ย้อนเส้นทางแผนจัดหา “วัคซีน” ศบค. สู่ วันส่งมอบแบบ​ “เบี้ยหัวแตก”

“แพทย์ชนบท” เผย การจัดสรรวัคซีนโควิด-19 เดือน มิ.ย. จะขาดแคลนหนักในช่วงต้นเดือน และขาดแคลนน้อยในช่วงปลายเดือน ชี้เดือน ก.ค. จะปิดฉากขาดแคลนวัคซีนได้

นับตั้งแต่วันที่ประเทศไทย ยืนยันพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกเป็นหญิงชาวจีนเดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 ถือเป็นจุดเปลี่ยนให้ไทยเข้าสู่การระบาดรอบแรกไปพร้อม ๆ กับอีกหลายประเทศทั่วโลก​ 

จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากในกลางเดือนมีนาคม 2563 จากการแพร่เชื้อของหลายกลุ่ม ซึ่งกลุ่มใหญ่สุดเกิดขึ้นในการแข่งขันชกมวยไทย สนามมวยเวทีลุมพินี เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 ผู้ป่วยยืนยันเพิ่มเกิน 100 คนต่อวัน ในอีก 1 สัปดาห์ต่อมา​ ประเทศไทยจึงนับเข้าสู่การระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกนำมาสู่มาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มข้น ล็อกดาวน์ ปิดประเทศ ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และงดวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ จนสามารถควบคุมเชื้อได้ ผู้ติดเชื้อกลายเป็น 0 ในเดือนมิถุนายนติดต่อกันเป็นเวลา 100 วัน 

วันที่ 24​ ตุลาคม​ 2563​ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ 3 แนวทางในการเร่งจัดหาวัคซีนโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้อโดยตรง การร่วมผลิต หรือ การวิจัยและพัฒนาเอง

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ที่ประชุมมีมติอนุมัติงบประมาณกว่า 6 พันล้านบาทสำหรับสั่งจองซื้อวัคซีนโควิด-19 จากบริษัท แอสตร้า เซนเนกา จำกัด ล็อตแรกจำนวน 26 ล้านโดส และล็อตสอง จำนวน 35 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดสโดยใช้โรงงานบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นฐานการผลิตในประเทศไทย แล้วจะส่งมอบในเดือนมิถุนายน 2564

“นพ.นคร เปรมศรี” ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ระบุในขณะนั้นว่า ไทยมีเป้าหมายฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชนให้ได้สูงสุดครึ่งหนึ่งของประชากรหรือ 50%ในปี​ 2564 และสูงสุด 70% ในปี 2565 ซึ่งน่าจะเพียงพอสำหรับบรรลุเป้าหมายภูมิคุ้มกันหมู่​สกัดการแพร่ระบาด

แต่ยังไม่ทันที่จะถึงกำหนดส่งมอบวัคซีนแอสตราเซเนกาในเดือนมิถุนายน การระบาดรอบที่ 2 จากตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร ก็เริ่มต้นขึ้น เดือน ธันวาคม 2563​ ผู้ติดเชื้อค่อยๆ พุ่งสูงขึ้นหลายร้อยกระจายไปหลายจังหวัด งดจัดเทศกาลปีใหม่ 

การระบาดรอบนี้เป็นครั้งแรกที่รัฐตัดสินใจ สั่งซื้อวัคซีนแบบฉุกเฉินได้เจรจาแบบเร่งด่วนได้ “ซิโนแวค” จากประเทศจีน เข้ามา​ 2 ล้านโดส ทยอยส่งมอบล็อตแรก 2 แสนโดสเมื่อ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า และตัดวงจรระบาด ในจังหวัดสมุทรสาคร  

