวไปก่อน จนกว่าจะมีการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนและรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึง

กลับมาที่ข้อเสนอ “พื้นที่สาธารณะปลอดภัยของผู้หญิง” อีกครั้ง, ในฐานะที่เป็นข้อเสนอสร้างข้อถกเถียงเชิงวิชาการและการต่อสู้ทางการเมืองด้วย หากย้อนพิจารณาการพูดคุยสันติภาพรูปแบบปิดลับ นับจากปี 2548 จนกระทั่งการพูดคุยเป็นทางการ ในปี 2556 ฝ่ายความมั่นคงไทยให้ความสำคัญอย่างมากในการควบคุมความรุนแรงของฝ่ายขบวนการ ถือว่าเป็นปัจจัยชี้วัดหนึ่งในการทดสอบความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน พื้นที่ทดสอบนี้ถูกกำหนดโซนให้เป็น “พื้นที่หยุดยิงชั่วคราว” (temporal ceasefire zone) เป็นเครื่องมือของการทดสอบและพิสูจน์สิ่งต่าง ๆ ผ่านอำนาจควบคุมและสั่งการของคู่ขัดแย้ง ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของขั้นตอนการพูดคุยก่อนเข้าสู่การเจรจาต่อรองในโต๊ะ นัยว่าเป็นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (trust building phase) ในขณะที่ “พื้นที่ปลอดภัย” (safety zone) กลับมีพลวัตความหมายมากกว่านั้น ครอบคลุมไปถึงพื้นที่เปิดในทางการเมืองที่ประชาชนสามารถแสดงออกความคิดความเห็นทางการเมืองได้อย่างเสรีปลอดภัยอีกด้วย

ไม่ว่าความหมายของ “พื้นที่ปลอดภัย” และ “พื้นที่หยุดยิง” จะแตกต่างกันในเชิงรายละเอียดอย่างไร แต่จุดร่วมสำคัญ ต่างเป็นข้อตกลงร่วมของฝ่ายที่มีอาวุธอยู่ในมือ เป็นเรื่องของคนแทร็กหนึ่งเท่านั้น คำถามที่ต้องขบคิดต่อคือ มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่พื้นที่ลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นหรือริเริ่มจากภาคประชาชน ซึ่งเป็นตัวแสดงในท่ามกลางความขัดแย้งในระดับแทร็ก 2 และ 3 เมื่อสำรวจกรณีใกล้เคียงกันตัวแบบลักษณะนี้มีอยู่เช่นกันใน วาจีร์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเคนยา ที่กลุ่มผู้หญิงริเริ่มสร้าง “ตลาด” ให้เป็น “เขตสันติภาพ” และปลดอาวุธออกจากผู็ใช้กำลังทุกฝ่าย ด้วยการทำหน้าที่เป็นข้อต่อกับตัวแสดงทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้อาวุโสในเฝ่าไปจนถึงนักรบ เจ้าหน้าที่ราชการและฝ่ายการเมืองซึ่งทำให้จินตนาการการริเริ่มพื้นที่ปลอดภัยโดยประชาชนมีความเป็นไปได้ในเชิงรูปธรรม

และในทางปฏิบัติจริงหลังจากคู่ขัดแย้งในคณะพูดคุยสันติภาพรับข้อเสนอ “พื้นที่สาธารณะปลอดภัยของผู้หญิง” แล้ว หนึ่งปีถัดมา (กุมภาพันธ์ 2550) ประเด็นสำคัญนี้ผ่านการรับรองโดยคณะทำงาน 3 ฝ่าย (Third Joint Working Group Peace Dialogue Process: JWG-PDP) และคณะทำงานเทคนิคร่วมกันประสานจัดตั้ง “พื้นที่ปลอดภัย” (safety zone) นำร่องที่ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทั้งสองฝ่ายจะหยุดใช้ความรุนแรงต่อพลเรือนและจะร่วมสอบสวนถึงเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่กระนั้นก็ติดขัดเรื่องการรับรองข้อเสนอจากคณะพูดคุยชุดใหญ่ โดยระบุว่า ไม่ใช่เรื่องจำเป็น เพราะถือว่าเป็นขั้นตอนการทดสอบความไว้เนื้อใช้ใจ จึงไม่มีความจำเป็นต้องลงนามรับรองในเอกสารใด ๆ ด้วยท่าทีลองเชิงเช่นนี้ในที่สุด ทั้งสองฝ่ายก็ประกาศยุติข้อตกลงพื้นที่ปลอดภัย

ไม่นานนี้ มีนักวิชาการไทยข้ามฝั่งไปมาเลเซียพูดคุยกับโฆษกมาราปาตานี ทำไมรับข้อเสนอของกลุ่มผู้หญิง เขามองว่า ภาคประชาสังคมเป็นตัวเชื่อมสำคัญบนโต๊ะพูดคุยกับระดับรากหญ้า อะไรก็ตามที่เป็น ‘เสียง’ หรือ ‘บทสนทนา’ แนวทางที่จะทำให้การพูดคุยเดินต่อไปได้ และยิ่งเป็นข้อเสนอที่เป็นจริงจากพื้นที่ ต้องการตรวจสอบว่าประชาชนนั้นคิดเหมือนเราหรือไม่ เขามีความชอบธรรมในฐานะของการเป็นตัวแทนเสียงประชาชนมาสู่การเจรจามากที่สุด และจริงที่สุด ทุกปาร์ตี้ย่อมต้องการแน่นอน เพราะการขับเคี่ยวของคู่ขัดแย้งมีความคิดที่ไม่ลงรอยกัน

ขณะที่ทัศนะของผู้อาวุโสภาคประชาสังคมมองกรณีนี้ว่า “เอาเข้าจริงกูว่า CSO ยังไม่เคยต่อรองกับกองกำลังติดอาวุธเลย” ดังนั้น ข้อเสนอพื้นที่สาธารณะปลอดภัยของขบวนผู้หญิง เต็มที่ที่สุดคือ การทำให้ ‘วาระพื้นที่’ ยกระดับขึ้นเป็น ‘วาระในพื้นที่สาธารณะ’ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการต่อรองกับความรุนแรง หมายความว่า ต่อให้ข้อเสนอไปถึงผู้เห็นต่างจากรัฐ คือ ‘มารา ปาตานี’ ย่อมมีน้ำหนักแตกต่างไปจากการได้รับการยอมรับจากขบวนการบีอาร์เอ็น คือ “สาร” ต้องไปถึงคนที่มีกองกำลังติดอาวุธต่างหาก

อย่างไรก็ตาม “การลดความรุนแรง” กลับไปอยู่ในอำนาจการต่อรองของคู่ขัดแย้งที่ถืออาวุธในแทร็กหนึ่งอีกครั้ง ตามสารัตถะของการพูดคุยสันติภาพรอบใหม่ และข้อเสนอล่าสุดของฝ่ายบีอาร์เอ็น รัฐบาลต้องให้ความคุ้มครองทางกฎหมายแก่ตัวแทนบีอาร์เอ็น รวมไปถึงการรับรองความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ที่เข้าร่วมกิจกรรม “ปรึกษาหารือสาธารณะ” ด้วย ทั้งสองกรณีข้างต้นจะเป็นบทเรียนให้คณะทำงานทางเทคนิคเอาใจใส่ในรายละเอียดและคำนึงถึงความรู้สึกของผู้คนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่มากขึ้น

  • ความเสื่อมถอยของภาคประชาสังคม: ประชาชนสร้าง รัฐทำลาย

การรวมตัวของผู้คนสามัญชายแดนใต้ก่อรูปเป็นภาคประชาชนมาตั้งแต่ก่อนปี 2540 พวกเขาเปลี่ยนรูปแบบจากการทำงานพัฒนาชุมชนมาสู่งานเยียวยา นับจากปี 2547 เป็นต้นมา และรับมือกับปัญหาความรุนแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรัง จนกระทั่งเกิด “สภาประชาสังคมชายแดนใต้” ในปี 2554 แม้ว่าขบวนการเคลื่อนไหวจะเชื่อมประสานกับภาควิชาการ และพื้นที่ของมหาวิทยาลัยมาอย่างแนบชิด และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ดำรงความเป็น “พื้นที่ของความเป็นกลาง” “พื้นที่ปลอดภัย” และ “พื้นที่การเมือง” มีบทบาทเป็น “หลังพิง” ให้พื้นที่เคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาหัวก้าวหน้าและภาคประชาสังคมหลากหลายกลุ่มตลอดเวลาที่ผ่านมา

และด้วยความแตกต่างภูมิหลังของคนทำงานด้านสังคม ไม่ง่ายนักที่จะหา “ฉันทามติ” ร่วมกันหรือผลักดัน “วาระร่วมของภาคประชาชน” ไปสู่การเป็น “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม” (social movement) และส่วนใหญ่เป็นคนทำงานกระบวนการสันติภาพในแทร็ก 2 มากกว่าแทร็ก 3 กว่าจะเรียนรู้ติดอาวุธจากวงไอพีพี และเข้าใจว่าพวกเขา คือ คนสามัญที่มีความชอบธรรมเป็น “ฝ่ายที่สาม” ในกระบวนการสันติภาพ

รวมทั้งการสถาปนา “พื้นที่สาธารณะ” และ “พื้นที่กลาง” ในการพูดคุยที่ปลอดภัยร่วมกันได้ โดยภาคประชาสังคมชายแดนใต้ จาก “จุดก่อตัว” มาจนถึง “จุดรุ่งเรือง” สูงสุด แต่ก็ไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในกระบวนการสันติภาพได้ จนอาจลงมาถึง “จุดเสื่อม” ได้เช่นกันจนเกิดสิ่งที่เรียกว่า กระบวนการสันติภาพที่ไร้เสรีอยู่ในวิถีการจัดการความขัดแย้งของระบอบอำนาจนิยม ซึ่ง “จุดเสื่อม” นี้ มีหลายปัจจัยที่ผ่านมา เช่น

  1. แหล่งทุนต่างประเทศเลือกสิ้นสุดระยะการสนับสนุนโครงการ หลังการรัฐประหาร 2557 โดยเฉพาะแหล่งทุนที่สนับสนุนงานขับเคลื่อนเรื่องสันติภาพ เช่น มูลนิธิซาซากาว่าเพื่อสันติภาพ แห่งประเทศญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (EU) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ขณะที่ หน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐ (USAID) เพิ่งกลับเข้ามาใหม่ไม่นานนี้ ประเด็นนี้สะท้อนความยั่งยืนของสิ่งที่เรียกว่า “ประชาสังคมชายแดนใต้” ที่ไม่ได้มีการออกแบบกลไกใด ๆ รองรับ เช่น มูลนิธิ หรือกองทุนภาคประชาสังคมเป็นการเฉพาะ
  2. ความพยายามแทรกแซงโดยรัฐ มีงานศึกษาหลายชิ้น พบกว่าภาครัฐเริ่มเข้มงวดและต้องการควบคุมการทำงานของภาคประชาสังคม โดยโครงการที่ภาคประชาสังคมทำจะต้องทำให้รัฐมั่นใจว่าไม่ขัด ไม่สวนทาง ต่อสิ่งที่รัฐประสงค์และที่สำคัญที่สุดต้องไม่เกื้อหนุนเอื้อต่อฝ่ายขบวนการต่อสู้ปลดปล่อยปาตานี ทั้งยังพบว่า มีความพยายามแทรกแซงการให้ทุนที่สนับสนุนกับภาคประชาสังคม โดยเฉพาะทุนจากแหล่งทุนต่างประเทศ
  3. “งบลับ 50 ล้านซื้อภาคประชาสังคม” นี่คือความขัดแย้งทางความคิดต่อเรื่องงบประมาณที่รัฐให้การสนับสนุนภาคประชาสังคม จากนโยบายของคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แก้ปัญหาจังหวัด จชต. (คปต.ส่วนหน้า) ที่ขับเคลื่อนด้วยความร่วมมือระหว่างศูนย์อำนวยการบริหารจัดหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กับ กอ.รมน. ที่มีโครงการระยสั้นงบมูลค่ารวม 50 ล้านบาท จนเกิดความขัดแย้งภายในหมู่ประชาสังคม ข้อท้วงติงที่สำคัญจากบรรดาปัญญาชนคือ การรับเงินดังกล่าวย่อมสูญเสียบทบาทสำคัญในการต่อรอง และสถานะของประชาสังคมกลายมาเป็นสำนึกแบบ “ขุนนนางเอ็นจีโอ” (CSO Baron) จะสูญเสียความชอบธรรมในฐานะ “พื้นที่กลาง” ที่ร่วมสร้างกันมาอย่างยาวนาน

เหล่านี้คือสาเหตุหลักที่ภาคประชาสังคมชายแดนใต้ต้องเผชิญกับความเสื่อมถอยของ พื้นที่สาธารณะ: “สนามของการสนทนา = สนามสันติภาพ” ที่ร่วมกันก่อรูปกันมา และการจัดการแนว “สันติภาพที่ไร้เสรี” (illiberal peace) นี้ ทำให้ภาคประชาสังคมเชิญกับข้อท้าทายใหม่ ๆ อย่างหนักหน่วง ที่สะท้อนว่าพวกเขายังไม่ได้เข้าใจหรือทำการครุ่นคิดอย่างมากพอ ซึ่งเคยมีตัวอย่างในอดีต ‘ดันแคน แมคคาโก’ เคยวิเคราะห์ในห้วงนโยบายกลมกลืนที่ต้องเผชิญกับแรงต่อต้านแนวคิดเรื่องการแบ่งแยกดินแดน รัฐพยายามอย่างยิ่งที่จะควบคุมโรงเรียนปอเนาะ พร้อม ๆ กับจ่ายงบสนับสนุนผ่านข้อเสนอปรับปรุงหลักสูตร รวมทั้งผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนแลกกับเงินสนับสนุน ผู้นำศาสนาส่วนใหญ่มักยอมรับเงื่อนไขนี้ ด้วยเหตุผลของการต่อรองด้านหนึ่ง และด้านหนึ่งเพื่อไม่ให้ถูกเพิ่งเล็งจากรัฐมากจนเกินไป กลับกลายเป็นว่าพวกเขามีสถานภาพทางสังคมแบบใหม่ขึ้นมาและมีความใกล้ชิดกับรัฐมากขึ้น จนกลายเป็นรอยร้าวระหว่างชนชั้น ชาวบ้านพากันเหน็บแนมว่าพวกเขาเป็น “เจ้าบาบอ” (Babor Baron)

ดังนั้น ความคาดหวังต่อการมุ่งมั่นปรารถนาให้ประชาสังคมชายแดนใต้มีตำแหน่งที่ในฐานะ “ฝ่ายที่ 3” เป็นอิสระจากการครอบงำทางความคิด การครอบงำทางการเงิน ผ่านพื้นที่การทำงานร่วมกับ “สำนักงานเลขานุการคณะประสานงานระดับพื้นที่” หรือ “สล.3” พวกเขามีความสบายใจต่อเรื่องนี้อย่างไร สำหรับแวดวงที่ทำงานด้วยกันอาจเป็นความเข้าใจที่คาดเคลื่อน และความคาดหวังที่เป็นจริงได้หรือไม่ว่า ภาคประชาสังคมไร้อำนาจต่อรองในกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี?

อย่างไรก็ตาม พลังการเปลี่ยนแปลงโดยตัวองค์กรภาคประชาสังคมยังคงมีอยู่อย่างแน่นอน แต่ก็ต้องพึงตระหนักต่อข้อพิจารณาข้างต้นด้วย

“เตรียมตัวไว้ให้ดี ฤดูหนาวกำลังมา”: ข้อเสนอ

หากฤดูหนาวของสันติภาพ หมายถึงสถานการณ์แบบ “ทหารนำทุกอย่าง” (military supremacy) ทั้งในแง่ภาวะอำนาจทหารนิยมและปฏิบัติการทหารนำการเมือง กิจกรรมการต่อรองความรุนแรง การเคลื่อนไหวทางการเมืองจะไม่สามารถทำได้ ภาคประชาชนจะหาทางออกในสถานการณ์เช่นนี้อย่างไร เพื่อประคับประคองกิจกรรมขยายพื้นที่สาธารณะ (สร้าง) พื้นที่ทางการเมืองให้มาก และสร้างบทสนทนา สื่อสาร ล็อบบี้ในฝ่ายการเมืองทั้งสองฝ่ายให้มากขึ้น นั่นหมายความว่า ความอิสระและอำนาจของในการต่อรองความรุนแรงเป็นประเด็นที่ภาคประชาสังคมพึงตระหนักว่า จะต้องเป็นอิสระจากการครอบงำ ทั้งจากรัฐและทุนระหว่างประเทศ ประชาสังคมจะต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งทางการเงินของตนเอง เพื่อเพิ่มพลังในการสร้างข้อเสนอแนะของตัวเองให้มีคุณภาพมากขึ้นในอนาคต ซึ่ง ‘นอร์เบิร์ต โรเปอร์’ เคยเตือนหลายครั้งแล้ว “ถ้ากระบวนการสันติภาพสะดุด โดยที่เราไม่มีมวลชนคอยรองรับ กระบวนการทั้งหมดก็จะล้มไปเลย


อ้างอิง

  • มูฮำหมัด อายุป ปาทานและคณะ. รายงานวิจัย “ประชาสังคมกับกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้”. ในโครงการสำรวจและจัดทำแผนผังองค์กรภาคประชาสังคม/องค์กรชุมชนที่ทำงานภาคใต้ ภายใต้โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย (STEP). 2554.
  • อันเดอร์ส แองวัลล์ และ นอร์เบิร์ต โรเปอร์. “ความขัดแย้งในภาคใต้และการเปลี่ยนผ่าน: ภาพรวม”, ใน ทำความเข้าใจมิติความขัดแย้งและสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี. ศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรสันติภาพ. 2563.
  • ชลิต ถาวรนุกิจกุล. “ภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนใต้ในบริบทของความรุนแรง”. บทความนำเสนอในการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 9 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2551.
  • เอกสารสรุปการสัมมนาเครือข่ายภาคประชาสังคม “ประชาสังคมกับกระบวนการสันติภาพ: การขยายพื้นที่ภาคประชาสังคมเพื่อการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้”. 30 กันยายน 2552.
  • รอมฏอน ปันจอร์. “ฮารับปัน บังซากู: นักศึกษามลายูในสนามความขัดแย้ง”. ใน Deep South Bookazine vol.3. ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้. 2551.
  • “9 คำถามต่อ ‘เปอร์มัส’ กับคำตอบเรื่องเอกราช-ปกครองตนเอง”, สำนักข่าวอิศรา. 17 กุมภาพันธ์ 2558.
  • ฐิตินบ โกมลนิมิ. “เล่าเรื่อง: ‘สื่อใหม่’ เปิดพื้นที่การเมืองและข้อเสนอต้องห้าม ‘นครปาตานี’”, ใน มาราธอน: อินเตอร์เน็ต การเมือง วัฒนธรรม (ฉบับออกตัว). เครือข่ายพลเมืองเน็ต. มีนาคม 2555.
  • เปิดตัว “สภาประชาสังคมชายแดนใต้”: สร้างดุลอำนาจต่อรองจากพื้นที่. ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้. 28 กันยายน 2554.
  • อันธิฌา แสงชัย. (เรียบเรียง) ยุติธรรมทางเลือกเพื่อสันติภาพชายแดนใต้: ข้อเสนอเชิงนโยบายจากเสียงของประชาชน. โดยเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ. 2560.
  • สมัชชา นิลปัทม์. ROLES OF PEOPLE’S MEDIA FOR VIOLENCE NEGOTIATION IN DEEP SOUTH THAILAND’S PEACE PROCESS
  • ดุษฎีนิพนธ์ คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์. กุมภาพันธ์ 2563.
  • จอห์น พอล เลอเดอรัค. “พลังธรรมแห่งจินตนาการ”: ศิลป์และวิญญาณการสร้างสันติภาพ. (โคทม อารียา บรรณาธิการ). สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล. 2555.
  • “ตาข่ายนิรภัย (safety net) ที่จำเป็นต่อกระบวนการสันติภาพปาตานี” ใน คู่มือกระบวนกรสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี “เราจะทำงานร่วมกันได้อย่างไร?”. รวมความคิด ดร.นอร์เบิร์ต โรเปอร์ส นักวิชาการและนักปฏิบัติการสันติภาพชาวเยอรมัน. โครงการจัดพิมพ์ดีพบุ๊คส์ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ชายแดนใต้. กุมภาพันธ์ 2558.
  • “ทำความเข้าใจ ‘แผนที่เดินทางสู่สันติภาพ’ และบทบาทของฝ่ายที่สาม”

Author

Alternative Text
AUTHOR

ฐิตินบ โกมลนิมิ

อดีตนักข่าวกระทรวงสาธารณสุข ผู้คลุกคลีในสนามข่าวสีแดงชายแดนใต้ เป็นทั้งนักมนุษยวิทยา นักสตรีศึกษา และนักสันติศึกษา ที่ใช้การเขียนเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์