โควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษ แพร่เชื้อง่ายขึ้น 1.7 เท่า หากหย่อนมาตรการ ความรุนแรงยิ่งทวีคูณ

‘นพ.ยง’ แจง ฉีดวัคซีนแล้ว ยังมีโอกาสติดโควิด-19 ได้ แต่ความรุนแรงของโรคจะลดน้อยลง ป้องกันการรักษาตัวในโรงพยาบาล และป้องกันการตาย ได้เกือบ 100 %

วันนี้ (7 เม.ย. 2564) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในระหว่างการแถลงของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อช่วงบ่ายว่า หากเปรียบเทียบสถานการณ์การระบาดปีนี้กับปีที่แล้ว ซึ่งมีผู้ป่วยไม่เกิน 3,000 คน และที่วันที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ 188 คน ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่กลับจากพิธีกรรมทางศาสนาจากอินโดนีเซีย และโดยเฉลี่ย ผู้ป่วยทั้งเดือนเมษายนของปีที่แล้ว อยู่ที่หลักสิบเท่านั้น

ขณะที่ปีนี้ การระบาดเริ่มขึ้นตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2563 จนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่ยุติลง และยังเกิดการระบาดซ้อนขึ้นมาอีกในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะกลุ่มสถานบันเทิง ซึ่งเหตุที่สถานบันเทิงมีการระบาดจำนวนมาก เพราะเป็นพื้นที่อับและอากาศปิด โดยมีหลักฐานทางวิชาการยืนยันว่า ถ้าอยู่ในสถานที่ปิด เชื้อก็ยังสามารถแพร่กระจายได้ทางอากาศ แม้ไม่ได้สัมผัสกัน

“ที่สำคัญ หลังจากการตรวจปริมาณไวรัสที่คอผู้ป่วยในครั้งนี้ พบจุดผิดสังเกตว่า ถึงแม้จะไม่มีอาการ แต่กลับมีปริมาณไวรัสที่ค่อนข้างสูงมาก จึงรีบทำตรวจแบบจำเพาะเลยว่าเป็นสายพันธุ์ไหน ซึ่งผลการตรวจผู้ป่วย 24 คน จากสถานบันเทิงทองหล่อ พบว่า เป็นสายพันธุ์อังกฤษทั้งหมด ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ได้รวดเร็วมาก และติดต่อกันง่ายมากกว่าสายพันธุ์ธรรมดา 1.7 เท่า”

ศ.นพ.ยง ระบุอีกว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์อังกฤษเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2563 และจากการที่สามารถแพร่กระจายเร็วมาก ทำให้ในยุโรปขณะนี้เกือบทั้งหมดเป็นสายพันธุ์อังกฤษ จนส่งผลให้ฝรั่งเศสและเยอรมนีเกิดระบาดระลอกที่ 3 และต้องกลับมาล็อกดาวน์ (Lockdown) กันใหม่อีกครั้ง ขณะที่อังกฤษซึ่งเป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนมากที่สุดในยุโรปในขณะนี้ พบว่าการพบเคสใหม่ในอังกฤษลดลงอย่างเห็นได้ชัด อัตราการตายก็ลดลงมากเมื่อเปรียบเทียบกับเยอรมนีและฝรั่งเศสที่ยังกังวลอาการข้างเคียงจากวัคซีน

ศ.นพ.ยง คาดการณ์ด้วยว่า การระบาดปีนี้จะมากกว่าปีที่แล้วประมาณ 10 เท่า แต่ขณะเดียวกันก็พบว่ามาตรการควบคุมโรคกลับน้อยกว่าปีที่แล้ว 10 เท่า ดังนั้น โอกาสที่เชื้อจะแพร่กระจายออกไปจึงมีมากถึง 100 เท่า และยิ่งเจอสายพันธุ์อังกฤษอีกที่แพร่ง่ายกว่า 1.7 เท่า ก็โอกาสที่จะรุนแรงกว่าปีที่แล้วมากถึง 170 เท่า หรือยิ่งทวีคูณ

นอกจากนี้ จากการคาดการณ์ความรุนแรงทำให้กังวลว่า ในช่วงสงกรานต์ที่หนุ่มสาวจะกลับไปหาพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่บ้าน ก็จะยิ่งนำเชื้อไปกระจายต่อผู้สูงอายุ ทำให้ปีนี้เป็นห่วงมาก การเคลื่อนย้ายประชากรจะยิ่งทำให้การแพร่กระจายโรคไปได้ไกล

“ขนาดสายพันธุ์อยู่อังกฤษ ยังหลุดเข้าในไทยได้ ซึ่งก็ยังสงสัยว่าหลุดเข้ามาได้อย่างไร ในเมื่อไทยมี SQ ก็ยังหลุดเข้ามาได้ จึงขอให้ลดการเคลื่อนย้ายหรือการเดินทาง แต่หากจำเป็นต้องไป ก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด”

ส่วนคำถามว่าการฉีดวัคซีนจะสามารถคุมสายพันธุ์อังกฤษได้ไหม ชี้แจงว่า สายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ทั่วโลกขณะนี้ที่ต้องระวัง มี 3 สายพันธุ์ คือ อังกฤษ แอฟริกาใต้ และบราซิล โดยเฉพาะสายพันธุ์อังกฤษที่แพร่กระจายได้เร็ว แต่วัคซีนยังมีประสิทธิภาพเหมือนเดิม ทำให้ความรุนแรงของโรคไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์อังกฤษ หรือสายพันธุ์อะไรก็ตาม ความรุนแรงของโรคก็ยังเหมือนเดิม เพียงแต่การแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น ดังนั้น คำตอบคือวัคซีนก็ยังมีประสิทธิภาพเหมือนเดิม

ส่วนที่หลายคนยังกลัวอาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน และทำให้ไม่กล้าฉีดนั้น ศ.นพ.ยง กล่าวว่า มีโอกาสที่ผู้ได้รับวัคซีนจะแพ้มีอยู่แล้วในวัคซีนทุกชนิด แต่ยืนยันว่าโอกาสที่จะเกิดอาการแพ้วัคซีนนั้นน้อยมาก อย่างกรณีที่กังวลเรื่องการเกิดลิ่มเลือดนั้น ก็มีโอกาสแค่ 1 คนจากผู้ได้รับวัคซีนระหว่างแสนถึงหนึ่งล้านโดส และส่วนใหญ่ผู้ที่มีอาการจะเป็นผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่า 55 ปี และยังเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเอสโตรเจน ขณะที่โอกาสที่จะเกิดในผู้ชายมีน้อยมาก

“เมื่อเปรียบเทียบผลดีของการฉีดวัคซีนแล้วป้องกันโรค มีประโยชน์มากกว่า จึงขอให้สบายใจในเรื่องอาการข้างเคียง อยากเห็นประชากรไทยได้รับวัคซีนเร็วที่สุด”

ส่วนที่มีคำถามว่า เมื่อได้รับวัคซีนเข็มที่แรกแล้วยังติดเชื้อนั้น ชี้แจงว่า วัคซีนช่วยลดอาการของโรคให้น้อยลง ป้องกันการนอนโรงพยาบาล และป้องกันการตายได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ คือ ยังมีโอกาสติดเชื้อได้ แต่อาการจะน้อยลง

ซึ่งหลังจากฉีดเข็มที่หนึ่งแล้ว ก็ขึ้นกับระดับภูมิต้านทาน โดยจากการศึกษาพบว่า เมื่อฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มแรกแล้ว ในช่วง 3 สัปดาห์ก่อนที่จะฉีดเข็มที่สอง พบว่า 2 ใน 3 ของคนไข้ที่ฉีดนั้น มีภูมิต้านทานโรคเกิดขึ้นแล้ว ทำให้เชื่อว่าหลังฉีดครบทั้ง 2 เข็มแล้ว เกือบทั้งหมดจะมีภูมิต้านทานเกิดขึ้น แต่ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจะป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สามารถป้องกันการนอนโรงพยาบาลหรือความรุนแรงของโรคได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ ภาพรวมผู้ได้รับวัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. ถึง 6 เม.ย. 2564 รวม 323,989 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 274,354 คน และเข็มที่ 2 จำนวน 49,635 คน ส่วนหากจำแนกเป็นกลุ่มต่าง ๆ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข และ อสม. ได้รับวัคซีนแล้ว

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว