เปิด 3 ทางเลือก คนไทยได้ใช้วัคซีนโควิด-19

คำถามว่า “เราจะต้องอยู่กับโควิด-19 ไปอีกนานเท่าไหร่ ?” คำตอบก็คือ “จนกว่าจะมีวัคซีนใช้” แล้วประเทศไทยมีทางเลือกอะไรบ้าง ?

The Active รวบรวม 3 ทางเลือกที่ “คนไทย” จะได้ใช้วัคซีน เพราะหมายความว่า เมื่อนั้นเราสามารถอยู่กับ “โควิด-19” ได้เช่นเดียวกับเชื้อไวรัสอื่น ๆ แต่มีทางเลือกอะไรบ้าง ที่จะได้วัคซีนโควิด-19 มาใช้ได้เร็วที่สุด ?

#คิดค้นและพัฒนาวัคซีนในประเทศ

ประเทศไทยเริ่มทำการทดลองวัคซีนโควิด-19 ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ คือ การคัดเลือกสายพันธุกรรม หรือ mRNA โดยฉีดเข้ากับหนู ไปเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งสามารถสร้างภูมิคุ้มกันสูงเป็นที่น่าพอใจ

ศาสตราจารย์ นายแพทย์เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดี กำกับดูแลด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า เตรียมฉีดวัคซีนทดลองในลิง วันที่ 23 พ.ค. นี้ หลังจากนั้นจะดูผลเป็นระยะเวลา 1 เดือน ว่าสร้างภูมิคุ้มกันได้หรือไม่ สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปคือการจองโรงงานผลิตวัคซีน ในขั้นทดลองกับคนระยะที่ 1 ซึ่งคาดว่าจะผลิตในเดือน ส.ค. นี้ โดยมีความเป็นไปได้ว่าไทยจะประสบความสำเร็จ 50% หากวัคซีนได้ผล ก็จะผลิตได้กลางปี 2564

“ถ้าเราไม่พัฒนาวัคซีนตอนนี้ อนาคตต้องซื้ออย่างเดียว แต่ถ้าเราพัฒนาวัคซีนในตอนนี้ ก็มีความเสี่ยงเรื่องการลงทุนเช่นเดียวกัน ถ้าเราทำสำเร็จจะเป็นการผลิตวัคซีนโควิด-19 ที่เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์โลก”

สอดคล้องกับสิ่งที่ ‘ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์’ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ออกมาเปิดเผยกรณีนี้ว่า การทดสอบในหนูทดลองประสบความสำเร็จในระดับดี โดยผลการคัดกรองเบื้องต้นที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอมริกา พบว่าให้ผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า Neutralizing antibody (NAb) ในระดับที่สูงถึง 1:3000 ทำให้ประเทศไทยเตรียมทดลองในลิงเป็นลำดับถัดไป

#ร่วมมือวิจัยกับต่างประเทศ ซึ่งเดินหน้าผลิตวัคซีนแล้วในระยะที่ 2

ประเทศที่มีศักยภาพในการพัฒนาวัคซีนสูงมากในเวลานี้ คือ จีนและสหรัฐอเมริกา โดยมีรายงานว่าประเทศจีนมีการค้นคว้าวัคซีนเข้าสู่ระยะที่ 2 แล้ว ส่วนสหรัฐอเมริกา มีบริษัทที่สามารถพัฒนาวัคซีนมาสู่ระยะใช้ในคลินิกแล้ว หากไทยพัฒนาวัคซีนต้นแบบได้ดี ประสบความสำเร็จ ก็จะมีวัคซีนใช้ของตนเอง แต่ต้องใช้เวลาประมาณ 24-36 เดือน ซึ่งอาจจะไม่ทันเวลา ดังนั้น จึงต้องร่วมมือกับประเทศที่มีศักยภาพสูง

ศาสตราจารย์ นายแพทย์เกียรติ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า แม้จีนจะเริ่มทดลองวัคซีนเร็วกว่าสหรัฐอเมริกา แต่เนื่องจากประเทศจีนมีการล็อกดาวน์ประเทศ ที่มีผลให้ลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้เป็นอย่างมาก แต่ก็ทำให้สหรัฐอเมริกาสามารถพิสูจน์วัคซีนได้เร็วกว่า เนื่องจากยังมีผู้ติดเชื้อในประเทศอยู่เป็นจำนวนมาก

“ในส่วนของประเทศไทย ได้ร่วมมือกับอเมริกา จองวัคซีนไว้จำนวน 10,000 โดส และพร้อมคุยเซ็นสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างบริษัทอเมริกากับบริษัทผลิตวัคซีนในประเทศไทย 2-3 บริษัทอีกด้วย”

#ซื้อวัคซีนจากประเทศที่ผลิตได้

ประเทศไทยเคยมีบทเรียนมาแล้ว จากไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่ถึงแม้จะมีเงิน แต่เมื่อถึงเวลาวิกฤตก็ไม่มีประเทศใดขายวัคซีนให้ ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องลงทุนด้านการวิจัยและผลิตวัคซีนในระยะยาวอย่างจริงจัง

นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า การตั้งงบประมาณเพื่อจัดซื้อวัคซีนตอนนี้ยังไม่จำเป็น ควรนำเงินที่กันไว้ซื้อวัคซีนไปใช้ประโยชน์ในเรื่องเร่งด่วนอย่างอื่นก่อน เมื่อมีวัคซีนและถึงเวลาที่ต้องซื้อจริง ๆ รัฐบาลสามารถใช้งบประมาณกลางของปีงบประมาณนั้น ๆ ไปจัดซื้อได้ เพราะเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน ดีกว่าการตั้งงบประมาณล่วงหน้า โดยยังไม่เห็นโอกาสในการจัดซื้อวัคซีน ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่

ส่วนการจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มประชากรที่จะได้รับวัคซีนกลุ่มแรก โดยการตรวจภูมิคุ้มกันร่างกายของประชาชนทั้งหมด มีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป การตรวจแต่ละครั้งใช้เงินไม่ต่ำกว่า 200-300 บาทต่อคน ทางที่ดีที่สุด คือการวิเคราะห์กลุ่มเสี่ยงที่ต้องการวัคซีนเป็นกลุ่มแรกโดยไม่ต้องตรวจภูมิคุ้มกันร่างกาย

อย่างไรก็ตาม เรื่องการจัดซื้อวัคซีนนั้น ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่าหากประเทศใดผลิตได้ก่อนก็คงต้องให้ประชาชนในประเทศใช้ก่อน เหลือจึงขาย ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะมีวัคซีนไม่พอขาย ประเทศไทยต้องหาวัคซีนพร้อมกันทั้ง 3 ทางเลือก

#บทสรุป

แม้การพัฒนาวัคซีนจะเป็นทางออกของโควิด-19 ในระยะยาว แต่ปัจจุบันยังคงต้องรักษาระยะห่าง ตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มข้นต่อไป เพื่อชะลอให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงมากที่สุด ไม่ให้เกินทรัพยากรด้านสาธารณสุขที่จะสามารถรองรับได้ จนกว่าคนไทยจะได้ใช้วัคซีนโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง ซึ่งอาจต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 หรือ 2 ปีนับจากนี้


📌 ดูเพิ่ม
– “นพ.ยง” ชี้ โควิด-19 ระบาดระลอก 2 แน่ แม้ยังไม่รู้เมื่อไหร่ : https://bit.ly/2yfTalf
– คาดใช้ 3 พันล้านบาท ตั้งโรงงานวัคซีนโควิด-19 : https://bit.ly/3bMCMWU
– #ตอบโจทย์ “สัญญาณดี” วัคซีน “โควิด-19” ฝีมือคนไทย : https://program.thaipbs.or.th/TobJote/episodes/69283

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS