5 คำถามที่สังคมไทยไม่ควรปล่อยผ่าน 

สู่กระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อควบคุมโควิด-19 ระลอก “โอมิครอน”

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ตลอดสองปีที่ผ่านมา “คณะผู้วิจัยในเครือข่ายสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)”  ซึ่งประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาและหลากหลายสถาบันได้ดำเนินการศึกษาวิจัยโดยประยุกต์ใช้ความรู้ด้านระบาดวิทยา การคิดเชิงระบบ และการพัฒนาแบบจำลองพลวัตระบบ

จนนำมาสู่การตั้งประเด็นคำถาม 5 ข้อ เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะเพื่อควบคุมโรคโควิด-19 ให้สังคมได้ย้อนคิดและร่วมกันค้นหาแนวทางเพื่อการพัฒนาระบบการจัดการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขบนพื้นฐานของหลักฐานวิชาการ (evidence-informed policy-making: EIPM)

The Active ชวนทุกท่านมาร่วมค้นหาคำตอบ กับ “5 คำถามที่สังคมไทยไม่ควรปล่อยผ่าน” ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญไปสู่การพัฒนาระบบการจัดการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขในประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

โอมิครอน

Q1 : การจัดการการแพร่ระบาดระลอกสายพันธุ์โอมิครอนต่างจากที่ผ่านมาอย่างไร

จากพื้นฐานความรู้ที่สังคมไทยได้เรียนรู้ร่วมกันว่าสายพันธุ์โอมิครอนมีความแตกต่างจากสายพันธุ์เดลตาซึ่งแพร่ระบาดอย่างหนักในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ใน 2 ประเด็น

1) สายพันธุ์โอมิครอนแพร่กระจายในชุมชนได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ติดเชื้อง่ายขึ้น และหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้เก่งขึ้น

ในปัจจุบันการติดเชื้อโรคโควิด-19 ในประเทศไทยเกือบทั้งหมดกลายเป็นสายพันธุ์โอมิครอนแล้ว โดยเฉลี่ยผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน 1 คน มีความสามารถ ตามธรรมชาติในการแพร่เชื้อจนทำให้เกิดผู้ติดเชื้อใหม่อีกประมาณ 8-15 คน ตลอดระยะเวลาของการติดเชื้อ (ประมาณ 5-10 วัน) หรือมีค่า R0 = 8-15 ซึ่งมากกว่าสายพันธุ์เดลตาเกือบเท่าตัว (R0 delta =6.5-8) และมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมจากอู่ฮั่นถึงประมาณห้าเท่า (R0 Wuhan =2-3)   

ความรู้ทางไวรัสวิทยาชี้ว่าเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนมีความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้เก่งมาก ทำให้เราอาจเกิดการติดเชื้อซ้ำได้ (reinfections) หรือโอกาสติดเชื้อยังคงสูงอยู่แม้ว่าเราจะเคยได้วัคซีนครบแล้วก็ตาม

2) การติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนมีความรุนแรงของโรค “โดยเฉลี่ย” ลดลง

แม้ว่าความรู้ทางไวรัสวิทยาจะชี้ว่าเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนจะมีความสามารถในการแพร่เชื้อได้ดีและหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้เก่ง แต่ก่อให้เกิดความรุนแรงของโรคในผู้ติดเชื้อได้ลดลง และซึ่งน่าจะทำให้อัตราป่วยตาย (case-fatality rate) ของโรคโควิด-19 ในปี พ.ศ. 2565 นี้ลดลงตามไปด้วย

แต่อัตราป่วยตายที่ลดลงเป็นเพียงค่าเฉลี่ย เมื่อพิจารณาข้อมูลโดยละเอียดแล้ว กลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้มีโรคประจำตัวยังคงมีอัตราป่วยตายที่สูงอยู่มาก ข้อมูลของกลุ่มผู้สูงอายุในประเทศไทยที่ซึ่งติดเชื้อโรคโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2565 นี้ หากได้รับวัคซีนครบสองเข็มแล้วแต่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นก็ยังคงมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับเข็มกระตุ้นแล้วถึง 8 เท่า

การประเมินความครอบคลุมของการได้รับวัคซีน (vaccine coverage) ระหว่างการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนภายในประเทศไทยในช่วงต้นปี 2565 ผู้กำหนดนโยบายอาจจะพิจารณาครอบคลุมของการได้รับวัคซีน เมื่อประชาชนการได้รับวัคซีนขั้นต่ำครบสามเข็ม (รวมวัคซีนเข็มกระตุ้น) มากกว่าการพิจารณาเพียงอัตราความครอบคลุมของวัคซีนเพียงสองเข็ม

ภาครัฐควรพัฒนานโยบายและมาตรการเพื่อช่วยให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวเข้าถึงวัคซีนได้อย่างรวดเร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นเราอาจไม่สามารถเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การมีโรคโควิด-19  เป็นโรคประจำถิ่นในประเทศไทยได้ในปีนี้อย่างที่คาดหวังไว้

ระวัง

Q2 : การระบาดระลอกนี้ ประชาชนควรระวังอะไรเป็นพิเศษ และควรจะเลิกระวังอะไรได้บ้างแล้ว?

นอกจากเรื่องการเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นในเวลาที่เหมาะสมก่อนที่ภูมิคุ้มกันจะตกลงแล้ว เราทุกคนควรสนใจปรับสิ่งแวดล้อมให้เอื้อกับวิถีชีวิตใหม่ (new normal) โดยเฉพาะเรื่องระบบระบายอากาศในอาคารสถานที่เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง (structural change) มากกว่าการมุ่งเน้นเพียงเฉพาะเรื่องพฤติกรรมส่วนบุคคลเท่านั้น

ประเด็นที่น่าเป็นห่วงที่สุดและควรจัดเป็นลำดับความสำคัญสูงสุดสำหรับเราทุกคน ยังคงเป็นการช่วยกันทำให้สมาชิกในครอบครัวและชุมชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงวัคซีนเข็มกระตุ้นเมื่อภูมิคุ้มกันเริ่มตกลงแล้วได้อย่างทันเวลา เพื่อลดโอกาสป่วยและเสียชีวิตของกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว ส่วนการรักษาสุขนิสัยที่ประชาชนช่วยกันทำมาตั้งแต่ปีก่อนก็คงต้องช่วยกันรักษาให้คงอยู่ต่อไป

วิธีการแพร่กระจายของเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 ซึ่งนอกจากสามารถแพร่กระจายได้ผ่านละอองฝอย (droplet) ที่ออกจากการไอจามผู้ติดเชื้อในระยะประมาณ 2 เมตรแล้ว เชื้อโคโรนาไวรัส 2019 ยังแพร่กระจายผ่านละอองลอยในอากาศ (aerosol) ได้ด้วย ดังนั้น แม้จะพยายามเว้นระยะห่างทางกายภาพแล้ว เราจะยังคงติดเชื้อกันง่ายมากหากอยู่ในที่ชุมชนแล้วเผลอไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย หรือเมื่ออยู่ในสถานที่ซึ่งระบายอากาศได้ไม่ดี

การปรับโครงการสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อกับวิถีชีวิตใหม่ โดยเฉพาะเรื่อง “ระบบระบายอากาศในอาคารสถานที่ทั่วไป”  ควรจะได้รับความใส่ใจมากยิ่งขึ้น รวมทั้ง “มาตรการช่วยเหลื​อฟื้นฟูเยียวยา” ของ​หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนควรมีส่วนช่วยสนับสนุนปรับโครงการสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อกับวิถีชีวิตใหม่ ซึ่งจะช่วยประชาชนทุกคนช่วยกันเริ่มกิจกรรมทางสังคมหรือการประกอบอาชีพวิถีชีวิตใหม่ได้ง่ายมากขึ้นด้วย

นอกจากนั้น เราสามารถลดการระมัดระวังการติดเชื้อที่มากเกินไปในระหว่างการทำกิจกรรมบางประเภทพื้นที่สาธารณะ โดยการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคระหว่างการใช้ตามหลักฐานวิชาการที่มีล่าสุด

เช่น การใส่หน้ากากอนามัยระหว่างออกกำลังกายในที่โล่งแจ้งและมีการระบายอากาศได้ดีของบุคคลที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว อาจไม่ช่วยป้องกันการติดเชื้อโรคโควิด-19 มากนักเพราะความเสี่ยงในการแพร่เชื้อและติดเชื้อสำหรับผู้ที่ภูมิคุ้มกันสูงอยู่ในสภานการณ์นั้นต่ำมากอยู่แล้ว

ในทางกลับกัน การสวมหน้ากากอนามัยขณะออกกำลังกายหนักอาจส่งผลเสียทำให้เกิดการคั่งของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เราหายใจออกมาในหน้ากาก เมื่อออกกำลังกายหนักถึงจุดหนึ่งจะทำให้เกิดภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

ผู้กำหนดนโยบายภาครัฐ ทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นสามารถช่วยให้ประชาชนมีกิจกรรมทางสังคมในวิถีชีวิตใหม่ได้ง่ายขึ้นโดยการกำหนดมาตรการควบคุมโรคระหว่างการใช้พื้นที่สาธารณะตามหลักฐานวิชาการที่มีล่าสุด

ATK

Q3 : ทำไมไม่สามารถในการระบุจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ทั้งหมดในแต่ละวันได้อย่างชัดเจน?

คำตอบที่เรามักจะได้ยินจากผู้กำหนดนโยบายคือ จำนวนผู้ติดเชื้อเข้าข่ายที่ตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ได้ผลบวก ยังไม่สามารถนับรวมเป็น “ผู้ติดเชื้อใหม่” ตามนิยามสากลได้ จำเป็นต้องได้รับการยืนยันด้วยการตรวจ Real Time Polymerase Chain Reaction (RT-PCR) เสียก่อน ซึ่งหากเรานับตัวเลขทั้งสองส่วนนี้รวมกันโดยตรงจะเป็นการนับซ้ำ เพราะส่วนหนึ่งของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน เป็นผู้ที่เคยรายงานแล้วว่าเป็นผู้ติดเชื้อเข้าข่ายในวันก่อน ๆ

จนถึงวันนี้เรายังคงไม่มีระบบรายงานตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่ถูกต้องชัดเจน ทั้งที่ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สุดในจำเป็นในการวิเคราะห์หาแนวโน้มการระบาด (Epidemic Curve) ส่งผลให้การประเมินสถานการณ์เพื่อการประเมินความต้องการระบบบริการสุขภาพ โดยเฉพาะการคาดการณ์จำนวนความต้องการเตียงสำหรับผู้ป่วยหนักล่วงหน้าอย่างแม่นยำก็ทำได้ยากมากขึ้น

อีกทั้งนโยบายล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุขที่มีปรับแนวทางการรักษาพยาบาลให้ผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 บางส่วนสามารถได้รับการดูแลรักษาโดยไม่จำเป็นต้องตรวจ RT-PCR จะยิ่งทำให้เรามี “การรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ต่ำกว่าความเป็นจริง” (Underreporting) มากยิ่งขึ้นไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ระบบรายงานที่เราใช้อยู่เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ดีเมื่อเรามีการปรับเปลี่ยนนโยบายมาเริ่มใช้ ATK เมื่อกลางปีก่อน

แต่หากเราไม่มีการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างยั่งยืน เราก็จะไม่สามารถใช้จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่เป็นในการวิเคราะห์หาแนวโน้มการระบาดได้ ไม่สามารถประเมินความต้องการระบบบริการสุขภาพทำได้อย่างแม่นยำ การประเมินสถานการณ์เพื่อปรับนโยบายให้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่การมีโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นในประเทศไทยเพื่อเดินหน้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศก็จะทำได้ยากมากขึ้นเช่นกัน

ข้อควรระวัง

Q4 : ข้อควรระวังสำหรับผู้กำหนดนโยบายในการระบาดระลอกนี้ได้แก่อะไรบ้าง?

ไม่ประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไป

เนื่องจากการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อของโรคติดเชื้อมีธรรมชาติเป็นการเพิ่มแบบทวีคูณ (exponential growth) ดังนั้นการติดตามแนวโน้มของจำนวนรายงานผู้ติดเชื้อใหม่หลายวันหรือจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันจึงอาจจะไม่ช่วยเตรียมกระบวนการรองรับผลกระทบต่อระบบสุขภาพได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากข้อมูลจากการรายงานผู้จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน (reported case) ในสถานการณ์ปัจจุบันน่าจะน้อยกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในความเป็นจริงเป็นอย่างมาก (underreporting)

ไม่มีใครทราบว่าผู้จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่แท้จริงเป็นเท่าไหร่ และยังไม่มีใครทำการศึกษาจนรู้สัดส่วนผู้ป่วยหนักในจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดของสายพันธุ์โอมิครอน หากเราประมาณสัดส่วนผู้ป่วยหนักจากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ที่รายงานด้วยสัดส่วนบางอย่างแล้วต่อมาพบว่าสัดส่วนที่เข้าใจอยู่เดิมห่างไกลจากความเป็นจริง เราจำเป็นต้องคิดคำนวณใหม่ เพราะจะทำให้ผลการคำนวณบางอย่างที่เราสนใจเปลี่ยนไป (โดยเฉพาะจำนวนผู้ป่วยหนักที่ต้องการ ICU ในอนาคต) เพื่อที่เราจะได้ปรับเปลี่ยนนโยบายและเตรียมการทำงานได้อย่างทันท่วงที

เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่อง underreporting ผู้กำหนดนโยบายควรสนับสนุนให้มีการทำวิจัยเพื่อสำรวจข้อมูลภูมิคุ้มกัน (seroprevalence survey) จะทำให้เรามีข้อมูลเชิงประจักษ์ที่น่าเชื่อถือได้ดีกว่า ช่วยตรวจสอบความถูกต้องของแบบจำลองสถานการณ์ระบาดวิทยาที่ใช้สนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบาย ซึ่งจะช่วยเตรียมกระบวนการรองรับผลกระทบต่อระบบสุขภาพได้อย่างทันท่วงทีมากขึ้น สามารถติดสินใจปรับนโนยบายและมาตรการเพื่อจัดการโรคโควิด-19 แบบโรคประจำถิ่นในเวลาที่เหมาะสมมากขึ้น

กระบวนการสื่อสารความเสี่ยงต่อสาธารณะ

การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนยังน่าเป็นห่วงสำหรับกลุ่มเสี่ยงที่ถึงระยะเวลาที่ภูมิคุ้มกันเริ่มตกลงมาแล้วและควรจะได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ดังนั้น การสื่อสารนโยบายที่สำคัญที่สุดจึงควรเป็นการสื่อสารเพื่อทำให้ประชาชนกลุ่มนี้ตระหนักและเข้าถึงวัคซีนเข็มกระตุ้นได้โดยสะดวก รวมทั้งมุ่งเน้นการสื่อสารให้ประชากรกลุ่มเสี่ยงซึ่งยังไม่เข้ามารับวัคซีนไม่เกิดการลังเลในการเข้ารับวัคซีน (vaccine hesitancy)

การพัฒนาระบบการสื่อสารและประสานงานระหว่างหน่วยงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลของระบบบัญชาการเหตุการณ์ (The Incident Command System: ICS) ไม่ว่าจะเป็นการทำงานของ ศบค. หรือศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินของ สธ. น่าจะช่วยการสื่อสารความเสี่ยงเพื่อป้องกัน vaccine hesitancy ได้

แต่การสื่อสารความเสี่ยงในประเด็นดังกล่าวอาจจะเป็นการส่งสัญญาณในทิศทางตรงกันข้ามกับประกาศเริ่มดูแลผู้ป่วยแบบโรคประจำถิ่นตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา (ซึ่งมุ่งเน้นการจัดกระบวนการ “ดูแลรักษาพยาบาล” สำหรับผู้ป่วยที่โรคไม่มีความรุนแรง) หากไม่ระมัดระวังก็อาจจะส่งสัญญาณที่ทำให้ประชาชนบางส่วนเข้าใจผิดได้ว่าโรคโควิด-19 ไม่ได้มีการระบาดรุนแรงแล้วหรือไม่มีความรุนแรงต่อประชาชนทุกกลุ่มแล้ว ไม่เน้นการควบคุมโรคแล้ว เป็นต้น

Q5 : ระบบการจัดการภาวะสาธารณะฉุกเฉินที่ดีควรเป็นอย่างไร?

การจัดการภาวะสาธารณะฉุกเฉินที่ดีควรจะทำหน้าที่บูรณาการทรัพยากรของทั้งประเทศ (ไม่ใช่เฉพาะทรัพยากรของภาครัฐเท่านั้น) และควรมีกระบวนการทำงานที่ทำหน้าที่แก้ไขทั้งปัญหาฉุกเฉินเฉพาะหน้าและวางแผนแก้ไขปัญหาหรือป้องกันการเกิดปัญหาที่เกิดจากภาวะฉุกเฉินในระยะยาวอย่างยั่งยืน

ปัญหาใหญ่อีกส่วนหนึ่งในกระบวนการวางแผนและตัดสินใจเชิงนโยบายในภาวะสาธารณสุขฉุกเฉินของประเทศไทย อาจมีสาเหตุจากแนวโน้มที่ผู้กำหนดนโยบายมีการตัดสินใจที่มุ่งเน้นการตอบโต้ต่อสถานการณ์ (reactive) โดยไม่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบสุขภาพ หรือยังไม่ได้พิจารณาแก้ไขปัญหาที่จุดคานงัดของระบบ (high-leverage points within the systems) ทำให้ปัญหาหลายด้านยังคงอยู่หลังเริ่มการระบาดใหญ่มามากกว่า 2 ปีแล้ว

การพัฒนาระบบการจัดการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขเป็นส่วนหนึ่งของระบบการจัดการภาวะฉุกเฉินของประเทศ โดยมีจุดคานงัดที่สำคัญเพื่อการวางแผนตัดสินใจเชิงนโยบายที่มีประสิทธิผลมากขึ้น คือ การพัฒนากระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายในภาวะวิกฤตบนพื้นฐานของหลักฐานวิชาการ (evidence-informed policy-making: EIPM)

ตัวอย่างโครงสร้างเชิงสถาบันของระบบการจัดการภาวะฉุกเฉินในระดับชาติที่เราควรศึกษาเพิ่มเติม เช่น The Scientific Advisory Group for Emergencies (SAGE) ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร เป็นกลไกการทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่สามารถระดมนักวิชาการทั้งที่อยู่ในระบบราชการ มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน ให้สามารถมาทำงานวิชาการร่วมกันเพื่อสังเคราะห์ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่รอบด้านเพื่อสนับสนุนกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายและการจัดการภาวะฉุกเฉิน นำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในนามสถาบัน เผยแพร่ต่อสาธารณะด้วยความโปร่งใส ทำงานตามมาตรฐานวิชาการและมีอิสระทางวิชาการ ไม่เป็นเพียงการนำเสนอความคิดเห็นส่วนบุคคลของผู้เชี่ยวชาญหรือเป็นเพียงการทำงานวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานตามระบบราชการเท่านั้น

ดังนั้น การพัฒนาเวทีหรือช่องทางพื้นฐาน (platform) เพื่อสร้างการสื่อสารระหว่างนักวิชาการผู้ผลิตองค์ความรู้ทางวิชาการกับผู้กำหนดนโยบายที่มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพอาจจะช่วยแก้ปัญหาช่องว่างดังกล่าวได้ การมองภาพการระบาดเป็นปัญหาที่ซับซ้อน (complex problem) และการประยุกต์ใช้การคิดเชิงระบบ (systems thinking) และหลักระบาดวิทยา (epidemiology) จึงมีความสำคัญและอาจเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่กระบวนการวางแผนและตัดสินใจเชิงนโยบายของระบบการจัดการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขที่มีประสิทธิผลและยั่งยืน


คณะทำงานแบบจำลองระบบบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหา COVID-19

  1. รศ.ดร.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  2. ดร.นพ.ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ กรมควบคุมโรค และ International Health Policy Program
  3. ผศ.ดร.พาส์น ฑีฆทรัพย์ มหาวิทยาลัยนานาชาติสแตมฟอร์ด
  4. ดร.นพ.ปณิธี ธัมมวิจยะ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
  5. ดร.นพ.วรสิทธิ์ ศรศรีวิชัย มูลนิธิสุขภาพภาคใต้ และสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  6. ผศ.พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
  7. นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย International Health Policy Program
  8. ทพญ.วรารัตน์ ใจชื่น สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
  9. นพ.ภาณุวิชญ์ แก้วกำจรชัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  10. น.ส.แพรวนภา พันธุ์สวาสดิ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์