เปิดแผนกระจายวัคซีน “แอสตราเซเนกา” ล็อตแรกเดือน มิ.ย. นี้

“กรมควบคุมโรค” เผย แบ่งส่งมอบวัคซีนเป็น 4 งวด ทุ่ม กทม. 1 ล้านโดส ตัดวงจรระบาด ด้าน “สถาบันวัคซีนฯ​” ยันเป้าจัดหาวัคซีนทั้งปี 64 เกิน 100 ล้านโดส คาดไฟเซอร์ – จอนห์สันแอนด์จอนสัน ส่งมอบปลายปี 

หลังลุ้นมาตลอดสัปดาห์ ในที่สุด 2 มิ.ย. 2564 บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ก็ได้ทยอยส่งมอบวัคซีนล็อตแรกที่ผลิตจากศูนย์การผลิตวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ของ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด จำนวน 1.8 ล้านโดส โดยจะกระจายวัคซีน และเริ่มฉีดพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 7 มิ.ย. นี้

“นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยผ่านการบรรยาสรุปสำหรับนักข่าวไทย เรื่องการกระจายวัคซีนในประเทศไทย จัดโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ในเดือนมิถุนายน การส่งมอบวัคซีนจากแอสตราเซเนกาจะแบ่งเป็น 4 งวด และซิโนแวค 1 งวด โดยโรงพยาบาลแต่ละแห่งก็จะได้รับเป็นงวด ๆ เช่นกัน

วันที่ วัคซีน จำนวน
งวดที่ 1 2 มิ.ย. 64แอสตราเซเนกา2.4 แสนโดส
3 มิ.ย. 64ซิโนแวค7 แสนโดส
งวดที่ 24 มิ.ย. 64แอสตราเซเนกา1.8 ล้านโดส
งวดที่ 3กลาง มิ.ย. 64แอสตราเซเนกา2 ล้านโดส*
งวดที่ 4ปลาย มิ.ย. 64แอสตราเซเนกา2 ล้านโดส*
*หมายเหตุ​ จำนวนโดยประมาณ​

โดยในกรุงเทพมหานครจะได้รับวัคซีนมากกว่าต่างจังหวัด เพราะประชากรมากและมีผู้ติดเชื้อสูง เฉพาะเดือน มิ.ย. กระทรวงสาธารณสุขจะจัดสรรวัคซีนให้กรุงเทพมหานครจำนวน 1 ล้านโดส แบ่งเป็น 2 สัปดาห์แรก 500,000 โดส และ 2 สัปดาห์หลังอีก 500,000 โดส 

“ทั้งนี้ ยืนยันว่าจะได้รับวัคซีนครบทุกจังหวัดภายใน 4-6 เดือน สำหรับการฉีดวัคซีนยึดตามหลักข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และสาธารณสุข” 

สถาบันวัคซีนฯ​ ย้ำ เป้าจัดหาวัคซีนทั้งปี 64 เกิน 100 ล้านโดส 

“นพ.นคร เปรมศรี” ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ตามนโยบายประเทศไทยจะจัดหาวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดส ครอบคลุม 70% ของประชากรภายในปี 2564 ขณะนี้จัดหาแล้วคือวัคซีนแอสตราเซเนกา 61 ล้านโดส เนื่องจากอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงเป็นการผลิตไปส่งมอบไป โดยจะมีการเจรจาการส่งมอบและจัดสรรอย่างต่อเนื่องในแต่ละเดือน และซิโนแวคตั้งเป้าจัดหา 10-15 ล้านโดส ขณะนี้ส่งมอบแล้ว 6 ล้านโดส ที่เหลือจะทยอยส่งมอบประมาณเดือนละ 3 ล้านโดส และได้รับบริจาคจากรัฐบาลจีนอีก 1 ล้านโดส 

ส่วนวัคซีนของไฟเซอร์และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน อยู่ระหว่างเจรจาเงื่อนไขในสัญญา โดยไฟเซอร์คาดว่าจัดหาให้ได้ 20 ล้านโดส ภายในไตรมาส 3 และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน 5 ล้านโดสภายในไตรมาส 4 ปี 2564 หากรวมวัคซีนทั้งหมดคาดว่าเกิน 100 ล้านโดส

“นพ.นคร” กล่าวชี้แจงถึงกรณีมีการเปรียบเทียบราคาวัคซีนที่ประเทศไทยจัดซื้อสูงกว่าบางประเทศว่า ยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกา ให้งบฯ สนับสนุนไปตอนเริ่มทำวิจัยวัคซีนแอสตราเซเนกา จำนวน 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และทำสัญญาระบุว่า หากวิจัยวัคซีนสำเร็จให้ส่งมอบให้ 300 ล้านโดส จึงได้ในราคาที่ถูกกว่า ในขณะที่วัคซีนซิโนแวค ราคาก็จะขึ้นอยู่แต่ละช่วงเวลาที่มีความแตกต่างกัน

สปสช. จ่ายชดเชยผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนแล้ว 150 ราย 

“นพ.จเด็จ  ธรรมธัชอารี” เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช. สนับสนุนค่าบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งในและนอกโรงพยาบาล และเตรียมงบประมาณสำหรับค่าเสียหายเบื้องต้นจากอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ไม่ต้องรอการตรวจสอบ โดยผู้เสียหายสามารถยื่นเรื่องมาที่ สปสช. จะมีคณะกรรมการพิจารณาให้แล้วเสร็จใน 5 วัน 

