“วัคซีน” ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของ “โควิด-19”

วัคซีนโควิด-19 ไวรัสกลายพันธุ์ ภูมิคุ้มกันหมู่ และโรคอุบัติใหม่ 4 ตัวแปรใหญ่ที่ต้องฝ่าไปพร้อม ๆ กับการปรับตัว ใต้จักรวาลโควิด-19

หนึ่งในความหวังของการฟื้นเศรษฐกิจ คือ การปูพรมฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ คำถามก็คือ “ต้องให้วัคซีนครอบคลุมแค่ไหน จึงจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นมาเพื่อควบคุมการระบาดได้” ขณะที่โจทย์ท้าทายของการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ยังไม่ไปถึงการป้องกันการติดเชื้อ ดังนั้น วัคซีน จึงอาจยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการเปิดประเทศ

ผู้ติดเชื้อโควิด-19 หนึ่งคน จะสามารถแพร่กระจายเชื้อไปยังบุคคลอื่นได้เฉลี่ยประมาณ 2-4 คน แต่ถ้ามีภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้น อัตราการติดเชื้อต่อจากผู้ป่วยคนแรก อาจต่ำกว่า 1 คน หรือ ติดเชื้อในอัตรา 1 ต่อ 1 โดยไม่สามารถแพร่เชื้อไปยังบุคคลที่ 3 หรือ 4 ได้ เพราะมีภูมิคุ้มกันแล้ว นี่คือหลักการที่ใช้ในการจัดการกับโรคติดต่อมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นโรคหัด โปลิโอ หรืออีกหลาย ๆ โรคที่ผ่านมา

สำหรับโควิด-19 แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ภูมิคุ้มกันหมู่สามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อประชากรราว 60 – 90% มีภูมิคุ้มกัน ไม่ว่าจะเกิดจากการที่เคยได้รับเชื้อมาก่อนแล้วหายดี หรือเกิดจากการได้รับวัคซีนก็ตาม

จากเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุขที่จะให้วัคซีน 50% ของประชากร ภายในปี 2564 จากการเริ่มฉีดวัคซีนระยะ 2 ของแอสตราเซเนกา จำนวน 61 ล้านโดส ตั้งแต่ มิ.ย. – ธ.ค. 2564 โดยคาดว่า วัคซีนโควิด-19 สามารถสร้างภูมิคุ้มกันอยู่ได้ 6 เดือนหลังฉีดเข็มแรก

นั่นหมายถึง คนที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกในเดือนมิถุนายน จะหมดภูมิราวเดือนพฤศจิกายน และเมื่อเริ่มทยอยฉีดวัคซีนให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ภูมิคุ้มกันก็จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นและทยอยหมดภายใน 6 เดือน นับจากการฉีดเข็มแรก โดยคาดการณ์ว่าเดือนพฤศจิกายนจะเป็นเดือนที่มีประชากรที่ได้รับวัคซีน และยังคงมีภูมิคุ้มกันจำนวนสูงที่สุดเกือบ 50% ตามเป้าหมาย

แต่หลังจากนั้นประชากรจำนวนหนึ่งจะมีภูมิคุ้มกันค่อย ๆ ลดลง ซึ่ง เป็นช่วงจังหวะเวลาที่ต้องฉีดวัคซีนซ้ำให้กับกลุ่มเดิม และขยายกลุ่มฉีดเพิ่ม เพื่อรักษาสัดส่วนผู้ได้รับวัคซีนในจำนวน 50% ตามเป้าหมาย และให้มีปริมาณของผู้ที่ได้รับวัคซีนเพิ่มมากขึ้นถึง 70% เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นได้ในช่วงปี 2565

ปัญหาก็คือ จนถึงตอนนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยาหลายคนเริ่มเป็นกังวลมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าโควิด-19 อาจไม่สามารถควบคุมหรือกำจัดได้ด้วยภูมิคุ้มกันหมู่

นพ.เฉวตสรร นามวาท ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กล่าวว่า วัคซีนโควิด-19 ที่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์วงการแพทย์ หากจัดลำดับเป้าหมาย 4 ระดับ จากง่ายที่สุดไปสู่ระดับยากที่สุด ประกอบด้วย ประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้เกิดอาการป่วยรุนแรง, ป้องกันไม่ให้เกิดอาการป่วยใด ๆ เลย, ป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อต่อ และสุดท้ายที่ยากที่สุด คือ ประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อ

“ประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ขณะนี้ เป็นเพียงการป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อมีอาการรุนแรง ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และเสียชีวิตเท่านั้น”

ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ก็ยอมรับว่า เรื่องการสร้างภูมิคุ้มกันจากวัคซีนโควิด-19 ที่มีอยู่ยังตัดสินได้ยาก เพราะว่าวัคซีนเวลานี้ เป็นการใช้ป้องกันการป่วย และยังไม่มีหลักฐานในการป้องกันเชื้อ แต่เป้าหมายของไทยก็คือจะพยายามฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด

จากคำยืนยันของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอาจสรุปได้ว่า วัคซีนที่มีอยู่ ดีต่อผู้ที่ได้รับวัคซีน แต่ไม่ดีพอสำหรับการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ นี่ยังไม่นับรวม ปัญหาโควิด-19 กลายพันธุ์ ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนเท่าที่มีอยู่ลดต่ำลงไปและลดทอนความพยายามสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

ดังนั้น ความหวังของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ คำตอบทั้งหมด จึงยังไม่ใช่วัคซีน แต่อย่างน้อยก็ช่วยสร้างความมั่นใจ มากกว่าการระบาดรอบแรกที่ต้องมีการล็อกดาวน์ และปิดเมือง​

เฝ้าระวังโควิด-19 กลายพันธุ์

ท่ามกลางบรรยากาศการฉีดวัคซีนเข็มแรกที่เริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์ และจะฉีดในประชาชนอย่างกว้างขวางมากขึ้น ครอบคลุมหลายกลุ่มเป้าหมายในระยะที่ 2 เดือนมิถุนายนนี้ แต่อาจเป็นไปได้ว่าวัคซีนที่มีอยู่ตอนนี้ อาจไม่เป็นผล หากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งนักวิจัยคาดว่าอาจเกิดขึ้นได้ในประเทศไทยช่วงปลายปีนี้

วิธีการเอาชีวิตรอดของไวรัส คือ การกลายพันธุ์ ปัจจุบัน โควิด-19 ที่ระบาดในประเทศไทยก็ไม่ใช่สายพันธุ์ดั้งเดิม จากต้นกำเนิดเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน แต่เป็นสายพันธุ์ G ที่แพร่ระบาดเข้ามาทางประเทศเมียนมา ขณะที่วัคซีนที่ผลิตและใช้อยู่ตอนนี้ วิจัยมาจากไวรัสสายพันธุ์เดิม แต่ยังใช้ได้ เพราะสายพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลงไปยังไม่มีอาการทางคลินิกที่แตกต่างหรือรุนแรง

แต่การกลายพันธุ์ที่แตกแยกย่อยมากขึ้นในระดับพื้นที่ เช่นสายพันธุ์อังกฤษ ก็เริ่มสร้างความกังวล และชัดเจนมากขึ้นเมื่อวัคซีนใช้ไม่ได้ผลกับโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ที่เริ่มพบการติดเชื้อซ้ำ

ในประเทศไทย นอกจากการควบคุมโรคด้วยวิธีการต่าง ๆ แล้ว ยังต้องเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ แม้เราจะเริ่มฉีดวัคซีนแล้วแต่

ศ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาฯ คาดการณ์ว่าโควิด-19 จะกลายพันธุ์ในประเทศไทยช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ ทั้งที่นำเข้าจากต่างประเทศ และสายพันธุ์ในประเทศที่เริ่มกลายพันธุ์ปรับตัวกับการมาของวัคซีน

สำหรับหญิงไทยคนแรก ที่ถอดรหัสพันธุกรรม การพบเชื้อโควิค 19 ที่เริ่มจากประเทศจีนในไทยครั้งแรก สุภาภรณ์ วัชรพฤกษาดี หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ รพ.จุฬาฯ ยังคงเดินหน้าเก็บข้อมูลและถอดรหัสพันธุกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากมนุษย์และสัตว์ป่า โดยเฉพาะค้างคาว ซึ่งนอกจากจะเป็นการเฝ้าระวังความเสี่ยงของโรคอุบัติใหม่ในอนาคต ยังเพื่อติดตามการกลายพันธุ์ โดยส่งต่อข้อมูลให้หน่วยวิจัยวัคซีนต้นแบบในประเทศได้พัฒนาวัคซีนตัวใหม่ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ

เตรียมพร้อมรับมือ “โรคอุบัติใหม่” ต่อจากโควิด-19

การเก็บข้อมูลเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ของศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาฯ ร่วมมือกับ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ใช้วิธีการเดินออกสำรวจค้างคาวมงกุฎทั่วประเทศ ซึ่งเป็นแหล่งรังโรคและต้นกำเนิดเชื้อโคโรนาไวรัส ซึ่งล่าสุดผลสำรวจพบรหัสพันธุกรรมเชื้อไวรัสโคโรนาจากค้างคาวไทย คล้ายกับเชื้อโควิค-19 ในคนถึง 91% แต่ยังไม่มีเซลล์ติดเชื้อได้ในคน

ย้อนไปเกือบ 20 ปีก่อนมีโรคโควิด-19 รศ.ประทีป ด้วงแค ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ความเสี่ยงจากการติดโรคจากสัตว์ป่า ทำให้นักวิจัยด้านวนศาสตร์ เฝ้ามองพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงของค้างคาว พบว่ามีจำนวนมูลที่ลดลงสวนทางกับประชากรที่ยังคงเท่าเดิม สะท้อนว่าสุขภาพของค้างคาวอ่อนแอลง และหมายความว่าไวรัสแข็งแรงมากขึ้น เมื่อค้นหาคำตอบว่าเหตุใดค้างคาว ขับถ่ายน้อยลง พบว่าเป็นผลมาจากสภาพอากาศ และน้ำฝนเฉลี่ยลดลงในรอบ 40 ปี รวมทั้งภัยแล้งและและอากาศร้อนจัดกว่าเดิม เหล่านี้เป็นปัจจัยเล็ก ๆ แต่เป็นส่วนประกอบสำคัญให้ทำนายถึงโรคอุบัติใหม่ในอนาคต

งานวิจัยทั่วโลกระบุว่า แนวโน้มโรคอุบัติใหม่ 60% เป็นโรคจากสัตว์สู่คน และ 71.8% ของโรคอุบัติใหม่เป็นโรคมาจากสัตว์ป่า ทั้งยังมีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต โดยปัจจัยเสี่ยงมาทั้งจากการล่าสัตว์ การบุกรุกป่าทำลายที่อยู่อาศัย และภัยธรรมชาติ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้เห็นความถี่ของการเกิดโรคอุบัติใหม่ในระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้น โดยมีการคาดการณ์ล่าสุดว่า หลังมนุษย์สามารถรับมือกับโควิด-19 ได้แล้ว อีก 5 ปีโดยเฉลี่ย ก็อาจจะพบโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นซ้ำ

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์