The Active ร่วมกับ เวทีสาธารณะ ไทยพีบีเอส ชวนสนทนา ระดมหลายศาสตร์วิชา มองโควิด-19 เป็นโอกาสการเรียนรู้ และทบทวนหลายปัญหาบนเส้นทางการพัฒนาประเทศ หาทางเลือกสู่อนาคต
การมุ่งควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้เหลือผู้ติดเชื้อภายในประเทศน้อยที่สุด เป็นมุมมองทางการแพทย์ที่ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้ระบบสาธารณสุขสามารถรองรับการระบาดใหญ่ครั้งนี้ได้ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการควบคุมโรค มีหลายมิติทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ ทำให้หลายภาคส่วนต้องหันกลับมาทบทวน เพื่อเดินหน้าเยียวยาและฟื้นฟู และปฏิเสธไม่ได้ว่า อาจมีประชาชน “กลุ่มเปราะบาง” ที่ตกหล่น แม้คนทั่วไปอาจมองว่า New Normal หรือ ฐานวิถีชีวิตใหม่ เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก และเป็นเพียงการปรับตัว ปรับวิถีชีวิตเท่านั้น แต่สำหรับกลุ่มเปราะบาง อาจเป็นเรื่องชี้เป็นชี้ตายสำหรับพวกเขา
“ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และกลุ่มคนยากจนด้อยโอกาส” เป็นกลุ่มเปราะบาง ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 “เสาวลักษณ์ ทองก๊วย” สภาคนพิการแห่งประเทศไทย มองว่า สำหรับกลุ่มคนพิการและผู้สูงอายุ เมื่อมีมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้เกิดอุปสรรคในการเข้าถึงโรงพยาบาล ที่ปกติอาจต้องไปเปลี่ยนอุปกรณ์ที่โรงพยาบาลเป็นประจำ อุปกรณ์ที่ต้องใช้แพงขึ้นและขาดตลาด เช่น น้ำยาฆ่าเชื้อ หน้ากากอนามัย รวมทั้งไม่มีคนดูแลเนื่องจากส่วนใหญ่อยู่ในชุมชนไม่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวก
เธอตั้งข้อสังเกตว่า มาตรการเยียวยาจากรัฐนั้นกลุ่มแรกที่ได้รับการเยียวยา คือ แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แต่กลุ่มเปราะบางไม่มีคนพูดถึง และมักเป็นกลุ่มสุดท้าย
“กลุ่มชาติพันธุ์ – กลุ่มคนไร้สัญชาติ” เป็น กลุ่มเปราะบางอีกกลุ่มที่แยกออกมา เรียกว่า กลุ่มเปราะบางซ้ำซ้อน “ไมตรี จงไกรจักร์” ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ชี้ให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้มีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว เมื่อเจอผลกระทบจากโควิด-19 นอกจากขาดรายได้ ยกตัวอย่าง เช่น ชาวเล หาปลาได้แค่พอกิน หาไปขายไม่ได้ผิดกฎหมายอุทยานฯ หรือ ปกาเกอะญอ ปลูกข้าวไร่หมุนเวียนไม่ได้ มีข้าวไม่พอกิน
กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ ยังอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่สามารถลงทะเบียนรับเงินเยียวยาได้ กลุ่มคนไร้สัญชาติ ก็ไม่ได้รับการเยียวยาช่วยเหลือจากภาครัฐ สังคมไทยมองข้ามกลุ่มเปราะบางเล็ก ๆ กลุ่มนี้ไป
“สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำอยู่แล้ว พอมาเจอโควิด-19 ความเหลื่อมล้ำจึงถูกตอกย้ำ ซ้ำเติมมากขึ้น” ศ.ดร.สุริชัย หวันแก้ว ผอ.ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงชวนภาควิชาการและภาคประชาสังคม หลากหลายมุมมองด้านสหวิทยาการมาร่วมพูดคุยกัน ถึงสถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้ที่มากกว่าโควิด-19
ที่ผ่านมาเราประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคโดยดูจำนวนผู้ติดเชื้อ จนลืมนึกถึงเรื่องอื่น ๆ ในหลาย ๆ มุม คำว่า “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ได้หันไปฟังคนข้างหลังบ้างหรือเปล่่า ?” ดร.สุริชัย ตั้งคำถาม
“ถ้าหยุดโรค ต้องหยุดโลกหรือไม่?” เป็นคำถามชวนคิดจาก ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ คณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยจริยธรรม เขาบอกว่า “โควิด 19 ทำให้เราฉุกคิดเรื่องสังคม”
เพราะการหยุดโรคระบาดทำให้เกิดผลกระทบทั้งด้านสังคม ชีวิต และเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่า “โควิด-19” เป็นโรคระบาดร้ายแรงที่สุดในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ติดต่อง่าย แค่คุยใกล้กันหรือสัมผัสก็ติดได้ ขณะที่ผู้ติดเชื้อ 4 ใน 5 ไม่แสดงอาการและแพร่เชื้อได้ง่าย จึงป้องกันยาก และตอนนี้ยังไม่มียาหรือวัคซีน การตรวจก็ยังทำไม่ทั่วถึง
การจะหยุดโรคระบาด จึงต้องทำอย่างมีจริยธรรม เช่น มาตรการที่เท่าเทียม ไม่กีดกันการเข้าถึงยาและวัคซีน ไม่จำกัดเสรีภาพ ไม่ควรปล่อยให้คนติดเชื้อจำนวนมากเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ รวมถึงระวังแอปพลิเคชันติดตามโรค ที่อาจละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล และต้องเฝ้าระวังให้ความสำคัญดูโรคอื่น ๆ ด้วย
เราหยุดโรค โดยไม่ต้องให้โลกหยุดได้ โดยการมีฐานวิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal การลำดับความสำคัญกลุ่มเสี่ยงเมื่อมีวัคซีน ปรับกิจกรรมการเรียนรูปแบบใหม่ ต้องหาวิธีลดความแออัดในชุมชน หามาตรการเยียวยา และมีมาตรการป้องกันสำหรับอนาคต
ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ภาครัฐยังคงเดินหน้า โครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วมหรืิอ แสดงความเห็นไม่เป็นอิสระ เพราะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
“ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ” ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่า โควิด-19 ทำให้เรากลับมาดูเรื่องจริยธรรมการพัฒนา ที่ควรเน้นการพึ่งพาตัวเองและแบ่งปัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ พื้นที่สูงมีการปลูกข้าว ม้งมีกะหล่ำปลี นำไปแลกปลากับชาวเล ดังนั้น การพัฒนาควรให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหาร
วิกฤตโควิด-19 ในปี 2563 มีความแตกต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 อย่างมาก
วิกฤตที่เกิดขึ้นในปีนี้ ทำให้แรงงานกลับบ้านเกิด แต่ที่น่าเศร้าก็คือ เมื่อกลับไปแล้วไม่เหลือทรัพยากรทางธรรมชาติให้พึ่งพิงอาศัย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการพัฒนาเขื่อนในแม่น้ำโขง ทำให้ทรัพยากรลดลงไปอย่างมาก
“ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ” คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จึงมองว่า เศรษฐกิจหลังจากนี้หลายบริษัทจะกลับไปฟื้นฟูบ้านเกิด เป็นเศรษฐกิจทางศีลธรรมแลกเปลี่ยนและแบ่งปัน
