หลายคำถาม เมื่อโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ (อีกครั้ง)

การระบาดของโควิด-19 อีกครั้ง ในคลัสเตอร์สถานบันเทิงใจกลางกรุง ส่งผลสะเทือนไปทั่วแทบทุกวงการ ที่ไม่เพียงเฉพาะกลุ่มศิลปิน นักร้อง หรือผู้ประกอบการและลูกจ้างสถานบันเทิงเท่านั้น ยังลามไปถึง “รัฐมนตรี” กระทรวงใหญ่ และยังนับว่าเป็น รัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย ที่ติดเชื้อโควิด-19

เสียงเรียกร้องจากสังคมให้เปิดเผยไทม์ไลน์ “ส่วนตัว” ที่มากไปกว่ากำหนดการทางราชการ ที่เปิดเผยเป็นสาธารณะ เริ่มดังขึ้น เพราะไม่เพียงแค่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เท่านั้น แต่ “พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด” อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ก็ถูกเรียกร้องไม่ต่างกัน เพราะถูกนำไปเปรียบเทียบกับกรณีของ “แสตมป์” อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข ที่เปิดเผยไทม์ไลน์ของตัวเองแทบจะทันที เมื่อมีผลตรวจยืนยันว่าติดโควิด-19

เพราะเป็นบุคคลสาธารณะ หรือเพราะเป็นบุคคลสำคัญของรัฐบาล เป็นระดับผู้บริหารของกระทรวงใหญ่ เหล่านี้ ทำให้การยืนยันพบเชื้อในระดับรัฐมนตรีครั้งนี้ มีความเชื่อมโยง เกี่ยวข้องโดยตรงกับมาตรการต่าง ๆ เพื่อหวังจะเป็นแนวปฏิบัติในการร่วมสกัดและควบคุมการระบาดไม่ให้แพร่กระจายเป็นวงกว้างไปมากกว่านี้

The Active รวบรวมข้อมูลเพื่อตอบคำถามสำคัญ ของการระบาดระลอกใหม่ ที่ว่ากันว่าเป็นการ “ระบาดระลอกใหม่ ซ้อนระลอก”

ทำไมต้อง “เปิดเผยไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อโควิด-19”

การเปิดไทม์ไลน์กิจกรรมย้อนหลัง 14 วันของผู้ป่วยโควิด-19 เปรียบเสมือน ‘แผนที่’ ให้ทีมสอบสวนโรคพบ ‘แหล่งติดเชื้อ’ และ ‘พฤติกรรมการติดเชื้อ’ ที่ผู้ป่วยวาดให้ ยิ่งถ้าบอกเส้นทางให้ด้วย ยิ่งพบผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและต่ำเร็วขึ้น ยิ่งช่วยควบคุมโรคและแจ้งเตือนผู้สัมผัสได้ให้เฝ้าระวังพฤติกรรมกันเป็นลูกโซ่

อย่าลืมว่า โควิด-19 เป็น ‘โรคติดต่ออันตราย’ ทั้งทางนิตินัย คือ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และทางพฤตินัย คือ เป็นโรคที่สามารถแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว และมีอัตราป่วยตายสูง (หากจำนวนผู้ป่วยเกินศักยภาพการรองรับของระบบ) จึงต้องมีการสอบสวนโรคเพื่อค้นหาแหล่งโรคและติดตามผู้สัมผัส

ทำไม ฉีดวัคซีนแล้ว ยังติดเชื้อได้อีก

หากดูจากกรณีของ รมว.กระทรวงคมนาคม เขารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของ “ซิโนแวค” ในขณะที่วัคซีนยี่ห้อนี้ ถูกกำหนดว่าต้องได้รับวัคซีน 2 เข็ม หรือ 2 โดส เพราะการฉีดวัคซีนเข็มแรก จะตรวจพบภูมิคุ้มกันที่ต่ำมาก และแม้จะฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 แล้ว ก็ต้องรออีก 14 วัน ภูมิคุ้มกันในร่างกายจึงจะช่วยลดอาการป่วย

นอกจากนี้ วัคซีนโควิด-19 ทุกยี่ห้อที่มีการกระจายทั่วโลกขณะนี้ ช่วยลดอาการป่วยของโรค ไม่ให้ผู้ป่วยตาย แต่ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ

และที่สำคัญ ผู้ป่วยยังสามารถแพร่เชื้อได้

ทำอย่างไร หากไวรัสกลายพันธุ์
วัคซีนป้องกันสายพันธุ์อังกฤษ B117 ได้ไหม

วัคซีน ทำหน้าที่ลดอาการป่วยของโรค จึงมีประสิทธิภาพต่อเชื้อกลายพันธุ์เหมือนเดิม คือ “ลดอาการป่วยของโรค แต่ไม่ป้องกันการติดเชื้อ”

สำหรับเชื้อกลายพันธุ์ที่วงการแพทย์จับตาทั่วโลก 3 สายพันธุ์ คือ เชื้อกลายพันธุ์จากอังกฤษ แอฟริกาใต้ และบราซิล มีข้อมูลทางวิชาการยืรยันว่า เชื้อกลายพันธุ์มีผลทำให้การแพร่ระบาดของโรครวดเร็วขึ้น แต่ความรุนแรงของโรคเหมือนเดิม

ทำไมเรายังต้องฉีดวัคซีนโควิด -19
ต้องฉีดวัคซีนครอบคลุมแค่ไหน จึงจะพอ

ระยะที่ 1 เมื่อมีวัคซีนปริมาณจำกัด

  1. ลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโรคโควิด 19
  2. รักษาระบบสุขภาพของประเทศ       

ระยะที่ 2 เมื่อมีวัคซีนมากขึ้น และเพียงพอ

  1. เพื่อรักษาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ
  2. เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในระดับประชากรและฟื้นฟูให้ประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ          

ประชากรไทยควรได้รับวัคซีนเร็วที่สุด อย่างไร

ฉีดวัคซีน 10,000 คน/วัน 30 ปี ในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่
ฉีดวัคซีน 100,000 คน/วัน3 ปี ในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่
ฉีดวัคซีน 300,000 คน/วัน1 ปี สามารถยุติโรคร้ายได้

สงกรานต์ปีนี้ ต้องเตรียมตัวอย่างไร
ทำไมเราต้องกังวล?

หากเปรียบเทียบกับการระบาดรอบแรก ช่วงเวลามีนาคม – เมษายน 2563 ไทยมีผู้ติดเชื้อมากที่สุด 300 กว่าคน มีวันที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 188 คนต่อวัน ขณะที่การระบาดช่วงเวลาเดียวกันของปีนี้ พุ่งสูงมากกว่า 300 รายต่อวัน อัตราการระบาดมากกว่า 10 เท่าตัว

ช่วงการระบาดก่อนสงกรานต์ปี 2563 ไทยมีมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มข้น การล็อกดาวน์พื้นที่ การประกาศเคอร์ฟิว การห้ามขายสุรา การห้ามเดินทางข้ามจังหวัด แต่สงกรานต์ปี 2564 ศบค. ผ่อนผันมาตรการควบคุมโรคลงมา 10 เท่าตัว นั่นหมายความว่ามีโอกาสแพร่กระจายเชื้อเพิ่มขึ้น 100 เท่า

นอกจากนี้ ยังมีตัวแปรใหม่ ที่ต่างจากระลอกแรก นั่นคือการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์อังกฤษ ที่ทำให้การแพร่กระจายของเชื้อมากขึ้น 1.7 เท่า = โอกาสการแพร่กระจายเชื้อ 170 เท่าตัว

ที่สำคัญ การติดเชื้อระลอกใหม่ เกิดขึ้นในกลุ่มคนหนุ่มสาว ไม่แสดงอาการ แต่มีเชื้อไวรัสในร่างกายมาก โอกาสแพร่เชื้อให้ผู้สูงอายุจึงมีมากขึ้น


เราเรียนรู้อะไรจากการระบาดระลอกแรก?

The Active ชวนดู Data visualization ชุด โควิด-19 ทำให้เห็นอะไรในระบบสุขภาพไทย ?

Author

Alternative Text
AUTHOR

ฐิตินบ โกมลนิมิ

อดีตนักข่าวกระทรวงสาธารณสุข ผู้คลุกคลีในสนามข่าวสีแดงชายแดนใต้ เป็นทั้งนักมนุษยวิทยา นักสตรีศึกษา และนักสันติศึกษา ที่ใช้การเขียนเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์