ภาพฝัน หลักประกันรายได้เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ เป็นแบบไหน?

ถอดแนวทาง 5 เสาหลักค้ำจุนสังคมสูงวัยสมบูรณ์ จากเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 l 16 ธ.ค.65

เวทีสาธารณะหัวข้อ “หลักประกันรายได้ของทุกเมื่อสูงวัย ประเทศไทย พร้อมหรือยัง?” ระดมความเห็นจากตัวแทนภาครัฐ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม ต่อร่างมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 (ร่าง 2) เรื่อง “หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ” ก่อนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย” ระหว่างวันที่ 21-22 ธ.ค.65 รวมถึงภาพฝันในการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตั้งแต่ครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน ให้เป็นจริงได้อย่างไร

“ระบบที่สร้างความมั่นคงทางรายได้เมื่อสูงวัย ควรจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร? ”

คำถามเปิดประเด็นวงสนทนาจาก นพ.สมศักดิ์  ชุณหรัศมิ์ ประธานกรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) เนื่องจากในอดีตเมื่อพูดถึงเรื่องรายได้ผู้สูงอายุ คนหลายคนอาจนึกถึงระบบบำนาญ แต่เมื่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในหลายกลุ่มวัย หลากสถานะ พบว่า หลักประกันทางรายได้ของแต่ละคนมีมากกว่า 1 มิติ

“ถ้าพูดถึงประเด็นหลักประกันรายได้เมื่อเข้าสู่ช่วงสูงวัย ยังรวมถึงรายจ่ายด้วย เพราะฉะนั้นแค่พัฒนาระบบบำนาญยังไม่พอ ถ้าเราจะเรียกร้องให้รัฐเข้ามาดูแลให้ทุกคนมีความมั่นคงตามสมควร เราจะคิดอย่างไร มีมติแล้วจะทำอย่างไรอยากชวนสังคมช่วยกันทำให้เกิดขึ้น”

นพ.สมศักดิ์  ชุณหรัศมิ์

แม้ที่ผ่านมาสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) จะเคยออกคำเตือนถึง “สังคมไทยแก่ก่อนรวย” เมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ในปี 2565 แต่ นพ.สมศักดิ์ มองว่า ประเด็นหลักประกันทางรายได้เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ประเทศที่รวยก่อนแก่ก็ยังต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย ในยุโรปเมื่อประเทศพัฒนาไปครอบครัวก็จะอ่อนแอลง รัฐมีหน้าที่คอยดูแลทำหน้าที่แทนครอบครัว การทำระบบสวัสดิการที่นอกเหนือจากระบบบำนาญ ก็เป็นหน้าที่ของรัฐด้วยเช่นกัน คอยดูว่าประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างไร และหนึ่งในนั้นคือความมั่นคงทางรายได้ ดังนั้นเพื่อการเรียกร้องให้ทุกคนเข้าถึงระบบหลักประกันรายได้ตามสมควร นักวิชาการจึงได้แบ่งเป็น 5 เสาหลักด้วยกัน เพื่อเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา แต่ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือเวทีในวันนี้ ที่ชวนให้สังคมช่วยกันทำให้เกิดขึ้น ไม่ใช่พูดแค่กับรัฐบาล หรือนักการเมืองเท่านั้น

สำหรับกรอบทิศทางนโยบาย (Policy Statement) หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ หรือ 5 เสาหลัก ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบและต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน ได้แก่

การพัฒนาผลิตภาพประชากร การมีงานทำ และ มีรายได้จากการทำงานที่เหมาะสมตลอดช่วงวัย โดยการสนับสนุนให้เกิดการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิต เชื่อมโยงการศึกษาเข้ากับการทำงานและการฝึกอบรมในสถานประกอบการ  มีระบบเพิ่มเติมทักษะ (Up-skills) หรือเปลี่ยนทักษะ (Re-skills) ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ มีตลาดแรงงานรองรับ รวมทั้งส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่  ปรับทัศนคติเรื่องการจ้างงานผู้สูงอายุ และส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำ เป็นผู้ที่มีพฤฒพลัง (Active ageing) ทำประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม 


การออมระยะยาวเพื่อยามชราภาพที่เชื่อมโยงทั้งการออมของปัจเจกบุคคลและการออมรวมหมู่ ที่ครอบคลุม เพียงพอ และยั่งยืน
โดยมีเป้าหมายคือ “สูงวัยแล้วปลอดหนี้ เกษียณแล้วมีเงินเก็บ”  โดยสนับสนุนให้มีการเรียนรู้ด้านวินัยการเงินการคลัง การลดรายจ่าย การลงทุน และความรู้ด้านการออมในทุกช่วงวัย สนับสนุนให้เกิดการออมภาคสมัครใจที่มีแรงจูงใจสูง ควบคู่กับการพัฒนาระบบการออมภาคบังคับที่ทำให้ทุกคนเข้าใจตั้งแต่วัยทำงาน  และเปิดโอกาสให้มีทางเลือกได้อย่างเหมาะสม และมีการเชื่อมโยงการออมของปัจเจกบุคคลกับการออมรวมหมู่ทั้งที่เป็นการออมผ่านระบบกองทุนของรัฐ ดังที่มีกองทุนประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติเป็นระบบที่มีอยู่ในปัจจุบัน  ระบบกองทุนของเอกชนที่มีระบบภาษีเกื้อหนุนให้ภาคเอกชนจัดสวัสดิการเงินออมเพิ่มเพื่อยามเกษียณให้กับพนักงาน  หรือระบบกองทุนชุมชนรวมทั้งการออมที่หักจากค่าใช้จ่ายสินค้าและบริการในชีวิตประจำวันมาเป็นหลักประกันรายได้ยามชราภาพ

เงินอุดหนุนและบริการสังคมที่จำเป็นจากรัฐ ด้วยการพัฒนาสิทธิประโยชน์บำนาญชราภาพของกองทุนต่าง ๆ ในระบบของรัฐ  และเชื่อมต่อกันเป็น “ระบบบำนาญแห่งชาติแบบหลายชั้น” ซึ่งประกอบด้วย บำนาญชั้นที่ 1 การมีบำนาญพื้นฐานรายเดือนที่เพียงพอต่อการดำรงชีพที่ผู้สูงอายุทุกคนได้รับ ที่คำนึงถึงเส้นความยากจนเพื่อเป็นโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคมที่รองรับสำหรับทุกคน บำนาญชั้นที่ 2 เมื่อประชาชนเข้าสู่วัยทำงานมีรายได้ ทั้งที่เป็นแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ รัฐมีระบบส่งเสริมการออมภาคบังคับ โดยเป็นการสะสมเงินเข้ากองทุนและรัฐร่วมสมทบ และบำนาญชั้นที่ 3 เสริมความมั่นคงในชีวิตด้วยการออมเพิ่มเติมโดยประชาชนเอง ซึ่งเป็นการออมภาคสมัครใจ รวมทั้งมีการจัดบริการสังคมที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางภายใต้สถานการณ์ค่าครองชีพสูง อาทิ  ค่าอาหาร ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น

การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพโดยเฉพาะบริการสุขภาพระยะยาว (Long-term care) เพื่อเป็นการลดรายจ่ายด้านสุขภาพของปัจเจกบุคคลและครัวเรือน ด้วยการเพิ่มคุณภาพระบบบริการสุขภาพแบบปฐมภูมิให้มีบริการใกล้บ้านทั่วถึง พัฒนาสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพของทั้ง ๓ กองทุนให้มีมาตรฐานและการบริหารจัดการเดียวกัน รวมทั้งการพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชนที่ครอบคลุมทั้งบริการสุขภาพและบริการสังคม โดยจัดให้มีการพัฒนาทักษะและอาชีพนักบริบาลหรือผู้ดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงเสริมจากผู้ดูแลหลักของครอบครัว รวมทั้งส่งเสริมสุขภาพให้ผู้สูงอายุมีพฤฒพลัง อายุยืนยาวแบบมีสุขภาวะที่ดี 

การดูแลโดยครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่น สนับสนุนให้มีระบบที่เอื้อให้สมาชิกครัวเรือนเกื้อกูลดูแลผู้สูงอายุที่ป่วยเรื้อรังหรือมีภาวะพึ่งพิงในบ้าน เช่น สิทธิการลางานเพื่อดูแลบุพการีที่ป่วยเรื้อรังและมีภาวะพึ่งพิง สิทธิด้านการลดหย่อนภาษีที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการสร้างระบบสนับสนุนของชุมชนในการดูแลผู้สูงอายุและการจัดสวัสดิการโดยใช้กลไกและสถาบันการเงินของชุมชน เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชนที่มีการร่วมสมทบหลายฝ่ายจากรัฐ ท้องถิ่น และชุมชน โดยใช้จิตอาสาและเงินร่วมบริจาค เพื่อจัดบริการสังคมที่จำเป็นในพื้นที่

..แต่กว่าที่หน้าตาของ 5 เสาหลักจะออกมาในรูปแบบที่เห็น ต้องผ่านเวทีชาวบ้านล้อมวงชวนคิด-ชวนคุย ตั้งแต่เดือน มิ.ย.65 รวม 5 เวทีใหญ่ 2เวทีรายจังหวัด เช่น กลุ่มคนจนเมืองและกลุ่มเปราะบาง  กลุ่มองค์กรการเงินชุมชน สวัสดิการชุมชน จิตอาสา กลุ่มแรงงานนอกระบบและธนาคารความดี และ กลุ่มคนรุ่นใหม่ ผ่านกระบวนการพูดคุยแลกเปลี่ยน และชวนมองภาพอนาคตชีวิตของตนเองในวัยสูงอายุ

นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณะสุข กระบวนกรคนสำคัญในครั้งนี้ กล่าวว่า 7 ใน 7 เวทีที่ผ่านมาเป็นการตั้งคำถามกับคนแต่ละช่วงวัย ว่าอยากได้หลักประกันรายได้อะไรที่ดี เพียงพอในวัยสูงอายุ แนวคิดมาจากการเรียบเรียงภาพฝันถึงคุณภาพชีวิตที่ดี จากครรภ์มารดา สู่เชิงตะกอน ในการสร้างคุณค่าในการใช้ชีวิต ตามแนวคิดของอาจารย์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ครบรอบ 20 ปี ในปีนี้

สรุปได้ว่าหลักประกันรายได้ในที่นี้ เป็นทั้งรายได้และรายจ่ายของผู้สูงอายุ และเป็นสิ่งต้องมองรอบด้าน ทั้งการออมระยะสั้น และการออมระยะยาว ที่เริ่มมีการจัดการในระดับชุมชน และต้องการการเกื้อหนุนจากภาครัฐ รวมถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่จะต้องพัฒนาเรื่องนี้อย่างครอบคลุม มีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น สิ่งแวดล้อม หรือการลดอุบัติเหตุ หรือภาระทางสังคม

“เรื่องนี้ไม่ได้มีเสาหลักแค่อันเดียว แต่ต้องพึ่งทุกหลักไปพร้อมกัน เป็นบทบาทที่ทุกคนต้องทำงานสอดประสานกัน รัฐอย่าปฎิเสธเรื่องรัฐสวัสดิการ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ยังทั้ง 3 กองทุนยังไม่เท่ากัน แล้วบอกว่าทำไม่ได้ แต่สิ่งที่ทำได้ต้องทำเพื่อกลุ่มหนึ่งที่จำเป็น และต้องทำอย่างอื่นๆ เพื่อเกื้อหนุนให้ชุมชน สังคมที่เขาทำสิ่งต่างๆ ที่ทำอยู่ทำต่อไปได้ด้วยดี”

นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท

ด้านภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนเรื่องการเปลี่ยนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นบำนาญนาญถ้วนหน้าอย่าง นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ให้ความเห็นต่อกรอบทิศทางนโยบายครั้งนี้ว่า เป็นเรื่องที่ดีในการผลักดันให้ประชาชนมีหลักประกันที่ดีเพื่อรองรับเมื่อเข้าสู่ช่วงสูงวัย แต่มองว่า สช.ควรให้ความสำคัญต่อเสาที่ 3 คือ เงินอุดหนุนและบริการสังคมที่จำเป็นจากรัฐ มาเป็นลำดับที่ 2 รองจาก การพัฒนาผลิตภาพประชากร การมีงานทำ และ มีรายได้จากการทำงานที่เหมาะสมตลอดช่วงวัย เพราะสังคมจะไปข้างหน้าได้ ต้องมีเม็ดเงิน มีเศรษฐกิจขับเคลื่อน ประชาชนเข้าถึงการออมระยะยาวที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐไม่ว่าจะอยู่ในสาขาอาชีพใด พร้อมเสนอว่าถ้าจะไปต่อในสังคมสูงวัย ต้องจบที่การทำให้รัฐสวัสดิการอยู่ในรัฐธรรมนูญ

“รัฐจะเลือกปฏิบัติอุดหนุนเงินบำนาญเฉพาะข้าราชการไม่ได้เพราะว่ารัฐก็เอามาจากภาษี ต้องดึงภาษีนั้นแล้วมาออมให้กับคนทั่วไปผ่านบำนาญถ้วนหน้าไปด้วยกัน ถึงวัยเกษียณเงินจำนวนนี้ไม่ได้ดูแลแค่คนสูงอายุเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าเขาดูแลตัวเองได้ ก็ไม่ต้องขอเงินลูกหลาน ลูกหลานก็จะได้ใช้ชีวิตของตัวเอง เรียกว่าเป็นการหยุดส่งต่อความยากจนไปสู่คนรุ่นต่อไป”

นิมิตร์ เทียนอุมดม

จับมือเอกชน ท้องถิ่น ภาคประชาสังคม ทลายกรอบการทำงานแบบราชการ

ร่างมติฯ ในครั้งนี้ จะถูกนำเข้าพิจารณาในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย” ระหว่างวันที่ 21-22 ธ.ค.65 เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีกำหนดให้การพัฒนาระบบหลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ เป็นวาระแห่งชาติ ภายใต้ความกังวลของนักวิชาการ และภาคประชาชน ว่าจะคล้ายกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ที่ขาดกลไกบูรณาการระดับชาติเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันดำเนินการ เชื่อมโยงกับกลไกระดับพื้นที่ร่วมขับเคลื่อนงานพัฒนาระบบนี้อย่างต่อเนื่อง หรือไม่

ผศ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า บทบาทของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นอกจากนำร่างมติฯ ฉบับนี้เข้าไปในที่ประชุม ยังได้เชิญตัวแทนจากภาครัฐ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม เอกชน ในการชี้แจงว่า แต่ละภาคส่วนสามารถทำอะไรได้บ้าง นอกจากนี้ยังได้เดิยสายพูดคุยกับผู้กำหนดนโยบายที่มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ยังทำงานแบบแยกส่วนให้มีความเข้าใจมากขึ้น รวมถึงสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่พบว่าร่างมติฯ สอดคล้องกับแผนพัฒนาประชากรเพื่อพัฒนาประเทศระยะยาว ซึ่งถือว่าเป็นการทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนในระยะยาว

“กระบวนการสมัชชาเป็นการพัฒนานโยบายรูปแบบหนึ่ง นอกเหนือจากการเรียกร้องของภาคประชาสังคม เป้าหมายไม่ใช่แค่ถกเถียงแล้วมีมติมอบให้ ครม. แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะนำกรอบนโยบายที่เห็นตรงกันเอาไปเคลื่อนในพื้นที่จริง หรือเป็นวาระแห่งชาติได้อย่างไร”

ผศ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

ชมย้อนหลัง เวทีสาธารณะหลักประกันรายได้ของทุกคนเมื่อสูงวัย ประเทศไทย พร้อมหรือยัง ?

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์