Policy Monthly Report : ‘แจกเงินหมื่น’ นโยบายเด่นโลกโซเชียล ก.ค. 67

เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นเดือนที่วัดใจรัฐบาลพอสมควร เนื่องจากทั้งต้องดำเนินนโยบายเรือธงอย่างดิจิทัลวอลเล็ต ที่พึ่งมีการแถลงไปเมื่อวันที่ 24 ก.ค. และจะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนต้นเดือนสิงหาคม นอกจากนี้ยังมีสถานการณ์ต่าง ๆ ที่น่าปวดหัวและรัฐบาลต้องเข้ามาแก้ไขอย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การระบาดของปลาหมอคางดำ ความขัดแย้งระหว่างของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และกรมอุทยานฯ กรณีป่าทับลาน

The Active ทำการเก็บรวบรวมนโยบายที่ถูกพูดถึงบนโซเชียลมีเดีย ผ่าน Zocial Eye (เครื่องมือ Social Listening ที่ช่วยฟังเสียงของผู้คนบนโลกโซเชียลมีเดีย) ระหว่างวันที่ 1 – 31 ก.ค. 2567 เพื่อหาว่านโยบายใดที่คนบนโลกออนไลน์ให้ความสนใจมากที่สุดในช่วงเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา

ภาพรวม นโยบายที่ติด Top 5 ส่วนใหญ่เป็นนโยบายเดิมกับในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ได้แก่ ดิจิทัลวอลเล็ต ซอฟต์พาวเวอร์ สมรสเท่าเทียม และการบริหารจัดการน้ำ เนื่องจากเหตุการณ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน มีเพียงนโยบายแจกโฉนดที่ดิน ส.ป.ก. เท่านั้น ที่ไม่เคยติด Top 5 มาก่อน แต่ก็ติดอันดับในเนื่องนี้เนื่องจาก #saveทับลาน

พิจารณาจากกราฟยอดจำนวนข้อความรวมรายวัน (รูปภาพด้านล่าง) จะเห็นได้ว่ามีบางวันที่มียอดจำนวนข้อความสูงที่สุดคือ วันที่ 18 ก.ค. จากการพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์ชุดพิธีการโอลิมปิกของทีมชาติไทย ในการแข่งขันโอลิมปิก 2024 ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ยอดจำนวนข้อความรวมรายวัน

โดยจากข้อความที่รวบรวมมาได้ ส่วนใหญ่ปรากฏเป็นหลักบน Facebook ที่ 60.39% ตามมาด้วย YouTube ที่ 16.02% และ X (Twitter) ที่ 12.96% ที่เหลือ 10.63% คือช่องทางอื่น ๆ 

เป็นเดือนที่ YouTube กลับมามีสัดส่วนการพูดถึงสูงกว่า X เนื่องจากในเดือนที่ผ่านมามีการพูดถึง #สมรสเท่าเทียม ใน X สูง โดยในเดือนนี้ส่วนใหญ่คลิปที่ได้รับความนิยมใน YouTube คือคลิปการแจ้งความคืบหน้าและวิธีลงทะเบียนรับเงินดิจิทัลวอลเล็ต

หากพิจารณายอดเอ็นเกจเมนต์ (ยอดกดดู ไลก์ แชร์ และคอมเมนต์รวมกัน) ภาพรวมมียอดทั้งหมดที่เกี่ยวข้องรวม 8,984,360 เอ็นเกจเมนต์

จากยอดเอ็นเกจเมนต์รายวัน (รูปภาพด้านล่าง) พบว่ายอดเอ็นเกจเมนต์ส่วนใหญ่มาจากช่องทาง TikTok ซึ่งแม้จะมีจำนวนข้อความน้อย แต่หลาย ๆ คลิปกลับได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เช่น วันที่ 8 ก.ค. มีการพูดถึงการจะสูญเสียพื้นที่ป่าทับลาน และเสนอให้ช่วยกันลงนามคัดค้านการเปลี่ยนไปเป็น ที่ดิน ส.ป.ก. หรือในวันที่ 18 ก.ค. มีการพูดถึงชุดพิธีการโอลิมปิกของไทย โดยมองว่าเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ด้านแฟชั่น หรือช่วงวันที่ 24 – 25 ก.ค. เป็นการพูดถึงวิธีการลงทะเบียนรับเงินดิจิทัลวอลเล็ต

ยอดเอ็นเกจเมนต์รวมรายวัน

จากข้อมูลข้างต้น สามารถจัดอันดับนโยบายที่มียอดเอ็นเกจเมนต์สูงที่สุด 5 อันดับแรกประจำเดือน ก.ค. ได้ดังนี้

อันดับที่ 1 คืบหน้า “ดิจิทัลวอลเล็ต” พร้อมลงทะเบียน รอรับเงิน

ยอดเอ็นเกจเมนต์รายวันของการพูดถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต

นโยบายแจกเงินหมื่นขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ด้วยยอด 3.94 ล้านเอ็นเกจเมนต์ โดยได้รับความสนใจมาตลอดในทุก ๆ เดือนที่ผ่านมา โดยในเดือนนี้ได้รับความสนใจจากผู้คนบนโลกโซเชียลอย่างล้นหลาม จากการแถลงความคืบหน้านโยบายของรัฐบาลในวันที่ 24 ก.ค. มีการแจ้งกำหนดการต่าง ๆ ที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

  • 24 – 25 ก.ค. 67 พูดถึงความคืบหน้าโครงการจากการแถลงของรัฐบาล เช่น เงื่อนคนของคนที่จะได้รับเงิน ช่วงเวลาลงทะเบียนของแต่ละกลุ่ม (แบ่งเป็น บุคคลที่มีสมาร์ทโฟน บุคคลที่ไม่มีสมาร์ทโฟน และร้านค้า) คาดเริ่มใช้จ่ายไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 และวิธีการลงทะเบียนในแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” เพื่อรับเงิน รวมไปถึงมีการแสดงความยินดีกับคนไทยที่จะได้ใช้เงินหมื่นตามนโยบายของรัฐบาล

ติดตามนโยบาย ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สะท้อนปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า ไม่แปลกใจที่จะเป็นที่พูดถึงและมีคนลงทะเบียนมาก เนื่องจากเป็นเงินที่ให้ฟรี ถึงแม้จะเป็นเงินดิจิทัลไม่ใช่เงินสดก็ตาม และแม้มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถซื้อของบางอย่างได้ เช่น เชื้อเพลิง ก็มาจากหลักคิดเรื่องการพยายามให้เงินไหลอยู่ในพื้นที่ ป้องกันการเล่นแร่แปรธาตุ แต่อาจจะไม่สามารถป้องกันได้ 100% ควรมีกระบวนการตรวจสอบเพิ่มเติม

“คำถามก็คือว่า แล้วใครจะมาตรวจสอบ และจะรู้ได้อย่างไรว่าคนขาย ให้ของผมจริง …ผมไม่ได้ชี้โพรงให้กระรอก เพราะกระรอกคงเห็นโพรงแล้ว ก็เลยแค่เตือนไปว่าความตั้งใจดี แต่ในที่สุดคงต้องมีกระบวนการตรวจสอบ

ดร.สมชัย จิตสุชน

อันดับที่ 2 ชุดโอลิมปิกไทย โยงไปถึง “ซอฟต์พาวเวอร์” ?

ยอดเอ็นเกจเมนต์รายวันของการพูดถึงนโยบายซอฟต์พาวเวอร์

อยู่ในอันดับ 2 เหมือนเดิมเดิมเช่นเดียวกับเดือน พ.ค. และ มิ.ย. ที่ผ่านมา ด้วยยอด 1.47 ล้านเอ็นเกจต์เมนต์ ในภาพรวมยังคงมีความคล้ายกับการพูดถึงในเดือนก่อน ๆ คือตัวอย่างซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยในมิติต่าง ๆ ในเดือนนี้มีเหตุการณ์พิเศษที่ทำให้พูดถึงซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งคือ ชุดพิธีการโอลิมปิกของทีมชาติไทย

  • 18 ก.ค. 67 ภายหลังการเปิดตัวชุดทีมพิธีการ เข้าร่วมพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 ลักษณะเสื้อผ้าไหมสีฟ้า และมีลายที่กระดุม โดยมี ปอป้อ – ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย นักแบดมินตันเป็นแบบในการเปิดตัว เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมาย บางคอมเมนต์บอกว่าสวยแต่อยากให้ดูทันสมัย บางคอมเมนต์ประชดว่าสะท้อนความเป็นไทยจริง ๆ มีการเปรียบเทียบกับชุดนักกีฬาของประเทศอื่น ๆ โดยประเทศที่ถูกหยิบยกมาเป็นตัวอย่างการพูดถึงอย่างมากคือชุดจากประเทศมองโกเลีย ซึ่งมีการพูดถึงว่าสวยและเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศอย่างแท้จริง ภายหลังเกิดกระแสดรามา คณะกรรมการโอลิมปิกประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนชุดเข้าร่วมเป็นแทร็คสูทสีน้ำเงินลายบ้านเชียงแทน
ชุดพิธีการของนักกีฬาทีมชาติไทยที่มีการพูดถึงในโลกโซเชียล
ภายหลังได้มีการเปลี่ยนเป็นแทร็คสูท
เสื้อแทร็คสูท เข้าร่วมพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 (ภาพ : grandsport1961)
ชุดพิธีการของประเทศมองโกเลีย

ติดตามนโยบาย นโยบายซอฟต์พาวเวอร์

อันดับที่ 3 มองมุมต่าง “แจกโฉนด ส.ป.ก.” จากป่าทับลานสู่ป่าทับคน ต้อง save คนหรือ save ป่า

ยอดเอ็นเกจเมนต์รายวันของการพูดถึงนโยบายแจกโฉนดที่ดิน ส.ป.ก.

เป็นครั้งแรกที่ติด 5 อันดับแรก ด้วยยอด 1.13 ล้านเอ็นเกจเมนต์ ซึ่งยอดอยู่ส่วนใหญ่อยู่ในวันที่ 8 ก.ค. ไปแล้ว 1.00 ล้านเอ็นเกจเมนต์ ที่มีการพูดถึงสูงเนื่องจากการพูดถึงใน #saveทับลาน กระแสร่วมลงชื่อคัดค้านการเปลี่ยนพื้นที่ป่าไปเป็นที่ดิน ส.ป.ก.

  • 8 ก.ค. 67 คลิป TikTok เล่าเหตุการณ์ประเทศไทยกำลังจะสูญเสียพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน 265,000 ไร่ ไปเป็นที่ดิน ส.ป.ก. ผลกระทบ 6 ด้านหากเพิกถอนพื้นที่ป่าโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และกระแส #saveทับลาน เพื่อลงชื่อคัดค้าน หวั่นที่ดินตกสู่มือนายทุน ภายหลังมีกระแสโต้กลับผ่าน #saveชาวบ้านทับลาน พูดถึงสิทธิ์ในที่ดินของชาวบ้านที่อยู่อาศัยมาก่อนจะมีการประกาศเขตอุทยาน เอกสารสิทธิไม่สามารถซื้อขายได้ รวมถึงพื้นที่บางส่วนที่ save นั้น ปัจจุบันไม่ได้มีลักษณะเป็นป่าแล้ว

ติดตามนโยบาย แจกโฉนดที่ดิน ส.ป.ก.

อ่านเพิ่มเติม มองมุมต่าง ปมเฉือน ‘ป่าทับลาน’ 2.6 แสนไร่

อ่านเพิ่มเติม ไขปัญหา ‘ป่าทับลาน’ ที่ ‘รัฐ’ เป็นผู้(กด)ทับทั้งป่าและคน

อันดับที่ 4 “สมรสเท่าเทียม” ต้องไปต่อ แม้หมด Pride Month

ยอดเอ็นเกจเมนต์รายวันของการพูดถึงนโยบายสมรสเท่าเทียม

ตกมาจากอันดับ 1 ในเดือนไพรด์ที่ผ่านมา เดือนนี้มีการพูดถึงเพียง 0.72 ล้านเอ็นเกจเมนต์ (เมื่อเทียบกับในเดือนที่แล้ว ที่พูดสูงถึง 8.39 ล้านเอ็นเกจเมนต์) อย่างไรก็ตาม แม้เดือนนี้จะไม่ได้มีเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของนโยบายดังกล่าว แต่ก็ยังมีการพูดถึงสมรสเท่าเทียมอยู่ในหลาย ๆ โพสต์

  • 1 ก.ค. 67 โพสต์ของฟลุ๊ค – ธรรณพ แสงโอสถ หรือ ฟลุ๊ค กะล่อน โพสต์แสดงความยินดีที่ประเทศไทยมีสมรสเท่าเทียม และแม้ว่าจะจบเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นเดือนไพรด์ไปแล้ว แต่ก็อยากให้ทุกคนภูมิใจที่ได้เป็นตัวของตัวเองในทุก ๆ เดือน
  • 19 ก.ค. 67 รายการครอบครัวตัวอย่างของ SPECTRUM บอกเล่าเรื่องราวของครอบครัวของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในไทย โดยคลิปที่ได้รับความนิยมคือคลิปครอบครัวต้า-จรัล ซึ่งเป็นคู่รักอายุห่างกัน 31 ปี และอยู่ด้วยกันมานานกว่า 9 ปีแล้ว

ติดตามนโยบาย สมรสเท่าเทียม

อันดับที่ 5 “บริหารจัดการน้ำ” แก้ปัญหาน้ำท่วม

ยอดเอ็นเกจเมนต์รายวันของการพูดถึงนโยบายบริหารจัดการน้ำ

ฤดูฝนมาพร้อมกับสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ติด 5 อันดับแรกด้วยยอดความสนใจที่ 0.28 ล้านเอ็นเกจเมนต์ มีการพูดถึงทั้งสถานการณ์น้ำท่วม รวมถึงการตั้งคำถามว่าผู้รับผิดชอบและผู้มีอำนาจจะแก้ไขปัญหาได้อย่างไรบ้าง

  • 1 ก.ค. 67 จากสถานการณ์น้ำท่วมภูเก็ต มีการตั้งคำถามถึงพรรคก้าวไกล จากกรณีรังสิมันต์ โรม หาเสียงแก้ปัญหาน้ำท่วมที่จังหวัดภูเก็ต เนื่องจากพื้นที่จังหวัดภูเก็ตได้ สส. จากพรรคก้าวไกลไปครองทั้ง 3 เขต
  • 5 ก.ค. 67 เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม ดินถล่ม พร้อมกำชับให้หน่วยงานเร่งแก้ไขปัญหา
  • 9 ก.ค. 67 ไม่ได้พูดถึงนโยบายการบริหารจัดการน้ำโดยตรง ตั้งคำถามถึงการแถลงของรัฐบาลว่าจะมีนโยบายเงินช่วยเหลือเกษตรกรไร่ละ 1,000 บาทหรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรพบเจอปัญหาราคาพืชตกต่ำ ภัยแล้ง น้ำท่วม โดยส่วนใหญ่ผู้คนเห็นด้วยที่จะมีนโยบายช่วยเหลือไร่ละพันบาทเหมือนเดิม
  • 20 ก.ค. 67 จากแบบสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองของนักการเมืองในปัจจุบัน ประจำเดือนกรกฎาคม โดย LINE TODAY โดย เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ได้คะแนนนิยมสูงสุดด้วย 40.13% ส่งผลให้ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส. พรรคเพื่อไทย ทวิต ให้กำลังใจและยินดีที่รัฐบาลได้ทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะปัญหาสำคัญ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง
  • 30 ก.ค. 67 จากกรณี รักชนก ศรีนอก สส. พรรคก้าวไกล โพสต์ภาพการทำท่อระบายน้ำยกสูงกว่าพื้นถนนและพื้นบ้านของประชาชนหลายเซนติเมตร นำมาสู่ความกังวลว่าจะไม่สามารถระบายน้ำได้จริง

ติดตามนโยบาย บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

นอกเหนือจากนโยบายต่าง ๆ ที่ถูกพูดถึงในโซเชียล 5 อันดับแรกแล้ว ยังมีการพูดถึงและความคืบหน้าของนโยบายอื่น ๆ ที่ไม่ได้ติดอันดับด้วย ได้แก่

  • 24 ก.ค. 67 เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ประกาศไม่นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด โดยจะออก พ.ร.บ. กัญชา กัญชง เพื่อควบคุมแทน

ติดตามนโยบาย นโยบายยาเสพติดแนวใหม่

  • สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จ่อปรับขึ้นค่าไฟฟ้า งวด ก.ย. – ธ.ค. 67 เป็น 4.65 – 6.01 บาท/หน่วย กระทบประชาชน-ผู้ประกอบการ ภายหลัง ครม. มีมติเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 67 เห็นชอบตรึงค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.18 บาท/หน่วย

ติดตามนโยบาย ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน

นโยบายข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความคืบหน้านโยบายและโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล ภายใต้การนำของ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตยที่จะมีการติดตาม วิพากษ์วิจารณ์ และถกเถียงว่า เห็นด้วยกับนโยบายต่าง ๆ หรือไม่ อย่างไร ด้วยหลักเหตุและผล ซึ่งโซเชียลมีเดียก็เป็นหนึ่งในช่องทางการแสดงความคิดเห็น และกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

The Active เชิญชวนประชาชนร่วมติดตามความคืบหน้าของนโยบายและแสดงความคิดเห็นผ่านแพลตฟอร์ม Policy Watch 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธนธร จิรรุจิเรข

สงสัยว่าตัวเองอยากเป็นนักวิเคราะห์ data ที่เขียนได้นิดหน่อย หรือนักเขียนที่วิเคราะห์ data ได้นิดหน่อยกันแน่

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

ชญาดา จิรกิตติถาวร

เปรี้ยว ซ่า น่ารัก ไม่กินผัก ไม่กินเผ็ด