การระบาดรอบที่ 2 ยังไม่ทันสงบลง การระบาดรอบที่ 3 ก็เริ่มต้นขึ้นในเดือนเมษายน 2564 ที่กรุงเทพมหานคร จากกลุ่มการแพร่เชื้อสถานบันเทิงย่านทองหล่อ เป็นการระบาดที่หนักกว่าทุกระลอกที่ผ่านมา เพราะเป็นโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษที่แพร่เชื้อง่าย ขณะที่มาตรการควบคุมโรคของรัฐ ก็ผ่อนปรนกว่าทุกครั้ง เนื่องจากไม่สามารถแบกรับผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ ทำให้ผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น เป็นหลักพันคนต่อวัน 

วันที่ 28 เมษายน 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศปรับเป้าหมายการฉีดวัคซีน จาก 50% ของประชากร เป็น 70% ของประชากรภายในปี 2564 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ขณะเดียวกันให้มีสัดส่วนมาจากวัคซีนทางเลือกที่มาจากภาคเอกชน

วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 กระทรวงสาธารณสุขเปิดให้ลงทะเบียน “หมอพร้อม” เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายแรกคือผู้สูงอายุ และ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง จองคิววัคซีนแอสตราเซเนกา ที่จะส่งมอบตามสัญญาล็อตแรก 6 ล้านโดส เดือนมิถุนายน 2564 พร้อมกับดีเดย์วันฉีดวัคซีนทั้งประเทศ มิถุนายน 2564 แต่หลังเปิดให้ลงทะเบียนอยู่ 26 วัน ก็ต้องปิดลงทะเบียน เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนของวันและจำนวนการส่งมอบวัคซีน

จนกระทั่ง 2 มิถุนายน 2564 มีการส่งมอบวัคซีนแอสตราเซเนกางวดที่ 1 เดือนมิถุนายนจำนวน 2.4 แสนโดสจากโรงงานผลิตของสยามไบโอไซเอนซ์ และตามมาด้วยการส่งมอบงวด 2 จำนวน 1.8 ล้านโดสในวันที่ 4 มิถุนายน 2564 

ขณะที่หลายโรงพยาบาลที่เป็นศูนย์ฉีดวัคซีน ประกาศทยอยเลื่อนฉีดจากวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ออกไป เนื่องจากได้รับจัดสรรวัคซีนน้อยไม่เพียงพอกับจำนวนคนลงทะเบียน การส่งมอบวัคซีนแบบเบี้ยหัวแตกที่แบ่งออกเป็น 4 งวด ยังไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด รวมถึงการส่งมอบเดือนกรกฎาคม 2564 จะส่งมอบจำนวนเท่าใด ทำให้ไม่สามารถวางแผนการฉีดวัคซีน กับคนจำนวนมากได้อย่างแม่นยำ 

ข้อกล่าวหา “แทงม้าตัวเดียว” กับการคุมโรคระบาดที่มักมีมากกว่า 1 ระลอก

ผลกระทบจากแผนการฉีดวัคซีนของรัฐบาล ที่ยังไม่ทั่วถึง และยังมีความสับสน ย้อนไปก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564 “นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า จุดประเด็นวิจารณ์ถึงนโยบายการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ ว่าล่าช้าและตั้งคำถามถึงแนวทางการจัดหาวัคซีนแบบ “แทงม้าตัวเดียว” จากบริษัท แอสตราเซเนกา ขณะเดียวกันก็ไม่มีแผนบริหารจัดการความเสี่ยง หรือแผนสำรอง หากบริษัทแอสตราเซเนกาไม่สามารถส่งมอบวัคซีนได้ทันกำหนด

ขณะที่ ล่าสุด “นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เห็นว่าแผนการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลล่าช้าเกินไปและไม่ทันสถานการณ์ โดยหลักการแล้วควรจะทราบว่าโรคระบาด ที่มีการระบาดใหญ่ จะเกิดขึ้นหลายรอบ เมื่อสามารถคุมการระบาดรอบแรกได้แล้ว ก็ควรมีการเตรียมการเรื่องวัคซีนให้รวดเร็วและครอบคลุม การปรับเปลี่ยนแผนวัคซีนของรัฐบาลในหลายครั้งที่ผ่านมา สะท้อนวิสัยทัศน์ การจัดหาวัคซีนไม่สามารถรับมือสถานการณ์ได้ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม 

ด้าน  “ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร” หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มองว่าในระหว่างที่วัคซีนมีจำกัดยุทธศาสตร์การกระจายวัคซีนในสถานการณ์การระบาดตอนนี้โดยเฉพาะวัคซีนแอสตราเซเนกา ซึ่งมีประสิทธิภาพมากพอที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้อย่างรวดเร็วควรจะทุ่มไปที่พื้นที่การระบาดหนักสีแดงเข้ม 4 จังหวัด โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ถอดบทเรียนประเทศอังกฤษที่ปูพรมฉีดแอสตราเซเนกาเข็มแรกไปในสัดส่วนประชากร 20-25% พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงถึง 80% หากกรุงเทพมหานครใช้บทเรียนเดียวกันก็จะสามารถควบคุมการระบาดได้ 

หากรัฐบาลดำเนินการตามยุทธศาสตร์ทุ่มวัคซีนแอสตราเซเนกาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ก็อาจต้องยอมรับว่าพื้นที่ต่างจังหวัด อาจจะต้องชะลอเลื่อนส่งวัคซีนแอสตราเซเนกาไปก่อน ดีกว่าส่งมอบให้ทุกจังหวัดแบบเบี้ยหัวแตก ซึ่งก็ต้องเลื่อนฉีดวัคซีนอยู่ดี 

ชมรมแพทย์ชนบท เผย 58 จว.รับแอสตราเซเนกาเฉลี่ย 3,600 โดสในล็อต 2.4 แสนโดสจากเกาหลีใต้

ในที่สุดข้อมูลการจัดสรรวัคซีนก็มีความชัดเจนขึ้นมาบ้าง แต่ในทางปฏิบัตินั้นโรงพยาบาลก็ยังมีความสับสนอยู่ดี เพราะประเด็นสำคัญยังไม่ได้ถูกสื่อสารให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ “เพจชมรมแพทย์ชนบท”ระบุถึง ปัญหาจัดสรรวัคซีนโควิด-10 เดือน มิ.ย.

“เดือนมิถุนายนแห่งความโกลาหล การกระจายวัคซีนจะแบ่งเป็นสองระยะ คือระยะขาดแคลนหนักในช่วงต้นเดือน และระยะขาดแคลนน้อยในช่วงปลายเดือน”

การจัดสรรวัคซีน “แอสตราเซเนกา” งวดที่ 1 และ 2 เดือน มิ.ย.2564

วันที่จำนวนวัคซีนส่งมอบ
(หน่วย: โดส)
จำนวน
จังหวัด
เฉลี่ยจังหวัดละ
(หน่วย: โดส)
2 มิ.ย. 64 240,000 58 3,600
4 มิ.ย. 641,000,000กทม.1,000,000

800,000 18 44,444
รวม2,040,000 77
ที่มา: ชมรมแพทย์ชนบท

58 จังหวัดทั่วไทย จะได้รับการจัดสรรวัคซีนแอสตราเซเนกา ที่ผลิตจากประเทศเกาหลีที่สั่งซื้อมาเป็นพิเศษ 240,000 โดส โดยจัดสรรเท่าๆ กันไม่ว่าจังหวัดเล็กใหญ่ จังหวัดละ 360 ขวด หรือ 3,600 โดส รวมจัดสรรไป 208,800 โดส  เหลือ 31,200 โดสเอาไปสมทบฉีดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

19 จังหวัดภาคกลาง ภาคตะวันออก และ กทม. กล่าวคือ เขต 4 จังหวัดปทุมธานีนนทบุรี อยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง เขต 5 จังหวัดกาญจนบุรีนครปฐม เพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เขต 6 จังหวัดฉะเชิงเทราชลบุรี ปราจีนบุรี ระยอง สมุทรปราการ และเขต 13 กรุงเทพมหานคร จะได้รับการจัดสรรวัคซีนแอสตราเซเนกาที่ผลิตจากสยามไบโอไซเอนซ์ จำนวนรวม 1.8 ล้านโดส โดยจัดให้กับกรุงเทพมหานครมากที่สุดจำนวน 1 ล้านโดส และจัดให้อีก 18 จังหวัด จำนวน 8 แสนโดส (เฉลี่ยจังหวัดละ 44,444 โดส) เพื่อเน้นในการควบคุมการระบาด

การส่งมอบวัคซีน “แอสตราเซเนกา” เดือน มิ.ย. 2564

วันที่ วัคซีน จำนวน
งวดที่ 1 2 มิ.ย. 64แอสตราเซเนกา2.4 แสนโดส*
3 มิ.ย. 64 ซิโนแวค 7 แสนโดส
งวดที่ 24 มิ.ย. 64แอสตราเซเนกา1.8 ล้านโดส
งวดที่ 3กลาง มิ.ย. 64แอสตราเซเนกา 2 ล้านโดส**
งวดที่ 4ปลาย มิ.ย. 64แอสตราเซเนกา 2 ล้านโดส**
รวมแอสตราเซเนกา 6 ล้านโดส**
ที่มา: กรมควบคุมโรค

หมายเหตุ *  จากเกาหลีใต้  
** โดยประมาณ 

สำหรับรอบจัดสรรวัคซีน “แอสตราเซเนกา” จะมีอีกรอบในช่วงกลางและปลายเดือนมิถุนายน  คาดว่าจะได้มารวมเป็น 2-3 ล้านโดส รวมเป็น 4-5 ล้านโดส และเดือนถัดไปจะมาตามสัญญาเดือนละ 10 ล้านโดส ปิดฉากความโกลาหลการขาดแคลนวัคซีนลงไป

ส่วนวัคซีน “ซิโนแวค” ในวันนี้ (4 มิ.ย.2564) ยังไปไม่ถึงโรงพยาบาล แต่ทาง สธ. ยืนยันว่า ถึงทันเวลาแน่นอน รวม 7.5 แสนโดสก่อน เพื่อเอาไว้ชดเชยในส่วนของวัคซีนแอสตราเซเนกาที่มีไม่พอตามจำนวนที่ได้ลงทะเบียนจองไว้

สำหรับวัคซีนซิโนฟาร์ม 1 ล้านโดสที่จะเข้ามาปลายเดือนมิถุนายนนั้น มีข่าวที่เชื่อว่าจริงแต่ไม่ค่อยจะดีสักเท่าไหร่  นั่นคือทางการจีนจะจัดส่งวัคซีนให้ไทยรวมทุกยี่ห้อเดือนละ 3 ล้านโดส หากไทยนำเข้าซิโนฟาร์ม 1 ล้านโดส ก็จะได้ซิโนแวคเพียง 2 ล้านโดส ไม่ใช่ได้ซิโนแวค 3 ล้านโดสตามที่รัฐบาลเคยแจ้งไว้เพราะทางการจีนจะต้องกระจายวัคซีนไปให้ประเทศอื่น ๆ ด้วย ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็แปลว่าจะขาดวัคซีนฟรีในระบบไปอีก 1 ล้านโดส

นอกจากนี้ ซิโนแวคที่ว่าแพง ราคาอยู่ที่โดสละ 15 USD  (ในขณะที่แอสตราเซเนการาคาโดสละ 5 USD) แต่วัคซีนซิโนฟาร์มราคาสูงถึงโดสละ 30 USD  จึงกลายเป็นว่า เราต้องใช้เงินมากขึ้นในการจ่ายค่าวัคซีน โดยที่ประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนฟาร์มนั้นดีกว่าซิโนแวคเพียงเล็กน้อย และวัคซีนทั้งสองชนิดก็เป็นวัคซีนเชื้อตายเหมือนกัน 

“จะอย่างไรเสีย จีนก็จะส่งวัคซีนให้ประเทศไทยที่เดือนละ 3 ล้านโดสเท่าเดิมไม่ว่าจะซื้อซิโนแวคหรือซิโนฟาร์ม แบบนี้เราซื้อแต่ซิโนแวคไม่ดีกว่าหรือ”

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS