เปิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของโควิด-19 ต่อครัวเรือนเกษตรกรรายย่อยในชุมชนเกษตรกรรม

การระบาดของโควิด-19 กระทบกับทุกภาคส่วนของสังคม มากน้อยแตกต่างกัน แต่ปัจจัยที่ส่งผลให้ “ครัวเรือนเกษตรกรรายย่อย” ได้รับผลกระทบน้อยกว่า “คนจนเมือง” เพราะการมีความมั่นคงทางอาหารและแหล่งรายได้ที่หลากหลาย อันเป็นลักษณะเฉพาะของชุมชนชนบท

นี่คือสิ่งที่ปรากฏในงานสำรวจ “ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ของโควิด-19 ต่อครัวเรือนเกษตรกรรายย่อยในชุมชนเกษตรกรรม” โดยหน่วยปฏิบัติการวิจัยสังคมชาวนาร่วมสมัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับหลายองค์กร คือ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน มูลนิธิชีววิถี และสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

จากข้อค้นพบสำคัญ ว่าศักยภาพของระบบเศรษฐกิจฐานรากและต้นทุนในชุมชนที่เกื้อหนุนให้ครัวเรือนเกษตรกรรายย่อยสามารถปรับตัวในภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น รัฐจึงควรทุ่มงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภายใต้กรอบงบประมาณจำนวน 4 แสนล้านบาท ไปที่การมุ่งเน้นส่งเสริมศักยภาพดังกล่าว

ผลสำรวจผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคมของโควิด19 ต่อครัวเรือนเกษตรกรรายย่อย ในชุมชนเกษตรกรรม ศึกษากลุ่มตัวอย่างเกษตรกรรายย่อย 1,002 ชุดใน 15 จังหวัด 5 ภูมิภาค โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 17-26 พ.ค. ช่วงล็อกดาวน์

ลักษณะชุมชนที่เข้าไปสำรวจส่วนใหญ่เป็นชุมชนเกษตรวิถีผลิตหลากหลาย มีทั้งข้าว พืช ผักและผลไม้ ช่องทางการตลาดของเกษตรกรเหล่านี้ส่วนใหญ่ขายผ่านพ่อค้าคนกลาง และตลาดชุมชน เกษตรกรกลุ่มที่ทำการสำรวจเป็นถือครองที่ดิน 11-20 ไร่

ในช่วงวิกฤตโควิด-19 เกษตรกรกลุ่มที่ปลูกผลไม้ ดอกไม้ และยางพารา ส่วนใหญ่จะมีรายได้ลดลงขณะที่รายจ่ายเพิ่มมากขึ้น ทั้งค่าไฟ, ค่าน้ำ, ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายบุตรหลาน

รายได้ที่ลดลงก็มาจากการเข้าถึงตลาด ที่ปิดไปตามมาตรการล็อกดาวน์ และการคมนาคมขนส่ง ขณะที่ลูกหลานที่ทำงานอยู่ในเมืองก็ส่งเงินกลับบ้านลดลงถึง 52.1% ส่วนคนงานที่ตกงานก็ทยอยกลับบ้านมีเพียง 4.1% อีก 95.9 % ไม่ได้กลับเพราะหลายปัจจัยทั้งพื้นที่ถูกล็อกดาวน์ หรือกำลังรอหางานใหม่

ผลสำรวจพบว่า มีเกษตรกรกว่าครึ่งที่ไม่มีการปรับตัว แต่การปรับตัวที่พบบ้างเป็น “การลดรายจ่าย” หรือ “หารายได้เสริม” โดยเฉพาะกับครัวเรือนรายย่อยและมีความยืดหยุ่น เพราะมีความมั่นคงทางอาหารทานอาหาร หาได้เองตามธรรมชาติเช่นปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ยังพบว่ามีการปรับตัว ดูแลตัวเองป้องกันโรคมากขึ้น ติดตามข้อมูลข่าวสารจากโทรทัศน์ พยายามเข้าถึงการเยียวยาจากรัฐ แล้วก็ไม่พยายามกู้หนี้สินเพิ่ม

ทั้งนี้ กลไกทางสังคมมีผลต่อความพร้อมในการปรับตัว เช่น ช่องทางการช่วยเหลือรวมกลุ่ม และการเข้าถึงตลาดท้องถิ่น

จากผลการสำรวจในครั้งนี้ได้ข้อสรุปว่า คนจนเมือง ที่พึ่งพาเศรษฐกิจในเมือง และภาคบริการ ได้รับผลกระทบมากกว่า ภาคเกษตรกร ส่วนชุมชนเกษตรกรรม ยังสามารถอาศัยการผลิตในพื้นที่ของตัวเองและแหล่งธรรมชาติได้ ขณะที่ภาคเกษตรกรที่พึ่งพาภายนอก เช่น การส่งออก กระทบมากกว่า เกษตรกรที่พึ่งพาภายใน

ทั้งนี้ เพราะในชุมชนมีฐานทรัพยากรการผลิตเศรษฐกิจ และตลาดที่หลากหลาย ทำให้เกษตรกรสามารถตั้งรับ และปรับตัวได้มาก ผลสำรวจยังระบุด้วยว่า มาตรการเยียวยาจากรัฐไม่ครอบคลุม เนื่องจากขาดความเข้าใจในความหลากหลายของเกษตรกรรายย่อย

“รัฐควรเห็นศักยภาพของเศรษฐกิจฐานรากที่เป็นต้นทุนในชุมชน” คือ ข้อเสนอ ต่อทิศทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของเกษตรกรรายย่อย ที่จะเกื้อหนุนให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม นอกจากนี้กระบวนการฟื้นฟูจำเป็นต้องสร้างการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง รัฐไม่ควรดำเนินการแบบลุกลี้ลุกลน ผ่านกลไกหน่วยงานราชการ ขณะที่มาตรการเยียวยาจำเป็นต้องเข้าใจสภาพชีวิตและวิถีการทำมาหากิน ของสมาชิกครัวเรือนเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินเยียวยาต้องครอบคลุมสมาชิกครัวเรือนที่เป็นแรงงานนอกภาคเกษตรกรรมด้วย

สำคัญที่สุดคือการจัดระบบสวัสดิการที่ครอบคลุมซึ่งชีวิตแรงงานนอกภาคเกษตรส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ

จากผลสำรวจที่ชี้ชัดว่าเกษตรกรรายย่อยสามารถปรับตัว รับกับวิกฤตโควิด-19 ได้ดีกว่าคนจนเมือง ทำให้ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) บอกว่าควรสร้างความเข้มแข็งภาคชนบทเพื่อรองรับแรงงานกลับบ้านจากผลกระทบ New Normal ที่รูปแบบของเมืองจะเปลี่ยนไป มุ่งลดความแออัดมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอว่า ควรส่งเสริมการค้าขาย ตลาดชุมชนและแปรรูปสินค้าเกษตร โดยโครงการเงินกู้ 4 แสนล้านฟื้นเศรษฐกิจและสังคม ไม่ควรผูกขาดกับหน่วยงานราชการ และการเยียวยาต้องเป็นแบบกึ่งถ้วนหน้า แจกโดยไม่ต้องคัดกรอง แต่ค่อยมาคัดกรองทีหลัง

ขณะที่ ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เน้นย้ำถึงการใช้เงินฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาทต้องไม่ใช่แค่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่ต้องปูพื้นฐานไปสู่อนาคต ทั้งนี้การปรับตัวจะเป็นแรงกระเพื่อมไปสู่เกษตรกรและชาวบ้านคนอื่น ๆ

“ควรมีกองทุนที่ไปถึงมือท้องถิ่นโดยไม่ผ่านส่วนราชการเพื่อให้ชาวบ้านเข้าถึงแหล่งทุน” เป็นข้อเสนอจาก วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ระบุถึงการใช้งบประมาณ 4 แสนล้านฟื้นฟูสังคมและเศรษฐกิจ ควรเป็นโครงการที่เริ่มจากข้อเสนอของเกษตรกรรายย่อยและให้รัฐเป็นที่ปรึกษา

โดยนำโครงการที่เคยทำในอดีต มาถอดบทเรียนดูข้อดีข้อเสียแล้วปรับใช้ ส่วนกรอบเวลาต้องมีพอให้กระบวนการตัดสินใจอย่างทั่วถึงและมีส่วนร่วม กระบวนการที่เร่งรัดเพียง 2-3 เดือนไม่น่าจะได้โครงการออกที่ดีออกมา

สำหรับทิศทางการช่วยเหลือต้องมุ่งให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง อันได้แก่ฟื้นฟูความมั่นคงทางอาหาร ฟื้นฟูฐานทรัพยากร และส่งเสริมตลาดท้องถิ่น

ขณะที่ ทัศนีย์ วีระกันต์ ตัวแทนมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ระบุว่าการใช้เงินฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท ไม่ควรเร่งแต่จะใช้เงินแต่ควรเน้นการฟื้นศักยภาพของคนเป็นหลัก

“เกษตรกรที่มีที่ดิน พึ่งพิงตลาดภายนอกน้อยลง ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 บ้างเล็กน้อย” เป็นหนึ่งในเสียงสะท้อน จากพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา “เฉลิมชัย วัดจัง” นักวิจัยกลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน ระบุว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ทำนาเป็นหลัก และได้เก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนที่จะเกิดโควิด แต่ภายหลังการระบาด มีคนในครอบครัวที่ทำงานภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบโดยตรงกลับมาพึ่งพาที่บ้าน

ขณะที่อีกพื้นที่หนึ่งใน จ.จันทบุรี “อัศวิน แก้วพิทักษ์” นักวิชาการ บอกว่าเกษตรกรชาวสวนผลไม้ มีปัญหาเดิมที่ต้องเผชิญ คือ ปัญหาภัยแล้งและช้างป่าลงมาทำลายพื้นที่เกษตรกรรม ขณะที่เมื่อเกิดโควิด มีการประกาศใช้เคอร์ฟิว ทำให้มังคุดล้นตลาด ราคาตกต่ำ แต่ทุเรียนราคาสูงขึ้น เนื่องจากมีความเชื่อว่าทุเรียนมีฤทธิ์ร้อนต้านโควิด ทำให้เมื่อมีการคลายล็อกดาวน์ที่ประเทศจีน ทุเรียนขายดีมาก

📌 ดูเพิ่ม
– #เวทีสาธารณะ “เปิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ของโควิด-19 ต่อครัวเรือนเกษตรกรรายย่อยในชุมชนเกษตรกรรม” (5 มิ.ย. 2563)

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active