สอดคล้องกับ “อลิสา หะสะเมาะ” อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มอ.ปัตตานี บอกว่าเมื่อแรงงานกลับมาถึงบ้าน ทะเลก็ไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม
แต่ในภาคใต้ปัญหายิ่งซับซ้อนมากกว่านั้น เพราะเหตุการณ์ความไม่สงบเดิมก็มีอยู่ พอมีโควิด-19 ก็ยิ่งลำบากขึ้นอีก แรงงานที่ตกค้างที่มาเลเซียกลับมาต้องจ่ายค่าใบรับรองแพทย์และกักตัว 14 วัน ไม่มีงานทำ ส่วนกลุ่มคนที่เข้ามาด้วยเส้นทางธรรมชาติก็ถูกจับ
“เหมือนโลกจะหยุด แต่จะมีคนที่ไม่ยอมหยุดคิดหยุดคิดหาวิธีใหม่ ๆ พอกลับมาแล้วคนที่ไม่คิดจะตามไม่ทัน” นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยกตัวอย่างว่าควรใช้โอกาสนี้คิดท่องเที่ยวแบบใหม่ การบริการแบบใหม่ ตั้งรับให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
ทั้งนี้ ยอมรับว่าความท้าทายในการจัดการปัญหาโควิด-19 คือ 1) มีความไม่แน่นอน และความไม่รู้ 2) ภายใต้ความไม่แน่นอนและความไม่รู้ จึงต้องการความเร็วในการตัดสินใจ
ดังนั้นจึงต้องสร้างความสมดุล เพราะทุกส่วนของสังคมโดนผลกระทบหมด รัฐควรจัดลำดับความสำคัญในการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง รวมไปถึงการกระจายอำนาจท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมในการดำเนินนโยบาย
“บทบาทของสื่อสำคัญมากยิ่งขึ้น ในภาวะวิกฤต” สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. สรุปแถลงการณ์บางส่วนจากยูเนสโก ที่ระบุว่า “Fake News” ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจซ้ำเติมให้โรคระบาดหนักขึ้น โดยองค์กรอิสระตรวจสอบข่าวลวงพบความท้าทายมากขึ้น
“Twitter” ช่วยกรอกข้อมูลข่าวลวงต้านโควิด ก็จริง แต่ให้ความร่วมมือกับรัฐเลยโดนชาวทวิตโจมตี เพราะกฎกติการัฐนำไปสู่มาตรการที่กระทบสิทธิมนุษยชน คำถามคือ “สิ่งที่ทำนั้นจำเป็น… แต่แค่ไหนคือพอดี”
ในต่างประเทศ มีกรณีการทำงานของนักข่าวที่ต้องหาความจริงจนเสี่ยงติดโรค และผลกระทบด้านเศรษฐกิจกระทบถึงสื่อเช่นกันและกระทบต่อไปอีกในแง่คุณภาพการเลือกข่าวสารมานำเสนอ
ข้อเสนอ ทางเลือก อนาคต | จากเวทีสาธารณะ “2563 ประเทศไทยที่มากกว่า โควิด-19 ผ่านมุมมองสหวิทยาการ”
• ภาควิชาการ จับมือ ภาคประชาสังคม ทำ “โครงการร่วมกันคิดโควิดอนาคต กับคนเปราะบาง” เตรียมดึง ภาครัฐ เข้ามาร่วมคณะทำงาน เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ทั้ง 5 กระทรวงคือ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
• ทำข้อเสนอถึงรัฐบาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่อนปรนให้ชาวกะเหรี่ยงปลูกข้าวไร่หมุนเวียนและชาวเลหาปลาในเขตอุทยานฯ ได้
• ทบทวนโครงการขนาดใหญ่ ที่เดินหน้าท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่
• ฝ่ายการเมืองต้องแสดงเจตจำนงทางการเมืองในการพัฒนาที่ยั่งยืน หลังโควิด-19 โดยเฉพาะเงินกู้ก้อนใหญ่ เกือบ 2 ล้านล้านบาท ต้องใช้อย่างมีส่วนร่วม “ประชาชน-ประชาสังคม” ต้องมีส่วนในการตรวจสอบ และมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายใช้เงินฟื้นฟูและเยียวยา
• สื่อควรนำเสนอความจริง ระวังการพาดหัว ไม่ตีตราและต่อสู้กับข่าวลวงหรือ fake news
ดูเพิ่ม
– 2563 ประเทศไทยมากกว่า COVID-19 มองอนาคตผ่านมุมสหวิทยาการ (18 พ.ค. 63)