ทั้งนี้ ไม่มีการกำหนดลักษณะอาการไม่พึงประสงค์ หากสงสัยว่ามีอาการเกี่ยวข้องกับวัคซีนสามารถยื่นเรื่องได้ หรือปรึกษากับแพทย์ หากเกี่ยวกับวัคซีนแพทย์จะช่วยดำเนินการยื่นเรื่องเยียวยา โดยหลังเปิดยื่นเรื่องมา 2 สัปดาห์ รับเรื่องแล้ว 250 ราย ชดเชยแล้ว 150 ราย อาการไม่พึงประสงค์ส่วนใหญ่คือ การนอนโรงพยาบาล ส่วนใหญ่มีอาการชา คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ส่วนคนที่มีประกันเอกชนสามารถยื่นเรื่องได้เช่นกัน

WHO ตั้งชื้อสายพันธุ์โควิด-19 ใหม่ เลิกเรียกชื่อตามประเทศ

“ดร.ชุมยา สวามินาธาน” หัวหน้านักวิทยาศาสตร์องค์การอนามัยโลก เป็นห่วงเรื่องการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ที่จะต้องมีการทดลองวิจัยวัคซีนต้นแบบอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการกลายพันธุ์ ซึ่งปัจจุบันวัคซีนยังสามารถป้องกันอาการเจ็บป่วยรุนแรงได้ โดยสายพันธุ์ที่อยู่ในความสนใจตอนนี้มี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์อังกฤษ, สายพันธุ์แอฟริกาใต้, สายพันธุ์บลาซิล และสายพันธุ์อินเดีย ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกต้องการจะเปลี่ยนชื่อสายพันธุ์จากชื่อประเทศ เป็นชื่ออื่น เพื่อลดการตีตรา เช่น สายพันธุ์อังกฤษ หรือ B 1.1.7 จะเรียกชื่อใหม่ว่าสายพันธุ์อัลฟ่า สายพันธุ์บลาซิล หรือ P. 1 จะเรียกชื่อใหม่ว่าสายพันธุ์แกมม่า เป็นต้น 

ขณะที่ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนไปแล้วถึง 1,870 ล้านโดส ประเทศที่ฉีดมากที่สุดตอนนี้ คือ ประเทศจีน 621 ล้านโดส รองลงมา คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา 295 ล้านโดส อินเดีย, บราซิล, อังกฤษ ตามลำดับ เป็นต้น

เมื่อดูอันดับยี่ห้อวัคซีนที่ถูกฉีดมากที่สุดอันดับ 1 แอสตราเซเนกา อันดับ 2 ไฟเซอร์ อันดับ 3 ซิโนฟาร์ม และโมเดอร์นา สปุตนิกวี  Janssen และ ซิโนแวค เป็นอันดับที่ 7​

สำหรับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกในการฉีดวัคซีน คือ เน้นที่ผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรังเป็นหลัก ในขณะเดียวกันยังคงอยู่ระหว่างศึกษาการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เพื่อตัดวงจรการระบาด ทั้งนี้ ยังแนะนำให้การฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 เป็นยี่ห้อเดียวกับเข็มแรก ส่วนเมื่อฉีดวัคซีนครบแล้วในแต่ละยี่ห้อ จะสร้างภูมิคุ้มกันอยู่ได้นานเท่าไรนั้น แต่ละบริษัทวัคซีนกำลังทำการวิจัยด้วยตนเอง ซึ่งเข็มแรกที่ฉีดไปก็เมื่อ 6 เดือนที่แล้วยังใช้ระยะเวลาในการวิจัย ต้องใช้เวลามากกว่านี้

“นพ.เดเนียล เคอร์เทสซ์” ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ระบุว่าแอสตราเซเนกา และซิโนแวคที่ไทยนำเข้า มีความปลอดภัยสูงช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้ 100% อยากเชิญชวนให้ประชาชนชาวไทยออกมาฉีดวัคซีนกันให้มาก ๆ พร้อมแนะนำให้จัดลำดับความสำคัญในการฉีดวัคซีนโดยเน้นผู้สูงอายุ เพราะคนเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงมาก ยกตัวอย่างเช่นประเทศแคนาดาซึ่งเกิดระบาดรอบสอง รอบสาม แต่อัตราการป่วยและเสียชีวิตที่รุนแรงก็ลดลงจากยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีน แบ่งตามกลุ่มอายุประชากร

นอกจากนี้ สื่อมวลชนมีความสำคัญช่วยควบคุมโรคและส่งเสริมให้ประชาชนเข้ารับวัคซีน ด้วยการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชนให้เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ประเมินความเสี่ยงตัวเองได้ว่าอยู่กลุ่มไหน ควรทำอะไรอย่างไร เพราะไม่ใช่แค่วัคซีนที่ป้องกันการเสียชีวิตได้ การให้ข้อมูลที่ถูกต้องจะป้องกันการเสียชีวิตได้ด้วย และย้ำว่าแม้ฉีดวัคซีนแล้วการ์ดอย่าตก ยังต้องใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างเหมือนเดิม

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS