ร่วมสร้าง ‘มหานครแห่งโอกาส’ และ ความเป็นธรรมเพื่อสังคมสุขภาวะ

“เราจะร่วมสร้างมหานครแห่งโอกาสและความเป็นธรรมเพื่อสังคมสุขภาวะ ให้บรรลุเป้าหมายในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพและความปลอดภัยอย่างเท่าเทียม ด้วยพลังความร่วมมือที่เข้มแข็งของทุกภาคส่วนภายในปี2570″

สมาชิกสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานครร่วมประกาศเจตนารมณ์ ในงาน สมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 4  ภายใต้แนวคิด “ร่วมสร้างมหานครแห่งโอกาสและความเป็นธรรม เพื่อสังคมสุขภาวะ ซึ่งในงานนี้ได้ระดมความร่วมมือผ่านเวทีขับเคลื่อนสุขภาวะคนกรุงเทพฯ ใน 4 ด้าน 4 เวที  ได้แก่ ธรรมนูญสุขภาพ ระบบสุขภาพปฐมภูมิ, พื้นที่สาธารณะ และ หาบเร่แผงลอย

ธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพมหานคร เพื่อการขับเคลื่อนอย่างมีส่วนร่วม

เตชิต ชาวบางพรหม หัวหน้าศูนย์ขับเคลื่อนสุขภาวะเขตเมือง (ศสม.) กล่าวว่า ธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ของคนตัวเล็กตัวน้อย ซึ่งในเขต และ ระดับต่าง ๆ โดยปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 22 เขตที่มีธรรมนูญสุขภาพ และเหลืออีก 28 เขตที่จะเกิดขึ้นตามมา ในอีก 3 ปีข้างหน้า

“เราได้มีการพูดคุยกันว่าธรรมนูญสุขภาพ 50 เขต จะมีหน้าตาออกมาเป็นอย่างไร จะสร้างทีมคณะกรรมการอย่างไร จะสร้างโอกาสสนับสนุนอย่างไร และจะเชื่อมร้อยกับกองทุนหลักประกันสุขภาพ ท้องถิ่นอย่างไร พื้นที่กลางตรงนี้น่าจะเป็นร่มใหญ่ของการให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมอยากให้มองโอกาสตรงนี้ในการสนับสนุนและกำหนดวาระในการร่วมกันทำงานและขับเคลื่อน”

เตชิต กล่าวว่า คนอาจจะมองว่าเวทีสมัชชาสุขภาพเป็นอีเวนท์ที่จัดขึ้น เป็นเสือกระดาษ ที่จัดมาแล้วผ่านไป เป็นเพียงกระดาษที่เอาไปบอกหน่วยงานของบประมาณดำเนินการ แต่จริง ๆ แล้ว สมัชชาสุขภาพ คือ พื้นที่ของคนตัวเล็กตัวน้อย และกำลังสร้างบรรยากาศการมีส่วนร่วมให้เมืองนั้น ๆ ซึ่งเมืองไหนที่มีบรรยากาศของการมีส่วนร่วม คือ เมืองที่ศรีวิไล เป็นเมืองที่มีการร่วมขับเคลื่อนเมืองไปด้วยกัน

ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ระบบบริการสุขภาพเขตเมืองที่เน้นคุณค่า

นพ.สุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปฐมภูมิเป็นเรื่องใกล้ตัว พื้นที่กรุงเทพมหานครมีประชากรเยอะ เป็นคนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ 3 ล้านกว่าคน ที่มีสิทธิบัตรทอง แต่ถ้านับสิทธิข้าราชการรัฐวิสาหกิจและประกันสังคมด้วย รวมแล้วเป็น 5 ล้านกว่าคน แต่จริง ๆ แล้ว กรุงเทพฯ มีประชากรเป็น 10 ล้านคน เพราะฉะนั้นในเรื่องสุขภาพปฐมภูมิเป็นเรื่องที่มีความเปราะบาง ซึ่งเมืองใหญ่จะเจอปัญหาแบบนี้

กรุงเทพฯ แตกต่างจากชนบทที่มีระบบโรงพยาบาลชุมชน ในแต่ละเมืองก็จะมีปัญหาที่ค่อนข้างซับซ้อนผู้คนหลากหลายทำงานไม่มีเวลาออกกำลังกาย จากข้อมูลที่เราเชื่อมมา มีจุดหลักอยู่ 4 เรื่อง ได้แก่

  1. การเข้าถึงบริการ มีการตั้งคำถามว่าหน่วยบริการปฐมภูมิเพียงพอหรือไม่ ปัจจุบันมีอยู่ 300 กว่าแห่ง แต่ว่าประชาชนยังแห่ไปโรงพยาบาล จึงเกิดเป็นคำถามว่าเพราะอะไร แต่ถ้าคนเหล่านี้ไม่ไปโรงพยาบาลและรักษาที่ปฐมภูมิทั้งหมดโรงพยาบาลก็จะเบาตัวลงจะได้มีเวลารักษาคนไข้ที่มีอาการหนัก บางคนไปเอายา 3 เดือนครั้ง เจอหน้าคุณหมอแป๊บเดียว ซึ่งไม่จำเป็น
  2. ข้อมูลไม่เชื่อมโยงกัน ปัจจุบันข้อมูลโรงพยาบาลกับข้อมูลของหน่วยบริการปฐมภูมิยังไม่เชื่อมกันแต่กำลังจะเชื่อม ภายในปีสองปีนี้ ถ้าหากทำได้ แพทย์ปฐมภูมิก็จะเห็นข้อมูลเช่นเดียวกับแพทย์ที่โรงพยาบาลว่าคนไข้เคยเข้ารับการรักษาอะไรการบริการก็จะเร็วขึ้น
  3. งบประมาณ คนเราต้องเจ็บป่วยไม่มีใครไม่เจ็บไม่ป่วย เมื่ออายุมากขึ้นโรคมากขึ้น โดยเฉพาะ “หวานดันใจ” ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต โรคหัวใจ พออยู่ในช่วงวัยหนึ่งก็จะเข้าสู่การเจ็บป่วยโรคเหล่านี้ ซึ่งเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่ป้องกันได้ โดยอาศัย ‘ปฐมภูมิ’ ที่ว่าคือตัวเรา ถ้าเราสร้างเสริมสุขภาพ โดยการสร้างก่อนซ่อม ตอนนี้ประชาชนไปเน้นเรื่องการซ่อม ตอนนี้เรามีงบฯ PP ของ สปสช. เรามีหลักประกัน ปีนี้มีอยู่ 1,500 กว่าล้านบาท กำลังให้ชุมชนต่าง ๆ เขียนโครงการไปทำเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ 
  4. การมีส่วนร่วมของพื้นที่ บุคลากรทางการแพทย์เพียง 20,000 คน ดูแลคนถึง 7-8  ล้านคนเป็นไปไม่ได้ ในที่ประชุมได้มีการพูดคุยและหารือกันว่าจะต้อง มีการพัฒนาต่อไป ในการที่จะพัฒนาให้มีระบบสุขภาพที่เหมาะสมกับเมืองอย่างกรุงเทพมหานคร

สำหรับการยกระดับปฐมภูมิได้ต้องเกิดความศรัทธา โดยตัวคลินิกชุมชนอบอุ่นมีโรงพยาบาลเป็นพี่เลี้ยง ซึ่ง กทม. เองมีการทำ Bangkok Health Zone มีโรงพยาบาลเป็นพี่เลี้ยงให้คลินิกชุมชนอบอุ่นและศูนย์บริการสาธารณสุข โดยศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นพื้นที่ในการบริหารจัดการ ซึ่งเรากำลังจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบปฐมภูมิขึ้นในแต่ละเขตโดยมีคลินิกชุมชนอบอุ่นเข้ามาช่วย มีการรับฟังความเห็นจากผู้รับบริการ ซึ่งกำลังจะเริ่มทำ

การสานพลังพัฒนาพื้นที่สาธารณะ

เน้นย้ำถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนในการมีพื้นที่เพื่อการเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนและการทำประโยชน์ที่ไม่ใช่แค่การมีพื้นที่สีเขียว การออกกำลังกาย ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิดวงประทีป ระบุว่า ชุมชนคลองเตยถูกเปลี่ยนสีผังเมืองจากสีน้ำเงินเป็นสีแดง ชาวบ้านจึงกังวลว่าจะไร้ที่อยู่ ข้อเสนอของการรวมตัวของชุมชนในเวทีครั้งนี้คือการขอคืนพื้นที่ 20% ทำสุขภาวะชุมชนถือเป็นโมเดลเริ่มต้นที่คลองเตย

“ให้การสนับสนุนพื้นที่คลองเตยและอีกหลายพื้นที่ที่มีการบริหารจัดการที่ไม่เน้นแค่ตัวเลขทางเศรษฐกิจ แต่มองถึงการส่งเสริมศักยภาพของคน ชุมชน ขับเคลื่อนสุขภาวะที่ดีไปด้วยกัน”

หลายคนที่แลกเปลี่ยนในเวทีครั้งนี้ ต่างพยายามสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นของการพัฒนาที่เบียดขับคนจนออกจากพื้นที่ จึงเสนอว่าทุกคนควรมีพื้นที่อาศัยในเมือง และไม่ใช่แค่สาธารณะ แต่ควรเป็นทุกพื้นที่ที่สามารถใช้ประโยชน์เพื่อสาธารณะได้ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ของทางส่วนราชการหรือเอกชน เป็นพื้นที่ที่เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วม ต้องการจะมีส่วนร่วมต้องมีกลไกที่มาสนับสนุน มองพื้นที่สาธารณะจากสายตาของชุมชนด้วยกัน และมีคณะทำงานร่วมกันที่ไม่ใช่ภาระของกรุงเทพมหานคร สุขภาวะทุกด้านมีพื้นที่รองรับ

นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท หัวหน้ากลุ่มสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ รองประธานอนุกรรมการวิชาการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร สรุปประเด็นการจัดการพื้นที่สาธารณะ ที่หมายถึงการใช้พื้นที่ที่มีส่วนร่วมของทุกฝ่ายเข้ามาใช้พื้นที่เพื่อที่จะสร้างสุขภาวะ ส่วนกลไกหลังจากนี้ขอเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการในการทำงานและเริ่มต้นจากการมีพื้นที่ทดลอง

การจัดการหาบเร่แผงลอย เศรษฐกิจปลอดภัย ภายใต้ความหลากหลาย

ตัวแทนจากผู้ค้าสะท้อนถึงปัญหาที่พบเจอโดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา พวกเขาบอกว่าเพิ่งฟื้นจากโควิดเพียงไม่นานกลับถูกนโยบายของกทม. จัดระเบียบไล่รื้อ มีกฎเกณฑ์ที่ผู้ค้าไม่มีส่วนร่วมในการหาทางออกในการใช้ประโยชน์บนทางเท้า จึงเสนอการทบทวนการยกเลิกพื้นที่การค้า และทบทวนกฎระเบียบประกาศ ของ กทม.ในการจัดการพื้นที่ เปิดโอกาสให้ทุกส่วนที่มีส่วนได้เสียมามีส่วนร่วมมากขึ้น เป้าหมายคือการสร้างกลไกที่มีกติกามากขึ้น โดยกฎที่ออกมายุติธรรมกับทุกกลุ่ม มากกว่ารัฐเพียงฝ่ายเดียว

ขณะที่ผู้ค้าบางคนยังสะท้อนว่า หาบเร่แผงลอยคือคนที่ทำงานผลักเมือง อยากให้คนมองเห็นว่าเมืองจะเจริญเติบโตไปได้อย่างไรหากไม่มีความหลากหลายของกลุ่มคนเหล่านี้ รวมถึงอาชีพนี้ยังทำให้ อาหารราคาถูก จึงอยากเห็นคนจนเติบโตไปพร้อมเมืองและการพัฒนาที่พวกเขามีส่วนร่วมได้

จึงเสนอการมีกลไกการรับรองผู้ค้า ให้มีส่วนร่วมในการกำหนดกติกามากขึ้น ผ่านโมเดลในระดับพื้นที่ระดับเขต เพื่อพัฒนากระบวนการผู้ที่ประกอบอาชีพแรงงานรับจ้างทั้งระบบไม่ใช่แค่หาบเร่ ให้มีสุขภาวะที่ดีในการประกอบอาชีพในเมือง โดยไม่ให้ผู้ค้าไปสร้างภาระให้กับเมือง รวมถึงการมีพื้นที่ในการรองรับ เช่นอยู่ในรูปแแบ Hawker Center เป็นต้น

สำหรับเวทีครั้งนี้ ยังมีความคาดหวังให้เป็นพื้นที่สนทนาของการมีส่วนร่วมทุกฝ่าย เพื่อสร้างกติการ่วมกันในการขับเคลื่อน ทั้ง 4 ประเด็นให้เกิดขึ้นได้จริงภายใน 3 ปี

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส

Alternative Text
AUTHOR

อรอุษา พรมอ๊อด